xs
xsm
sm
md
lg

บรมราชาภิเษก พระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน! กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๓๖ ปี มีเพียง ๑๑ ครั้ง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุด ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓
นับเป็นที่ปลื้มปีติยินดียิ่งสำหรับชาวไทย เมื่อมีข่าวมหามงคลในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อสำนักพระราชวังได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ นี้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร์เทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณีขึ้นในวันที่ ๔ – ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นวัฒนธรรมที่คู่กับราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่มีพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในสมัยกรุงสุโขทัย แต่ก็นานปีจะมีสักครั้ง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๓๖ ปี มีพระราชพิธีนี้เพียง ๑๑ ครั้งเท่านั้น การที่จะมีอีกในครั้งนี้ จึงนับเป็นบุญวาสนาของคนที่เกิดมาในยุคปัจจุบัน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญยิ่งในการเป็นกษัตริย์ เป็นการประกาศถึงความเห็นชอบและยอมรับของปวงอาณาประชาราษฎร์ที่จะให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้นำของสังคม และจะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ผ่านพระราชพิธีนี้

ตามโบราณราชประเพณีของไทยเรานั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต จะต้องมีการเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ยังไม่ได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ยังเป็นพระมหากษัตริย์ไม่สมบูรณ์ คำนำหน้าพระนามเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วจึงเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” คำรับสั่งก็ยังไม่ใช้ “พระบรมราชโองการ” เครื่องราชอิสริยยศบางอย่างก็ยังไม่เต็มที่ เช่น พระเศวตฉัตรมีเพียง ๗ ชั้น ไม่ใช่ ๙ ชั้น จนกว่าจะได้สรงน้ำมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมนามาภิไธย และเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธี แล้วเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร จึงถือว่าเถลิงถวัลย์ราชสมบัติโดยสมบูรณ์ด้วยเกียรติยศพระมหากษัตราธิราชเจ้าตั้งแต่บัดนั้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์มาก่อนหน้ารัชกาลปัจจุบัน ๙ รัชกาล แต่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้ว ๑๑ ครั้ง ก็เพราะบางรัชกาลทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกถึง ๒ ครั้ง ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ต่างกันคือ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ อยู่ในระยะเริ่มสร้างบ้านเมืองใหม่ หลายสิ่งหลายอย่างยังไม่พร้อม จึงจัดพระราชพิธีอย่างสังเขปไปก่อน เมื่อสร้างพระนครและพระมหาราชวังเสร็จแล้ว จึงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งให้ครบตามโบราณราชประเพณี

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกจัดขึ้นขณะพระองค์ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ เมื่อบรรลุนิติภาวะทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา พระราชไมตรีสยามกับนานาประเทศกว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับพระองค์เองทรงคุ้นเคยกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายของต่างประเทศที่มีพระราชไมตรีกับสยามหลายพระองค์ การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทางยุโรปนั้น ตามปกติมักรอให้เสร็จงานพระบรมศพของรัชกาลก่อน เมื่อออกทุกข์แล้วจึงกระทำพิธีบรมราชาภิเษก เพราะส่วนหนึ่งของพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการรื่นเริง ฉะนั้นการรื่นเริงในขณะไว้ทุกข์จึงไม่บังควร

อีกประการหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินและประธานาธิบดีของประเทศที่มีสัมพันธไมตรี มักส่งเชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้แทนมาร่วมพิธี เจ้านายของเราก็เคยไปร่วมงานบรมราชาภิเษกประเทศอื่นมาหลายครั้ง การรีบทำจึงเป็นการไม่ให้เวลากับประเทศที่เป็นพันธมิตรมีโอกาสมาร่วมงาน

ฉะนั้นควรจะแก้ไขระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อย่าให้ขัดขวางกับเรื่องเหล่านี้ ทรงปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ต่างก็เห็นชอบตามพระราชดำริ ว่าควรจัดทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น ๒ คราว คราวแรกเป็นการบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนครและการรื่นเริงอื่นๆไว้ก่อน เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนแล้ว จึงทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ให้เป็นการรื่นเริงสำหรับประเทศ และให้นานาประเทศที่มีไมตรีมีโอกาสมาร่วมงาน ซึ่งไม่ผิดพระราชประเพณี

