xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีวราห์” กังขาเพลง “ประเทศกูมี” หมิ่นเหม่ครึ่งต่อครึ่ง - คนแร็ปอ้างคนฟังกลัวเกินเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอง ผบ.ตร.ระบุเพลง “ประเทศกูมี” ที่แพร่สะพัดผ่านโซเชียลฯ เนื้อหาหมิ่นเหม่ 50-50 ให้ตำรวจ ปอท.ตรวจสอบอีกครั้ง เตือนอย่าทำอะไรสุ่มเสี่ยง ไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว พบเอ็มวีใช้เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จำลอง อ้างรัฐสร้างความแตกแยก ยืนยันไม่สุดโต่ง คนฟังกลัวเกินเหตุ วอนคนทำงานศิลปะมีเสรีภาพในการพูด

วันนี้ (26 ต.ค.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงในสื่อโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ว่าดูคลิปแร็ปใต้ดินทำเพลง “ประเทศกูมี” ปล่อยผ่านยูทูปแล้ว เนื้อหาจะผิดหรือไม่ แต่เท่าที่ดูจากคลิปก็ 50-50 แต่ต้องให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปก็จะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช.ด้วยหรือเปล่า และเตือนว่าคนที่ทำเพลงอย่าทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัวหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการกระทำผิด

สำหรับเพลง “ประเทศกูมี” เป็นเพลงแร็ปที่แต่งและร้องโดยกลุ่มนักร้องเพลงแร็ป Rap Against Dictatorship (แร็ปต่อต้านเผด็จการ) โดยใช้นามแฝง อาทิ Jacoboi, Liberate P และ ET ซึ่งมีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม (Liberal) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2561 โดยเอ็มวีใช้ฉากหลังจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้เก้าอี้พับตีร่างของนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีออกนอกประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

โดยเนื้อร้องเพลงดังกล่าวเป็นการพูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคที่ปกครองโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นหลัก เช่น กรณีเสือดำ, นาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, บ้านพักตุลาการ โดยเฉพาะการเมืองในยุคปกครองโดยรัฐบาลทหาร โจมตีว่าไม่มีสิทธิเสรีภาพ พรรคการเมืองถูกแบ่งเป็นสองขั้ว พลเมืองแบ่งเป็นสองข้าง ผ่านมา 4 ปีแล้วยังไม่มีการเลือกตั้ง โดยตอนท้ายใส่ประโยคว่า “การแบ่งแยกประชาชน คือไม้ตายของอำนาจรัฐที่ฝักใฝ่เผด็จการ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น อำนาจทั้งหมดของประชาชนจะถูกพรากจากไป ด้วยความระลึกถึง ทุกชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมโดยรัฐ ทุกเหตุการณ์”

กลุ่ม Rap Against Dictatorship ให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ออนไลน์ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ของนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเพลงนี้มีแร็ปเปอร์ 10 คนร่วมกันเขียนเนื้อร้อง ธีมหลักคือต่อต้านเผด็จการ แล้วพูดถึงว่าประเทศมีอะไรในสายตาของแร็ปเปอร์แต่ละคน และอ้างว่าตั้งใจรวบรวมคนที่คิดไม่เหมือนกันเข้ามาอยู่ในเพลงนี้ซึ่งมีจุดร่วมกันคือไม่เอาเผด็จการ โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship เป็นโปรเจกต์ที่อยากให้คนพูดเพลงการเมืองเข้ามาร่วมงาน ซึ่งซิงเกิลต่อไปอาจจะมีศิลปินหมุนเวียนมา

ส่วนที่ถามว่าเพลงนี้สุดโต่งไปหรือไม่ พวกเขากล่าวว่าไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น อ้างว่าประนีประนอมอย่างมากแล้ว โดยตั้งเป้าไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูประชาชนด้วยกันเอง แต่พูดถึงอำนาจรัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคนฝั่งไหน และอ้างว่าคนที่มองว่าสุดโต่งนั้นกลัวเกินเหตุ มั่นใจว่าเพลงนี้ไม่มีอะไรเกินกว่ากฎหมาย เท่ากับว่าคนในประเทศนี้ถูกจัดตั้งให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่ไม่ปกติ ส่วนอำนาจรัฐจะมองว่าสุดโต่งหรือไม่ก็ช่างเขา เนื้อหาในเพลงใครเขาก็ด่ากัน แต่ถ้าเอาเนื้อหาแต่ละคนไปค้นหาจะพบว่ามีทุกประเด็นที่คนพูดถึงไปหมดแล้ว

ในตอนหนึ่งพวกเขากล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักที่ออกเพลงนี้ คือ อยากให้วัยรุ่นและวัยทำงานหันมาสนใจเรื่องบ้านเมือง ซึ่งการใช้ดนตรีสื่อสารเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย ทุกคนทำได้ สามารถเอาไปทำตามได้ อย่างไรก็ตาม ในตอนจบของเอ็มวีที่ใช้ประโยคว่า All People Unite ในโลกประชาธิปไตยคนสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เราเก็บพื้นที่เอาไว้ตีกันเอง แต่เราสามัคคีกันไม่ให้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกในอำนาจประชาชน ในความแตกต่างหลากหลายเข้ามาตีกันเองได้ แต่ไม่ใช่ให้อำนาจรัฐเผด็จการเข้ามาควบคุมในส่วนนี้

“ที่ใช้เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นพื้นหลังในเพลง มันสะท้อนภาพชัดที่สุดแล้วในสภาวะที่องค์กรของรัฐเข้ามาสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ก็เกิดการแบ่งฝ่ายที่หนักมากกว่ายุคนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเกิดแบบนั้นขึ้นก็ได้ จึงเลือกจุดที่มันหนักที่สุดขึ้นมา ภาพมันจะได้ชัดว่ามันคือจุดที่คนถูกรัฐทำให้แตกแยกจากกัน พอคนมันฟาดกันเองในระดับนั้น รัฐก็เข้ามาฉวยโอกาส ตอนนั้นมันก็เป็นเผด็จการฝ่ายขวาแบบคลาสสิกเต็มตัวแบบที่ขวาที่สุดเท่ากับที่บ้านเราเคยมี” ตัวแทนกลุ่ม Rap Against Dictatorship ระบุ

พวกเขากล่าวว่า ตอนนี้มีพื้นที่ทางการเมือง ทำเพลงแร็ปการเมืองขึ้นมาได้ ก็อยากให้ทุกคนที่มีอะไรในใจอยากจะพูด ช่วยกันพูดออกมา เพราะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ที่น่ากลัวเพราะมีจำนวนน้อย อีกทั้งไม่จำเป็นต้องผูกขาดคนใดคนหนึ่ง ปัญหาสำคัญก็คือ ต้องพูดในแง่จับไปที่โครงสร้างของมันได้ สิ่งหนึ่งที่อยากจะเสนอคือ ให้คนที่ทำงานและสื่อสารด้านศิลปะวัฒนธรรมสนใจเรื่อง Freedom of Speech (เสรีภาพในการพูด) ถ้าไม่สนใจจะไม่รู้ว่าประเด็นที่พูดได้อย่างปลอดภัยในตอนนี้ อนาคตอาจจะเป็นสิ่งที่ห้ามพูดเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าไม่รักษาไว้ ถือเป็นสามัญสำนึกพื้นฐานที่ศิลปินทุกแขนงร่วมกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น