xs
xsm
sm
md
lg

พงศาวดารที่สนุกกว่านิทาน! ลูกฤาษีได้เป็นกษัตริย์เพราะเมล็ดแตง ๓ เมล็ดที่พ่อให้!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


พงศาวดาร ก็คือบันทึกเรื่องราวของประเทศชาติและพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือบันทึกประวัติศาสตร์นั่นเอง แต่พงศาวดารที่บันทึกอดีตอันไกลโพ้นหลายเรื่อง กลับเหมือนเรื่องนิทานจักรๆวงศ์ๆหรือนิทานปรัมปรามากกว่าที่จะเป็นประวัติศาสตร์ แต่ก็มีพื้นฐานมาจากเรื่องจริง อย่างเรื่องที่จะเล่าในวันนี้มาจาก “ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา” ที่แต่งโดย พระองค์เจ้านพรัตน์หริรักษ์ราชาภูบดี ราชบุตรสมเด็จพระนโรดม แปลโดย พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) บิดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เริ่มเรื่องกล่าวถึงดาบสองค์หนึ่ง จำศีลอยู่ที่เขาบาสิทธิ แล้วลาจากเพศฤาษีมาได้หญิงคนหนึ่งเป็นภรรยา ครั้นอยู่มาจนภรรยามีครรภ์ อดีตฤาษีก็เกิดเบื่อหน่ายในวัฏสงสาร อยากจะกลับไปจำศีลภาวนาเป็นฤาษีดังแต่ก่อน จึงสั่งกับภรรยาว่า
“ถ้าคลอดบุตรออกมาเป็นชายแล้ว อยากจะรู้จักเราผู้เป็นบิดา ให้นำไม้เท้าที่มอบให้ไว้นี้เป็นเครื่องหมาย ไปเที่ยวตามหาเรา เมื่อได้เห็นของสำคัญก็จะได้รู้จักกัน”
ครั้นสั่งภรรยาเสร็จแล้วก็ออกจากบ้านไปเข้าป่า ถือศีลภาวนาอยู่ตามดงตามเขา จนกลับมาถึงสำนักเขาบาสิทธิ

ฝ่ายภรรยาอุ้มท้องจนครบทศมาสก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย ครั้นบุตรเจริญวัยก็ถามหาบิดาของตน มารดาก็แจ้งว่าบิดาไปจำศีลถือเพศฤาษีอยู่ในป่าเขา ถ้าลูกอยากจะพบก็เอาไม้เท้านี้ไปตามหา จะได้เป็นเครื่องหมายให้บิดาได้รู้ เมื่อบุตรได้ทราบก็มีความยินดี กราบลามารดาถือไม้เท้าออกจากบ้านตระเวนไปในป่าดง
บุตรได้เสาะหาบิดาไปตามเขาต่างๆจนถึงเขาบาสิทธิก็ได้พบฤาษีผู้เป็นบิดา ครั้นเห็นไม้เท้าของสำคัญก็รู้ว่าเป็นบุตรของตน ฤาษีไต่ถามทุกข์สุขทางบ้านแล้วจึงกล่าวว่า

“บัดนี้บุตรก็ได้มาพบกับบิดาแล้ว แลเวลานี้บุตรก็มีอายุมากแล้ว ควรจะกลับไปทำมาหาเลี้ยงชีพยังบ้านยังเมือง เพื่อจะได้ปฏิบัติดูแลมารดา”

ว่าแล้วดาบสก็ส่งเมล็ดแตงให้ ๓ เมล็ด บอกให้นำไปปลูกจะได้ประโยชน์มาก แล้วดาบสผู้เป็นบิดาก็เดินเข้าปาไปหาความสุขตามนิสัยฤาษีต่อไป

เมื่อบุตรชายได้เมล็ดแตงแล้วก็กลับคืนมาบ้าน พบว่ามารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงได้ลงมือทำไร่โดยนำเมล็ดแตงที่ได้จากบิดาลงปลูก ครั้นแตงนั้นออกผลก็มีรสโอชายิ่งนัก ไม่มีแตงที่ใดจะมีรสหวานประเสริฐเสมอเหมือน นานต่อมาก็เป็นที่ร่ำลือจนชาวบ้านเรียกบุตรชายฤาษีว่า “ตาแตงหวาน” (ตาตรอช็อกผแอม)
วันหนึ่งมีกระบือของชาวบ้านได้เข้าไปในไร่แตง ตาแตงหวานคว้าได้เหล็กก้อนหนึ่งขว้างไป ถูกกระบือนั้นทะลุตัวออกไปอีกด้าน กระบือตายทันที เจ้าของกระบือนำความไปฟ้องต่อตระลาการ เมื่อตาแตงหวานถูกจับไปศาลก็นำแตงไปถวายพระเจ้าแผ่นดินด้วย พร้อมกราบทูลข้อความให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าแผ่นดินจึงให้ตาแตงหวานนำก้อนเหล็กนั้นมาขว้างกระบือให้ทอดพระเนตร ก้อนเหล็กก็ทะลุตัวกระบือเหมือนครั้งก่อน ครั้นทรงเสวยแตงที่นำมาถวายก็ทรงรู้สึกว่ามีรสหวานสบพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงมีพระราชดำรัสสั่งว่า

“ตั้งแต่นี้ต่อไป อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปเก็บแตงนั้นไปบริโภคอีกเด็ดขาด ให้เก็บมาถวายพระองค์อย่างเดียวเท่านั้น”

ตาแตงหวานจึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามิอาจจะห้ามเขาทั้งหลายนั้นได้”
สมเด็จพระบรมบพิตรจึงดำรัสให้นายช่างตีก้อนเหล็กของตาแตงหวานที่ใช้ปากระบือเป็นหอกเล่มหนึ่ง พระราชทานแก่ตาแตงหวาน แล้วพระราชทานอาญาสิทธิว่า

“ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งบังอาจเข้าไปในไร่แตงแล้ว ให้ฆ่าด้วยหอกนี้ได้ โดยไม่ต้องมีโทษทัณฑ์แต่อย่างใด”

ตาแตงหวานก็รับพระบัณฑูรใส่เหนือเกล้า แล้วนำหอกกลับมาบ้าน เฝ้ารักษาไร่แตงอย่างกวดขัน และเก็บแตงหวานนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดินอยู่เสมอมิได้ขาด จนแตงนั้นหมดต้น ยังคงเหลือแต่ผลเดียวเท่านั้นที่จะต้องรักษาไว้ทำพันธุ์ต่อไป
ในเวลานั้น สมเด็จพระบรมบพิตรพระมหากษัตริย์เจ้า ทรงรำคาญไม่เบิกบานพระราชหฤทัย จึงดำรัสสั่งให้มุขมนตรีจัดกระบวนพยุหยาตราเสด็จออกจากพระนครไปประพาสป่า เพื่อให้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ครั้นเสด็จมาถึงป่าแห่งหนึ่งในเขตเมืองสำโรงทอง อยู่ข้างเหนือของไร่ตาแตงหวาน ก็มีดำรัสสั่งให้หยุดพักพลโยธา ครั้นถึงเวลาราตรีที่ดึกสงัด ตรัสเรียกมหาดเล็กสองนายให้ขี่ม้าตามม้าพระที่นั่งไปยังเขตไร่ตาแตงหวาน จากนั้นเสด็จลงจากม้าเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในไร่แตง เพื่อจะลองใจเจ้าของไร่

ฝ่ายตาแตงหวานเห็นคนแอบเข้ามาในไร่ยามวิกาลเช่นนั้น ก็คิดว่าเป็นคนจะมาขโมยแตงลูกสำคัญ จึงฉวยหอกอาญาสิทธิ์พุ่งเข้าไปที่ขโมย ต้องพระมหากษัตริย์เจ้าสิ้นพระชนม์ชีพในทันที จึ่งมหาดเล็กสองนายที่ตามมาก็ร้องบอกว่า

"มิใช่คนอื่น คือพระเจ้าอยู่หัวของเรา”

เมื่อตาแตงหวานทราบความดังนั้นก็ตกใจยิ่งนัก จึงช่วยกันนำพระศพมาพลับพลาที่ประทับ

ครั้นรุ่งขึ้นบรรดาเสนาบดีเสวกามาตย์ราชปุโรหิตทั้งปวง ได้ทราบความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ประชุมปรึกษาหารือกันว่า พระบรมวงศ์ก็สุดสิ้นแต่เพียงนี้แล้ว และเห็นพ้องต้องกันว่า ตาแตงหวานมีบุญเป็นมหัศจรรย์ เช่นเมื่อครั้งขว้างกระบือด้วยก้อนเหล็กก็ทะลุตัว ประกอบด้วยลักษณะใหญ่โตสูงศักดิ์ เวลานอนหลับก็กรนดังเสียงฆ้อง จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะอัญเชิญตาแตงหวานขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ตาแตงหวานไม่ยอมรับ กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าไม่ต้องการเป็นกษัตริย์หรอก เพราะเคยอยู่แต่ในป่า ได้ยินเสียงนกเสียงกา มฤคีมฤคา กบเขียดคางคก ก็เป็นสุขสบายพอแล้ว”

บรรดามุขมนตรีจึงว่า ข้อนั้นไม่เป็นไร ขอแต่ให้รับเป็นกษัตริย์เถิด อันเสียงปักษีปักษา มฤคีมฤคานั้น ตกเป็นภาระของเราเอง จะจัดทำให้สมตามปรารถนา ว่าแล้วก็พากันแห่ตาแตงหวานเข้าสู่พระราชวัง แล้วจัดพิธีราชาภิเศก สรงมุรธา สระพระเกษ ทรงพระนารายณ์ ทรงพระขรรค์ ทรงพระนาม พระบาทสมเด็จพระราชโองการ พระบรมบพิตรธรรมิกมหาราชาธิราชเหนือเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว ครองกรุงกัมพูชาธิบดี จึงอภิเศกพระราชธิดากัลยาณีในกรมสมเด็จพระสิงหราช เป็นพระอรรคมเหสี แล้วจึงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอดีตกษัตริย์ จากนั้นจึงมีดำรัสให้ทำแตรเป่าเป็นเพลงอย่างเสียงสัตว์ป่า แลทำรูปมฤคีมฤคาปักษีปักษาต่างๆไว้ทอดพระเนตร ดังเช่นเหมือนพระองค์เคยประทับอยู่ในอรัญประเทศ บทเพลงดนตรีจึงมีต่อมาจนถึงวันนี้

สมเด็จพระบรมบพิตร มีพระราชบุตรกับสมเด็จพระอรรคมเหสีสองพระองค์ ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาเป็นลำดับ ส่วนในรัชกาลของสมเด็จพระราชโองการพระบรมบพิตรนั้น พระองค์ได้ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ครั้นเสวยราชย์สมบัติได้ ๑๗ พรรษา ก็เสด็จสู่สวรรคต สิริรวมพระชนมพรรษาได้ ๗๐ ปีถ้วน

นี่ก็เป็นพระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระบรมมหาบพิตรธรรมิกมหาราชาธิราช หรือเรียกกันว่า “พระบาทแตงหวาน” กษัตริย์ของกัมพูชาซึ่งขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๘๓๓ – พ.ศ.๑๘๕๐ ต่อจากการสิ้นสุดของราชวงศ์ “วรมัน” ที่ครองความยิ่งใหญ่มาถึง ๕๐๐ ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น