คำว่า บรมราชาภิเษก มาจากคำว่า บรม + ราชา + อภิเษก ซึ่ง อภิเษก แปลว่า รดน้ำ

ส่วนทางตะวันตก การขึ้นครองราชย์จะใช้คำว่า CORONATION ซึ่งมาจากคำว่า โคโลนา หมายถึงมงกุฎแห่งชัยชนะ ความสำคัญของพิธีจึงอยู่ที่การสวมมงกุฎ ไม่มีการรดน้ำ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของตะวันออก แม้จะมีการสวมมงกุฎ แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนที่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่น้ำ น้ำที่ใช้ในพิธีเรียกว่า น้ำมุรธาภิเษก มาจากคำว่า มูรธา + อภิเษก ซึ่งมูรธาแปลว่า พระเศียร น้ำมูรธาภิเษกจึงหมายถึงน้ำรดพระเศียรนั่นเอง

น้ำที่เป็นมงคลยิ่งนี้ จึงต้องนำมาจากแหล่งที่มีความหมายเป็นมงคล ทั้งยังรวบรวมมาจากหลายแห่งด้วย

ตามตำราโบราณของพราหมณ์ น้ำมูรธาภิเษกจะต้องเป็นน้ำที่มาจาก “ปัญจมหานที” คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สายในชมพูทวีป ที่ไหลลงมาจากเขาไกรลาส สถานที่ซึ่งศาสนาพราหมณ์และฮินดูถือว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานว่าใช้บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๔ บ่อในจังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากจะใช้น้ำแหล่งเดียวกับกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังทรงนำน้ำจากแม่น้ำ ๕ สาย เรียกกันว่า “เบญจสุทธิคงคา” อนุโลมตามตำราพราหมณ์ที่ใช้แม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีป โดยตักมาจากแม่น้ำ ๕ สายในพระราชอาณาจักร
แหล่งน้ำมูรธาภิเษกในรัชกาลที่ ๑ นี้ ได้ใช้เป็นน้ำมูรธาภิเษกในรัชกาลต่อมาจนถึงรัชกาล ๕ ซึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกก็ใช้น้ำมูรธาภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปอินเดีย จึงทรงนำน้ำปัญจมหานทีมาด้วย ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ จึงเป็นรัชกาลแรกที่เพิ่มน้ำปัญจมหานทีลงในน้ำเบญจสุทธิคงคาและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ ของสุพรรณบุรีด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ทรงใช้น้ำมูรธาภิเษกจากแหล่งเดียวกับรัชกาลที่ ๕ แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ได้เพิ่มน้ำจากแหล่งต่างๆที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลอีก ๑๗ แหล่งทั่วราชอาณาจักร และเพิ่มเป็น ๑๘ แห่งในรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๙

การรวมน้ำจากแหล่งต่างๆทั่วทุกมณฑลในประเทศ อาจมีความหมายถึงการใช้น้ำเป็นสื่อถวายพระราชอำนาจแด่องค์พระมหากษัตริย์อย่างพร้อมเพรียงทั่วราชอาณาจักร

พระราชพิธีนี้จึงมีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งด้วยความหมายต่างๆ สิ่งของที่ใช้ในพิธีก็ล้วนแต่เป็นมรดกที่ล้ำค่ามาแต่โบราณ และเป็นของที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่สามัญชนจะมีโอกาสเห็นได้ยาก ผู้เขียนได้ค้นคว้าความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งความหมายในขั้นตอนต่างๆของพระราชพิธี เพื่อให้ใช้เป็นคู่มือในการเฝ้าชมพระราชพิธีครั้งสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ซึ่ง “สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์” ได้จัดพิมพ์วางตลาดอยู่ในขณะนี้ในชื่อ “เถลิงกษัตราธิราช บรมราชาภิเษก พระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน” ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ลึกซึ้งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น