ไขชีวิต "ครูปิ๋ม-เสาวณีย์ กาญจนโอฬารศิริ" หรือที่โอตะหลายคนรู้จักในนามผู้สอนร้องเพลงให้กับไอดอลสาว BNK48 แต่หลายคนคงไม่รู้ว่าจากอดีตนิสิตสาวเอกวอยซ์ ม.เกษตรศาสตร์ ผ่านมาหลายสิบปี "ครูปิ๋ม" ได้ผลิตลูกศิษย์จนกลายเป็นศิลปินแนวหน้าเมืองไทยมาแล้วหลายต่อหลายคน รวมทั้ง "แบมแบม Got7" เคยร้องคอรัสให้กับนักร้องรุ่นใหญ่มากมาย จนมาถึงจุดที่ต้องเลือกเส้นทาง? ที่สำคัญเธอยังมีงานอดิเรกในมาดสาวนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของทีมแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทำ...
"ครูปิ๋ม" เริ่มมาสอนร้องเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่?
ครูปิ๋ม : เริ่มจากเรียนจบวิชาเอกขับร้องเพลงคลาสสิก คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ แต่ตอนที่เรียนสมัยปี 4 ก็มีการทาบทามให้มาช่วยสอนร้องเพลงโดยคุณแอน นันทนา บุญหลง นักร้องและครูสอนร้องเพลง ให้ไปช่วยสอนที่โรงเรียน ก็เลยได้เริ่มสอน แล้วก็ทำมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนานมาก (หัวเราะ) ครูสอนมาจากหลายสถาบัน เมื่อก่อนเป็นโรงเรียนดนตรีมีฟ้า ครูก็สอนอยู่ที่นั่น จนโรงเรียนย้ายไปอยู่ที่ตึกแกรมมี่ ครูก็ไม่ได้ย้ายตามไป แล้วก็ทำเป็นโรงเรียนเล็กๆ ของตนเอง มีลูกศิษย์ที่เป็นศิลปินตามมาเรียน
"มันเป็นสิ่งที่ครูทำได้โดยไม่เบื่อ คือให้ครูสอนไปเรื่อยๆ ก็ไม่เบื่อ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เติมเต็มความรู้สึกของครูด้วย สำหรับครูการสอนร้องเพลงมันไม่ใช่งาน เป็นเหมือนเราได้มานอกจากจะทำให้เขาดีขึ้นแล้ว เราก็ยังรู้สึกดีไปด้วย อะไรอย่างนี้ บำบัดตัวเองหรือเปล่า (หัวเราะ) รู้สึกดี"
ครูปิ๋ม : ครูสอนลูกศิษย์มาเยอะจริงๆ อย่างตอนนี้ที่ไปอยู่ที่เกาหลีใต้ แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล นักร้องวงก็อตเซเว่น ครูก็ได้สอนเขาตั้งแต่ตอนที่ยังเด็กๆ ตอนนี้ก็เป็นช่วงที่เขากำลังจะถูกทาบทามไปที่เกาหลี ก็เป็นเด็กน่ารัก เต้นเก่ง และซนมาก เวลาเขาเต้นเราจะรู้สึกว่าเขาแตกต่างจากเด็กทั่วไปจริงๆ มันก็ไม่แปลกที่เกาหลีจะเลือกเขา เพราะว่าเขามีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนและโดดเด่นจริงๆ ในวัยของเขา ในไซส์ขนาดมินิอย่างนั้น แล้วก็แสดงออกอย่างแข็งแรงมาก ครูว่าเขาก็ต้องผ่านอะไรเยอะกว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้
"คือครูมักจะให้ลูกศิษย์ได้ออดิชันเวลามีการแข่งขัน คือเราจะมองเด็กออกว่าคนนี้มีศักยภาพหรือเปล่า เขาจะแข่งชนะมั้ยเราจะดูออก แต่ว่าครูมักจะผลักดันทุกคนที่เป็นลูกศิษย์ตัวเอง เพราะรู้สึกว่าอย่างน้อยถ้าเขามีใจสู้ สิ่งที่เขาจะได้รับคือมันเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเขา มันไม่จำเป็นต้องชนะในการประกวดนั้นๆ ก็ได้ แต่สิ่งที่เขาจะได้รับกลับมาคือเขาจะมีสเต็ปที่ก้าวกระโดดมากกว่าการเรียนไปเรื่อยๆ ครูก็มักจะผลักดันให้ไปประกวด ไปลองทำ มักจะให้โจทย์เขาในการที่จะพัฒนาตัวเองอย่างนี้เสมอ"
นี่คือหลักการสอนปกติของครูเลยหรือเปล่า?
