xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ บินด่วนพังงาเพื่อไข่เต่ามะเฟือง ชวนคนไทยดูถ่ายทอดสด-รอวันฟักเป็นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการด้านสัตว์ทะเล ลงพื้นที่พังงา แนะคนไทยลุ้นไข่เต่ามะเฟือง สัตว์ทะเลหายากฟักขึ้นมาปีหน้า พร้อมแนะจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเลอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญคือการสื่อสารคนพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์

จากกรณีที่เต่ามะเฟือง เพศเมีย มีขนาดความยาวกระดองประมาณ 125 เซนติเมตร ความกว้างกระดองประมาณ 70 เซนติเมตร และความกว้างของรอยเดิน 92 เซนติเมตร ขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนไข่เต่ามีทั้งหมด 118 ฟอง โดยเป็นไข่ลม หรือไข่ฝ่อจำนวน 25 ฟอง ไข่เสียหายจำนวน 4 ฟอง และไข่ปกติจำนวน 89 ฟอง ทั้งนี้ ไข่ของเต่ามะเฟืองจะใช้ระยะเวลาในการฟักเป็นตัวประมาณ 60-74 วัน ตามที่รายงานไปแล้วนั้น

วันนี้ (27 ธ.ค.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสัตว์ทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความระหว่างลงพื้นที่ ระบุว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าจัดการย้ายไข่เต่าขึ้นมาให้อยู่เหนือระดับน้ำขึ้นลง ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิในรังไข่ จัดทำรั้วขนาดใหญ่รอบรังไข่เต่า ป้องกันคนเดินเข้าไปใกล้ จัดทำป้ายข้อมูลเต่ามะเฟืองหลายป้าย พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด 6 ตัว เปิดให้ทุกคนทั่วไทยทั่วโลกชมได้ตลอดเวลาผ่านเว็บไซต์ http://loveseaturtle.dmcr.go.th

ต่อมาวันที่ 26 ธ.ค. แม่เต่าขึ้นมาวางไข่อีกครั้งที่วัดท่าไทร อ.ท้ายเหมือง ห่างจากจุดเดิมลงไปทางใต้ 39 กิโลเมตร บริเวณนี้เงียบสงบ ไม่มีผู้คน ห่างจากเขตอุทยานท้ายเหมืองไปทางใต้ 7 กิโลเมตร เมื่อเจ้าหน้าที่วัดรังเรียบร้อย อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ไม่ต้องย้าย ทำคอกล้อมไว้ และมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครช่วยเฝ้าในตอนแรก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สั่งการให้จัดทำศูนย์เฝ้าระวังเต่ามะเฟือง ในลักษณะเดียวกับรังแรก และจะติดตั้งกล้องให้ช่วยกันดูอีกเช่นกัน

เนื่องจากเต่ามุ่งหน้าลงใต้ ห่างจากจุดเดิม 40 กิโลเมตร จึงเป็นไปได้ว่า ในช่วง 10 วันข้างหน้า (4-6 ม.ค. 2562) อาจมีการวางไข่อีกครั้ง และพื้นที่อาจรวมไปถึงบริเวณหาดไม้ขาว ภูเก็ต จุดที่เต่ามะเฟืองเคยขึ้นวางไข่ในอดีต อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ผบ.ฐานทัพเรือพังงา นายอำเภอ ลงพื้นที่พร้อมกัน เพื่อช่วยกันวางแผนในการดูแลรักษา รวมถึงการจัดการช่วงกำเนิดเต่ามะเฟือง รังแรกประมาณ 14-17 ก.พ. 2562 รังสองประมาณสิ้นเดือน ก.พ. 2562

“การตกลงร่วมกันมีข้อสรุป คือ จะขอให้โรงแรมและร้านอาหารในพื้นที่ซึ่งแม่เต่ามีโอกาสวางไข่ ตั้งแต่เขาหลักจนถึงหาดไม้ขาว ช่วยกันหรี่ไฟริมชายหาด ไม่ใช่ทุกพื้นที่ เฉพาะบางพื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับการขึ้นวางไข่ โดยจะทำงานแบบประสานงาน โดยให้หน่วยงานและอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาช่วยกัน ในการเดินตรวจตลอดจนสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อการรายงานที่ว่องไว มีกองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลช่วยสนับสนุนในกรณีของคนที่พบรังไข่เต่า”

ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า ข้อสรุปจะปล่อยให้ลูกเต่าลงทะเลทั้งหมด เนื่องจากการเลี้ยงลูกเต่ามะเฟืองเป็นไปแทบไม่ได้ แม้แต่ในต่างประเทศก็เช่นกันในช่วงกำเนิดเต่ามะเฟือง หน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันจัดการพื้นที่ชายหาด กั้นเขต และดูแลทะเลให้ปลอดภัยสำหรับลูกเต่าผู้จะว่ายน้ำตรงดิ่งไปกลางมหาสมุทร ว่ายติดต่อกัน 3 วัน 3 คืนเป็นอย่างน้อย ลูกเต่ามะเฟืองไม่หากินริมชายฝั่ง ส่วนการติดแท็กหรือชิปกับลูกเต่าทำไม่ได้ สำหรับแม่เต่า กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะมีอัตราฟักเท่าไหร่ ในระยะหลังมีปัญหาทั่วโลกว่าพ่อเต่ามะเฟืองมีน้อยลง สัดส่วนของแม่เต่ามีมากกว่า ทำให้น้ำเชื้อมีน้อยลง โดยไม่มีใครสามารถผสมเทียมหรือเลี้ยงเต่ามะเฟืองได้ตอนนี้คงต้องหวังว่าไข่ของแม่เต่าจะสมบูรณ์ มีน้ำเชื้อพอเพียง และจะคลอดเป็นลูกเต่าตัวน้อยๆ ในช่วงกำเนิดเต่ามะเฟือง สามารถดูได้ผ่านกล้องถ่ายทอดสดที่จัดเตรียมไว้ และอาจติดตั้งเพิ่มในช่วงนั้น

