บทความอดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ระบุ เหตุที่ตำรวจส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานสอบสวน จนต้องจับสลาก เพราะต้องทำตามคำสั่งผู้บังคคับบัญชา แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม ตกอยู่ความเสี่ยงผิดอาญาและวินัย เผย เมื่อก่อนตำรวจบางคน “สอบสวนแขวนป้าย” รับเงินแต่ไม่ทำงาน ไปช่วยงานนายพลตำรวจ
วันนี้ (17 ธ.ค.) จากกรณีที่โลกโซเชียลได้มีการแชร์และวิพากษ์วิจารณ์วิดีโอคลิปของผู้ใช้เฟซบุ๊ก “เทิดสยาม บุญยะเสนา” ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง จับสลากให้เลือกระหว่างทำหน้าที่พนักงานสอบสวน และ รองสารวัตรปราบปราม ซึ่งผู้โพสต์คลิประบุว่า “เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ ถึงขั้นต้องจับสลากกันเลยทีเดียว” สาเหตุเกิดจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2559 ยุบเลิกตำแหน่ง และเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวน ส่งผลทำให้ตำรวจขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และ อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เขียนบทความในคอลัมน์ “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ” ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันนี้ ว่า ปัญหาดังกล่าว สืบเนื่องมาจากงานสอบสวนที่มีคดีอาญาต่างๆ เกิดขึ้นมากทั่วประเทศ จนเกินกำลังของพนักงานสอบสวน 10,600 คน จะรับมือได้ อีกทั้งยังมีตำรวจบางคนที่มีเส้นสายได้รับตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนสอบสวนเดือนละ 1-2 หมื่นบาท แต่ไม่ได้เข้าเวรสอบสวนประจำสถานี กลับไปช่วยราชการตามสำนักงานนายพลตำรวจต่างๆ หลายรูปแบบ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบสำนวนคดี
ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องนำตำรวจส่วนใหญ่ ซึ่งมีปริญญาทางกฎหมายที่ทำงานสายอื่น โดยเฉพาะงานป้องกันอาชญากรรม ที่กำหนดตำแหน่งไว้มากเกินจำเป็นเมื่อหลายปีก่อน เปลี่ยนให้มาทำงานสอบสวนแทน แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีเงินเพิ่มพิเศษมากกว่าตำรวจและข้าราชการฝ่ายอื่น ก็หาผู้สมัครใจมาทำงานสอบสวนได้ยาก โดยเฉพาะหลังสายงานถูกยุบไปด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 7/2559 ทำให้การสอบสวน ไม่ใช่วิชาชีพเฉพาะที่พอเห็นอนาคต กลับกลายเป็นสายงานที่ไร้อนาคตยิ่งกว่าเดิม
“สาเหตุสำคัญที่ตำรวจส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานสอบสวน ไม่ใช่เพราะงานหนักอย่างที่ผู้คนเข้าใจ หากเป็นเพราะระบบงานและการบังคับบัญชาสั่งการ ตามชั้นยศและวินัยแบบทหาร ที่ขัดธรรมชาติของงานสอบสวน ที่ทำให้เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นทุกคนในประเทศไทย ไม่สามารถปฏิบัติงานรวบรวมพยานหลักฐานตามความเป็นจริงและกฎหมายได้ ต้องทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ซึ่งทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการกระทำผิดอาญาและวินัยตลอดเวลา” บทความของ พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ
นอกจากนี้ ตำรวจต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ประชาชนมีความรู้และความตื่นตัว รวมทั้งความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากขึ้นทุกวัน หลายแห่งจึงต้องใช้วิธีจับสลาก ใครโชคไม่ดีก็ไปเป็นพนักงานสอบสวน โดยไม่มีใครนึกถึงว่าแต่ละคนมีความพร้อม สามารถทำงานได้หรือไม่ และจะต้องย้ายข้ามจังหวัด หรือไปอีกภูมิภาคหนึ่งไกลแค่ไหน