ครูปิ๋ม : ใช่ จะเป็นอย่างนั้น บางทีเขาแค่ก้าวผ่านความขี้อายของเขาครูก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเจ๋งแล้ว เขาแค่กล้าขึ้นไปยืนแล้วก็ร้องแบบสั่นๆ หรืออะไรที่ไม่จำเป็นต้องชนะก็ได้ แต่ว่าคุณชนะตัวเอง ไม่ต้องไปแข่งกับคนอื่น คือคุณพัฒนา แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ครูจะไม่บอกเขาหรอกตอนที่เขาจะไปแข่งว่า เฮ้ย ทำไปก็ไม่ได้หรอกนะ แต่ว่าเขามักจะรู้ได้เองหลังจากที่เขาทำไปแล้ว ก็จะมีการพลาด แต่ครูก็จะบอกเขาว่ามันไม่จำเป็นต้องชนะ เขาก็จะรู้ว่าเขาไม่ได้เพราะเขายังไม่เก่ง แต่ครูก็มักจะเสริมแรงทางบวกให้กับทุกคนเสมอ ให้เขามีความรู้สึกว่าอยากจะลองทำดู เพราะทุกคนที่มาเรียนร้องเพลงครูเชื่อว่ามันมีความชอบอยู่ข้างใน มันมีความรู้สึกอยากแสดงออก อยากร้อง บางคนแค่ร้องก็มีความสุขแล้ว แต่ว่าไม่กล้าร้องให้คนอื่นฟัง กลัวว่าเพี้ยน กลัวว่าทำได้ไม่ดี ก็จะเป็นความกลัวอยู่ข้างใน แล้วมันไปส่งผลต่ออื่นๆ ใดๆ ของเขาในชีวิตของเขาด้วย มันก็จะสะท้อนให้เห็นว่าตัวเขาเองเป็นอย่างไรด้วย
"คือครูจะสามารถรู้เลยว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างไร หรือคนคนนี้เป็นอย่างไรแค่ฟังเขาร้องเพลง ไม่รู้ว่ามันจะเป็นหลักจิตวิทยาหรือเปล่า แต่การไปนั่งร้องเพลงให้คนอื่นฟังมันเหมือนการต้องทำอะไรบางอย่าง ซึ่งมันจะสะท้อนตัวของคนคนนั้นว่าเขาเป็นยังไง เป็นคนใจร้อนนะหรืออะไรมันก็จะออกมาเหมือนกัน ถ้าได้สอนเขามันก็จะยิ่งรู้จักเขา เพราะว่าลักษณะการสอนของครู ส่วนใหญ่ครูจะสอนแบบส่วนตัว ก็จะได้คุยเรื่องอื่นด้วย"
ครูปิ๋ม : ลูกศิษย์ครูที่ผ่านๆ มา เหมือนครูอยู่ที่ตรงนี้แหละ แล้วเขาก็มักจะย้อนกลับมาหาครูเสมอ ต่อให้เขาไปประสบความสำเร็จ ไปเป็นนักร้อง หรือไปประกอบอาชีพอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับวงการ แต่ว่าเขาก็จะยังโทร.หาครู ยังโน่นนี่นั่นเพราะว่ามันไม่ใช่แค่การสอนร้อง มันเหมือนเรารู้กันนะ เรามีเรื่องอย่างอื่นพูดกันด้วย แล้วครูก็จะทัศนคติเขาในเรื่องอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นการให้ความคิดบวก บางทีเขามองอะไรลบๆ หรือว่าร้องได้ไม่ดี ทำได้ไม่ดี ครูจะรู้สึกว่าเฮ้ยวันนี้มีปัญหารึเปล่า หรือว่ามีอะไรที่แปลกไป ครูก็จะถามเขา พอเขาเล่ามาเราก็จะเอาประสบการณ์ที่มีแล้วก็บอก เนี่ย ถ้าเป็นครู ครูจะคิดแบบนี้นะ
"เราเหมือนเป็นเพื่อนเขา เราเหมือนเป็นเพื่อนที่เป็นผู้ใหญ่ ที่สามารถจะบอกเขาได้ บางทีคุณพ่อคุณแม่เขายังแอบมากระซิบครู เนี่ยครูช่วยหน่อยนะ ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีเราก็ช่วยพูด ซึ่งมันเป็นนิสัยทั่วไปของเด็กๆ ที่บางทีไม่ค่อยฟังคนที่บ้านตัวเอง จะฟังคนนอกมากกว่าแต่ต้องเป็นคนที่เขารู้สึกว่าเขาไว้ใจ เขากล้าร้องเพลงให้เราฟัง เขานั่งคุยกับเราเยอะๆ เขาได้ทำกิจกรรมร่วมกับเรา เขาจะรู้สึกว่าเออเขาวางใจในตัวเรา เขาจะฟังเรา ครูก็จะหยอดสิ่งที่ดีๆ อื่นๆ เข้าไปเพิ่มเติมให้เขาด้วย
พูดถึงงานที่นอกเหนือจากการร้องเพลง?
