มีอาคารเก่าอายุกว่า ๑๐๐ ปีอยู่หลายหลังซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่โอ่อ่าสง่างามสะดุดตา และใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานราชการในวันนี้ แต่เจตนาที่สร้างก็เพื่อเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของขุนนางคนดังในอดีตเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นสิ่งล้ำค่าในวันนี้ บางหลังรัฐบาลต้องรีบเข้าไปซื้อไว้ ไม่ให้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของต่างชาติ
ในกลุ่มอาคารเหล่านี้ ทำเนียบรัฐบาล ถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมโดดเด่นที่สุด สมกับเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของรัฐบาล และงามสง่าไม่น้อยหน้าทำเนียบรัฐบาลทั้งหลายในโลก รัฐบาลได้ซื้อมาในราคาเพียง ๑ ล้านบาทเท่านั้น ก่อนจะตกไปเป็นสถานทูตญี่ปุ่น
เจ้าของบ้านหลังนี้ก็คือ นายพลเอก นายพลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ขุนนางคนโปรดในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานความรักความเมตตาแก่เจ้าพระยารามฯ เสมือนบิดากับบุตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยตั้งแต่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จนขึ้นครองราชย์ตลอดรัชกาล นอกจากจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มากมายแล้ว เจ้าพระยารามฯ ยังได้รับพระราชทานทรัพย์ให้สร้างบ้าน“นรสิงห์” หลังนี้ขึ้น โดยใช้ช่างชาวอิตาเลียนชุดเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และสร้างตามแนวพระราชดำริ เป็นศิลปะแบบเวนิเซียนโกธิค แต่การสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็เสด็จสวรรคต นายช่างชาวอิตาเลียนจึงกลับประเทศหมด
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๔ ระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นได้เจรจาขอซื้อหรือเช่าบ้านนรสิงห์เพื่อทำเป็นสถานทูตญี่ปุ่น แต่ก็ไม่เป็นที่ตกลงกัน และในปีเดียวกันนั้น เจ้าพระยารามฯได้ทำหนังสือเสนอขายบ้านนรสิงห์ให้รัฐบาลในราคา ๒ ล้านบาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะและเสียค่าดูแลรักษาสูง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นสมควรจะซื้อไว้เป็นที่รับรองแขกเมือง และตกลงกันได้ในราคา ๑ ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังนำเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จ่ายไป แล้วมอบให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล
ขณะนั้นบ้านนรสิงห์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ รัฐบาลจึงมอบให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ซึ่งรับราชการอยู่กรมศิลปากร นำนักเรียนศิลปากรแผนกช่าง มาต่อเติมปรับปรุงจนเสร็จ
เมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น รัฐบาลชุดแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการของรัฐบาล ต่อมาเมื่อ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๖ ได้ย้ายทำเนียบรัฐบาลมาอยู่ที่วังปารุสกวัน ครั้นถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ ได้ย้ายสำนักนายกรัฐมนตรีไปอยู่ที่วังสวนกุหลาบ จนเมื่อปรับปรุงบ้านนรสิงห์เสร็จใน พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงได้ย้ายทำเนียบรัฐบาลมาอยู่ที่บ้านนรสิงห์ เปลี่ยนชื่อเป็น “ทำเนียบสามัคคีชัย”
แม้ทำเนียบสามัคคีชัยจะเป็นทำเนียบรัฐบาล แต่ใช้เงินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซื้อมา สำนักงานทรัพย์สินฯจึงเป็นเจ้าของ ฉะนั้นในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติการซื้อทำเนียบรัฐบาลจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในราคา ๑๗,๗๘๐,๘๐๒.๓๖ บาท โดยคำนวณจากราคาต้นทุนที่ซื้อมา บวกด้วยราคาซ่อมบำรุง แล้วคูณด้วย ๑๕ จากนั้นลดราคา ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ตามระเบียบของราชการสมัยนั้น โอนจาก สำนักงานทรัพย์สินฯมาเป็นของรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒
ถึงวันนี้ ตึกทำเนียบรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นบ้านที่อยู่ของใคร ก็เป็นศูนย์บัญชาการของรัฐบาลไทยอย่างสมศักดิ์ศรี
