xs
xsm
sm
md
lg

Friends with Benefits! อาจารย์จิตวิทยาชี้ความสัมพันธ์แบบ “เพื่อนเกินเพื่อน” มีอยู่จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพ : Pixabay.com
เป็นมากเกินกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่คนรัก! อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เผย ความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมหลับนอนกับเพื่อน (Friends with Benefits) มีอยู่จริงในโลก ชี้ มีทั้งผลดีผลเสีย เตือนความสัมพันธ์ “เพื่อนทำหน้าที่เกินเพื่อน” อาจจะได้เพื่อน หรือเสียเพื่อนไปก็ได้

นายภาณุ สหัสสานนท์ อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตีพิมพ์บทความในเฟซบุ๊กเพจ “Psychology CU” ของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Friends with benefits หรือ F.W.B. ว่า หมายถึงความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่ง ที่เพื่อนทำหน้าที่ร่วมหลับนอนกับเพื่อน ปัจจุบันถูกนำมาพูดถึงและถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่อง

โดยความสัมพันธ์แบบ Friends with Benefits นั้น อยู่กึ่งกลางระหว่างการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า (One Night Stand) กับ ความสัมพันธ์แบบโรแมนติก หรือการมีความสัมพันธ์แบบคู่รักที่คบหาดูใจกันระยะยาว (Romantic Relationship) เนื่องจากคนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้น เป็นคนที่รู้จักคุ้นเคย มีความใกล้ชิด หรือสนิทกันพอสมควร แต่ไม่ได้ถึงขั้นพัฒนาเป็นคู่รักที่มีความผูกมัดหรือคิดสร้างอนาคตร่วมกัน

แม้ในสังคมไทยยังไม่มีงานวิจัย แต่ในสังคมอเมริกัน เมื่อปี 2009 Bisson และ Levine ได้ทำการศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัย พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 60% ระบุว่า ในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิตเคยมีความสัมพันธ์แบบ Friends with Benefits และเกือบ 40% กำลังอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าว จะเห็นได้ว่า รูปแบบความสัมพันธ์เพื่อนเกินเพื่อนเกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงชีวิตของวัยมหาวิทยาลัยและหลังจากเรียนจบ

“จากการสำรวจพบว่าความสัมพันธ์แบบ Friends with Benefits ทำหน้าที่สำคัญคือ เป็นความสัมพันธ์แบบชั่วคราว จนกว่าบุคคลนั้นจะพบความสัมพันธ์ที่ดีกว่า หรือทำหน้าที่เป็นการทดลองดูว่าคนทั้งสองจะเข้ากันได้หรือไม่ก่อนที่จะคิดจริงจัง รวมทั้งยังเป็นการระบายความรู้สึกของตนเองกับเพื่อนที่เราไว้ใจได้โดยไม่มีการผูกมัด” บทความของอาจารย์ภาณุ ระบุ

สำหรับผลที่จะตามมาจากความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าว บทความของอาจารย์ภาณุ ระบุว่า มีโอกาสลงเอยในฐานะคู่รัก หรือยังสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาจากการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเพื่อน อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน เกิดความพัวพันและซับซ้อนยิ่งขึ้น หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มหวั่นไหวหรือตกหลุมรัก ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกทำนองเดียวกัน ย่อมก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบทั้งความรู้สึกผิดหวัง เจ็บปวดหรือหึงหวงตามมาอีกด้วย การมี Friends with benefits จึงมีทั้งผลดีและผลเสีย

โดยผลการศึกษาเมื่อปี 2013 ของ Owen, Fincham และ Manthos พบว่า 1 ใน 3 ของนักศึกษาชาวอเมริกันสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกับเพื่อนที่เคยมีสถานะเป็น Friends with Benefits ได้ และ 15% ระบุว่า มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นจนอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นคู่รักในระยะยาวได้

แต่ 30% ของผู้ที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับเพื่อน แม้จะยังคงสถานะเพื่อนได้ แต่มีความห่างเหินและไม่สนิทใจกันเหมือนก่อน อีกทั้ง 20% ยุติความสัมพันธ์กับเพื่อนที่เคยเป็น Friends with Benefits รวมถึงรับรู้ว่าตนเองถูกเพื่อนหลอกและมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรู้สึกเหงาและซึมเศร้ามากกว่าอีกด้วย

“สำหรับในเมืองไทย แม้การศึกษาวิจัยเรื่องทางเพศและความสัมพันธ์ยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำกัดและละเอียดอ่อน แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนในวัยหนุ่มสาวเริ่มมีรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่ทุกคนจำต้องพิจารณาถึงผลดี และผลเสียให้ถี่ถ้วน เพราะในช่วงวัยมหาวิทยาลัยและผู้ใหญ่ตอนต้นที่ทุกคนมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิต หรือเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ แต่ทุกทางเลือกย่อมมีผลตามมาเสมอ ดังนั้น การเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ที่เพื่อนทำหน้าที่เกินเพื่อน จึงอาจทำให้บุคคลนั้นได้ หรืออาจจะเสียเพื่อนก็เป็นได้” บทความของอาจารย์ภาณุ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น