พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิมหาราช ที่วงเวียนใหญ่นั้น มีเรื่องเบื้องหลังให้เล่ากันมากมาย ซึ่งก็เหมือนเรื่องทั่วๆไปของมหาราชพระองค์นี้ สำหรับอนุสาวรีย์แห่งนี้ ส.ส.ของจังหวัดธนบุรีเป็นผู้เสนอเรื่องให้สร้างมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่มีบางฝ่ายเกรงจะกระทบกระเทือนฝ่ายนิยมราชวงศ์จักรี จึงดึงเรื่องกันมานาน แม้จะเปิดบริจาคและลงประชามติเลือกแบบที่จะสร้างแล้ว ก็ถูกดองไปอีก จนนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจแห่งยุคเผชิญ
เหตุการณ์ที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด ถูกถล่มด้วยระเบิดและกราดปืนกลใส่ขณะว่ายน้ำหนี ซมซานเข้าไปกราบพระบรมรูปในพระราชวังเดิม รอดชีวิตมาได้เลยบัญชาให้กรมศิลปากรจัดการสร้าง โดยไม่ต้องสนใจแบบที่ลงประชามติกันไว้ แม้สำเร็จอย่างสง่างามก็ยังมีเรื่องค่อนขอดกันไม่จบ
ทั้งนี้ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส.จังหวัดธนบุรี ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นที่กรุงธนบุรี รัฐบาลได้รับหลักการที่จะให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่วงเวียนใหญ่ หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร จึงสั่งการให้ออกแบบขึ้นเป็น ๗ แบบ เปิดแสดงในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๐ เพื่อขอประชามติในการเลือกแบบและบริจาคเงินร่วมในการสร้าง แต่การดำเนินงานก็ล่าช้าจนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นในปี ๒๔๘๔ งานจึงชะงักไป
จนในปี ๒๔๙๑ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ เจ้าเก่า พร้อมกับนายเพทาย โชตินุ สมาชิกสภาเทศบาลธนบุรี ได้รื้อฟื้นเรื่องสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นมาอีก แต่การดำเนินงานก็ยังไม่ราบรื่นไปได้ จนถึงปี ๒๔๙๔ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็อนุมัติงบประมาณให้สร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่ค้างคามานานอย่างไม่คาดคิด
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ไปในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาชื่อ “แมนฮัตตัน” ที่ท่าราชวรดิฐ ซึ่งองค์กรช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาส่งมอบให้ไทย ทหารเรือกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจรัฐบาลและทหารบกของคณะรัฐประหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของกองทัพเรือหลัง “กบฏวังหลวง” มี นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ถูกกำหนดให้เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการ ได้นำทหารเรือจำนวนหนึ่งมีปืนกลมือแมดเสนเป็นอาวุธ บุกขึ้นจี้จอมพล ป. นำตัวลงเรือเปิดหัวไปขึ้น ร.ล.ศรีอยุธยา ทางรัฐบาลได้ตอบโต้ฝ่ายกบฏอย่างหนัก นอกจากให้ปืนตลอดริมฝั่งระดมยิง ร.ล.