“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” แถลง “โครงการสามล้อเอื้ออาทร” อาจเข้าข่ายฉ้อโกง พบทำสัญญาพิสดาร จนถูกฟ้องคดีกว่า 100 ราย เหตุผิดชำระหนี้ กลุ่มผู้เสียหายแฉไม่ได้สัญญากู้ ได้แค่ใบสรุปจ่ายสินเชื่อ จนถูกธนาคารฟ้อง สุดท้ายตรวจสอบยอดกู้ พบส่วนต่างหาย 1.4 แสนบาท แถมได้รถไม่ตรงสเปก
วันนี้ (13 พ.ย.) เพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ได้มาเปิดเผยข้อมูล หลังกลุ่มสามล้อเครื่องกว่า 100 ราย ร้องเข้าร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเหตุสัญญาซื้อรถพิสดาร โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายสามล้อเครื่อง ร่วมชี้แจงผ่านไลฟ์ โดยมีเนื้อหาไลฟ์ ว่า ผู้เสียหายจากสามล้อเครื่องได้เข้าร่วมโครงการสามล้อเอื้ออาทร ของกรมการขนส่งทางบก ที่อาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีการทำสัญญาที่ผู้เสียหายชี้แจงว่าพิสดารมาก โดยผู้เสียหายที่ซื้อรถสามล้อจากโครงการนี้ ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 100 ราย และถูกฟ้องคดีบางรายถึง 2-3 คดี บางรายถูกยื่นโนติสจากธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นผู้ฟ้อง และชี้ว่า ได้เกิดการฟ้องร้องนั้น เกิดจากการทำสัญญาปลอมทั้งหลาย และผู้ถูกฟ้องได้ขับสามล้อเครื่องอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ถูกฟ้องคดีในภูมิลำเนาซึ่งห่างไกลและลำบาก
ทั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เชื่อว่า เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีผู้เดือดร้อนหลายราย และรัฐบาลเองที่เป็นผู้ออกโครงการ โดยชี้ว่าอยากให้คนขับสามล้อได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสามล้อเครื่องเอง ซึ่งได้ให้คนที่รับจ้างขับสามล้อไปยื่นจดทะเบียนและมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของแทนที่จะเช่า แต่แทนที่จะมีระบบการเงินเพื่อไปช่วยให้คนเหล่านี้มีสามล้อได้จริง กลายเป็นว่าคนเหล่านี้ต้องมาถูกฟ้องคดีโดยมูลหนี้ที่ไม่เป็นธรรม
โดย นายวันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายรถสามล้อเครื่อง กล่าวว่า ครั้งแรกที่ลงชื่อในสัญญา ตัวเองลงชื่อไปในสัญญาเพียงฉบับเดียว ไม่เห็นตัวเลขว่ากู้มาเท่าไร ทำเพียงลงชื่อเท่านั้น ส่วนเรื่องผู้ค้ำประกัน ถ้าไม่มีคนที่รู้จักมาค้ำประกัน สหกรณ์จะเป็นผู้จัดหาคนค้ำประกันให้ และผู้กู้ต้องไปค้ำประกันตอบแทนผู้ค้ำประกันรายนั้น ในวันรับรถได้รับรถสามล้อที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติตามที่ตกลงกันไว้ และให้ใบสรุปการจ่ายสินเชื่อมาเพียงใบเดียว ตัวเองจ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับสหกรณ์มาตลอด เมื่อได้รับหมายศาลพบว่าตัวเองถูกธนาคารฟ้องและในเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวได้แนบสำเนาสัญญากู้มาด้วย เมื่อตรวจสอบยอดกู้ในสัญญากู้ ปรากฏว่า มียอดสูงกว่าใบสรุปการจ่ายสินเชื่อ เช่น ในสัญญากู้ระบุว่า 500,000 บาท แต่ในใบสรุปสินเชื่อแจ้งว่า 360,000 บาท โดยมีส่วนต่างหายไป 140,000 บาท และมีสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสัญญา โดยที่ตัวเองไม่ได้ทำ