ส่วนอาคารเก่าที่โอ่อ่าสง่างามแปลกตาอีกหลังหนึ่ง เป็นที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ก็เช่นเดียวกับทำเนียบรัฐบาล คือเป็นบ้านของขุนนางอีกท่านหนึ่ง รายนี้เป็นคนโปรดในรัชกาลที่ ๕ แต่ไม่มีบุตรธิดาจะสืบทอด เลยถวายมรดกแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมากระทรวงมหาดไทยขอซื้อเป็นที่พักแขกเมืองในราคาเพียงแสนเศษ เลยกลายเป็นที่ทำการของรัฐบาลมาหลายกระทรวง จนมาเป็นที่ทำการของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เงินซ่อมแซมตกแต่งไปกว่า ๑๔๑ ล้านบาท
ท่านเจ้าของเดิมบ้านหลังนี้ก็คือ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยันต์)) เป็นคนเกิด พ.ศ. ๒๓๖๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พี่ชายได้ไปฝากเป็นเสมียนเขียนกลอนใบ้หวยที่โรงหวยของพระยาศรีไชยบาล (หง แซ่เหลา) ซึ่งที่นี่นายพุ่มได้เกิดชอบพอรักใคร่กับลูกสาวคนเล็กของเจ้าสัวหง และอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน
นายพุ่มเป็นคนฉลาดปัญญาหลักแหลม พ่อตาจึงมอบกิจการทั้งหมดให้ดูแล และมอบที่ดินริมคลองโอ่งอ่างตรงข้ามวัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) ซึ่งเป็นโรงเก็บเรือให้เป็นที่ปลูกบ้าน ซึ่งนายพุ่มก็ปลูกเรือนแพแฝดเป็นที่อยู่กับภรรยา ต่อมาได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในเจ้าฟ้ามหามงกุฎฯ ขณะที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามหามงกุฎฯได้ขึ้นครองราชย์ นายพุ่มจึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น ขุนสมุทรโคจร รับราชการมีความดีความชอบมาตลอด จนเป็นโปรดในรัชกาลที่ ๕ และขึ้นไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องป่าไม้ที่เชียงใหม่ถึง ๑๑ ปี กลับมาใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาพลเทพ ตำแหน่งจตุสดมภ์เสนาบดี
หลังจากที่กลับมาจากเชียงใหม่ เจ้าพระยาพลเทพได้รื้อเรือนแพแฝดที่อยู่อาศัยมานาน ไปปลูกเป็นกุฏิถวายวัดทองธรรมชาติ สถานที่เคยให้การศึกษา และปลูกบ้านหลังใหม่ตามสไตล์ตะวันตกซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในขณะนั้น โดยให้สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนออกแบบตามแนวเรอเนซองต์ เป็นตึก ๓ ชั้น หันหน้าลงคลองโอ่งอ่าง ส่วนด้านหลังซึ่งเป็นด้านหน้าในปัจจุบันสร้างเป็นเรือนบริวาร
บ้านหลังนี้เมื่อสร้างใหม่ๆ เป็นที่กล่าวขวัญถึงความสง่างามกันมาก มีคนนำไปเป็นแบบอย่างต่อไปอีกหลายหลัง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
“...เดิมเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาเทพอรชุนหรือเป็นเจ้าพระยาพลเทพ สร้างเรือนตึกที่ริมคลองโอ่งอ่าง พระยาภักดีภัทรากร (โอจิว) ถ่ายอย่างไปสร้างเรือนของตนเองที่เหนือวัดอรุณฯ เท่ากันและเหมือนกัน ด้วยนับถือชะตาเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ว่าเฮง แห่งหนึ่ง แล้วพระยาภาษีสมบัติบริบูรณ์ (เล็ก) ถ่ายแบบไปสร้างที่ริมคลองบางกอกน้อยอีกแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุอันเดียวกัน...”
ใน พ.ศ. ๒๔๓๘ เจ้าพระยาพลเทพมีอายุ ๗๕ ปี ชราภาพและมีโรคภัยเบียดเบียน แต่ก็ยังปฏิบัติราชการเป็นประจำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระมหากรุณาธิคุณให้พักราชการมาประชุมเพียงครั้งคราว โดยยังมีตำแหน่งสมุหพระกลาโหมตามเดิม ทั้งในปีเดียวกันนั้น ยังโปรดเกล้าฯให้พระยาพลเทพเป็น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่อัครมหาเสนาบดี
ภรรยาคนแรกของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เสียชีวิตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านมีภรรยาคนใหม่ แต่ทั้งสองท่านก็ไม่มีบุตร ฉะนั้นเมื่อตอนที่ท่านป่วยหนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จไปเยี่ยม ท่านซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงน้อมเกล้าฯถวายมรดกแด่พระองค์
เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ.๒๔๔๔ ขณะมีอายุได้ ๘๑ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพที่เมรุท้องสนามหลวง
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๕ กระทรวงมหาดไทยได้ขอซื้อบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์หลังนี้ต่อกรมพระคลังข้างที่ไว้เป็นที่พักแขกเมือง ซึ่งกรมโยธาตีราคาออกมาว่า ถ้าจะสร้างใหม่ก็จะตก ๑๑๑,๓๖๓ บาท ราคาเสื่อมสภาพในขณะนั้นจึงอยู่ที่ ๗๐,๐๙๓ บาท กับที่ดินอีก ๘๔๒ ตารางวา ราคาตารางวาละ ๖๕ บาทเป็นเงิน ๕๔,๖๖๕ รวมเป็นเงิน ๑๒๔,๗๕๘ บาท