ครูปิ๋ม : เมื่อก่อนครูก็ร้องคอรัสด้วย เมื่อก่อนมันจะมีของคลื่นวิทยุกรีนเวฟ รุ่นที่เป็น พี่แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร, พี่ช่า มาช่า วัฒนพานิช อะไรอย่างนี้ ครูก็ไปร้องตั้งแต่ยุคนั้นเลย พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย ก็เคยร้อง เรียกว่าไปกับวงดีกว่า พอจบมาเรารู้สึกว่าอยากลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ก็ได้ไปลองทำดูควบคู่ไปกับการสอนร้อง แต่ว่าสุดท้ายก็ด้วยเวลาของเรา คือถ้าเราทำงานเยอะก็จะสอนได้น้อย มีช่วงเวลาหนึ่งที่ครูต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสอนกับการทำงาน พอมาคิดถึงเด็กๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินนะ ก็คิดว่ามันมีคุณค่าทางอย่างอื่นด้วย เราสามารถจะสร้างคนที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้นๆ ร้องเพลงได้เยอะขึ้น มากกว่าที่เราไปทำเอง
"มันมีจุดที่แบบ โอเค พอแล้วล่ะ เราร้องแค่นี้ก็โอเค แต่ว่าความรู้สึกอยู่บนเวที แค่ยืนอยู่ข้างหลังศิลปิน อย่างพี่เบิร์ด ร้องเพลงแล้วเรายืนอยู่ข้างหลัง เรายังรู้สึกว่า เฮ้ยมันแบบฟินมากเลย รู้สึกแบบคนข้างล่างทำไมรักคนคนนี้จัง เรายืนอยู่ข้างหลังเราก็รู้สึกดี ตอนนั้นเราก็โอเครับเป็นประสบการณ์ แต่พอเทียบกับเวลาที่ลูกศิษย์เรา เราสอนจากที่เขาเป็นแบบนี้ แล้วเราเปลี่ยนแปลงเขาหลายๆ อย่างจนเขาประสบความสำเร็จ ความรู้สึกที่กลับมามันรู้สึก เฮ้ย มันมีพลังมากเลยอะ คือยืนดูเขาร้องเพลงเนี่ย เราแบบน้ำตาไหลได้เลย นี่ไม่ได้ดรามานะแต่มันไหลเอง มันเป็นความรู้สึกแบบว่า เฮ้ย มันมีความสุขอะ เฮ้ย เออเนี่ยแหละ มันน่าจะใช่แล้ว ครูรู้สึกว่าอันนี้น่าจะได้ความรู้สึกที่ดีให้กับตัวเราเอง แล้วก็ให้คนอื่นไปด้วย ครูก็เลยโยนเวลาทั้งหมดมาเพื่อการสอน ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เด็กมาไม่เคยคิดว่าจะเป็นครูนะ เอาจริงๆ"
แล้วตอนแรกครูอยากทำอะไร?
ครูปิ๋ม : ก็ความฝันเหมือนเด็กทั่วๆ ไป เราชอบร้องเพลงใช่ไหม เราก็คิดว่าโอเคเดี๋ยวเราจะไปเป็นนักร้องนะ แต่ว่าครูเชื่อว่าตอนนี้ครูรู้สึกมีความสุขมากๆ มากกว่าที่ตัวเองจะเป็นศิลปินซะอีก มันเป็นความภูมิใจด้วย เป็นความปีติด้วย แล้วเรารู้สึกว่ามัน เออ มันใช่ อธิบายไม่ถูก แต่คิดว่าทุกคนที่เป็นครูน่าจะรู้ เวลามองไปที่ลูกศิษย์แล้วเรามองได้หลายๆ คนด้วย มันทวีคูณ
มาถึงเรื่องแต่งเพลงบ้าง
ครูปิ๋ม : ก็เคยเขียนอยู่ ตอนนั้นมีคอร์สเรียนของแกรมมี่เราก็ไปเรียน แล้วก็มีครูหลายๆ คนที่เขียนเพลงเก่งๆ แล้วเราก็ฝึกเขียน ให้เขาตรวจ ตอนหลังก็เขียนพวกเพลงละครเยอะแยะมากมาย
เพลงไหนที่แต่งแล้วประทับใจที่สุด?
