xs
xsm
sm
md
lg

เชฟไทยสุดยอด!! คว้าแชมป์โซนเอเชีย แข่งทำอาหารญี่ปุ่นชิงแชมป์โลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พ่อครัวจากร้าน นิปปง เตอิ ใช้เมนูซุปลูกชิ้นปลาและหอยเชลล์ คว้าชัยชนะเหนือ 8 เชฟเอเชีย ในการแข่งขันทำอาหารญี่ปุ่น วาโชกุ เวิร์ลด์ ชาเลนจ์ ได้สิทธิ์ไปแข่งชิงแชมป์โลกที่ ญี่ปุ่น มกราคมศกหน้า กรรมการชมซุปอร่อย จัดวางได้สมดุล เจ้าตัวรับสุดดีใจ เตรียมฝึกให้คล่องกว่านี้

เป็นอีกหนึ่งโครงการประชันอาหารที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการแข่งขัน วาโชกุ เวิร์ลด์ ชาเลนจ์ (The Washoku World Challenge ) ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ของญี่ปุ่น โดยได้จัดแข่งขันรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้มีเชฟชาวเอเชียรวม 8 คน 4 สัญชาติ ทั้งไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย มีคุณสมบัติผ่านจนได้เข้าร่วม ซึ่งก็มีพ่อครัวชาวไทยได้สิทธิ์ทำการแข่งขันถึง 3 คนด้วยกันจากผู้สมัครทั้งหมดกว่า 60 คน ขณะที่นายดาเนียล หว่อง ไก มัน (Daniel Wong Kai Mun) ชาวมาเลเซีย วัย 44 ปี จากร้านอาหารในประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้เข้าแข่งขันที่มีประสบการณ์การทำอาหารมากที่สุดเกือบ 27 ปี โดยมีนายทากะฮะชิ ทากุจิ (Takahashi Takuji) ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของร้านคิโนะบุ (Kinobu) ที่มีอายุกว่า 80 ปีในนครเกียวโต , นายโมริ มิทสึโยะชิ (Mori Mitsuyoshi) หัวหน้าพ่อครัวร้านเดอะ กริลล์ โตเกียว สยามพารากอน และ นายมากะนะเอะ ชิเงะอะกิ (Makanae Shigeaki) ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงเกษตรฯ ของญี่ปุ่น เป็นกรรมการตัดสิน

โดยการแข่งขันในรอบแรกเป็นการให้ทดสอบการใช้มีดของพ่อครัว ด้วยการหั่นหัวไชเท้าความยาว 15 ซม.เป็น 4 แบบ คือ 1. "คัตสึระมุกิ" หั่นครึ่งหัวไชเท้าแล้วสไลด์ให้เป็นแผ่นบางให้มีความยาว 30 ซม.โดยไม่ขาดจากกัน 2. "ไดกง เคน" ซอยหัวไชเท้าเป็นเส้นฝอยสำหรับ 5 คน 3. "ชิกิชิ กิริ" หั่นไชเท้าเป็นแว่น และ 4. "ทันซารุ กิริ" หั่นไชเท้าเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม ในเวลา 30 นาที ซึ่งจุดที่น่าจะยากที่สุดอยู่ที่การหั่นแบบบางให้เหมือนแผ่นกระดาษชำระ ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดต้องใช้สมาธิอย่างมากในการควบคุมไม่ให้หัวไชเท้าขาดจากกัน ส่วนรอบสุดท้ายเป็นการแข่งขันทำอาหารประเภทต้ม หรือ นิโมะโนะวัง (Nimonowan) ในเวลา 90 นาที ต้องใช้เครื่องปรุงที่เฉพาะทีมงานจัดเตรียมไว้ให้ประกอบด้วย โชยุ โชยุแบบเค็มน้อย เกลือ น้ำตาล เหล้าสาเก เหล้ามิริน สาหร่ายคมบุ ปลาคัตสึโอะแผ่น และน้ำแร่ ซึ่งสามารถนำวัตถุดิบอื่นๆ มาใช้ได้แต่ห้ามนำมาในสภาพที่หั่นเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว และเมื่อเสร็จสิ้นต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อย ซึ่งในรอบนี้จะตัดสินกันที่รูปลักษณ์อาหาร และรสชาติ

ขณะที่เชฟทั้ง 8 คนก็งัดวัตถุดิบต่างๆ ออกมาประชันกัน อาทิ กุ้งล็อบสเตอร์ ปลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น ปลากะพงแดง เห็ดมัทสึซะเกะ ฯลฯ โชว์ฝีมือปรุงซุปจนเสร็จสิ้นในรูปลักษณ์และกลิ่นหอมที่น่าทาน เสิร์ฟให้กรรมการได้ลิ้มลอง จนในที่สุดก็มีคำตัดสิน โดย นายธวัชชัย บัวทอง พ่อครัวชาวไทยจากร้าน นิปปง เตอิ (Nippon Tei) สาขาราชประสงค์ วัย 38 ปี ที่มีประสบการณ์การทำอาหารมากว่า 20 ปี สามารถคว้าชัยชนะในรอบนี้ได้สำเร็จ จนได้สิทธิ์ไปแข่งขันรอบสุดท้ายที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 28-29 มกราคมศกหน้า ด้วยเมนูโฮตะเตะ ชินโจ หรือ ซุปลูกชิ้นปลาและหอยเชลล์ ซึ่งทางกรรมการตัดสินให้เหตุผลระบุว่า เมนูดังกล่าวมีความสมดุลที่ดีมาก ซุปก็มีความอร่อยมาก การจัดวางชิ้นเนื้อ แครอท และเห็ดหอม ทุกอย่างดูเป็นแบบญี่ปุ่นมาก ถ้าคนที่ไม่เข้าใจความเป็นญี่ปุ่นก็จะจัดอาหารแบบนี้ออกมาไม่ได้

