สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ออกตัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเตรียมดำเนินคดี หลังผู้ผลิตสีชื่อดัง โฆษณาโบสถ์มหาอุตวัดโพธาราม จ.สุพรรณบุรี ทาด้วยสีทาภายนอกสีทองทั้งหลัง พบเกิดจากกลุ่มอาสาสมัคร “คนร่วมทาง” บูรณะวิหารอายุกว่า 100 ปี เมื่อ 2-3 ปีก่อน
วันนี้ (24 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ได้ร้องขอให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสีทาบ้านให้ลบแท็กหน่วยงานออก หลังจากที่ได้โพสต์ภาพโฆษณาบนวิหารวัดโพธาราม ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีลักษณะโค้งเหมือนท้องเรือสำเภา เรียกว่า “โบสถ์มหาอุต” มีทางเข้าออกด้านเดียว ซึ่งภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่จำนวนมาก ถูกทาด้วยสีทองทั้งหลัง และได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา
โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ และกรมศิลปากรเองไม่มีนโยบายที่จะใช้วิธีการนี้ในการบูรณะโบราณสถาน ดังนั้น การโฆษณาของผลิตภัณฑ์สีทาบ้านในลักษณะนี้อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กำลังดำเนินการเก็บหลักฐานวัดทุกวัด (ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ) ที่ถูกบูรณะทาสีทองด้วยฝีมือเอกชนกลุ่มดังกล่าวนี้ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายในกรณีที่วัดนั้นมีสถานะเป็นโบราณสถานต่อไป
จากการตรวจสอบพบว่า การบูรณะวัดดังกล่าวเกิดจากกลุ่มจิตอาสาที่ชื่อว่า “กลุ่มคนร่วมทาง” โดยคำบอกเล่าของบล็อกเกอร์รายหนึ่ง ในเว็บไซต์ Bloggang.com หัวข้อ บูรณะวัดโพธาราม ตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3 ระบุว่า ได้เข้ามาบูรณะวิหารเก่าที่อยู่ภายในวัดโพธาราม เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558 หลังจากวิหารนี้ได้รับการบูรณะล่าสุดโดย พระครูสัทธานุสารี (เปี้ยน ชิณปฺตโต) ซึ่งมรณภาพไปตั้งแต่ พ.ศ. 2477 อายุกว่า 100 ปี โดยพบว่ามีสภาพทรุดโทรม มีรอยร้าวของโครงสร้างผนังแยกออกจากกัน จึงได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมผิวปูนโครงสร้างที่ร้าวด้วยการฉาบปูนใหม่ให้เรียบสวยงามแข็งแรง ก่อนที่จะทาสีและซ่อมแซมหลังคาโบสถ์
เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะบูรณะวิหาร ก็นำสีทาภายนอกสีทองมาบริจาค โดยอ้างว่าหลวงปู่เปี้ยนมาเข้าฝัน บอกว่าบูรณะวิหารนี้ให้งดงามเป็นทองทั้งวิหาร จึงเริ่มบูรณะภายใน โดยซ่อมแซมพระพุทธรูปหลวงพ่อดวงดี ก่อนทาสีรองพื้นและปิดทองทั้งองค์ จากนั้นได้เริ่มทาสีทองภายในวิหาร เพิ่มเสาไม้ตะเคียนที่หายไป และติดโคมไฟ ต่อมาเดือน ก.พ. 2559 กลุ่มคนร่วมทางได้เข้ามาเก็บงานวิหารเก็บงานทั้งหมด โดยปูกระเบื้องพื้นภายในวิหารใหม่ วาดภาพจิตรกรรมไทยตกแต่งบานประตูวิหาร ก่อนที่จะจัดงานฉลองเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2559
ที่ผ่านมา กลุ่มคนร่วมทางได้รวมตัวกันทำกิจกรรมบูรณะวัดที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากว่า 6 ปี โดยดำเนินการมาแล้วมากกว่า 100 วัดทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ใช้ประโยชน์ และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยออกกำลังทรัพย์กันเอง ไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากวัด ซึ่งการจัดฉลองแต่ละครั้งเงินทำบุญจะถวายวัดทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่วัดถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 10 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย”
ส่วน มาตรา 10 ทวิ ระบุว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในโบราณสถานเพื่อตรวจดูว่าได้มีการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลายเคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือมีการขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานหรือไม่ ในการนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดวัตถุที่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่าจะเป็นวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้นในบริเวณโบราณสถานได้
การตรวจ ยึดหรืออายัดตามความในวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก และเมื่อดำเนินการตรวจ ยึดหรืออายัดแล้ว ในเขตกรุงเทพมหานครให้รายงานต่ออธิบดี ในเขตจังหวัดอื่นให้รายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบดีเพื่อทราบ”