xs
xsm
sm
md
lg

พงศาวดารแบบนี้ก็มีด้วย... พระร่วงเป็นชู้กับชายาพระสหาย! หรือเป็นข้ออ้างเพื่อชุมนุมทางการเมือง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่า มีพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ประดิษฐานอยู่ พระอิริยาบถของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ดูมีความสนิทสนมรักใคร่กันเป็นอย่างดี ทั้งพระชนม์ก็ดูอยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน กษัตริย์ทั้งสามนี้ก็คือ พระยาเม็งราย แห่งล้านนา พ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัย และพระยางำเมือง แห่งพะเยา ซึ่งต่างก็เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรชนเผ่าไทยทั้งสามพระองค์

ความสัมพันธ์ของพระยางำเมืองกับพ่อขุนรามคำแหง หรือพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย พงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระยางำเมืองได้มาเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักพระสุกทันตฤาษี ณ กรุงละโว้ เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา เป็นศิษย์ร่วมสำนักและร่วมรุ่นกับพระร่วง จึงมีความสนิทสนมแนบแน่นกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น

ส่วนความสัมพันธ์ของพระยาเม็งรายกับพระยางำเมืองนั้นเกิดขึ้นอย่างน่าพิศวง เมื่อพระยาเม็งรายเห็นว่าอาณาจักรล้านนามีท้าวพระยาแยกกันปกครองหลายองค์ เกิดวิวาทแย่งชิงแดนและส่วยกันเสมอ สร้างความทุกข์ยากให้แก่อาณาประชาราษฎร์ จึงทรงคิดที่จะปราบปรามรวบรวมเมืองต่างๆนั้นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้เป็นปึกแผ่นและเป็นความผาสุกแก่ราษฎร หนึ่งในจำนวนเมืองที่จะต้องรวบรวมเข้ามานั้น มีพะเยารวมอยู่ด้วย จึงได้ยกกองทัพไป แต่พระยางำเมืองคงจะเห็นว่าเป็นเผ่าไทยด้วยกันที่จะต้องสู้กับอิทธิพลของขอม แทนที่จะจัดทัพไปสู้ กลับออกไปจัดแต่งที่ประทับคอยต้อนรับ พระยาเม็งรายเจอแผนธรรมยุทธ์แบบนี้เลยอึ้ง จากนั้นสองกษัตริย์ก็ปฏิญาณเป็นมิตรไมตรีกัน

เหตุการณ์ต่อมา พงศาวดารโยนกได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“...อยู่มาครั้งหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จมาสู่หาพระยางำเมือง ณ เมืองพะเยา ได้เห็นนางอั้วเชียงแสน ราชเทวีของพระยางำเมือง มีรูปโฉมอันงาม ก็บังเกิดความกำหนัดในนาง นางนั้นก็มีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระร่วง จึงลอบสมัครสังวาสกัน พระยางำเมืองทราบเหตุก็กุมเอาตัวพระร่วงไว้ แล้วจึงใช้ให้ไปเชิญพระยาเม็งรายเจ้านครเชียงรายมาตัดสิน”

ส่วนประชุมตำนานลานนาไทย กล่าวถึงตอนนี้ไว้ว่า

“เมื่อนั้น ยังมีนางเทวีพระยางำเมืองผู้หนึ่ง ชื่อ นางอั้วเชียงแสน รูปโฉมงามนัก นางผู้นั้นมีใจเคียดแค้นแก่พระยางำเมือง ด้วยเหตุนี้คือในวันหนึ่งนางอั้วเชียงแสนกระทำสู่ขวัญพระยางำเมือง พระยางำเมืองทักว่า นางพระยามาสู่ขวัญกูปางนี้ แกงอ่อมอร่อยดีเสียแต่ว่าถ้วยกว้างน้ำแกงมากไปหน่อยหนึ่งเท่านั้น นางพระยาเข้าใจว่าพระยางำเมืองแสร้งตรัสประชดนาง ก็เลยเคียดขึ้งอยู่ในใจไม่ค่อยจะไปมาหาสู่พระยางำเมืองที่เวียงเชียงสุมอันเป็นที่ประทับ และนางมีใจรักใคร่พระยาร่วงซึ่งเดินทางมาดำหัวและมาหยุดพักอยู่ภายนอกเวียง ฝ่ายพระยาร่วงรู้ว่านางอั้วเชียงแสนมีใจรักใคร่ตนก็แอบไปนอนกับนางด้วยหลายครั้ง จนภายหลังพระยางำเมืองรู้ว่าพระยาร่วงเป็นชู้กับเมียตน”

