xs
xsm
sm
md
lg

TIJ ชวนผู้เกี่ยวข้องร่วมมองอนาคต “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ระบบทุนนิยมนำมาซึ่งการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบในทางลบทั้งมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดที่นำเสนอรูปแบบการทำธุรกิจที่สามารถพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกันที่รู้กันในชื่อเรียกของ “Social Enterprise” หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีหลักการและแนวคิดสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพยายามผลักดันให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากความพยายามของภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะออกนโยบายและกฎหมายเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2553 และในขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมได้สิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยปลายปีนี้เป็นช่วงการเตรียมนำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม” สู่การพิจารณาเป็นกฎหมาย

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมในฐานะเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงร่วมกับเครือข่ายกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา ของ TIJ หรือ RoLD Fellows จัดงานเสวนาหัวข้อ “Thailand Social Enterprise: The Way Forward” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีทางความคิดสำหรับรับฟังมุมมองผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมุมมองที่ได้รับจากเวทีเสวนานี้จะถูกนำมาเรียบเรียงและเผยแพร่เพื่อประโยชน์เชิงวิชาการและประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

งานเสวนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นการกล่าวเปิดโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะในหัวข้อ “วิสาหกิจเพื่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Social Enterprise for Sustainable Development) โดยกล่าวว่า กฎหมายที่ดีควรจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกลไกการทำงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ SE ในไทยอย่างเป็นระบบมี ecosystem ที่เอื้อให้คนที่มี passion สามารถสร้าง social innovation ที่ช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้จริง และวัดผลได้ โดยหัวใจสำคัญของความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโมเดล ทางธุรกิจที่ดี มีสินค้าหรือบริการในรูปแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและสังคม สามารถแข่งขันได้ ไปจนถึง การสร้างช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนและผลประโยชน์ทางภาษีในสภาวะที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ เห็นได้ว่า ลำพังเพียงกฎหมายไม่อาจสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานบ่มเพาะ (incubator) ภาคการศึกษา ภาคการเงิน สมาคมผู้ประกอบการ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ในการนำพาให้วิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยกลายเป็นมาตรฐานใหม่ (New normal)ในการแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน

การเสวนาในช่วงที่ 1 พูดคุยในหัวข้อ “Ecosystem บทบาทเชิงนโยบายและคุณค่าทางสังคมของ Social Enterprise” ที่ นำเสนอมุมมองเชิงคุณค่าที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ทั้งในมิติทางวิชาการและกรณีศึกษาจากภาคปฏิบัติ มีการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยถึงที่มาของความล้มเหลวในประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีระบบนิเวศน์ที่มีประสิทธิภาพซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้วิสาหกิจในสังคมไทยเติบโตได้ ผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ที่มีส่วนช่วยผลักดันพัฒนาการของกิจการเพื่อสังคมในมิติต่างๆ ได้แก่ คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม อาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม และ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ

ส่วนการเสวนาในช่วงที่ 2 หัวข้อ “กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคมและทิศทางในอนาคต” ได้เปิดมุมมองบทบาทของ ผู้เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมหลังร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมฯ มีผลบังคับใช้ ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion คุณจรัญพร เลิศสหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีน สไตล์ จำกัด คุณวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ SME Development Bank และ คุณฎาฎะณี วุฒิภดาดร รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร

หลังการเสวนาแต่ละช่วงมีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังได้ร่วมโหวตแสดงความคิดเห็นต่อคำถามที่ทาง TIJ ร่วมกับคณะทำงานพิจารณาว่าประเด็นสำคัญ ที่ต้องอาศัยความเห็นที่หลากหลายจากผู้เข้าร่วมงาน โดยข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้จากการเสวนาจะนำไปจัดทำเป็นรายงานสรุปพร้อมบทวิเคราะห์เพื่อประโยชน์เชิงวิชาการและการจัดทำนโยบายต่อไป

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการโดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการช่วยเสริมสร้าง สนับสนุน และส่งเสริมให้เกิด ecosystem ของวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น เทใจดอทคอม UNDP และผู้ประกอบการสังคมเช่น Green Style Thailand, ๑4๑, Young Happy, Social Giver และ Toolmorrow




กำลังโหลดความคิดเห็น