xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานคลองโอ่งอ่าง ก่อนเปลี่ยนโฉมหน้า! ทำกันจริงๆก็พลิกได้เหมือนฝ่ามือ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

คลองโอ่งอ่างโฉมเก่าและโฉมใหม่
ข่าวเด่นข่าวดังที่น่ายินดีข่าวหนึ่งในขณะนี้ ก็คือการเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของคลองโอ่งอ่าง เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ ยืนอยู่บนสะพานดำรงสถิต ปลายถนนเจริญกรุง หรือสะพานภาณุพันธ์ ปลายถนนเยาวราช มองลงไปก็เห็นแต่หลังคาร้านราว ๕๐๐ ร้านปิดคลองโอ่งอ่างมิด แต่ในวันนี้ภาพนี้กลับเปลี่ยนไปอย่างพลิกฝ่ามือ กลายเป็นคลองที่โล่งตาเจริญใจ เป็นที่ลอยกระทงกลางกรุงอีกแห่งหนึ่งของ กทม. อย่างภาพเปรียบเทียบในเฟซบุ๊คของคุณเฉลิมกรณ์ เทพบุญตา ที่ได้นำมาเป็นภาพประกอบในเรื่องนี้ด้วยความขอบคุณ

คลองโอ่งอ่างเป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้ขุดในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในปี ๒๓๒๕ เพื่อขยายเมืองออกไปในแนวขนานกับคลองคูเมืองเดิมของกรุงธนบุรีโดยเกณฑ์แรงงานชาวกัมพูชา ๑๐,๐๐๐ คนมาขุด เริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใต้วัดสังเวช บางลำพู มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใต้วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข ขุดเชื่อมคลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่างเข้าด้วยกัน มีความยาวยาว ๓,๔๒๖ เมตร กว้าง ๒๐ เมตร ลึก ๒.๕ เมตร พระราชทานนามว่า “คลองรอบกรุง”

ต่อมาเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติรักษาคลอง พ.ศ.๒๔๘๔ ได้แบ่งชื่อคลองนี้ออกเป็น ๒ ตอน จากปากคลองด้านเหนือจากป้อมพระสุเมรุ มาถึงปากคลองมหานาค หรือตรงป้อมมหากาฬผ่านฟ้า เรียกว่า “คลองบางลำพู” จากปากคลองมหานาคไปถึงปากคลองด้านใต้ ตรงวัดบพิตรพิมุขเรียก “คลองโอ่งอ่าง” ที่เป็นแหล่งขายเครื่องปั้นดินเผา

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนคลองนี้ตลอดคลองเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๔๑๙ แต่เรียกว่า “คลองโอ่งอ่าง”

ในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ครม.ได้ลงมติเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕ ให้เรียกชื่อคลองนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า “คลองรอบกรุง”
เมื่อแรกขุดคูเมืองใหม่นี้ยังไม่มีเวลาสร้างกำแพงเมืองให้มั่นคงถาวร จึงใช้เพียงเสาไม้ระเนียด ต่อมาเมื่อมีเวลาว่างศึกแล้ว จึงโปรดฯให้รื้อกำแพงเมืองเก่าของกรุงธนบุรีตามแนวคูเมืองเดิมออก นำอิฐรวมกับอิฐซากกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา มาสร้างกำแพงเมืองใหม่ตามแนวคลองรอบกรุง พร้อมป้อมปราการเรียงรายไปตามกำแพง ๑๔ ป้อมคือ

ป้อมพระสุเมรุ อยู่ปากคลองบางลำพู ด้านใต้
ป้อมยุคลธร อยู่หน้าวัดบวรนิเวศ
ป้อมมหาปราบ อยู่แถวสะพานเฉลิมวันชาติ
ป้อมมหากาฬ อยู่เชิงสะพานผ่านฟ้า
ป้อมหมูทะลวง อยู่ตรงสวนรมณีย์นาถ
ป้อมเสือทะยาน อยู่ตรงสามยอด
ป้อมมหาไชย อยู่หน้าวังบูรพาภิรมย์
ป้อมจักรเพชร อยู่ปากคลองโอ่งอ่างด้านเหนือ

นอกจากนี้ยังสร้างป้อมเรียงไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปต่อกับป้อมพระสุเมรุด้วย คือ
ป้อมผีเสื้อ อยู่เหนือสะพานพุทธยอดฟ้า
ป้อมมหาฤกษ์ อยู่ตรงโรงเรียนราชินีล่าง
ป้อมมหายักษ์ อยู่หน้าวัดโพธิ์
ป้อมพระจันทร์ อยู่ตรงท่าพระจันทร์
ป้อมพระอาทิตย์ อยู่ตรงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ป้อมอิสินธร อยู่ระหว่างป้อมพระอาทิตย์กับป้อมพระสุเมรุ
ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่เพียง ๒ ป้อมเท่านั้น คือ ป้อมพระสุเมรุ กับ ป้อมมหากาฬ พร้อมกำแพงเมืองจากป้อมไปถึงหน้าวัดเทพธิดา และเหลือกำแพงพร้อมประตูเมืองที่หน้าวัดบวรนิเวศอีกช่วงหนึ่งเป็นอนุสรณ์

ภูมิประเทศของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นแหลมคุ้งแม่น้ำ เมื่อขุดคลองรอบกรุงขึ้น จึงทำให้กรุงรัตนโกสินทร์กลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ ส่วนคลองคูเมืองเดิมที่ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์บริเวณพระบรมมหาราชวังและวังหน้าเป็นเกาะเช่นกัน ปัจจุบันเรียกส่วนนี้ว่า “หัวแหวนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

นี่ก็เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของ “คลองรอบกรุง” อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีบรรยากาศสมกับหน้าตาของเมืองที่เป็นมหานคร


กำลังโหลดความคิดเห็น