ครูปิ๋ม : มีเรื่องหนึ่งคือครูได้รับโจทย์มาว่าให้เขียนเพลงนี้ แล้วครูก็เขียนจนเสร็จแล้วส่งและผ่านแล้ว และมารู้ว่า อ้าว คนที่ร้องคือพั้นช์ วรกานต์ โรจนวัชร (เพลงเต็มใจ ประกอบละครทางหลวงทางรัก) แล้วเขาก็เป็นลูกศิษย์ครูไง เรารู้สึกว่า เฮ้ย นั่นมันเป็นครั้งแรกที่ลูกศิษย์ร้องเพลงที่เราเขียน เออ ดีเนอะ แล้วครูก็เขียนไปเรื่อยๆ แต่ว่าพอเราห่างหาย ไม่ได้อยู่ที่วงจรของแกรมมี่แล้วเราก็ไม่ได้เขียน จนมาบีเอ็นเค 48
จากครูสอนร้องเพลง สู่สาวนักซิ่ง
ครูปิ๋ม : ครูชอบความเร็ว ถ้าขับรถไปทำงานก็จะเร็วด้วยนะ (หัวเราะ) แต่ว่าเราถูกห้ามเรื่องการขี่มอเตอร์ไซค์ ขึ้นซ้อนก็ยังไม่เคยเลยตั้งแต่เด็ก เพราะว่าที่บ้านจะค่อนข้างเข้มงวดมาก แล้วก็ไม่ให้เรานั่งมอเตอร์ไซค์เลย ก็จะนั่งไม่เป็น แล้วพอมาวันหนึ่งเมื่อตอนเราแก่แล้วเนี่ย (หัวเราะ) ได้ไปเที่ยวกับเพื่อน แล้วเพื่อนอยู่บนเขาทางภาคเหนือ แล้วเขาขี่มอเตอร์ไซค์ แต่เรานั่งรถแล้วเรารู้สึกว่า เออ สนุกจังเลย แล้วเราเวียนหัวกับเขาที่มันวนไปวนมาก็เลยรู้สึกว่า ที่เราไปลองนั่งจะเป็นอย่างไร แม่คงไม่รู้ ก็เลยไปลองนั่งแล้วก็ใส่หมวกกันน็อก เฮ้ยฟีลมันดีมาก หลังจากนั้นครูก็เลยอยากจะรู้ว่าขี่มอเตอร์ไซค์ต้องทำยังไง ก็เลยไปเรียน พอเรียนแล้วก็สนุกมาก เราอินกับมันมากๆ ครูที่สอนก็เลยบอกว่าไปแข่งดูมั้ย ครูก็เลยลองไปแข่งดู ก็ชนะก็เลยอินมาเรื่อยๆ แล้วซีซีของรถก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปขี่รุ่น 1000 ซีซี แต่ว่าพอหลังจากประสบอุบัติเหตุล้มในสนามจนซี่โครงหักไป 6 ซี่ ก็เหมือนกับผ่อนลง
"ถึงแม้ว่าเราจะชอบมาก แต่ว่าเราก็ยังขี่อยู่ ไปออกทริปก็ใช้รถมอเตอร์ไซค์ คือไปขี่น้อยลง แข่งเองน้อยลง แล้วก็ไปทำทีมแข่งแทน หนักกว่าเดิม (หัวเราะ) แล้วก็มีนักแข่งในทีม แข่งในระดับชิงแชมป์ประเทศไทย ในรุ่น ST1 แล้วก็มีรุ่นรองๆ ลงมา เป็นรถสีเขียวๆ ชื่อทีมวิช เรซซิ่ง โปรเจกต์ เราทำทีมมา 2 ปี แล้วปีนี้เราเป็น satellite ของคาวาซากิ ใช้รถ ZX10"
ข้อดีที่ได้รับจากการแข่งรถจักรยานยนต์?
ครูปิ๋ม : มันเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เหมือนเราได้จดจ่ออยู่กับมันจริงๆ แบบ เฮ้ย อะไร ยังไง ตรงนี้ต้องแบบเอนรถแค่ไหน ยกตัวยังไง มันต้องมีสมาธิมากๆ เพราะฉะนั้น คนที่เป็นนักแข่ง คนที่ขี่รถแข่งครูว่าเขาจะต้องเป็นคนที่มีสมาธิสูง ถ้าคุณหลุดออกจากสมาธินั่นก็คือคุณไปกองยางหรือไม่ก็กรวด มันก็จะอันตราย คือต้องไม่เหม่อ
สัมภาษณ์ , ภาพ , วิดีโอ , กำกับภาพ , ตัดต่อ : ดรงค์ ฤทธิปัญญา