xs
xsm
sm
md
lg

๙ สะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง บางแห่งสร้างมาแต่สมัย ร.๕! ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่แต่ไม่สวยเท่า!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สะพานดำรงสถิตเดิม
เมื่อเล่าความเป็นมาของ “คลองโอ่งอ่าง” หรือ “คลองรอบกรุง” แล้ว ก็อยากจะให้รู้จักความเป็นมาของกรุงเทพมหานครของเราอีกอย่าง ก็คือสะพานเก่าที่สร้างข้ามคลองแห่งนี้และยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ ๙ สะพาน คือ
สะพานนรรัตนสถาน
สะพานนรรัตนสถาน
เป็นสะพานแรกที่สร้างขึ้นจากด้านปากคลองบางลำพู อยู่บนถนนจักพงษ์ตอนใกล้สี่แยกบางลำพู เดิมสร้างเป็นสะพานโครงเหล็ก ต่อมาได้มีการบูรณะสะพานในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นรูปลักษณะสะพานปัจจุบัน ซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก และปลายสุดของราวสะพานทั้งสี่ เป็นเสาไฟฟ้าคอนกรีตทรงสอบขึ้นข้างบน
สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
สะพานเฉลิมวันชาติ
ที่นิยมเรียกกันว่า “สะพานวันชาติ” ข้ามคลองบางลำพูตรงจุดเชื่อมต่อของถนนดินสอกับถนนประชาธิปไตย สร้างในปี พ.ศ.๒๔๘๓ สมัยรัชกาลที่ ๘ ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และตั้งชื่อสะพานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุนายนเป็นวันชาติไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ โดยรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ย่านนี้เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งขายธงชาติ

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงที่ข้างป้อมมหากาฬ เชื่อมต่อถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอกสะพาน เดิมเป็นสะพานเหล็กโค้ง ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เมื่อมีการสร้างถนนราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ ใช้วัสดุคล้ายสะพานมัฆวานรังสรรค์ คือเป็นสะพานเหล็กหล่อ มีลูกกรงเป็นลายดอกไม้ศิลปะอาร์ตนูโว ที่เชิงสะพานมีเสาหินอ่อนสูงประดับรูปหัวแกะ รองรับเครื่องยอดประดับสำริด มีเฟื่องอุบะห้อยลงมาจากหัวเสา ที่ตัวเสามีรูปเรือรบโรมันทำด้วยสำริด เชิงสะพานเป็นหินอ่อนลาดโค้ง พร้อมบันไดลาดลงสู่ทางเท้าข้างถนน พระราชทานนามว่า “สะพานผ่านฟ้าลีลาศ” ให้คล้องจองกับ “สะพานผ่านพิภพลีลา” ที่เชื่อมถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินใน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครดำเนินการขยายผิวการจราจรบนสะพานผ่านฟ้าลีลาศให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงิน ๒ ล้านบาท จัดตั้งเป็นกองทุนเริ่มต้น

ในปี ๒๕๓๗ กรุงเทพมหานครได้ขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศออกไปทั้ง ๒ ข้างทาง กว้างข้างละ ๗ เมตร ยาวประมาณ ๒๕ เมตร ปรับปรุงผิวการจราจรเพิ่มขึ้นเป็น ๑๓ ช่องทาง โดยรักษารูปแบบและเครื่องประดับไว้ตามเดิม ใช้งบประมาณ ๓๐ ล้านบาท เปิดใช้สะพานปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๗

สะพานสมมตอมรมารค
ก็คือสะพานข้าคลองรอบกรุงบนถนนบำรุงเมืองที่สำราญราษฎร์ ซึ่งย่านนี้แต่ก่อนเรียกกันว่า “ประตูผี” เพราะมีการนำศพจากภายในกำแพงเมืองออกทางประตูสำราญราษฎร์ ข้ามคลองไปเผาที่ “เมรุปูน” วัดสระเกศ ซึ่งเป็นเมรุปูนแห่งแรกที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓

เดิมจุดนี้มีสะพานไม้เก่า โครงล่างเป็นเหล็กแบบขันเลื่อนเปิดให้เรือสัญจรไปมาได้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกกันว่า “สะพานเหล็กประตูผี” แต่ก็ทรุดโทรมลงภายในรัชกาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ในปี ๒๔๔๕ แล้วเสร็จในปี ๒๔๔๖ เป็นสะพานคอนกรีต ยาว ๒๓ เมตร กว้าง ๗.๕ เมตร พระราชทานนามว่า “สะพานสมมตอมรมารค” เป็นเกียรติแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์

ในการสร้างสะพานขึ้นใหม่ในครั้งนี้ กรมพระนริสรานุวัตติวงศ์ ได้กราบบังคมทูลเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๔๕ ขอพระบรมราชานุญาตขยายถนนในช่วงนี้ให้กว้างขึ้น โดยรื้อประตูสำราญราษฎร์และโรงแถวด้านขวาอีก ๒ ห้อง มีพระราชกระแสตอบว่า “ชอบแล้ว ควรทำ”

สะพานระพีพัฒนภาค
เป็นสะพานข้ามคลองโอ่งอ่างที่หน้าคุกใหม่ หรือ “สวนรมนียนาถ” ในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นของถนนหลวง ผ่านสี่แยกวรจักร ผ่านหน้าโรงพยาบาลกลาง ไปจนถึงสะพานนพวงศ์ที่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เข้าย่านสถานีหัวลำโพง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้สร้างสะพานนี้ขึ้น พระราชทานนามว่า “สะพานระพีพัฒนภาค” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”