ปกติลูกเต่าจะเกิดตอนรุ่งสาง แต่หลายครั้งที่อาจเลยมาถึงตอนเช้า ไม่จำเป็นต้องเป็นเวลาเดียวกันทั้งหมด ก่อนเกิด หลุมจะเริ่มยุบตัวลง พอให้ดูได้ว่าใกล้ออกแล้ว จากนั้นลูกเต่าจะเจาะเปลือกไข่ มุดทรายขึ้นมา โผล่มาทีละ 2-3 ตัว จากนั้นก็วิ่งหน้าตั้งลงทะเล การเกิดอาจใช้เวลานานนับชั่วโมงหรือกว่านั้น ปกติเราจะเห็นลูกเต่าฝูงหลังๆ ที่ลงทะเลตอนมีแดดแล้ว หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัคร จะระดมแรงช่วยกันทำความสะอาดชายหาดและท้องทะเลในบริเวณนี้ เพื่อช่วยลดถุงพลาสติกและขยะทะเล ให้เกิดความปลอดภัยต่อแม่เต่าและลูกเต่าตัวน้อยๆ ใครอยากจัดกิจกรรมทำความสะอาดหาดหรือทะเล ขอให้ไปช่วยกันในบริเวณตั้งแต่ตะกั่วป่า ไปจนถึงหาดไม้ขาวและหาดสิรินาถ ภูเก็ต

“การที่เต่ามะเฟืองกลับมาอีกครั้งหลังจากหายไปนาน อาจเกิดจากการจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเลที่ทำกันอย่างจริงจังตลอดปีที่ผ่านมา เพราะเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นหลัก ขยะทะเลจึงมีผลอย่างมากต่อการตาย การสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่ สำคัญสุดๆ ... ทั้งหมดที่ได้พบ บอกได้ว่า ชาวพังงาน่ารักทุกคน และผมเชื่อมั่นสุดใจว่าพวกเขาจะช่วยดูแลลูกเต่าตัวน้อยเกือบสองร้อยตัวแทนพวกเราคนไทยได้เป็นอย่างดี การสื่อสารกับพวกเราคนไทย สำคัญเช่นกัน เพื่อให้พวกเรารับรู้และเข้าใจความสำคัญของแม่เต่ามะเฟือง ของขวัญจากท้องทะเลสำหรับคนไทยในปีนี้ ปีที่ดีสุดๆ สำหรับคนรักทะเลไทย มาช่วยกันลุ้นกำเนิดเต่ามะเฟืองต้นปีหน้า”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวฝากถึงผู้ที่สนใจทำงานด้านอนุรักษ์ว่า เราไม่อาจเปลี่ยนโลกให้เป็นอย่างที่เราอยากได้ ในทันที แต่เราสามารถเตรียมตัวสร้างฐาน ทำโน่นทำนี่เพื่อรอเวลา จากบทความในเรื่อง “ใต้ทะเลมีความรัก” เมื่อหลายปีก่อน มาเป็นหนังสือนิทาน กลายเป็นแคมเปญสัตว์สงวน การรณรงค์ลดขยะพลาสติกในทะเล ทำมาหลายปี เพื่อรอโอกาส ด้วยเชื่อมั่นว่าทะเลจะไม่ทำให้เราให้ผิดหวัง ด้วยเชื่อว่าคนไทยยังรักทะเลมากเพียงพอ และเมื่อโอกาสมา จงทุ่มทุกอย่างลงไปกับโอกาสนั้น

“ไม่ต้องมีข้ออ้างว่าติดงาน ไม่ต้องสนใจว่ามีอะไรอื่นอีกที่ต้องทำ ลืมให้หมด แล้วทุ่มลงไป ปิดจ๊อบให้ได้ ทำให้คนรักทะเล รักป่า รักธรรมชาติมากขึ้นให้ได้ เพราะโอกาสบางทีเฉกเช่นดาวตก มาเพียงพริบตาเดียว แต่พริบตานั้น แสงเจิดจ้า ตัดผ่านผืนฟ้ารัตติกาล ชวนให้ผู้คนจดจำ เนิ่นนาน และนั่นคือเหตุผลที่ตอบว่า ทำไมแค่แม่เต่าตัวเดียว อาจารย์ธรณ์ต้องบินด่วนลงมา เพราะแม่เต่ามะเฟืองไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง เธอเป็นความฝันของอาจารย์ธรณ์”





กำลังโหลดความคิดเห็น