กิตตินันท์ นาคทอง ... รายงาน
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) นำสื่อมวลชนสายออนไลน์ 27 คน จาก 24 สำนักข่าว ร่วมทำกิจกรรม “ธนชาต Natural Inspiration จุดประกายความคิด แนบชิดธรรมชาติ” ชมสถานที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ที่จังหวัดราชบุรี
นำโดย สองผู้บริหารของธนาคาร “อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล” รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก และ “ธีรชาติ จิรจรัสพร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อรถยนต์
กิจกรรมหลักตลอด 2 วัน 1 คืน คือ การเยี่ยมชมสถานที่ ไม่ใช่แค่เพียง “แหล่งท่องเที่ยว” เท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยความสุขที่เกิดจากการได้รับ “แรงบันดาลใจ” กลับไป
เริ่มจากที่แรก “ณ สัทธา อุทยานไทย” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 42 ไร่ ริมถนนสมุทรสงคราม-บางแพ ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ห่างจากสี่แยกบางแพ ถนนเพชรเกษม ไปทางสมุทรสงครามไม่ไกลนัก
เดิมคือ “อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม” ก่อตั้งเมื่อปี 2540 จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของบุคคลสำคัญทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ประติมากรรมพระพุทธรูปสำคัญในสมัยต่างๆ รวมทั้งกุฏิพระสงฆ์ 4 ภาค และบ้านไทย 4 ภาค แต่ได้ปิดปรับปรุงไป 3 ปี
ก่อนจะเปิดพื้นที่จัดแสดงใหม่ ในชื่อ “ณ สัทธา อุทยานไทย” ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ มาตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา
วางคอนเซปต์ให้เป็น “สถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้” จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสร่วม 60 รูป ด้วยเทคนิคการจัดแสดงที่ให้ทั้งสาระความรู้ และความสนุกสนาน ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เข้าชม
สิ่งหนึ่งที่ ณ สัทธา นำมาใช้ ก็คือ “เทคโนโลยีการนำเสนอเรื่องราว” ผ่านแอปพลิเคชัน NASATTA ผู้เข้าชมดาวน์โหลดฟรีก่อนเดินทาง หรือจะดาวน์โหลดที่จุดจำหน่ายตั๋วก็ได้ เพราะที่นี่ติดสัญญาณไว-ไฟ ฟรีครบทุกจุด ไม่เปลืองค่าเน็ต
แอปพลิเคชันนี้ ใช้สำหรับนำทาง และสแกนคิวอาร์โค้ดตามจุดต่างๆ เพื่อรับชมข้อมูลหลากหลายรูปแบบ ทั้งวีดีโอคลิป การ์ตูนแอนิเมชั่น เทคนิคภาพจำลองเสมือนจริง (AR)
รวมทั้งยังพบกับ “น้องปิติ” มาสคอตรูปดอกไม้ประจำจังหวัดราชบุรี “ดอกกัลปพฤกษ์” สีชมพู เมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วชมวีดีโอคลิป ภาพ AR หรือเล่นเกม สะสมมาสคอตเพื่อแลกรับของที่ระลึก ได้ที่จุดแลกของที่ระลึกกลับไป
เริ่มจากจุดแรก “มหาราชกษัตรา” ประติมากรรมพระบรมราชานุสรณ์ “3 มหาราช ผู้กอบกู้รักษาเอกราชไทย” ได้แก่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ต่อกันด้วย “ณ สัทธานุสรณ์” เป็นอาคารสองชั้น ชั้นหนึ่ง จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้นไฟเบอร์กลาส 12 บุคคลสำคัญ จัดบรรยากาศและจำลองสถานที่ซึ่งบุคคลนั้นๆ เคยใช้ชีวิตอยู่จริง พร้อมเรื่องราวชีวิต เกียรติประวัติ และคุณงามความดี