ลักษณะสะพานในปัจจุบัน เป็นสะพานที่ซ่อมแซมปรับปรุงขึ้นใหม่ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเรียบ ราวสะพานเป็นคอนกรีตโค้งออกด้านข้าง ลูกกรงทำด้วยท่อเหล็กเหลี่ยม กลางสะพานมีแผ่นจารึกนามสะพานและปี พ.ศ.๒๕๐๔ ที่ซ่อมสะพาน ปลายราวสะพานทั้ง ๔ ด้านมีเสาโคมไฟเป็นโลหะ
สะพานภาณุพันธ์เดิม
สะพานดำรงสถิต
หรือสมัยก่อนเรียกกันว่า “สะพานเหล็กบน” เป็นสะพานของถนนเจริญกรุงข้ามคลองรอบกรุงที่สามยอด แรกเป็นสะพานไม้ข้ามมาชนประตูสามยอดที่ขวางถนนอยู่พอดี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การจราจรย่านนี้ขวักไขว่ เพราะเป็นย่านการค้าของกรุงเทพฯ ทำให้สะพานเดิมคับแคบและทรุดโทรม ในปี ๒๔๔๐ จึงเปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กสั่งนอกตามความนิยมในยุคนั้น ซึ่งกว้างกว่าสะพานเก่าถึง ๓ เมตร พระราชทานนามว่า “สะพานดำรงสถิต” เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีวังอยู่ติดกับประตูสามยอด ปัจจุบันสะพานดำรงสถิต สร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และกรมพระยาดำรงฯทรงย้ายวังมาอยู่ที่ถนนหลานหลวง คือ วังวรดิศ
สะพานหันเก่าและสะพานหันใหม่
สะพานภาณุพันธ์
เป็นสะพานข้ามคลองโอ่งอ่างที่ปลายถนนเยาวราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างในสมัยใกล้เคียงกับสะพานดำรงสถิตและสะพานพิทยเสถียร (สะพานเหล็กล่าง) จึงเป็นสะพานเหล็กตามรูปแบบที่นิยมในสมัยนั้น พระราชทานนามว่า “สะพานภาณุพันธุ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งประทับอยู่ที่วังบูรพาภิรมย์ใกล้สะพาน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงได้รื้อสะพานเก่าสร้างใหม่ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างในปัจจุบัน รักษาแต่นามพระราชทานของสะพานไว้
สะพานหันเก่าและสะพานหันใหม่
สะพานหัน
เป็นสะพานขนาดเล็กข้ามคลองโอ่อ่างที่ถนนสำเพ็ง เดิมเป็นสะพานไม้แผ่นเดียวสำหรับคนเดิน ปลายข้างหนึ่งยึดกับเสาสะพานฝั่งหนึ่ง อีกข้างหนึ่งหันเปิดทางให้เรือผ่านได้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ สร้างใหม่อีกครั้งเป็นสะพานแบบที่มีในเมืองเวนิชและเมืองฟลอเรนซ์ในอิตาลี คือเป็นสะพานโค้ง สองฟากบนสะพานสร้างเป็นห้องแถวเล็กๆให้เช่าขายของ ตรงกลางเป็นทางคนเดิน ต่อมาในปี ๒๕๐๕ จึงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างในปัจจุบัน สองฟากบนสะพานยังแบ่งซอยให้ตั้งร้านขายของ แม้จะหันไม่ได้มานานแล้ว แต่ก็ยังเรียกกันว่า “สะพานหัน”ตลอดมา
สะพานโอสถานนท์ก่อนปรับโฉมใหม่
สะพานโอสถานนท์
ปากคลองโอ่งอ่าง ติดกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า ยังมีสะพานเล็กๆอีกแห่งหนึ่งซ่อนอยู่ เป็นสะพานสุดท้ายของคลองนี้ที่ต่อมาจากสะพานบพิตรพิมุข สะพานเล็กๆอีกแห่งต่อจากสะพานหัน แต่หาหลักฐานไม่ได้ว่าสร้างมาแต่สมัยใด ส่วนสะพานโอสถานนท์เป็นสะพานที่เชื่อมปลายถนนจักรวรรดิกับถนนจักรเพชรตรงหน้าการไฟฟ้าวัดเลียบ และเป็นจุดเชื่อมเขตสัมพันธวงศ์กับเขตพระนคร เดิมจุดนี้มีแต่สะพานสำหรับรถรางข้ามเท่านั้น แต่คนจะข้ามคลองบางคนยอมเสี่ยงไต่บนรางรถราง จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ บริษัทรถรางจึงอนุญาตให้จอดรถรับคนข้ามคลองได้ เก็บเงินคนละ ๒ สตางค์

ในปี ๒๔๗๑ ราษฎรในย่านปากคลองโอ่งอ่างจึงเรี่ยไรเงินกันขอทำสะพานคนเดิมข้ามเชื่อมอำเภอพาหุรัดกับอำเภอจักรวรรดิ จากกำแพงวัดบพิตรพิมุขกับข้างกระทรวงธรรมการ ซึ่งก็คือศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน แต่สะพานโอสถานนท์ ซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กในปัจจุบัน ค้นหาประวัติไม่พบ เข้าใจว่าสร้างหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเกี่ยวข้องกับ พ.ต.วิลาศ โอสถานนท์ บุคคลสำคัญคนหนึ่งของคณะราษฎร อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงและประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือกำเนิดริมคลองโอ่งอ่าง

นี่ก็คือกรุงเทพฯของเรา ถ้าเราผ่านไปมาโดยไม่รู้ที่มาและความสำคัญ ก็เหมือนเดินผ่านคนแปลกหน้า แต่ถ้าทำความรู้จักให้มากขึ้น ก็จะทำให้รู้สึกมีความใกล้ชิด ไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไป และมีความภูมิใจในบ้านเมืองของเรา


กำลังโหลดความคิดเห็น