เมื่อพระเจ้าตากสินปราบปรามกองกำลังที่พม่าตั้งให้ยึดครองกรุงศรีอยุธยาออกไปหมดแล้ว แต่ก็ทรงละทิ้งกรุงศรีอยุธยาลงมาตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีใหม่ โดยทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาย่อยยับเกินกว่าจะมีกำลังฟื้นฟูกลับมาได้ ขณะเดียวกันกรุงธนบุรีก็มีพื้นที่ไม่กว้างเกินไปที่กองกำลังเล็กๆของพระองค์จะป้องกันได้ อีกทั้งยังมีป้อมวิชเยนทร์ที่ยังอยู่ในสภาพการที่ใช้ได้อยู่แล้ว
นั่นก็เป็นบทวิเคราะห์กันทางด้านยุทธศาสตร์ แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเล กล่าวว่า ในคืนประทับแรมที่กรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าตากสินได้ทรงเล่าให้คนทั้งหลายฟังในตอนเช้าว่า อดีตกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาได้มาเข้าฝัน ขับไล่ไม่ให้อยู่ และยังมีขยายความทรงปรารภอีกว่า “เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะรกร้างเป็นป่า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงให้บริบูรณ์ดีดังเก่า แต่เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่ฉะนี้ เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด...”
แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับที่เป็นสมบัติของบริติซมิวเซียม กรุงลอนดอน กล่าวถึงเหตุที่ทรงทอดทิ้งกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า
“...ทอดพระเนตรเห็นอัฐิกะเฬวรคนทั้งปวง อันถึงวิบัติฉิบหายด้วย ทุพภิกขะโจระโรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา และเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างประดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวช ประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติ จะเสด็จไปเมืองจันทบูร จึ่งสมณพราหมณาจารย์ เสนาบดี ประชาราษฎร ชวนกันกราบทูลอาราธนาวิงวอน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมหน่อพุทธางกูรตรัสเห็นประโยชน์อันจะเป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณนั้นก็รับอาราธนา จึ่งเสด็จยับยั้งอยู่ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี”
เรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่พงศาวดารบันทึกไว้มีแตกต่างกันไปหลายเรื่อง อย่างตอนที่พระยาสรรค์ที่พระเจ้าตากสินส่งไปจับผู้ร้ายที่เผาบ้านผู้รักษากรุงเก่า แต่ผู้ร้ายก็คือน้องชายของพระยาสรรค์เอง กลับตั้งให้พี่ชายเป็นแม่ทัพยกลงมาล้อมพระราชวังธนบุรี พระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลกล่าวว่า
พระเจ้าตากสินไม่สู้ และ “รับสารภาพผิดยอมแพ้ ขอแต่ชีวิตจะออกบรรพชา” ถ้อยคำนี้ดูไม่สมลักษณะของพระเจ้าตากสิน แต่ในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าตากสินได้รับข้อเสนอของพระยาสรรค์ที่นิมนต์พระราชาคณะมาเข้าเฝ้าถวายพระพร ขอให้ทรงบรรพชาชำระพระเคราะห์เมือง ๓ เดือน ถึงกับทรงพระสรวลตบพระเพลาแล้วรับสั่งว่า
“เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว...”
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์ว่า
“สมสำนวนเจ้ากรุงธนมาก”
เรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่มีบันทึกไว้นับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในการกู้ชาติ ทรงปรารถนาแต่พระโพธิญาณ ที่ทรงนำทัพเข้ากอบกู้กรุงศรีอยุธยา ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องกระทำ มิได้ปรารถนาในราชสมบัติ แต่เมื่อทรงเห็นซากศพและความวิบัติของบ้านเมือง ก็ทรงสังเวชและเหนื่อยหน่าย อยากจะเสด็จไปเมืองจันทบูร ที่ทรงยอมรับคำวิงวอนให้อยู่ช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์นั้น ก็ทรงมุ่งหวังในผลบุญที่จะเป็นปัจจัยไปสู่พระสัมโพธิญาณ
ในจดหมายเหตุรายวันทัพเมื่อครั้งไปตีเมืองพุทไธมาศ กรุงกัมพูชา ใน พ.ศ.๒๓๑๔ อาลักษณ์ได้จดในสมุดข่อย เก็บอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“จึงทรงพระสัตยาธิษฐาน สาบานต่อหน้าพระอาจารย์วัดเทริงหวาย พระสงฆ์หลายรูปว่า เป็นสัจแห่งข้าฯ ข้าฯทำความเพียร มิได้คิดแก่กายและชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติ เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดสามารถจะอยู่ในราชสมบัติให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลนั้นแล้ว ข้าฯจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้น จะปรารถนาศีรษะแลหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะให้แก่ผู้นั้น ถ้าแลมีสัจจะนี้ข้าฯมุสาวาท ขอให้ตกไปยังอบายภูมิเถิด”
ในจดหมายของบาทหลวงคอร์ที่รายงานไปยังฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๓๑๓ กล่าวไว้ว่า
“บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นเพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆไม่ และในธรรมเนียมของเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์และพระองค์มีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น พระองค์ทรงทนทานต่อความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญและพระปัญญาก็เฉียบแหลม มีพระนิสัยกล้าได้กล้าเสียและพระทัยเร็ว ถ้าจะว่าก็เป็นทหารอันกล้าหาญคนหนึ่ง...”
นี่ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณของมหาราชชาติไทยพระองค์หนึ่ง ที่ทรงมุ่งกู้ชาติในยามที่เกิดวิกฤตสุดขีดให้กลับคืนสู่ความมั่นคงร่มเย็นเป็นสุขอีกครั้ง โดยไม่ทรงลุ่มหลงในพระราชอำนาจและราชบัลลังก์ มุ่งแต่พระสัมโพธิญาณที่พระราชหฤทัยใฝ่หา