ชั้นสอง ห้องศรีนครินทรานุสรณ์ จัดแสดงพระรูปหุ่นขี้ผึ้ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ในอิริยาบถและพระจริยวัตรต่างๆ พร้อมจำลองบ้านสมเด็จย่าในวัยเด็กที่วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี อีกด้วย
ถัดจากนั้น จะเป็น ห้องมหิตลานุสรณ์ จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และประติมากรรมพระรูป สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่ 9
ไฮไลต์ห้ามพลาดอีกจุดหนึ่ง คือ “ณ สัทธาปฏิมา” นำเสนอผลงานประติมากรรมพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เชียงแสน และ อู่ทองอยุธยา บนฐานพระขนาดเท่าของจริง บอกเรื่องราวของยุคสมัยผ่านความงดงามของพระพุทธรูปแต่ละสมัย
ต่อกันด้วย “ถ้ำพุทธชาดก” ถ้ำจำลอง จัดแสดงเรื่องราวของ องคุลีมาร มหาโจรกลับใจผู้มีดวงตาเห็นธรรม จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทั้งสองจุดใช้เทคนิคแสง สี เสียง และหุ่นจำลองอย่างตื่นตาตื่นใจ
เคล็ดลับที่สะกดทุกสายตาของผู้เข้าชม คือ “เทคนิคการนำเสนอผ่านสื่อผสม” ด้วย Projector Mapping 270 องศา ระบบเสียงดอลบี้ (Dolby) รอบทิศทางเหมือนโรงภาพยนตร์
รวมทั้งเทคนิค “ไลท์ แอนด์ ซาวนด์” (Light & Sound) เล่าเรื่องประติมากรรมหุ่นในบรรยากาศจำลองเสมือนจริง เพิ่มอรรถรสในการรับชมและเข้าถึงเนื้อหาจัดแสดงอีกด้วย
อาจเรียกได้ว่า เป็นการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจ มีชีวิตชีวา มากกว่าการเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีเพียงแค่ป้ายบอกเรื่องราวให้อ่านเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ยังมีโซนที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ “อริยสัทธา” จัดแสดงหุ่นพระอริยสงฆ์ที่น่าเลื่อมใสในภาคต่างๆ ประดิษฐานบนกุฏิเรือนไม้ หอสวดมนต์ เสมือนเราเข้าไปกราบเหล่าพระอริยสงฆ์อย่างใกล้ชิด
“ลานอวโลสัทธา” พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางมหาราชลีลา พระผู้ทัศนาดูโลก เฝ้าดูแลและคอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ ความสูง 3.5 เมตร จำลองจากศิลปะจากราชวงศ์ซ้อง ประเทศจีน
หรือจะเป็น “สัทธาถิ่นเรือนไทย” บ้านไทยจำลองตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เด่นชัดของแต่ละภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ การกิน การอยู่ และศิลปวัฒนธรรม
กิจกรรมพิเศษที่สร้างแรงบันดาลใจแก่คณะสื่อมวลชน คือ “การตกแต่งโอ่งด้วยทองคำเปลว” สัญลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี โดยมีวิทยากรจาก ณ สัทธา อุทยานไทย สาธิตวิธีการทำอย่างใกล้ชิด
เริ่มจากการนำสีน้ำมัน เขียนลวดลายลงบนโอ่งดินเผาด้วยตัวเอง โดยใช้สมาธิและความคิดสร้างสรรค์ รอให้แห้งสนิท ก่อนที่จะปิดด้วยทองคำเปลว แล้วใช้แปรงปัดให้เกิดลวดลายสีทองวาววับ กลายเป็นโอ่งจากฝีมือเราเอง นำกลับไปเป็นที่ระลึก
อาจเรียกได้ว่า ณ สัทธา ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังแฝงไปด้วยความศรัทธา ความเชื่อ ความเป็นไทย ปลูกฝังรากเหง้าความเป็นไทย ส่งเสริมพระพุทธศาสนา อนุรักษ์สืบสานศิลปะวัฒนธรรมที่งดงามให้คงอยู่สืบไป
ตอกย้ำเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง “เราอยากให้ที่นี่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มาเก็บรับเอาความสุขกลับไป”