เมื่อพระยางำเมืองจับได้ว่าถูกสหายรักตีท้ายครัว จึงรำพึงว่า

“กูจะฆ่าพระยาร่วงกับเมียกูเสียก็ได้แล แต่ว่าเมืองใต้กับเมืองกูจักเป็นเวรแก่กันสืบไปชะละ”

พงศาวดารโยนกกล่าวต่อไปว่า

“บ่ควรฆ่า อนึ่ง เมียกูก็หากร้าย กูได้ผูกพระยาร่วงไว้ จักตัดแต่งสินไหมเอาเองก็บ่ควร ส่วนตนกูเป็นพระยาใหญ่ ควรกูให้ไปไหว้สหายกูเจ้าพระยาเม็งรายตนมีบุญสมภาร และมีปัญญาฉลาดอาจตัดแต่งถ้อยความชอบด้วยสุคติ ควรไหว้ท่านมาพิจารณาตัดแต่งความต่อนี้แก่เผือแลพระยาร่วงอันมีวิวาทแก่ตนกันหื้อเป็นสนุกควรแล ว่าอันแล้วพระยางำเมืองก็ใช้หื้อเอาบรรณาการไปถวายแก่พระยาเม็งราย ขอหื้อมาชำระโทษ”

เมื่อพระยาเม็งรายมาถึง พระยางำเมืองได้เล่าโทษของพระยาร่วงให้พระยาเม็งรายได้ทราบแล้ว พระยาเม็งรายจึงกล่าวว่า

“ดูราสหายเจ้า เรานี้เป็นท้าวพระยาใหญ่ได้น้ำมุรธาภิเษกสรงเกศ มีบุญสมภารยศบริวารทุกคน ดังพระยาร่วงนี้เล่า เขาก็ได้มุรธาภิเษกในเมืองสุโขทัยโพ้นแล้ว แม้นท้าวร่วงได้กระทำผิดสหายได้รักษาไว้ บัดนี้สหายจุ่งเอาพระยาร่วงมา เราจะพิจารณาตามครองคุณแลโทษ พระยางำเมืองก็หื้อเอาพระยาร่วงมาถาม พระยาร่วงก็ปลงปฏิญาณว่าตนมักเมียพระยางำเมืองแท้ ทีนั้นพระยาเม็งรายก็กระทำปริยายชักชวนให้พระยาร่วงกับพระยางำเมืองยินดีซึ่งกันด้วยปริยายหลายประการต่างๆ แล้วพระยาเม็งรายจึงแต่งหื้อพระยาร่วงขมาพระยางำเมืองสหายตน เป็นเบี้ยเก้าลุนเก้าลวง คือเก้าแสนเก้าหมื่นเบี้ย พระยาร่วงเจ้าก็กระทำตามคำพระยาเม็งรายตัดแต่งให้ขอขมาโทษต่อพระยางำเมืองนั้นเพื่อให้หายเวรนั้นแล พระยาเม็งรายก็ชักนำกระทำให้พระยาทั้งสองมีราชไมตรีสนิทติดต่อกันยิ่งกว่าเก่าด้วยเดชะไมตรีแห่งเจ้าพระยาเม็งรายนั้นแล”

“แล้วพระยาเม็งรายก็ลาสหายทั้งสองยกกลับเมืองเชียงนคร แต่พระยาร่วงสุโขทัยนั้นอยู่สอนศาสตร์ศิลปะอาคมต่างๆให้พระยางำเมืองก่อน แล้วจึงลากลับคืนนครสุโขทัย”

