xs
xsm
sm
md
lg

มัจจุราช "NCDs" รู้ก่อนตายช้า รู้ช้าตายเร็ว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


63% ของการเสียชีวิตทั่วโลกมาจากกลุ่มโรค NCDs, มากกว่า 9 ล้าน เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ก่อนอายุ 60 ปี, 73% ของคนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก คือข้อมูลตัวเลขความน่ากลัวของกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัจจุบันพบในคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ

ล่าสุดที่เป็นข่าวดัง กรณีสาววัย 29 ปี ตรวจพบเป็นโรคเบาหวาน โดยชะล่าใจกินหวานเท่าไรก็ไม่อ้วน สุดท้ายตายภายใน 1 ปี กลายเป็นอุทาหรณ์ คนเป็นโรคเบาหวานไม่จำเป็นต้องอ้วนเสมอไป หรือคนที่อ้วนแล้วน้ำหนักลดลงผิดปกติก็อย่าประมาท นับเป็น 1 ในกลุ่ม 6 โรคร้ายที่น่ากลัวยิ่งกว่ามะเร็ง และเป็นภัยคุกคามสุขภาพของคนไทยในยุคนี้

นอกจาก "โรคเบาหวาน" แล้ว ยังมีโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วนลงพุง และโรคมะเร็งที่รวมอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เราๆ ท่านๆ สร้างขึ้นมาจากพฤติกรรมการกิน หรือการใช้ชีวิตบนความเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่, ชอบดื่มแอลกอฮอล์, ชอบกินอาหารหวาน มัน เค็มจัด, ออกกำลังกายไม่เพียงพอ และเครียดบ่อย


"โรคไม่ติดต่อกำลังมีเยอะขึ้น เป็นโรคพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลก็จริง แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมร่วมกัน เช่น ชอบกินอาหารเยอะๆ ก็จะพบว่ามีแนวโน้มอ้วนกันทั้งหมด โอกาสที่โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจก็มีมากขึ้น" นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน สุขภาวะองค์กร สสส. เตือนเอาไว้บนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ปี เพื่อกระตุ้นสังคมไทยรอบรู้ และเท่าทันสุขภาพ ลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ




"ความรอบรู้สำคัญมาก เมื่อก่อนหลายคนกินกาแฟใส่ครีมเทียมกันเยอะมาก แต่หลังๆ ไม่ค่อยใส่กันแล้ว เพราะเริ่มมีความรอบรู้กันมากขึ้น ครีมเทียมมันมาจากอะไร พอเราใส่ทั้งน้ำตาล ทั้งครีมเทียมเข้าไป พลังงาน หรือคาร์โบไฮเดรตมันเยอะขึ้นก็จะแปรไปเป็นความอ้วนที่ทำให้เรากินกาแฟแก้วเดียว แต่เหมือนกินข้าว 4-5 จาน

ดังนั้น ถ้ากินไม่ระวัง อายุน้อยก็มีโอกาสเสียชีวิตเพราะกลุ่มโรค NCDs ได้ ซึ่งบางคนอาจคิดได้ว่า ถ้ายังกินแบบเดิมๆ ความเจ็บป่วยก็จะตามมา พอเข้าโรงพยาบาลก็มีค่าใช้จ่ายตามมา ในขณะที่บางคนบอกว่า ชีวิตคนเราอยู่ได้ไม่นานหรอก 50-60 ปี เดี๋ยวก็ตายแล้ว คนกลุ่มนี้เป็นพวกมักน้อย แต่ในความเป็นจริงอายุเฉลี่ยคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนญี่ปุ่นคือตัวอย่างที่ดีเลย อายุเฉลี่ยของพวกเขาคือ 85 ปี ถ้าเราคิดแบบคนไทย อายุ 55 ไม่เป็นไรหรอก 60 ก็พอแล้ว ถ้าอยู่ถึง 85 ปีคุณจะอยู่อย่างไร แล้วถ้าอยู่แบบเจ็บป่วยคุณจะเป็นอย่างไร" นพ.ชาญวิทย์ชวนให้ฉุกคิด

ปัจจุบันหลายๆ ฝ่ายพยายามปรับตัว โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ใส่ใจสุขภาพผู้บริโภคมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่มีเครื่องมือเข้าถึงข้อมูลสุขภาพหลายช่องทาง


"ทุกวันนี้พวกเรามีมือถือค้นหาข้อมูลกันเต็มไปหมด วันนี้เราไม่มีคำว่า เรารู้หรือไม่รู้ เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดนิเวศวิทยา เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น เช่น ถ้าประเทศไทย มีทางเดินฟุตปาธที่ดี ผมว่าพวกเราจะเดินมากขึ้นจริงมั้ยครับ หลายๆ ครั้งที่เราไม่อยากเดิน เพราะอะไร เราไม่แน่ใจว่าทางที่เราเดิน ดีขึ้นหรือแย่ลง บางคนเดินไปเดินมาตกท่อ หรือเท้าพลิกเพราะแผ่นฟุตปาธ ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางสังคม


เช่นเดียวกับเรื่องสุขภาพ คนเรามีความสามารถในการจัดการตัวเองไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเมื่อไรเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันเอื้อเหมือนกัน มันจะมีผลลัพธ์เหมือนกัน ซึ่งก็ต้องมีมาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสิ่งแวดล้อม มาตรการทางสังคม รวมทั้งความรู้ในการใช้ชีวิตที่ต้องเพิ่มมากขึ้น"




ทั้งนี้ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ที่่ผ่านมา ได้มีการบรรจุระเบียบวาระ "ความรอบรู้ด้านสุขภาพ" เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs Prevention and Management) เข้ามาเป็น 1 ใน 4 ระเบียบวาระของการพิจารณา ซึ่งภาคเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะร่วมกันถกแถลงและอภิปรายเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ฉันทมติ" ในการจัดทำนโยบายสาธารณะ นำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับจัดการตัวเองให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ

ทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนผ่าน 5 แนวคิดหลัก ได้แก่ 1 การพัฒนาจัดการ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ 2. การพัฒนาแนวทางส่งเสริมการประกอบกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ


3. การขับเคลื่อนนโยบายเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านกลไกและกองทุนระดับพื้นที่ 4. การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องโรคไม่ติดต่อ และ 5 การวิจัยระบบสุขภาพที่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ

"ปัญหานี้ใครคนใดคนหนึ่งทำไม่ได้แน่นอน" นพ.ชาญวิทย์ทิ้งท้ายในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 2 ว่าด้วยเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เนื่องจากขณะนี้โรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทยประมาณร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น