xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก “ธาริต” 1 ปีไม่รอลงอาญา หมิ่นประมาท “สุเทพ” เอี่ยวโรงพักฉาว ศาลฎีการะบุจำเลยไม่มีหน้าที่ชี้มูล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ(แฟ้มภาพ)
ศาลฎีกาพิพากษากลับจำคุก “ธาริต” 1 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาท “สุเทพ” กรณีแถลงข่าวกล่าวหาทุจริตสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศ หลังศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ยกฟ้อง ศาลฎีการะบุ จำเลยไม่ได้มีหน้าที่ชี้มูลว่าใครผิด แต่เป็นหน้าที่ ป.ป.ช. จำเลยผิดฐานหมิ่นประมาทจริง

วันนี้ (14 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง แจ้งวัฒนะ ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาในคดีดำที่ อ.495/2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีที่นายธาริตจัดแถลงดำเนินคดีนายสุเทพ ฐานเกี่ยวข้องกับการทุจริตก่อสร้างสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ

คดีนี้ นายสุเทพยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2556 ระบุในคำฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 21 ม.ค. - 4 ก.พ. 2556 นายธาริต ขณะดำรงตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวกล่าวหาว่า นายสุเทพ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งเป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างให้บริษัท พีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลเพียงรายเดียว จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนดเวลา คำแถลงของนายธาริตดังกล่าวล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง

ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแม้การแถลงข่าวของจำเลยจะเป็นการกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นผู้สั่งการยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงพักจากรายภาคมาเป็นรายเดียว แต่ก็เป็นการอนุมัติตามหนังสือของสำนักงานแห่งชาติที่เสนอมา สอดคล้องกับที่จำเลยได้ตรวจสอบ เรื่องดังกล่าวในภายหลังก็ได้มีการร้องเรียนว่าพบข้อมูลการทุจริตในโครงการดังกล่าว จากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนและรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ รวมทั้งยังเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใดว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริตใดๆ ซึ่งในการแถลงข่าวจำเลยได้กล่าวในตอนท้ายว่าเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป โจทก์ยื่นอุทธรณ์

ต่อมา วันที่ 3 พ.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน หลังจากนั้นนายสุเทพได้ขออนุญาตฎีกาต่อ โดยศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายธาริตได้มอบหมายให้ทนายความอ่านแถลงการณ์ขอขมานายสุเทพ เนื่องจากพบว่าการแถลงข่าวที่เกิดขึ้นไม่สมควรและเป็นการล่วงเกินนายสุเทพ ทั้งที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้มีพระคุณ ซึ่งตามข้อเท็จจริงการออกคำสั่งของนายสุเทพเป็นการกระทำตามข้อเสนอของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ประกอบกับนายสุเทพยังไม่เคยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาใดๆ ตัดสินว่านายสุเทพกระทำผิด รวมทั้ง ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ชี้มูลว่ากระทำผิด จึงแสดงความสำนึกผิดและกราบขอขมาลาโทษด้วยสำนึกของตัวเอง

นอกจากนี้ นายธาริตได้ยื่นคำให้การใหม่ต่อศาลฎีกา เป็นขอรับสารภาพผิด และขอให้ศาลลงโทษสถานเบา พร้อมขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป 60 วัน แต่นายสุเทพไม่ยอมรับคำขอขมา และส่งทนายความยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้อ่านคำพิพากษาตามที่นัดไว้ในนี้ตามเดิม ส่วนนายธาริตได้มอบหมายให้ทนายความนำเงินสด 1 แสนบาท วางที่ศาลพร้อมยื่นคำร้องระบุว่าเพื่อเป็นการเยียวยาต่อโจทก์โดยโจทก์มีสิทธิรับเงินวางศาลจำนวนดังกล่าวได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ล่าสุด มีรายงานว่าศาลฎีกาพิพากษากลับ สั่งจำคุก 1 ปี นายธาริต โดยไม่รอลงอาญา ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เนื่องจากเห็นว่าในการให้สัมภาษณ์ของจำเลยไม่ใช่หน้าที่ที่จะตรวจสอบและชี้มูลว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งหน้าที่ตรงนี้เป็นของ ป.ป.ช. ส่วนที่จำเลยขอถอนคำปฏิเสธและยื่นรับสารภาพ ไม่สามารถกระทำได้ในชั้นฎีกา และเรื่องจำเลยอ้างว่าได้มีการเยียวยาและไกล่เกลี่ยผู้เสียหายเป็นผลสำเร็จนั้น ศาลเห็นว่าขั้นตอนการไกล่เกลี่ย ยังไม่สำเร็จ ซึ่งผลการไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นยุติของทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

หลังจากฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่เตรียมนำตัวนายธาริตไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ





กำลังโหลดความคิดเห็น