เผยที่มาของเส้นจราจรสีแดง "ช่องทางรถฉุกเฉิน" สำหรับรถฉุกเฉินหรือรถพยาบาล เคยตีเส้นมาแล้วที่สะพานข้ามแยกดินแดง ก่อนตีเส้นที่สีลม ช่วง แจงประชาชนสับสนเพราะยังไม่ได้ติดป้ายเตือน และตีเส้นกากบาท เตรียมทำเพิ่มอีก 2 จุด ถนนเสือป่าและถนนตก
... รายงาน
ทำเอาคนที่มาทำงาน หรือทำธุระบริเวณถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ งงเป็นไก่ตาแตก เมื่อพบ "เส้นจราจรสีแดง" ถูกตีเส้นขึ้นมาระหว่างเลนกลางกับเลนขวา เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทำเอาผู้ใช้รถสับสน แถมใช้ช่องทางสลับไปสลับมา เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะเฉลยว่า เส้นจราจรสีแดงดังกล่าว คือ "ช่องทางรถฉุกเฉิน" สำหรับรถฉุกเฉินหรือรถพยาบาล โดยผู้ขับขี่ต้องหักรถหลบข้างทางเพื่อหลีกทางให้รถเหล่านี้นำผู้ป่วย หรือผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. ได้ทยอยตีเส้นจราจรสีแดงบนพื้นถนนตามระเบียบเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นช่องทางเดินรถสำหรับรถพยาบาลและรถฉุกเฉินต่างๆ ให้เดินทางไปถึงโรงพยาบาลด้วยความสะดวก
โดยเมื่อคืนวันที่ 19 ธ.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 20 ธ.ค. ได้เริ่มตีเส้นจราจรสีแดงบนถนนสีลม ตั้งแต่แยกนราลมจนถึงโรงพยาบาลเลิดสิน โดยเส้นจะอยู่ตรงกลางระหว่างช่องทางที่ 2-3 มีความกว้างประมาณ 1.6 เมตร เหมือนเส้นทางบนสะพานข้ามแยกดินแดง มุ่งหน้าไปโรงพยาบาลราชวิถี ที่ได้ตีเส้นจราจรไปก่อนหน้านี้แล้ว
แต่เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างการตีเส้นกากบาทบนพื้นถนน และการติดป้ายสัญลักษณ์ ทำให้ผู้ใช้รถสับสนและไม่ทราบว่าต้องขับในช่องทางใด?
นายประพาส แนะนำว่า ผู้ใช้รถสามารถใช้ช่องทางเดิมในเส้นสีขาวทับเส้นสีแดงได้ตามปกติ แต่หากได้ยินเสียงไซเรนให้รีบขับเบี่ยงออกจากเส้นสีแดง เพื่อชิดซ้ายหรือชิดขวาเพื่อหลบทางให้รถฉุกเฉินที่จะวิ่งมาจากด้านหลังในช่องสีแดง หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท
หลังจากนี้ กทม. จะทยอยตีเส้นจราจรช่องทางฉุกเฉินอีก 2 จุด คือ ถนนเสือป่า ตั้งแต่แยกเสือป่าจนถึงโรงพยาบาลกลาง และ ถนนตก ตั้งแต่แยกถนนตก ถึงโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงถนน คาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเริ่มตีเส้นจราจรได้
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 76 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการไม่หลบรถพยาบาลไว้ว่า เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือ ผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทางหรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด
2. สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถและจอดรถ ให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง
3. สำหรับผู้ขับขี่หรือควบคุมสัตว์ ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วม ทางแยก
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้