นักวิชาการด้านสัตว์ทะเลเผยโลมาหัวบาตร และโลมาสีชมพูตายเพราะพายุปาบึกที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เป็นโลมาวัยเด็กเหมือนกัน เผยเป็นมิตรต่อชาวประมง คาดพลัดหลงกับฝูงแม่ ชี้ยังมีโลมาตายเพราะขยะพลาสติกในทะเล วอนช่วยกันจัดการหลังน้ำท่วมใหญ่ แนะใช้ถุงผ้า ถือกระติกหรือแก้วไปด้วย
วันนี้ (6 ม.ค.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสัตว์ทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่โลมา 2 ตัวตายในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ผลพวงจากพายุโซนร้อนปาบึกที่พาดผ่านภาคใต้ของไทย ว่า โลมาหัวบาตร และโลมาสีชมพูอยู่ในแหล่งที่อยู่สำคัญของโลมาทั้งสองชนิด และเป็นพื้นที่โดนพายุปาบึกแบบเต็มๆ แม้จะต่างชนิดกัน แต่ก็เป็นโลมาวัยเด็กเหมือนกัน
จากการสำรวจประชากรโลมาพบว่าจะอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ว่ายอยู่ตามชายฝั่ง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปจนถึง อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี โดยโลมาสีชมพูมีหลายฝูง มากกว่า 30-40 ตัว ส่วนโลมาหัวบาตรประมาณ 20 ตัว โลมาสีชมพูจึงกลายเป็นจุดเด่นของขนอม วัยเด็กสีเทาเข้ม พอโตเต็มวัยแล้วสีจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู ซึ่งเกิดจากสีของหลอดเลือดที่เห็นชัดขึ้น กระทั่งแก่ตัวลงจะเป็นสีชมพูทั้งตัว ตัวใหญ่ยาวเกิน 2 เมตร
อุปนิสัยของโลมาสีชมพูมักจะเข้ากับคนง่าย บ่อยครั้งมักจะว่ายมาติดเรือถึงขั้นเอาตัวถูเรือประมง ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านแถวนั้นคุ้นเคยเป็นอย่างดี ตนเคยลงไปทำงานเรื่องโลมากับชาว อ.ขนอมนานกว่า 2 ปี เคยทำแคมเปญรักโลมาขนอม เคยเป็นกรรมการตัดสินชื่อโลมาที่เด็กๆ ส่งกันเข้ามาประกวด บางชื่อเรียกว่า หลังโหนกเลหนอม เพราะพอโตเต็มวัยจะมีหลังโหนก
คราวนี้มาถึงเหตุน่าเศร้า โลมาหัวบาตร และโลมาสีชมพู เป็นโลมาที่อยู่ตามริมชายฝั่ง โดยเฉพาะโลมาสีชมพูที่ขนอมอยู่ติดฝั่งมาก แทบไม่เคยออกไปไกลเกิน 1 กิโลเมตร แม่โลมาเมื่อมีลูกจะคอยดูแล คอยให้นม เมื่อพายุพาคลื่นเข้ามา โลมากลุ่มนี้ก็จะโดนคลื่นหนัก หากลูกไม่พลัดหลงกับแม่ ยังอยู่ในฝูงก็คงไม่เป็นไรเพราะจะว่ายหลบคลื่นสู้คลื่นได้ แต่ลูกโลมาทั้ง 2 ตัวคงเคราะห์ร้าย เจอคลื่นหนักจนตามแม่ไม่ทันพลัดหลงกับแม่ ขณะที่คลื่นโหมกระหน่ำ ยิ่งหลงก็ยิ่งเตลิด ว่ายสับสนไปมา พยายามหาแม่ให้เจอ
“ลูกโลมากระเสือกกระสนสู้คลื่นสูง 4-5 เมตร เธอพยายามโผล่ขึ้นมาหายใจ พยายามทุกวิถีทาง แต่สุดท้ายเธอทั้งคู่ไม่เจอแม่ แม่ทั้งคู่ไม่ได้เจอพวกเธอ ลูกโลมาจึงจากไปเพราะเธอไม่ใช่ปลา โลมาเป็นสัตว์มีปอด พวกเธอต้องโผล่ขึ้นมาหายใจเป็นระยะ ลูกโลมาจมน้ำตายด้วยแรงคลื่น สัตว์ทะเลหายาก โลมาที่มีค่ามากมาย ทำให้ขนอมเป็นที่รู้จักท้่วไทย และกำลังเริ่มโด่งดังไปทั่วโลก จากไปพร้อมกับผลของพายุปาบึก พวกเราช่วยเธอไม่ได้หรอก ธรรมชาติก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติซื่อตรงเสมอ ไม่มีใจดี ไม่มีใจร้าย”
ผศ.ดร.ธรณ์ยังกล่าวอีกว่า เราอาจจะช่วยโลมาทั้งคู่จากพายุไม่ได้ แต่สามารถช่วยเหลือโลมาที่เหลือได้ ด้วยการลดขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งทุกชนิด ช่วยกันเก็บขยะทะเลทุกอย่างที่จะมามากมายหลังน้ำท่วมใหญ่ เพราะที่ผ่านมาขยะในทะเลคร่าชีวิตโลมาปีละหลายสิบตัว สาเหตุสำคัญที่ทำให้โลมาตายเกิดจากขยะทะเล และความไม่รับผิดชอบของคน ไม่ใส่ใจ มักง่าย เป็นสาเหตุหลักที่โลมาตายแทบทุกวัน ทุกสัปดาห์ โดยแนะว่าถือถุงผ้าไปด้วย ถือกระติกหรือแก้วไปด้วย จะมีความหมายต่อท้องทะเลไทยที่กำลังบอบช้ำ