อีกสถานที่หนึ่งที่คณะสื่อมวลชนได้มีโอกาสเยี่ยมชม คือ “โคโร ฟิลด์” (Coro Field) แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแนวใหม่สไตล์ญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ 104 ไร่ ริมถนนราชบุรี-ผาปกค้างคาว อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
หนึ่งในสองพี่น้องผู้ก่อตั้งอย่าง “พีท-พันดนัย สถาวรมณี” ซึ่งดูแลคอนเซปต์และการตลาด พร้อมทีมงานให้การต้อนรับ บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ และความท้าทาย กว่าจะเป็นโคโร ฟิลด์ ให้พวกเราได้ฟัง
พันดนัย หรือ พีท เปิดเผยว่า โคโร ฟิลด์ ก่อตั้งมาได้ประมาณ 3 ปี จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2548 คุณแม่มาช่วยเกษตรกรซื้อที่ดิน และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาโดยใช้เอ็นไซม์ ได้รับมาตรฐานไอเฟม (IFOAM) ซึ่งสมัยนั้นในเมืองไทยมีเพียง 3 โรงงานเท่านั้น
ระหว่างนั้น พี่ชาย คือ พอท-มิตรดนัย สถาวรมณี จบวิศวกรโยธา ไปหาเกษตรกรด้วยตัวเอง มีวันหนึ่งเริ่มรู้สึกเหนื่อย เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน การทำเกษตรอินทรีย์หรือทำฟาร์มเป็นเรื่องน่าเบื่อ เกษตรกรรุ่นใหม่ลดลงเรื่อยๆ
วันหนึ่ง พี่ชายไปบวชที่จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ญาติโยมบนดอย ตักบาตรด้วยข้าวเหนียวด้วยแววตาที่ตั้งใจมาก จึงเริ่มรู้สึกว่า ทำไมต้องมาหาเงินจากเกษตรกร อยากจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่า
ด้วยแรงบันดาลใจของเกษตรกรรุ่นใหม่ จึงอยากจะสร้างแฟมิลี่เกษตรกรขึ้นมา แต่ถ้าจะทำจริงต้องเป็นคนในวงการนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเพาะปลูกต่อไป
ส่วน พีท จบด้านการเงิน ทำงานด้านตลาดหุ้น ทุกวันจะนั่งเฝ้าหน้าจอสิบกว่าจอ เริ่มรู้สึกจินตนาการตัวเองว่า หากอายุ 50-60 ปี คงไม่อยากจะมีเพื่อนเป็นคอมพิวเตอร์ เพราะทำงานคนเดียวตลอด รู้สึกว่าชีวิตเร่งรีบมาก
อีกทั้งเป็นคนที่ชอบธรรมชาติ จึงอยากหาที่ผ่อนคลาย สร้างแรงบันดาลใจที่จะสนุกกับมัน เมื่อปัญหาชีวิตเร่งรีบมากๆ กลายเป็นตัวครีเอทพื้นที่ตรงนี้ ถ้าสังเกตการดีไซน์ที่นี่ จะเห็นว่ามีป้ายสถานที่ หรือหาอะไรมาตั้งให้คนถ่ายรูปค่อนข้างน้อย
พยายามเน้นไปที่กิจกรรมจริงๆ เพราะการสร้างแรงบันดาลใจ มากกว่าออกไปถ่ายรูป คือการลงมือทำ
ที่นี่ตั้งมอตโต้ไว้ว่า “We Plant Inspiration” ไม่ได้แค่ปลูกพืช แต่เราปลูกแรงบันดาลใจด้วย คำว่า “โคโร” (Coro) ในญี่ปุ่นมีนิยามเรื่องของเวลา ส่วนคำว่าฟิลด์ (Field) เป็นสนามกว้างๆ อยากจะให้คนที่มาที่นี่รู้สึกว่า เวลาเขาเดินช้าลง
สิ่งที่เป็นความพิเศษของฟาร์มนี้ คือ ดูตั้งแต่ปัจจัยการผลิตเอง ทำแปลงปลูกจริงเอง และมีโรงงานปุ๋ยอินทรีย์อยู่ด้านในสุด ด้านหน้าเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งต่อประสบการณ์ เพราะกว่าจะเป็นเกษตรกรคงไม่รู้ว่าความลำบากมีมากแค่ไหน
เนื่องจากพี่ชายจบวิศวกรโยธา ตนจบด้านการเงิน ไม่รู้เรื่องการทำเกษตรมาก่อนเลย นอกจากปัจจัยการผลิต จึงไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยตัวเอง กระทั่งเริ่มเรียนรู้มากขึ้น รู้จักเกษตรกรรุ่นพี่มากขึ้น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน
ส่วนที่ดินผืนนี้ พีท เล่าว่า คุณแม่ซื้อมาจากเกษตรกรมานานแล้ว เพราะที่ดินผืนนี้เดิมปลูกอะไรไม่ได้เลย มีแต่หินเต็มพื้นที่ เปรียบเหมือนทะเลทราย เวลาปลูกพืชลงไป รากพืชลงไปชอนไชกับดินไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่รอด อีกทั้งแหล่งน้ำก็ไม่มี
จึงให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการสำรวจค้นหาแหล่งน้ำ พบว่าอยู่ลึกลงไป 133.7 เมตร จากชั้นหินแกรนิต เมื่อสูบขึ้นมาจะเป็นน้ำแร่ จึงทำการเจาะน้ำใต้ดินขึ้น โดยต้องใช้เครื่องเจาะหัวเพชรในการเจาะ เสียค่าใช้จ่ายที่แพง
ขุดเจาะน้ำใต้ดินไป 6 บ่อ มีน้ำ 3 บ่อ ส่วนอีก 3 บ่อมีน้ำออกมาน้อยมาก จึงต้องเปลี่ยนที่ขุดเจาะ ตอนแรกน้ำที่ออกมามีสีฟ้าก่อนที่จะใส จึงได้นำไปตรวจแล้วพบว่าเป็นน้ำแร่ อนุมานได้ว่าห่างออกไป 10 กิโลเมตรจะมีธารน้ำซึ่งเป็นน้ำแร่
ณ วันนั้นอำเภอสวนผึ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผนวกกับความตั้งใจที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจ จึงเป็นเคสที่ดีที่จะเอาพื้นที่ซึ่งไม่มีทางปลูกพืชอะไรได้เลย ให้ปลูกพืชได้จริง และปลูกพืชที่ยากที่สุด ใช้เวลาในการทำอาร์ดี (R&D) ประมาณ 3 ปี
สำหรับผลผลิตที่เป็นซิกซ์เนเจอร์ของที่นี่ คือ “เมล่อน” ผลไม้เนื้อสีเขียว ถือเป็นพืชที่ปลูกยากที่สุด จึงตั้งไว้เป็นความท้าทายของตัวเอง เพราะเมล่อน 1 ต้นจะได้ผลผลิตเพียงแค่ลูกเดียว เทคนิคในการปลูกจะผสมเกสรเอง
รวมทั้งโรงเรือนแบบออโต้เมท ซิสเต็ม (Automate System) เป็นตัวช่วยในการคุมสิ่งแวดล้อม ตั้งขึ้นมาเพื่อพืชไม้ผลโดยเฉพาะ เพราะเวลาแสงเข้ามาผ่านตัวพลาสติก พืชแต่ละต้นชอบจะชอบแสงไม่เหมือนกัน พร้อมเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับลม
นอกจากนี้ ยังเปิดเพลงให้ต้นไม้ฟัง เพราะหลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า คลื่นเสียงมีผลต่อโมเลกุลน้ำ เวลาที่น้ำได้โมเลกุลก็จะเป็นเกล็ดที่สวยอีกด้วย แต่กว่าจะได้ผลผลิตไม่ใช่เรื่องง่าย
ครั้งแรกปลูกเมล่อน 100 ต้น รอด 7 ต้น แต่ปัจจุบันได้ผลผลิตประมาณ 94-95 ต้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง โดยเฉพาะ “การปลูกพืชบนทะเลทราย” จากประเทศอิสราเอล
ต่อจากเมลอน ก็ทำ มะเขือเทศเชอรี่ สายพันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นระดับที่แพงกว่ามะเขือเทศราชินี คอนเซปต์ที่นี่ไม่ต้องการปลูกเพียงแค่เมล่อน แต่ต้องการปลูกพืชที่ยากที่สุด ไม่ได้ปลูกง่าย พืชระดับพรีเมียม เช่น มันม่วง ซึ่งปลูกที่นี่เป็นที่แรก
ผลผลิตที่ได้จะนำมาใช้ในโซนร้านอาหาร ซึ่งในปีแรกได้ให้เชฟทีมชาติเข้ามาช่วยคิดเมนูให้ มีโซนมาร์เก็ต นำผลผลิตมาแปรรูป และมีกลุ่มเกษตรกรมาออกบูธฟรี ซึ่งโดยวิสัยทัศน์ตั้งใจว่าจะช่วยเกษตรกรจริงๆ จึงไม่มีข้อแม้ใดๆ
อีกโซนหนึ่ง คือ โคโร การ์เดนท์ (Coro Garden) เป็นโซนกิจกรรม อยากให้ผู้เข้าชมเห็นว่า กว่าจะมาเป็นผลผลิต เช่น ต้นสลัดที่อยู่ในจาน แตงโม มันม่วง เป็นอย่างไร ซึ่งจะเปลี่ยนพืชไปตามฤดูกาล
โซนโกร์ล แอนด์ ฮาร์เวสท์ (Grow & Harvest) จะมีกิจกรรมปลูกผัก ผู้เข้าชมจะได้แต่งตัวเป็นเกษตรกรจริง มีอุปกรณ์จริง เมื่อได้ผลผลิตจะนำไปมอบให้บ้านเด็กกำพร้า และหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ด้านในอำเภอสวนผึ้ง