อาคารหลังนี้ได้ใช้เป็นที่ทำการรัฐบาลมาหลายหน่วยงาน ในพ.ศ.๒๔๕๑ เป็นที่ทำการของกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมัยรัชกาลที่ ๖ กระทรวงธรรมการได้รับงบประมาณ ๑๒๒,๘๐๑ บาท ให้สร้างตึกที่ทำการใหม่เป็นตึก ๓ ชั้น จึงรื้อเรือนบริวารด้านทิศเหนือ แล้วสร้างอาคารใหม่เชื่อมต่อกับบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์หลังเดิม ซึ่งได้ทำให้สถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงจากบ้านที่อยู่อาศัยมาเป็นที่ทำการราชการ โดยสร้างตึกใหม่ให้กลมกลืนกับตึกเดิม และหันหน้ามาสู่ถนนจักรเพชรแทนหันหน้าลงคลองโอ่งอ่าง
ต่อมาสถานที่แห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ทำการของกรมเกษตรและการประมง ก่อนที่จะแยกออกเป็นกรมวิชาการเกษตรและกรมการประมง จากนั้นก็เป็นที่ทำการของสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๔๐ กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการ และได้เช่าบ้านเจ้าพระยาที่ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร เป็นที่ทำการชั่วคราว จากนั้นก็ได้หาสถานที่ตั้งสำนักงานถาวรหลายแห่ง เช่น วังปารุสกวัน บ้านมนังคศิลา วังสุนันทา ตึกกรมโยธาธิการที่ผ่านฟ้า กระทรวงต่างประเทศที่วังสราญรมย์ ในที่สุดคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้ใช้อาคารสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คือบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร โดยขอให้กรมศิลปากรออกแบบบูรณะใหม่ ได้งบประมาณค่าปรับปรุง ๑๓๓,๔๑๐,๐๐๐ บาท แต่ใช้ไปถึง ๑๔๑,๑๙๒,๐๐๐ บาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ขณะดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการของศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน๒๕๔๓
ตึกงามอีกหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ “บ้านพิษณุโลก” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทานมหาดเล็กส่วนพระองค์ คือ พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) น้องชายของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เจ้าของบ้านนรสิงห์นั่นเอง ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกประจำราชสำนักในยุคนั้น มีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๓ งาน มีชื่อเดิมว่า “บ้านบรรทมสินธุ์”
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ซื้อบ้านหลังนี้จากเจ้าของเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านไทยพันธมิตร” ใช้เป็นที่ต้อนรับแขกเมือง และมีโอกาสได้ต้อนรับ จอมพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขณะมาเยือนไทย หลังสงครามจึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น “บ้านพิษณุโลก” เนื่องจากตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก ตรงข้ามกับสนามม้า
ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ปรับปรุงบ้านพิษณุโลกเพื่อเป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรี แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้ย้ายเข้าพักได้ ๒ วันก็ย้ายกลับไปบ้านพักเดิมที่สี่เสา เทเวศร์ เลยทำให้เกิดเล่าลือกันว่าบ้านพิษณุโลกผีดุจนไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนเข้าพักได้ จนถึงสมัย นายชวน หลีกภัย ซึ่งบ้านพักเดิมในซอยหมอเหล็ง มักกะสัน คับแคบ จึงย้ายเข้าบ้านพักตามตำแหน่ง และพักอยู่ตลอด ๒ สมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เข้าพักที่บ้านพิษณุโลก
กล่าวกันว่าผีบ้านพิษณุโลกยังต้องเกรงใจนายชวนที่เป็นคนสุภาพ อ่อนน้อม ให้เกียรติเจ้าของบ้าน ไม่เข้านอนในห้องนอน แต่นอนบนโซฟาในห้องทำงานนั่นเอง
บ้านพิษณุโลกยังเป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์เรื่อง “บ้านทรายทอง” ฉบับที่สร้างโดยบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่น นำแสดงโดย พอเจตน์ แก่นเพชร กับ จารุณี สุขสวัสดิ์ กำกับการแสดงโดย รุจน์ รณภพ
บ้านพระราชทานแก่ข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลังหนึ่ง ก็คือ “บ้านมนังคศิลา” ที่ยมราช ซึ่งโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานแก่ พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) อดีตอธิบดีกรมชาวที ผู้มีหน้าที่ดูแลพระราชฐานที่ประทับทั้งหมด
ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทำเรื่องขอไถ่ถอนมาจากธนาคารเอเชีย เพื่อใช้เป็นบ้านรับรองของรัฐบาล และเป็นที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล แต่ที่บ้านมนังคศิลาดังสุดๆ ก็เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เริ่มสนใจจะเป็นนักประชาธิปไตย ตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อเตรียมลงเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.๒๕๐๐ และใช้ชื่อพรรคว่า “พรรคมนังคศิลา” ทั้งยังใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการพรรคด้วย
