xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานที่มาของชื่อ “ชะอำ” เกี่ยวกับสมเด็จพระเอกาทศรถ! และชื่อพระราชทาน “ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ชะอำ
ชื่อสถานที่และสิ่งของหลายสิ่งหลายอย่างในบ้านเรา ค้นไม่พบว่าเป็นภาษาไทย และแปลความหมายก็ไม่ได้ ต้องรู้ที่มาจึงเข้าใจ อย่างผ้าลายพร้อย สีฉูดฉาด ที่ผู้ชายไทยใช้กันทั่วไป เรียกกันว่า “ผ้าขาวม้า” แต่ก็ไม่เคยเห็นเป็นสีขาวทั้งผืนหรือเกี่ยวกับม้าตรงไหน แต่เป็นผ้าที่ชาวเปอร์เซียนำเข้ามาให้คนไทยรู้จักตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร มีชื่อว่า “ผ้าคามาร์” ซึ่งหมายถึง ผ้าอาบน้ำ คนไทยเลยเรียกเพี้ยนไปเป็น “ผ้าขาวม้า”

หรืออย่าง “ชะอำ” อำเภอหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ก็ไม่มีในพจนานุกรมไทย แต่สันนิษฐานกันว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “หนองชะล้างอานม้า” โดยเล่าสืบกันมาว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นแม่ทัพไปปราบเมืองตะนาวศรี เมื่อเสด็จกลับได้ทรงแวะประทับแรมที่หนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง โปรดให้ไพร่พลลงอาบดื่มและชะล้างอานม้า ราษฎรจึงเรียกกันว่า “หนองชะล้างอานม้า” นานเข้าคำว่า “ชะอาน” ก็เลือนกลายเป็น “ชะอำ” ไป
ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๒๑๓๗ หลังจากมีใบบอกเข้ามาจากเมืองกุยบุรีว่า พระยาศรีไสยณรงค์ หรือ พระศรีถมอรัตน์ ทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรที่ทรงส่งให้ไปครองเมืองตะนาวศรีเป็นกบฏ สมเด็จพระนเรศวรก็ยังเคลือบแคลงพระทัยอยู่ จึงโปรดให้มีตราออกไปเรียกตัวให้เข้ามาเฝ้า แต่พระยาศรีไสยณรงค์ก็ไม่เข้ามา พระเจ้าอยู่หัวทรงพิโรธ ดำรัสสั่งให้สมเด็จพระเอกาทศรถยกพลสามหมื่น ช้างสามร้อย ม้าห้าร้อย ไปจัดการ สมเด็จพระเอกาทศรถล้อมเมืองตะนาวศรีไว้ แล้วเรียกพระยาศรีไสยณรงค์ให้ออกมาเฝ้า ทรงเมตตามีหนังสือไปด้วยว่า ทำความดีไว้ก็มาก ทำความผิดนี้เป็นครั้งแรก จะขอพระราชทานโทษให้ แต่พระยาศรีไสยณรงค์รู้ตัวดีจึงไม่กล้าออกมา วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเอกาทศรถจึงนำกำลังเข้าไปจับพระยาศรีไสยณรงค์ประหาร ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่แล้วจึงยกไพร่พลกลับ ซึ่งก็คงทรงมาแวะชะล้างอานจนเกิดตำนาน “ชะอำ” ในครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังปรากฏในพงศาวดารว่า ในปี พ.ศ.๒๑๓๔ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีทางชลมารค และเสด็จไปประทับแรมที่เขาสามร้อยยอดเป็นเวลา ๑๔ วัน ทั้งทรงประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวง ๑๒ วันด้วย

อีกทั้งในปี พ.ศ.๒๒๔๖ สมเด็จพระเจ้าเสือ ผู้นิยมทรงเบ็ด ก็เสด็จมาประทับที่ตำบลโตนดหลวงและเขาสามร้อยยอดเช่นกัน

ในเอกสารของเทศบาลชะอำ กล่าวว่า

“พื้นที่ชายทะเลชะอำเมื่อสำรวจครั้งแรกยังเป็นป่าอยู่ ส่วนด้านชายทะเลเป็นดงกระบองเพชรป่าหนามเสมา สลับกับต้นมะขามเทศและต้นรัก ชาวบ้านชะอำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่สับปะรด และทำประมง หมู่บ้านชะอำนั้นตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟชะอำทางทิศตะวันตกของทางรถไฟ หมู่บ้านชายทะเลนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่บ้านปากคลองและบ้านหนองจาน เมื่อชะอำเริ่มเป็นที่รู้จักว่าเป็นเมืองชายทะเลที่สงบเงียบ ธรรมชาติสวยงาม อีกทั้งมีแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีราษฎรอพยพมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากชุมชนเล็กๆขยายตัวเป็นชุมชนใหญ่ มีการรวมตัวกันตั้งเป็นหมู่บ้าน ให้ชื่อว่าหมู่บ้าน “สหคาม” โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก”
กรมพระนราธิปฯได้ทรงวางผังตัดถนน และมีพระประสงค์จะให้ชะอำเป็นสถานตากอากาศ ทรงวางแผนพัฒนาขึ้นโดยมีกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความสำคัญของชะอำที่จะเป็นสถานตากอากาศ จึงทรงตั้งกรรมการวางแผนพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน โรงเรียน ฯลฯขึ้น และโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติการจัดสร้างบำรุงสถานที่ชายทะเลขึ้นใน พ.ศ.๒๔๖๙

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกชื่อชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่แหลมผักเบี้ย ไปจนถึงอำเภอบางสะพานของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความยาว ๒๐๐ กิโลเมตร ว่า “ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เพื่อแสดงถึงวีรกรรม พระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ให้ปรากฏพระนามบนแผนที่

ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ประชาชนได้ร่วมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นที่หาดชะอำเหนือ โดยพระครูเกษม วัชราทร เจ้าอาวาสวัดเนรัญชราราม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ ๕ ไร่ สร้างเป็นรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรทรงถือพระแสงดาบหันพระพักตร์สู่ทะเล

นี่ก็คือความเป็นมาของ “ชะอำ” ที่เกี่ยวพันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ จนมาถึงชื่อพระราชทาน “ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ในรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


กำลังโหลดความคิดเห็น