ศรีอยุธยาซึ่งเป็นเป้าลอยกลางแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังส่งฝูงบินไปถล่มระเบิดใส่ ร.ล.ศรีอยุธยาขณะที่จอมพล ป.ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือ จน ร.ล.ศรีอยุธยาบอบช้ำอย่างหนักและจมลงที่ปากคลองบางกอกใหญ่ในเวลาต่อมา ทหารเรือได้นำจอมพล ป.ลงเรือกรรเชิงจะหลบไปขึ้นฝั่งด้านพระราชวังเดิม ก็ยังถูกปืนกลจากฝั่งพระนครระดมยิงจนพลกรรเชิงตาย ทหารเรือต้องนำจอมพล ป.โดดลงน้ำ เอาเรือบังว่ายไปขึ้นฝั่งได้
เชาวน์ รูปเทวินทร์ เล่าไว้ใน “ย่ำอดีต” เล่ม ๒ ว่า “พ่อขุนแปลก” ในชุดเปียกปอนได้เข้าไปหลบภัยในท้องพระโรงพระราชวังเดิม ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ จึงได้ก้มลงกราบขอพระบารมีเป็นที่พึ่งคุ้มครองชีวิต เมื่อรอดพ้นวิกฤติกลับมานั่งบัลลังก์ตราไก่ได้อีก จึงได้บัญชาให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่ค้างคามาตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ จนสำเร็จในปีต่อมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๙๗
การปั้นพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น คณะกรรมการของกรมศิลปากรกำหนดให้อาจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ออกแบบขึ้นใหม่โดยไม่ใช้แบบเก่าที่ขอประชามติไว้ และมีแต่รูปสเก็ตซ์พระพักตร์ให้อาจารย์ศิลป์ พีระศรีเท่านั้น มีลักษณะออกไปทางจีนๆ อาจารย์ศิลป์จึงต้องจินตนาการเอาเอง ซึ่ง อาจารย์ทวี นันทขว้าง อาจารย์คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เขียนเล่าไว้ว่า มีคนมาบอกว่าอาจารย์ศิลป์อยากให้ไปเป็นแบบปั้น พอไปพบ ท่านอาจารย์ชาวอิตาเลียนก็บอกว่า
“ฉันนึกดูแล้วว่า หน้าตาพระเจ้าตากสินจะต้องเหมือนนายกับนายจำรัสบวกกัน ฉันว่าอย่างนั้น นายต้องมาเป็นแบบให้ฉัน”
“นายจำรัส” ของอาจารย์ศิลป์ก็คือ อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง นักเขียนภาพเหมือนฝีมือสุดยอดของเมืองไทย ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมศิลปากร บิดาเป็นเภสัชกรชาวเยอรมันของห้างบี. กริม แอนโก
เป็นอันว่ารูปพระพักตร์ของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่นั้น มาจากหน้าของอาจารย์ทวี นันทขว้าง บวกกับใบหน้าของอาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ซึ่งทั้งสองท่านต้องไปยืนเป็นแบบให้อาจารย์ศิลป์ปั้นพระพักตร์พระเจ้ากรุงธนบุรีคนละหลายวัน
กล่าวกันว่าที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เลือกเอาใบหน้าของอาจารย์ทวี นันทขว้าง คนลำพูนซึ่งมีเชื้อสายไทลื้อ ก็เพราะเห็นว่าใบหน้ามีลักษณะไทยปนจีน
ส่วนใบหน้าของอาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทยเยอรมัน ก็เพราะวงหน้าอาจารย์จำรัสมีลักษณะของนักรบที่บึกบึน เข้มแข็ง เฉียบขาด
แม้พระบรมราชานุสาวรีย์ที่ใช้เวลาถึง ๑๗ ปีกว่าจะสร้างสำเร็จนี้ เมื่อเสร็จแล้วก็ยังถูกค่อนแคะกันอีกจนได้หลายอย่าง
“ทำไมหางม้า และขนหาง จึงชี้ตรงออกไป ทั้งๆที่ม้าไม่ได้วิ่ง!”
ซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรีก็มีคำตอบว่า งานศิลปะทุกชิ้นขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของศิลปิน เป็นธรรมดาที่จะต้องทำไปตามความคิดเห็นของศิลปินผู้สร้างงาน จึงขออธิบายเรื่องนี้ว่า
“ข้าพเจ้าทำคิดทำอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินในลักษณะวีรบุรุษไทย มิใช่ในลักษณะของจักรพรรดิโรมัน ข้าพเจ้าคิดเห็นพระองค์ในการกระทำเพื่อมนุษยธรรมอย่างแท้จริงเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย ในยามที่ความหวังทั้งหลายดูเหมือนสูญสิ้นไปแล้วจากจิตใจของชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าคิดเห็นองค์วีรบุรุษของเราในขณะทำการปลุกใจทหารหาญให้เข้าโจมตีข้าศึกเพื่อชัยชนะ ดังนั้นในความรู้สึกที่แสดงออกในพระพระพักตร์จึงเต็มไปด้วยสมาธิในความคิดเห็น และเต็มไปด้วยลักษณะของชาติชาตรี”
ทั้งพระเจ้าตากสินและม้าทรงต่างอยู่ในอาการตึงเครียด พระองค์กระชับบังเหียนเพื่อจะรุดไปข้างหน้า และม้าทรงก็ตื่นเต้นคึกคักที่จะพุ่งไปข้างหน้าเช่นกัน เมื่อเป็นดังนี้หูและหางที่ชันชี้ จึงสอดคล้องกับความตื่นคะนองของสัตว์
ผู้วิจารณ์หลายคนบอกว่า ม้ากำลังตื่นคะนองจะยกหางขึ้นก็จริง แต่ก็ยกได้เพียงส่วนที่เป็นกระดูกเท่านั้น ขนยังต้องหอยลงมา
อาจารย์ศิลป์ยอมรับว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตที่สมเหตุผล แต่อาจารย์เห็นว่าหางของสัตว์ใดๆก็ตามอาจยกขึ้นโดยแรงเหวี่ยงของกระดูก ซึ่งจะส่งผลถึงขนด้วย เหมือนม้าที่ถูกรบกวนจากแมลงแล้วสะบัดหางไปมา ความคิดที่ทำก็เพื่อเสริมความรู้สึกที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า
ยังมีประชาชนกล่าวอีกว่า ลักษณะการวางขาของม้าควรจะแตกต่างกัน อาจารย์ศิลป์ก็ว่าเป็นการง่ายที่จะปั้นขาหลังหรือขาหน้าให้อยู่ในท่าที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้นก็เพราะคิดว่าม้าทรงถึงจุดสุดยอดของอาการที่จะพุ่งตัวออก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรึงกีบมั่นกับพื้น เพื่อให้มีพลังที่จะโผนไปข้างหน้า หากขาหนึ่งแปลกออกไป จะลดคุณค่าความเป็นจริงที่มุ่งหมาย และว่า
“ข้าพเจ้าต้องการให้พระบรมรูปนี้แทนองค์วีรบุรุษในขณะประกอบวีรกรรม มิใช่อนุสาวรีย์ของนายทัพที่นั่งผึ่งผายอยู่บนหลังม้าเพื่อรับคำสรรเสริญอย่างกึกก้องจากฝูงชนที่คับคั่งตามท้องถนน โห่ร้องต้อนรับผู้มีชัย ซึ่งส่วนมากท่าทางของม้าที่ปั้นนั้นมีลักษณะเหมือนม้าที่สง่างามของละครสัตว์”
อาจารย์ศิลป์ พีระศรียังอธิบายถึงความคิดของท่านในการออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้อีกว่า
“ผู้ชายจะปรากฏกำลังอำนาจของระบบกล้ามเนื้อและจะดุดันน่ากลัว ก็ในขณะที่เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ด้วยความตื่นเต้นอย่างรุนแรงมากกว่าเมื่อกำลังต่อสู้กัน เหมือนกับระบบกล้ามเนื้อของเสือที่กำลังจับเหยื่อ ในขณะที่มันพร้อมจะกระโจนออกย่อมมีความเกร็งแกร่งมากกว่าเมื่อมันตะปบเหยื่อได้แล้ว”
อาจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เปรียบเทียบพระบรมรูปและม้าทรงของพระเจ้าตากสิน กับพระบรมรูปของสมเด็จพระปิยมหาราชไว้ว่า
“จะเห็นได้โดยชัดเจนว่า อนุสาวรีย์แรกเป็นอนุสาวรีย์แด่ชายชาตินักรบที่ออกศึกเพื่อกอบกู้อิสรภาพให้แก่ชาติ ส่วนอนุสาวรีย์หลังเป็นอนุสาวรีย์แด่องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งพระราชกรณียกิจของพระองค์ได้อำนวยประศาสโนบายปกครองบ้านเมืองอย่างเลอเลิศ ด้วยเหตุฉะนั้นเองที่มีความสุขุมคัมภีรภาพและความสง่าผ่าเผย จึงปรากฏสมบูรณ์ในอนุสาวรีย์ของพระบรมรูปทรงม้าพระปิยมหาราช”