เปิดตำนาน “นางเงือกทอง” สัญลักษณ์ที่สำคัญของแหลมสมิหลา จ.สงขลา ก่อนที่จะถูกคนร้ายลอบวางระเบิดคืนวันที่ (26 ธ.ค.) ซึ่งแรงระเบิดทำให้หางของนางเงือกทองขาดออกจากลำตัว
จากกรณี เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. คืนวันที่ (26 ธ.ค.) ได้เกิดเสียงระเบิดดังขึ้น 2 จุดในเวลาไล่เลี่ยกัน บริเวณชายหาดแหลมสมิหลา เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา โดยจุดที่เกิดระเบิดอยู่ตรงบริเวณ “รูปปั้นนางเงือกทอง” ซึ่งเป็นแลนด์มาร์ก และ “รูปปั้นหนูกับแมว” บริเวณใกล้กันที่แสดงถึงตำนานความเป็นมาคู่เมืองสงขลา โดยอยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร โดยแรงระเบิดทำให้หางของนางเงือกทอง สัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลาขาดออกจากลำตัว
ทั้งนี้ “นางเงือก” เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งตามความเชื่อในนิยายปรัมปราและเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ซึ่งในตำนานและเรื่องเล่าโดยมากจะกล่าวกันว่า เงือกนั้นเป็นมนุษย์ครึ่งสัตว์ มีรูปร่างลักษณะในส่วนครึ่งท่อนบนเป็นคน และส่วนท่อนล่างเป็นปลา ซึ่งมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งเรื่องเล่าในส่วนมากจะกล่าวถึงนางเงือกซึ่งเป็นเพศหญิงมากกว่า ส่วนเงือกเพศชายนั้นจะเรียกว่าเงือกเฉยๆ และมักไม่ค่อยถูกกล่าวถึงมากนัก
นางเงือกทอง (Golden Mermaid) เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของแหลมสมิหลา จ.สงขลา ได้นักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมจะไปถ่ายภาพคู่กับนางเงือก โดย “นางเงือกทอง” ถูกสร้างขึ้นตามนิยายปรัมปราของไทยโบราณ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้บอกเล่าไว้ว่า
“วันดีคืนดีนางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ วันหนึ่งบังเอิญว่ามีชายชาวประมงเดินผ่านมา ทำให้นางเงือกตกใจ รีบหนีลงทะเลไปโดยลืมหวีทองคำไว้ ฝ่ายชาวประมงเห็นดังนั้นก็เก็บหวีทองคำไว้และเฝ้าคอยนางเงือกที่หาดนั้นเสมอ แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย”
นอกจากนี้ แผ่นจารึกที่ประติมากรรมนางเงือกทอง สร้างขึ้นในปี 2509 ในท่านั่งหวีผม ซึ่งได้หล่อขึ้นด้วยบรอนซ์รมดำ โดยฝีมือการออกแบบ ปั้น และหล่อ โดยอาจารย์จิตร บัวบุศย์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยงบประมาณราคา 60,000 บาท ซึ่งทุกๆ วันที่ 1 เมษายน ถือเป็นวันเกิดของนางเงือกทองอีกด้วย
อ่านข่าวประกอบ : 1 เมษาครบรอบ 51 ปี “นางเงือกทองสงขลา” สัญลักษณ์คู่ชายหาดแหลมสมิหลา
อ่านข่าวประกอบ : “เงือกทอง (Golden Mermaid)” นั่งหวีผมมากว่าครึ่งศตวรรษ..มนต์เสน่ห์ของห้องรับแขกภาคใต้ที่ “แหลมสมิหลา”