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ สภาสตรีแห่งชาติ ได้ย้ายเข้ามาใช้บ้านมนังคศิลาเป็นสำนักงาน
ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ได้ย้ายสำนักงานเข้ามาร่วมบ้านมนังคศิลาด้วยอีกราย
ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ ได้ใช้ส่วนหนึ่งของบ้านมนังคศิลา จัดตั้ง “หอเกียรติภูมินายกรัฐมนตรี” แสดงภาพ ประวัติ และผลงานเด่นของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่คนแรกจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ตึก ๒ ชั้นหลังเล็กๆ ริมรั้วติดประตูบ้านมนัคศิลา ยังเคยใช้เป็นสำนักงานของ สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ในสมัย จิรวรรณ กัมปนาทแสนยากร เป็นนายกสมาคม ผู้เขียนซึ่งเป็นกรรมการสมาคมเคยไปนั่งทำงานอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง
บ้านพระราชทานอีกหลังหนึ่ง ก็คือ “บ้านพิบูลธรรม” ซึ่งชื่อนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก ปัจจุบันเป็นที่ทำการของกระทรวงพลังงาน อยู่ที่เชิงสะพานกษัตริย์ศึก เดิมบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) ทั้งบ้านและที่ดินเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังแล้ว จึงได้พระราชทานเงินให้สร้างตึกขึ้นอีกหลังหนึ่ง
ตึกที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นตึกสามชั้นนี้ มีสะพานติดต่อกับตึกหลังเก่าที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๕ และเนื่องจากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรหรือช่างสิบหมู่อยู่ด้วย จึงให้ช่างที่กรมศิลปากรซึ่งมีสถาปนิกชาวอิตาเลียนมารับราชการอยู่หลายคน ให้ ศาสตราจารย์อีมัน เฟรดี ซึ่งมียศเป็นรองอำมาตย์เอก เป็นผู้ออกแบบตึก ช่างอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบลาย โดยมีช่างเซี่ยงไฮ้และช่างไทย แกะลายไม้ ส่วนภาพฝาผนังในห้องต่างๆ เป็นฝีมือของศาสตราจารย์คาร์โล ริโกลี หนึ่งในผู้เขียนภาพบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี สิ้นค่าใช้จ่ายไป ๑๕๐,๐๐๐ บาท
บ้านหลังนี้มีเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ ติดถนนพระราม ๑ ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือและสถานีหัวลำโพง จึงถูกเวนคืนผ่ากลางแยกออกเป็นสองส่วน ด้านหนึ่งติดคลองผดุงกรุงเกษม อีกด้านหนึ่งติดวัดบรมนิวาส
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีได้อยู่ที่บ้านหลังนี้จนถึงอสัญกรรมใน พ.ศ.๒๔๘๕
เดิมบ้านนี้มีชื่อว่า “บ้านนนที” เนื่องจากมีตราวัวซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังติดอยู่ ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านนนทีได้ถูกระเบิดของฝ่ายสัมพันธมืตรที่พลาดเป้าจากหัวลำโพงมาลงที่บ้านหลายลูก ทำให้ภาพเพดานห้องโถงที่งดงามเสียหายไปมาก เจ้าของบ้านได้เสนอขายบ้านให้รัฐบาล ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ให้โรงงานยาสูบซื้อไว้เป็นสถานที่ราชการในราคา ๖ ล้านบาท และซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม แต่ก็ไม่สามารถคืนความงามกลับมาได้หมด และเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านพิบูลธรรม ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๑ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงให้เป็นที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติ
ตึกงามเหล่านี้สร้างขึ้นในยุคที่เรากำลังตื่นตัวรับอารยธรรมตะวันตก และมีสถาปนิกที่มีฝีมือของยุโรปเข้ารับราชการในไทยมาก จึงฝากฝีมือไว้ให้เป็นสมบัติล้ำค่าในวันนี้
ในอีกแง่มุมหนึ่ง ตึกหลังงามเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความคิดว่า ท่านเจ้าของบ้านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ ก็ด้วยการรับราชการสร้างคุณงามความดีต่อแผ่นดิน แต่ก็ไม่สามารถรักษาบ้านกันไว้ได้เลยเมื่อพ้นราชการ แสดงว่าในขณะที่ท่านมีอำนาจหน้าที่อยู่นั้น ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ กอบโกยความมั่งคั่งไว้ให้ตัวเองเลย รับใช้แผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างน่าสรรเสริญ
แบบอย่างเช่นนี้หายากแล้วนะ ในยุคประชาธิปไตยแค่เลือกตั้ง