xs
xsm
sm
md
lg

75 ปีที่ถูกลืม! เรือ “กองทัพญี่ปุ่น” จมดิ่งท้องทะเลตรัง กับตำนานเล่าขานชาวบ้านเกาะลิบง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดประวัติศาสตร์ตำนานเล่าขานชาวเกาะกับอดีตเขี้ยวเล็บ “กองทัพญี่ปุ่น” ซากเรือช่วยรบอายุ 75 ปีที่ถูกลืมนอนนิ่งจมก้นท้องทะเลเกาะลิบง-เกาะกระดาน จ.ตรัง กองโบราณคดีใต้น้ำจัดเป็นสำรวจ “แหล่งเรือจมเกาะกระดาน” ลำดับที่ 32



หากจะย้อนเวลาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามมหาเอเชียบูรพาที่ประเทศไทยในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลาประมาณ 02.00 น. โลกต้องจารึกไว้ กองทัพญี่ปุ่นยาตราทัพยกพลขึ้นบก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี บางปู สมุทรปราการ ทางบกที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน

ก่อนที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานและทางผ่านเพื่อเข้าประเทศพม่าและอินเดีย ประเทศไทยจึงกลายเป็นเป้าฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดบอมบ์จุดยุทธศาสตร์ ส่งเรือดำน้ำลอบเข้าน่านน้ำทางทะเลซุ่มจมเรือของกองทัพญี่ปุ่น ก่อนสงครามจะสงบลงในราวปี พ.ศ. 2488 ทิ้งไว้แต่ซากเรือรบ รถถัง ยุทธภัณฑ์ทางทหารทั้งบนบกและในพื้นท้องทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน กับตำนานเล่าขานของชาวบ้านเล่าสู่ให้ลูกหลานฟัง การสู้รบของมหาอำนาจบนพื้นน้ำสีครามและบนแผ่นดินสยาม

“โกปุ๊ก”....หรือ นายสมชาย ว่องธวัชชัย นักดำน้ำอาวุโสในจังตรัง ผู้ค้นพบเรือขนยุทธภัณฑ์กองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นบริเวณเกาะลิบงตามตำนานคำเล่าลือสืบทอดรุ่นต่อรุ่นของชาวบ้านบนเกาะลิบง ปานนิทานประจำท้องถิ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในราวปี พ.ศ. 2486 ในคืนเดือนหงายชาวบ้านบนเกาะลิบงพบเห็นดวงไฟลุกโชติช่วงพร้อมกับเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวระหว่างเกาะลิบงกับเกาะกระดานสว่างไสวไปทั่วท้องทะเล ก่อนจะเหลือเปลวไฟพอมองเห็นในระยะสายตาและดับมอดในช่วงหัวรุ่งของคืนนั้น

ภายหลังพอทราบพิกัดจึงได้ชักชวนเพื่อนอีก 4 คนลงสำรวจโดยใช้เวลากว่า 2 วัน จนพบเรือขนยุทธภัณฑ์ฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นนอนนิ่งจมลงอยู่ก้นทะเล ด้วยความลึกเกือบ 33 เมตรหรือประมาณ 120 ฟุต จากการสำรวจคร่าวๆ ครั้งนั้นพบหัวเรือหันหน้าไปทางเหนือ ท้ายเรืออยู่ทางทิศใต้ ตัวเรือตั้งเอียงทางด้านซ้ายประมาณ 10 องศา หากมองจากท้ายเรือ ด้านหัวเรือห่างจากดาดฟ้าประมาณ 5 เมตร พบรูขนาดใหญ่อยู่ด้านซ้าย เส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 1 ฟุต คาดว่าอาจจะเป็นจุดที่ถูกระเบิดตอร์ปิโดของเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรยิงทำลายจนได้รับความเสียหายแล้วจมลง

ภายในตัวเรือพบแท่งเหล็กทรงกลม มีรูตรงกลางและมีแกนเหล็กตกอยู่บริเวณนั้นและสอดเข้ากันได้พอดี โดยทั้งหมดตกกระจัดกระจายอยู่ภายในเรือ ส่วนบริเวณด้านข้างพบเหล็กทรงกลมคล้ายลูกฟุตบอลจมอยู่ด้านข้างทางกราบซ้าย โดยมีทรายกลบอยู่เพียงบางส่วน ภายหลังผู้เชี่ยวชาญกองทัพเรือระบุเป็นระเบิดน้ำลึก ส่วนอีกชนิดที่ตกอยู่ข้างเรือคือทุ่นระเบิด น่าจะอยู่บนเรือลำดังกล่าวที่ถูกลำเลียงมา จึงทำรายงานพร้อมหลักฐานส่งให้ผู้ราชการจังหวัดตรังในขณะนั้นทราบ

