ก่อนที่จะมีน้ำประปาดื่มได้ในวันนี้ คนไทยต้องดื่มกินน้ำในแม่น้ำลำคลอง แม้แต่ในพระบรมมหาราชวังก็ต้องเสวยน้ำแม่น้ำเหมือนกัน สมเด็จพระปิยมหาราชมีพระราชนิยมเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี รับสั่งว่า “อร่อย” กว่าน้ำที่ใดทั้งหมด แม้กรุงเทพฯมีประปาแล้วก็ยังทรงเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชร
ต่อมาแม่น้ำเพชรมีบ้านเรือนเกิดขึ้นทั้ง ๒ ฝั่ง มีปฏิกูลที่น่ารังเกียจอยู่มาก กระทรวงมหาดไทยจึงรับจัดน้ำเสวยแทน โดยเจ้าพระยายามราชให้เจ้าหน้าที่จัดทำน้ำประปาขึ้นโดยเฉพาะเป็นน้ำเสวย ไม่ให้ใช้น้ำประปาตามธรรมดาที่ปล่อยไปตามท่อ
การประปาของสยามเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังเสด็จประพาสยุโรป ๒ ครั้ง ทรงพระราชดำริว่า กรุงเทพฯน่าจะมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้ จึงทรงพระกรุณราโปรดเกล้าฯว่าจ้างช่างผู้ชำนาญการประปามาจากฝรั่งเศส ชื่อ นายเดอลาม โฮเตียร์ มาวางแผนการประปาของกรุงเทพฯ ตั้ง “การประปาสยาม” ขึ้น ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๕๒ ประกาศพระบรมราชโองการให้กรมสุขาภิบาลจัดการนำน้ำมาใช้ในพระนคร ให้ทำที่ขังน้ำขึ้นที่คลองเชียงราก เมืองปทุมธานี อันเป็นที่พ้นเขตน้ำเค็มขึ้นถึงทุกฤดู แล้วขุดคลองแยกส่งน้ำมายังโรงกรองน้ำที่สามเสน สูบน้ำขึ้นที่กรองตามวิธีทำให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งซึ่งจะเป็นเชื้อโรค แล้วส่งน้ำไปในที่ต่างๆ ตามควรแก่ท้องที่ของเขตพระนคร รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประปารวมค่าที่ดินทั้งสิ้น ๔,๓๐๘,๒๒๑ บาท ๘๑ สตางค์ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ ๕ ปีเศษ จึงสามารถจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวพระนครได้ใช้ นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างยิ่ง
ต่อมาในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดกิจการที่มีชื่อเรียกว่า “การประปากรุงเทพฯ” และมีพระราชดำรัสในวันนั้นว่า
“...ท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยเราทำการอันนี้ให้สำเร็จไปได้ ควรรู้สึกปลื้มใจว่า ได้ทำการอันเป็นประโยชน์และกุศลอย่างยิ่ง เพราะน้ำซึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ใครๆย่อมรู้อยู่แล้วทั้งในโบราณและบัดนี้ ว่าเป็นของจำเป็นเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขสำหรับป้องกันโรคอันตรายของมนุษย์ น้ำใสสะอาดย่อมเป็นเครื่องบำบัดโรคได้ดีกว่าโอสถหรือเภสัชทั้งหลาย...ขอการประปาจงเป็นผลสำเร็จสมความพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกนารถของเรา แลสมความประสงค์ของเรา แลสมความประสงค์ของท่านทั้งหลายบรรดาที่ช่วยทำการอันนี้สำเร็จ ขอน้ำใสอันจะหลั่งไหลจากประปานี้ จงเป็นเครื่องประหารสรรพโรคร้ายที่จะเบียดเบียนให้ร้ายแก่ประชาชนผู้เป็นพสกนิกรของเรา ขอน้ำอันนี้ที่ได้รับพรแล้วโดยพระสงฆ์ได้สวดมนต์แลโดยเราได้ตั้งใจให้พร จงบันดาลให้เป็นน้ำมนต์ทำให้ประชาชนมีความสุขสวัสดิ์ผ่องแผ้ว เจริญถ้วนทั่วทุกตัวคนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
