xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มเซ็ง! โคมลอยปีใหม่ตกไหม้บ้านเกือบวอดทั้งหลัง ชาวเน็ตประณามเลิกเสียที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพสิ่งของภายในบ้านถูกเผา และตัวบ้านมีร่องรอยถูกเผาไฟ หลังมีโคมลอยที่ถูกมือดีปล่อยมาตกภายในบ้านจากเทศกาลปีใหม่ โชคดีช่วยกันดับได้ทัน ชาวเน็ตรุมด่ายับทำคนอื่นเดือดร้อน วอนเลิกปล่อยกันเสียที

วันนี้ (1 ม.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "Ton Nutkit" ได้โพสต์รูปภาพบ้านของตนเอง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบจากการที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งยังนิยมปล่อยโคมลอยในเทศกาลวันปีใหม่ แต่มาตกในบ้านของตนเองจนได้รับความเสียหายบางส่วน โชคดีที่สามารถช่วยกันดับเพลิงได้ทันเวลา ทั้งนี้ผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

"HNY 2019 ผลของการปล่อยโคมลอยวันปีใหม่ บ้านที่แปดริ้วเกือบไหม้ทั้งหลังถ้าดับไม่ทัน แล้วถ้าคนในครอบครัวผมเป็นอะไรขึ้นมา คงเป็นเรื่องแย่รับปีใหม่ ขอประณามพวกที่ยังเสือกปล่อยโคมลอย"

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกแชร์ออกสู่โลกโซเชียลแล้วกว่า 2,000 ครั้ง พร้อมกับคอมเมนต์จากชาวเน็ตที่ต่างเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ การปล่อยโคมลอย ที่ไม่ได้สร้างบุญแต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

สำหรับข้อปฏิบัติในการปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลต่างๆ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจร ได้ออกมาให้ความรู้การปล่อยโคมลอยอย่างปลอดภัยและถูกต้องไว้ 4 ข้อดังนี้
1. เลือกปล่อยโคมลอยที่มีขนาด และรูปแบบตามมาตรฐาน ตัวโคมทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษว่าว โครงจากไม้ไผ่ ปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 ซม. และความสูงไม่เกิน 140 ซม. ส่วนเชื้อเพลิงทำจากกระดาษชุบเทียน ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน น้ำหนักไม่เกิน 55 กรัม ระยะเวลาการไหม้ของเชื้อเพลิงไม่เกิน 8 นาที เชื้อเพลิงผูกติดด้วยเชือกทนไฟหรือลวดอ่อน เบอร์ 24 เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 มม. จำนวน 2 เส้น ความยาวเส้นละไม่เกิน 30 ซม. ห้ามพ่วงหรือผูกติดพลุ ดอกไม้ไฟ

2. เลือกจุดที่จะปล่อยโคมลอยได้อย่างปลอดภัย เลือกปล่อยในพื้นที่โล่งกว้าง ไม่มีสายไฟหรือต้นไม้ใกล้ๆ ไม่ปล่อยโคมลอยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงอันตราย ที่จะก่อให้เกิดอัคคีภัย เช่น สนามบิน คลังน้ำมัน กองขยะ หญ้าแห้ง บ้านเรือนประชาชน ตลาด ป่าไม้ โรงเรียน วัด เป็นต้น  ไม่ปล่อยโคมลอย บริเวณแนวขึ้น-ลงสนามบิน อย่างเด็ดขาด หากจะปล่อยต้องปล่อยให้ห่างจากเส้นทางขึ้น-ลงของเครื่องบิน ข้างละ 4.6 กม. และเป็นระยะทางยาว 18.5 กม. จากหัวทางวิ่งทั้งสองด้าน

3. วิธีปล่อยโคม

ให้กางโคมออก ก่อนจะจุดเชื้อเพลิงด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ตัวโคมไปสัมผัสกับเปลวไฟ จากนั้นรอจนควันอัดแน่นภายในตัวโคมจนตึง ให้รู้สึกว่าควันดันโคมลอยขึ้นได้เอง เนื่องจากหากไม่ปล่อยให้ควันอัดแน่นจนตึงมากๆ โคมอาจไม่ลอยหรือลอยได้เพียงชั่วครู่ และตกลงมาในขณะที่ไฟยังไม่ดับสนิท ทำให้เกิดอันตรายได้

4. ช่วงเวลาในการปล่อยโคมลอย

ปล่อยหลังเวลา 21.00 น. เป็นต้นไป และไม่ควรปล่อยในเทศกาลอื่นๆ นอกเหนือจากลอยกระทง










กำลังโหลดความคิดเห็น