ขณะที่ นายเฉิน เซี่ยงจิง (Chen Siong Jing) ชาวมาเลเซีย จากร้านอาหารโยชิ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดเพียงแค่ 20 ปี สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศได้สิทธิ์ลุ้นเป็นอันดับที่ 2 ของผู้ได้รางวัลที่มีคะแนนดีที่สุดไปแข่งขันในรอบสุดท้าย กับเมนูล็อบสเตอร์ คุซุ ทาตะกิ หรือซุปใสใส่กุ้งล็อบสเตอร์ ส่วนที่ 3 ตกเป็นของ นายชุน คิต อ่อง (Chun Kit Ong) ชาวมาเลเซีย วัย 21 ปี จากร้านอาหารในสิงคโปร์ และมีประสบการณ์การทำอาหารน้อยที่สุด เพียงแค่ 4 ปี

ด้านนายธวัชชัย ให้สัมภาษณ์กับ MGR online ว่า ตนดีใจมาก ไม่คิดว่าจะได้รางวัล เพราะเห็นชาวต่างประเทศมาเข้าร่วมหลายคนจึงเชื่อว่าเขาน่าจะมีความสามารถมากกว่าเราด้วยซ้ำ ต่อจากนี้ก็คงต้องฝึกฝนให้คล่องกว่านี้เพราะตนก็ไม่เคยแข่งขันมาก่อน ซึ่งมันก็ต้องมีเวลาให้ด้วย อย่างรายการนี้เขาดูทุกอย่าง ทั้งความสะอาดและความถูกต้อง ทำผิดสูตรไม่ได้ และเขาก็เน้นในเรื่องการทำซุป ถ้าอร่อยก็ถือว่าผ่าน อย่างเมนูที่ตนทำก็คิดเพียงว่าถ้าลูกชิ้นอร่อยน้ำซุปก็จะอร่อยตาม แต่จริงๆ แล้วตอนแข่งขันหั่นหัวไชเท้าตื่นเต้นกว่าตอนที่ทำซุปอีก แต่ก่อนตนก็เคยทำบ่อย แต่ทุกวันนี้ไม่ได้ทำแล้วเพราะว่ามีเครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้น ตนก็เพิ่งมาฝึกรื้อฟื้นความทรงจำก่อนที่จะมาแข่งเอง ซึ่งการแข่งขันรายการนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ได้ทำอาหารญี่ปุ่นตามต้นตำหรับ

ทางด้านผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงเกษตรฯ ของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับ MGR online ว่า การแข่งขันในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการประลองฝีมือของพ่อครัวจากทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เชฟพัฒนาและฝึกฝนตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักคุณภาพของวัตถุดิบของญี่ปุ่น เพื่อที่เวลากลับไปยังร้านของตนเองก็จะช่วยเผยแพร่ให้นิยมชมชอบและใช้มากขึ้น ส่วนที่เลือกจัดรอบคัดเลือกโซนเอเชียที่กรุงเทพฯ นั้น เพราะมีร้านอาหารที่ได้รับการรับรองจากทางกระทรวงกว่า 400 ร้าน นั่นก็หมายความว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยนิยม และใช้วัตถุดิบนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นกันอย่างแพร่หลาย ดังนั้นกระทรวงฯ จึงเลือกกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ใช้ในการแข่งขัน

นายมากะนะเอะ กล่าวต่อว่า ในแต่ละครั้งก็มีผู้เข้าแข่งขันมีฝีมือที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในการเลือกอาหารประเภทต้มเป็นบททดสอบเพราะสำหรับแม้แต่เชฟคนญี่ปุ่นเองก็ถือเป็นการบ้านที่ยาก ตนมองว่าเชฟทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจทำผลงานอย่างเต็มที่ และสุดท้ายก็ออกมาได้เป็นที่น่าพอใจ ส่วนการเลือกใช้หัวไชเท้ามาเป็นบททดสอบการใช้มีดนั้น ในอดีตเวลาที่เชฟญี่ปุ่นเขาฝึกกันเรื่องที่สำคัญมากๆ ก็คือเทคนิคการใช้มีด และเขาก็จะเป็นที่นิยมมาแต่ดั่งเดิมคือนำหัวไชเท้ามาทำการฝึกฝน ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นที่มาที่ไปในการนำมาทดสอบเชฟทั้งหมด

ทั้งนี้การแข่งขันวาโชกุ เวิล์รด์ ชาเลนจ์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 เพื่อขยายโอกาสให้แก่เชฟผู้ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นได้ร่วมประลองฝีมือ โดยแข่งขันรอบคัดเลือกกันทั้งหมด 5 เมืองทั่วโลก ประกอบด้วย นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส , นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก , นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นครโอซาก้า จ.โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และ กทม. โดยผู้ชนะเลิศแต่ละสนาม และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ที่มีคะแนนดีที่สุด จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้าย ที่กรุงโตเกียว ในวันที่ 28-29 มกราคม 2562






















กำลังโหลดความคิดเห็น