กิจการประปาได้ก้าวหน้าต่อไปตามลำดับ และยังขยายข้ามไปยังฝั่งธนบุรี โดยวางท่อไปสะพานพระพุทธยอดฟ้า ติดตั้งก๊อกน้ำสาธารณะไว้ข้างถนนกระจายไปทั่ว ให้ประชาชนได้ใช้ ก๊อกนี้ก็คือตำนานของ “โซดาดึง”
ก๊อกน้ำสาธารณะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมาก นอกจากรองน้ำไปกินไปใช้แล้ว ยังเป็นที่อาบน้ำซักผ้ากันด้วย และทำให้เกิดอาชีพรับจ้างหาบน้ำไปส่งตามบ้าน ซึ่งวันๆทำเงินได้ไม่น้อย
ก๊อกสาธารณะของการประปานี้เป็นก๊อกหล่อด้วยเหล็กเป็นรูปทรงกระบอก ปลายสอบเล็กน้อย มีความสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ด้านบนมีงวงให้น้ำไหลออก ด้านบนสุดจะมีแท่งเหล็กยื่นขึ้นมามีขนาดพอดีมือจับดึงขึ้น สำหรับเป็นที่เปิดน้ำ เมื่อปล่อยมือน้ำก็จะปิด จึงต้องดึงไว้ตลอดเวลาที่เปิดน้ำ ซึ่งต้องใช้แรงพอสมควรเพราะแท่งเปิดน้ำนี้หนักมาก จำได้ว่าเมื่อตอน ๑๐ กว่าขวบ ใช้ ๒ มือดึงขึ้นแทบไม่ไหว คนรับจ้างหาบน้ำจึงมีอุปกรณ์ไทยประดิษฐ์เพิ่มขึ้น เป็นแผ่นไม้เล็กๆ เอาไว้รองใต้แท่งเหล็กเมื่อยกขึ้นเปิดน้ำไม่ให้ตกลงมา ไม่ต้องออกแรงดึงไว้ตลอด บางแห่งก็มีจิตต์อาสาทำแล้วคล้องเชือกไว้กับปุ่มเปิดน้ำเลย ให้ใช้กันได้โดยทั่วไป
ในปี ๒๔๗๖ บริษัทบุญรอดบริวเวอรีได้ผลิตเบียร์สิงห์ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก ต่อมาก็ผลิตโซดาออกมาอีก ทำให้คอสุราได้ลิ้มรสโซดาไทยเป็นครั้งแรกอีกเหมือนกัน แต่การดื่มสุราเติมโซดาก็เป็นการเพิ่มค่าเหล้าเข้าไปอีก คอสุราหลายคนจึงคงดื่มกับน้ำตามเดิม และน้ำที่ดีในขณะนั้นก็คือน้ำประปาจากก๊อกข้างถนนนี่แหละ เป็น “โซดาดึง” ของคอสุรา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในยุคนั้น
“โซดาดึง” ไม่ใช่แค่คำแสลงของชาวบ้านแล้วเลือนหายไปตามยุคสมัย ต่อมาในปี ๒๕๕๓ วิศวกรของกองบำรุงรักษา สำนักงานประปาสาขาลาดพร้าว ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์เก็บตะกอนในถังพักน้ำ เครื่องมือที่จะบอกให้รู้ว่าถึงเลาที่ควรจะต้องล้างถังพักน้ำได้แล้ว และขุดชื่อ “โซดาดึง” ขึ้นมาอีก เรียกชื่อเครื่องมือนี้ว่า “โซดาดึง ๒๐๑๐” เป็นการยอมรับคำว่า “โซดาดึง” อยู่ในสาระบบของการประปาไทย
ต่อมาเมื่อมีการต่อท่อประปาแยกเข้าถึงตามบ้านแล้ว ก๊อกน้ำสาธารณะซึ่งนิยมใช้อาบน้ำกันข้างถนน ทำให้เป็นภาพที่ไม่เจริญตา ทั้งการประปายังต้องจ่ายน้ำฟรีไปเป็นจำนวนมาก จึงทยอยเลิกล้มก็อกข้างถนนกันไปใน พ.ศ.๒๕๐๑ ปรากฏว่าตัวเลขครั้งสุดท้ายที่เก็บไปนั้น มีถึง ๔๘๒ แห่ง เป็นการปิดฉาก “โซดาดึง” ข้างถนน