กรมอุตุนิยมวิทยา ประสานท้องถิ่นรับมือพายุปาบึก จ่อเข้าถล่มภาคใต้ของไทย ช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. นี้ ระบุ ไม่ปกติเกิดพายุโซนร้อนในเดือน ม.ค. ห่วงผลกระทบเทียบพายุโซนร้อนแฮเรียต ในปี 2505 ที่เคยพัดถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช
วันนี้ (2 ม.ค. 2562) นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อกรณีประกาศเตือนพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ซึ่งขณะนี้มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และพายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า จะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 ม.ค. นี้ โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. นี้ และขณะนี้มีการแจ้งไปยังหน่วยงานระดับท้องถิ่น 15 จังหวัดฝั่งอ่าวไทย และท้องถิ่นที่มีการคาดการณ์ว่า พายุปาบึกจะเคลื่อนตัวเข้าฝั่งอ่าวไทยในช่วงวันที่ 4 ม.ค. นี้ ให้พร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง และภาวะน้ำท่วม ซึ่งไม่อยากให้เกิดความแตกตื่นมาก
โดย นายภูเวียง ได้ทิ้งท้ายว่า ถ้าเทียบระดับการประเมินว่า พายุปาบึก จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ก็เทียบพายุโซนร้อนที่เคยมีผลกระทบกับภาคใต้ของไทย น่าจะเท่ากับพายุแฮเรียต ที่เคยเข้าที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 แต่ย้ำว่า ยังต้องติดตามเป็นรายชั่วโมง ว่า พายุปาบึก จะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันเมื่อขึ้นฝั่งหรือไม่ แต่ก็ยังทำให้มีฝนตกหนัก และอาจเกิดน้ำท่วมในวงกว้างได้ขณะที่การเตรียมรับมือพายุแฮเรียตในตอนนั้น กับวันนี้แตกต่างกันระบบเตือนภัยจะมีความพร้อมและรวดเร็วกว่า
สาเหตุสำคัญการเกิดพายุปาบึกลูกนี้มาจากลักษณะของอากาศและผิวน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่าปกติ จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน
ทั้งนี้ สำหรับพายุแฮเรียต เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นพายุดีเปรสชัน ในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2505 แล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่ง จ.สงขลา จากนั้นก็เปลี่ยนทิศทางตรงมายัง จ.นครศรีธรรมราช โดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ต.ค. 2505 ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กม.ต่อชั่วโมง หลังจากนั้น พายุอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน เคลื่อนผ่านจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และ พังงา ลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 26 ต.ค. 2505 ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอลใกล้กับบังกลาเทศ ในวันที่ 30 ต.ค.2505 พายุโซนร้อนแฮเรียตได้ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากพายุแฮเรียตในครั้งนั้น คือ พายุโซนร้อน แฮเรียด กวาดทุกสิ่งทุกอย่างบนแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ที่มีผู้คนอยู่อาศัยราว 4 พันคนจนหมดสิ้น เหลือบ้านที่รอดจากการทำลายเพียง 5 หลัง ด้วยคลื่นสูงกว่า 3 เมตร พายุยังมีขอบเขตการทำลายไปถึงบริเวณใกล้เคียง บ้านเรือนอีกกว่าร้อยละ 30 ถูกทำลายลงโดยรอบ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 900 ราย สูญหาย 142 ราย บาดเจ็บ 252 ราย ไร้ที่อยู่อาศัยนับหมื่นราย