ส่วนมาสคอตที่พบเห็น มีชื่อว่า “โคโรโระคุง” เป็นหุ่นตัวกลมๆ สีขาวในอิริยาบทต่างๆ ซึ่งด้านในจะมีลานอัฒจันทร์ต้นไม้ (Amphitheatre) สนามหญ้ากว้างๆ ไว้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ เช่น “ฮาร์เวสท์ เฟสติวัล” ในเดือนธันวาคม
อีกอาคารหนึ่ง คือ โคโร จีไอวาย (Coro G.I.Y.) ให้ผู้เข้าชมสนุกกับการสร้างสรรค์และออกแบบต้นไม้ โดยให้ตั้งชื่อต้นไม้เป็นของตัวเอง ก่อนจะให้อุปการะต้นไม้นั้นไป เป็นกิมมิกหนึ่งที่จะให้เด็กและผู้ใหญ่สนุกไปกับมัน
สำหรับเฟสที่ 2 ของโคโร ฟิลด์นั้น จากการปลูกแรงบันดาลใจ สิ่งที่เป็นจุดแข็งคือมี “อีโคซิสเต็ม” (Ecosystem) เป็นของตัวเองครบวงจร ตั้งแต่เมล็ด ปลูกเอง ทำปุ๋ยเอง มีที่ปลูกเอง สถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหาร ปีหน้าจะทำเป็นโมบายล์
อย่างต่อมา คือเกษตรกร เช่น กลุ่มเกษตรกรยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ที่ผลักดันโดยรัฐบาลก็จะช่วยผลักดันต่อ และลูกค้าปัจจัยการผลิต จากบริษัท เอส.วี.กรุ๊ป ประมาณ 5-6 พันราย ความพิเศษคือ “ยิ่งเล็ก ยิ่งพิเศษ” เพราะมีเคล็ดลับพิเศษ
ขณะเดียวกัน โคโร ฟิลด์ กำลังทดลองทำร้านอาหาร “โคโร ฟิลด์ คาเฟ่” (Coro Field Dessert) ที่ศูนย์การค้าเอสพลานาด ชั้น G ถนนรัชดาภิเษก โดยได้เชฟทีมชาติ 3 ทีมระดับมืออาชีพมาช่วยกันคิดเมนู
อีกร้านหนึ่ง คือ “โคโร ฟิลด์ เดสเสิร์ท” (Coro Field Dessert) ขณะนี้เปิดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 3 ตรงข้ามสตาร์บัคส์ นำของหวานและสมูทตี้ จากร้านที่สวนผึ้งมาจำหน่าย แต่ต่อไปจะเพิ่มเครื่องดื่มมากขึ้น
และในเดือนธันวาคมนี้ จะเปิดตัว “โคโร บอกซ์” กระเช้าผลไม้ที่ทำจากกล่องไม้ ผูกผ้าแบบญี่ปุ่น โดยเลือกผลผลิตส่งตรงจากฟาร์มเป็นของขวัญได้ตามต้องการ กำหนดวันจัดส่ง และที่อยู่จัดส่ง ถือเป็นอีกเฟสหนึ่งที่น่าสนใจ
ก่อนจะปิดท้ายด้วยการฝากเที่ยวชมเทศกาลที่เรียกว่า “ฮาร์เวสต์ เฟสติวัล” ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ตอน เทศกาลหมู่บ้านโคโรโระคุง ทุกวันเสาร์, วันอาทิตย์ที่ 9 กับ 30 ธ.ค. และวันจันทร์ที่ 31 ธ.ค. นี้
พบกับมาสคอต โคโรโระคุง ในฟาร์มสไตล์ญี่ปุ่น เวิร์คชอปพิเศษ ช้อปปิ้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาหารหลากหลายเมนู เบียร์เมล่อน พร้อมดนตรีสดถึง 3 ทุ่ม และในคืนเคานต์ดาวน์ปีใหม่ 31 ธ.ค. นี้ จะมีการจุดพลุเพื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่
ไม่ใช่แค่รับฟังแรงบันดาลใจจากเจ้าของอย่างเดียว คราวนี้ผู้บริหารธนชาต และคณะสื่อมวลชน ยังได้มีโอกาสร่วมกันปลูกต้นผักสลัด พร้อมตั้งชื่อด้วยตัวเอง โดยทางฟาร์มจะรับไปดูแล และกลับมาเยี่ยมชมได้จนกว่าจะเติบโตครบ 45 วัน
โดยผักสลัดที่ได้จากการปลูกในครั้งนี้ จะนำไปมอบให้หน่วยงานที่ดูแลเด็กยากไร้ในจังหวัดราชบุรี รวมทั้งจะนำไปให้หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ด้านบนของอำเภอสวนผึ้ง
เป็นการส่งท้ายกิจกรรม 2 วัน 1 คืน จากธนาคารธนชาตถึงคณะสื่อมวลชนสายออนไลน์ ที่นอกจากจะเพลิดเพลินเจริญใจแล้ว ยังเติมเต็มแรงบันดาลใจดีๆ กลับกรุงเทพฯ อย่างเปี่ยมล้นอีกด้วย