อ่านเรื่องนี้แล้วก็คงรู้สึกงงๆกัน พระร่วง หรือ พ่อขุนรามคำแหง เป็นชายชู้ มีอะไรผิดพลาดสับสนในพงศาวดารหรือเปล่า

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เขียนไว้ใน “สามัคคีสามกษัตริย์” ในหนังสืออนุสรณ์พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ไว้ว่า

“...เหตุการณ์นี้เข้าใจว่าเขียนขึ้นเพื่อเสริมบารมีพระยาเม็งราย โดยถือว่าการเป็นชู้เป็นโลกวิสัย แต่ความจริงนั้นพระร่วงอาจมิได้กระทำผิดดังกล่าวเลยก็เป็นได้ เพราะถ้าจะอ่านเรื่องเดียวกันนี้จากพงศาวดารน่านในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ จะได้ความว่า พระยางำเมืองทรงหยอกนางอั้วสิมว่าแกงใส่น้ำมากเกินไป นางอั้วสิมก็โกรธ อย่างเดียวกับข้อความในตำนานเชียงใหม่ แต่นางอั้วสิมไปได้เสียกับเจ้าเมืองปราด ซึ่งเป็นโอรสกษัตริย์น่าน...”

ส่วน สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ “ศิลปวัฒนธรรม” ได้เขียนไว้ใน “แคว้นสุโขทัย รัฐในอุดมคติ” ว่า

พระร่วงไปทำชู้
หรือไปชุมนุมทางการเมือง

“ในขณะที่เอกสารล้านนาชุดหนึ่งจดเอาไว้ว่าพระยาร่วงไปกระทำชู้ด้วยนางอั้วเชียงแสน ราชเทวีของพระยางำเมือง แล้วพระยามังรายเรียกประชุมเพื่อชำระคดีความ

เอกสารล้านนาที่สำคัญที่สุดอีกชุดหนึ่งคือ ชินกาลมาลีปกรณ์ ก็จดเอาไว้เป็นภาษาบาลี แล้วศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลออกมาเป็นภาษาไทยว่า
เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๑ “กษัตริย์ ๓ พระองค์คือ พระเจ้ามังราย ๑ พระเจ้างำเมือง ๑ พระเจ้าโรจ ๑ เป็นสหายกัน นัดประชุมกันในสถานที่นัดแนะการชนะ (ประตูชัย) ผูกมิตรภาพซึ่งกันและกันแน่นแฟ้นแล้ว ต่างก็เสด็จกลับเมืองของตนๆ ตำนานเดิมปรากฏดังนี้ จากนั้นอีก ๒ ปีพระเจ้ามังรายได้ส่งเจ้าอ้ายเป็นไส้ศึกในหริปุญชัย” ต่อจากนั้นพระยามังรายก็ทำสงคราม ได้เมืองหริภุญชัย แล้วสร้างเมืองเชียงใหม่
ดังนั้น กรณีพระร่วงไปทำชู้ที่เมืองพะเยา จึงอาจเป็นเรื่องชุมนุมทางการเมืองของสามกษัตริย์เพื่อทำสงครามกับหริภุญชัย (ลำพูน)”

เมื่อตอนที่พระยาเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ ได้เชิญพระสหายทั้งสองมาปรึกษาหารือกันอีกครั้ง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พระยาเม็งรายคิดจะสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยาวด้านละ ๒,๐๐๐ วา แต่พระยางำเมืองและพระยาร่วงค้านว่า ต่อไปถ้ามีศึกมาประชิดเมืองอาจจะไม่มีคนพอจะรักษาเมืองไว้ได้ ควรจะลดลงให้เหลือเพียงด้านละ ๕๐๐ วา ในที่สุดพระยาเม็งรายก็ยอมลดลงเหลือยาว ๑,๐๐๐ วา กว้าง ๙๐๐ วา

นี่ก็เป็นสาเหตุที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์อยู่ที่เชียงใหม่ในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น