สอดคล้องกับ พันจ่าตรี เดชา พรไทย นายช่างสำรวจชำนาญงาน หัวหน้ากลุ่มเทคนิคการสำรวจใต้น้ำ กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เปิดเผยรายงานกองโบราณคดีใต้น้ำเคยจัดนักโบราณคดีลงไปสำรวจเรือลำเลียงยุทธภัณฑ์กองทัพญี่ปุ่น บริเวณพิกัดห่างจากเกาะกระดาน 4 ไมล์ทะเลทั้งหมดสามครั้ง ตั้งแต่ปี 2535 โดยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. 2535 โดย พันจ่าเอก กามนิด ดิเรกศิลป์ เป็นหัวหน้าชุด ใช้ชื่อแหล่งสำรวจว่า “แหล่งเรือจมเกาะกระดาน” จัดเป็นแหล่งสำรวจโบราณคดีที่ 32 และการสำรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11-14 ม.ค. 2539 แบบไม่เป็นทางการ พบจานลายครามก้นตื้นเป็นรูปต้นไม้และเก๋งจีน มีตัวหนังสือญี่ปุ่นอยู่ภายใน ขอบจานมีรูปนกกระเรียนกางปีกชนกันรอบถ้วย 5 ตัว ใต้ก้นถ้วยมีตัวเลข 352 และยังพบบานหน้าต่างกระจกอย่างหนาเป็นรูปวงกลม กรอบทำด้วยทองเหลือง

ต่อมา “นายทาเคโนริ สุดะ” นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่น ได้เดินทางมาเยี่ยมกลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2539 ได้ช่วยแปลข้อความบนจานลายครามถึงที่มาที่ไปได้ความว่า จานใบนี้ถูกผลิตในอำเภอมิโนแวร์ จังหวัดจิฟู เนื่องด้วยอำเภอมิโนแวร์และจังหวัดจิฟูมีช่างปั้นถ้วยชามชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก

"จากการสันนิษฐานสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดในปี พ.ศ. 2482 และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 ตามรายงานที่ชาวบ้านพบเรือดังกล่าวในปี พ.ศ. 2486 ปัจจุบันเท่ากับเรือมีอายุอยู่ 75 ปีโดยประมาณ"

ต่อมามีการสำรวจครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 21-24 เม.ย. 39 ระยะเวลา 4 วัน โดยได้รับการเชิญจากเจ้าหน้าที่อนุรักษ์อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ร่วมโครงการทำความสะอาดท้องทะเลตรัง โดยการนำอวนที่ติดซากเรือออก พบวัตถุทรงกระบอกทำด้วยโลหะ 1 แท่ง บริเวณดาดฟ้าท้ายเรือ โดย พันจ่าเอก วาลิณ ว่องระงับภัย หนึ่งในทีมสำรวจระบุเป็น “โก๊” หรือฟิวส์ ตัวจุดระเบิดนำ เพื่อทำให้ดินระเบิดหลักทำงาน อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดกรมสรรพาวุธกองทัพเรือเข้าตรวจสอบและยืนยันเป็นรุ่นมาร์ค 7 หรือ MK7 ผลิตในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าเรือของกองทัพญี่ปุ่นลำนี้ขนระเบิดน้ำลึก ทุนระเบิดและเสบียงเข้ามาเสริมกำลังแต่มาถูกจมลงเสียก่อนจะถึงที่หมาย

จากการสำรวจครั้งที่ 3 นั้น เรือดังกล่าวมีความกว้าง 9.20 เมตร ยาว 49.80 เมตร บริเวณหัวและท้ายเรือยกสูง ตรงกลางมีระวางเปิดโล่งและลึกถึงท้องเรือ ดาดฟ้าเรือมีกว้านเล็กๆ 3 ตัว กว้านสมอเรือ 1 ตัว มีเหล็กเชื่อมต่อคร่อมกราบเรือ โดยบริเวณต่อจากระวางเป็นดาดฟ้ายกสูงติดตั้งกว้านใหญ่ ทั้งกราบด้านขวาและซ้ายของตัวเรือ ท้ายเรือยกสูงเป็นที่ตั้งของเสาเหล็กมีด้ามโยกอยู่ส่วนบน

ทีมสำรวจคาดว่าจุดนี้น่าจะเป็นที่ถือท้ายเรือ จากท้ายเรือถึงพื้นทะเลหางเสือ 1 ข้าง ค่อนไปทางขวาใบหางเสือขวางตั้งฉากกับแกนกระดูกงู ตรวจสอบรอบเรือไม่พบชื่อเรือแกะสลักไว้แต่อย่างใด ซึ่งเรือลำนี้จัดอยู่ในเรือประเภท “เรือช่วยรบ” ดัดแปลงมาจากเรือขนสินค้า มีหน้าที่ขนลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพล

สรุปการสำรวจทั้งสามครั้งทีมสำรวจพบจานลายคราม 1 ลูก หน้าเรือทำด้วยกระจกหนากรอบทองเหลืองกลมขอบมีไขควงสำหรับขันยึด 1 บาน “โก๊” หรือชนวนตั้งเวลาจุดระเบิดน้ำลึก ไม้แขวนเสื้อทำด้วยโลหะทองแดง 1 อัน ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ารูปตัวหนอน 1 อัน แบตเตอรี่ขนาดเล็กอีก 1 ก้อน โดยสิ่งของที่พบทั้งหมดถูกจัดเก็บไว้ในกองโบราณคดีใต้น้ำ ที่จังหวัดจันทบุรี











กำลังโหลดความคิดเห็น