xs
xsm
sm
md
lg

พระพุทธรูปทองคำถูกโบกปูนซ่อนไว้มีที่ไหนบ้าง! เผยออกมาแล้วหลายองค์ ที่ถูกซ่อนอยู่ก็ยังมี!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

หลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตร
แต่โบราณกาลมา ชาวพุทธไม่ได้มองพระพุทธรูปเป็นแค่วัตถุ แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญทางจิตใจ เมื่อเห็นว่าพระพุทธรูปองค์ใดเสี่ยงต่อมนุษย์ใจบาป โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่สร้างจากวัตถุมีค่า เช่นทองคำ ก็จะเอาปูนโบกปิดซ่อนไว้ให้ดูเป็นของไม่มีราคา แต่ก็มีค่าทางจิตใจเหมือนเดิม เพราะเป็นการเห็นด้วยปัญญา ด้วยใจ ไม่ใช่เห็นแค่ตา แต่เมื่อคนที่ซ่อนไว้ตายไปไม่มีใครรู้เห็น พระพุทธรูปที่ถูกซ่อนจึงเป็นความลับอยู่ตลอด จนกว่าจะถูกพบโดยบังเอิญ ซึ่งก็มีการพบแล้วหลายองค์ และที่ยังไม่พบก็คงมีอยู่ไม่น้อย

พระพุทธรูปที่ถูกซ่อนไว้และถูกค้นพบเป็นข่าวเกรียวกราวที่สุดในยุคนี้ คงไม่มีองค์ไหนที่สร้างความตื่นเต้นได้เท่า พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร ซึ่งพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ จากนั้นก็ค้นพบพระพุทธรูปทองคำแบบนี้อีกหลายองค์ แต่พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตรเป็นองค์ใหญ่ที่สุด หนักถึง ๕ ตัน และเป็นทองคำบริสุทธิ์ที่สุด จนกินเนสบุ๊คต้องบันทึก

ตามประวัติที่สำนักนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๔ กล่าวไว้ว่า

“เดิมพระพุทธรูปทององค์นี้ ประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย แต่แล้วหายสาบสูญไปเพราะมีผู้เอาปูนปั้นหุ้มไว้ ต้นเหตุของการเอาปูนหุ้มสันนิษฐานได้ ๓ ประการ ประการที่ ๑ หุ้มตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จขึ้นไปตีอาณาจักรสุโขทัย ชาวสุโขทัยกลัวจะอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำลงมา จึงปั้นปูนหุ้มไว้ ประการที่ ๒ หุ้มเพราะครั้งนั้นข้าศึกจะมาทำลายหรือเอาไฟสำรอกเอาทองออก ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ เพราะครั้งนั้นข้าศึกได้เอาไฟเที่ยวสุมสำรอกเอาทองคำเสียอเนกอนันต์ เช่นพระพุทธศรีสรรเพชญ์ ก็ถูกข้าศึกเอาไฟสุมละลายลงมาทั้งองค์ ประการที่ ๓ ขุนนางผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งคงจะขึ้นไปพบเห็นเข้า เมื่อปรากฏว่ามีพระพุทธลักษณะงดงามมาก ก็ใคร่จะอัญเชิญมาประทับประดิษฐานที่วัดแห่งสกุลของตน หรือครั้งนั้นอาจไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองก็ได้ เพราะเอาปูนปั้นหุ้มไว้หนามาก แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานว่า เท่าที่อยู่วัดโชตินาราม (วัดพระยาไกรฯ)นั้น คงมาเมื่อรัชกาลที่ ๓ นี่เอง”

วัดโชตินาราม เป็นวัดที่พระยาไกรโกษา (บุญมา) กรมพระคลังวังหน้า ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างมาตั้งแต่ยังเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีในรัชกาลที่ ๓ แต่พอสมัยรัชกาลที่ ๕ ย่านบางคอแหลมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทำเลที่บริษัทฝรั่งเข้ามาเช่าทำท่าเรือกันมาก วัดพระยาไกรก็เลยถูกบุกรุกแคบลงทุกทีจนกลายเป็นวัดร้าง บริษัทอิสเอเชียติก จำกัดได้ขอเช่าเป็นที่ทำการของบริษัท เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ได้รื้อถอนเสนาสนะสงฆ์ที่หักพังจนหมดสิ้น เหลือเพียงพระอุโบสถที่มีพระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่ากันเพียง ๒ องค์ ซึ่งยากต่อการขนย้าย ส่วนพระขนาดย่อมถูกอัญเชิญไปไว้ตามวัดต่างๆหมดแล้ว ในปี ๒๔๗๘ ทางคณะสงฆ์จึงมีเถระบัญชาให้วัดไตรมิตรวิทยาราม กับวัดไผ่เงินโชตนาราม ไปอัญเชิญพระพุทธรูป ๒ องค์นี้ไปเก็บรักษาไว้ ทางวัดไผ่เงินโชตนารามไปก่อน จึงเชิญพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ซึ่งอยู่ด้านหน้าไป วัดไตรมิตรจึงอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นที่เหลืออยู่มา

ความใหญ่โตขององค์พระเมื่ออัญเชิญขึ้นประทับบนรถบรรทุกที่บริษัทอิสเอเชียติกส่งมาช่วยขนย้ายนั้น ปรากฏว่าองค์พระยิ่งสูงขึ้นไปมาก ต้องคอยเอาไม้ค้ำสายไฟ สายโทรศัพท์ และสายไฟรถรางให้พ้นพระเกตุมาลามาตลอดทางจนถึงวัดไตรมิตร ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ ส่วนโบสถ์วิหารของวัดไตรมิตรก็เก่าเต็มทนใกล้พังเต็มที บริเวณวัดมีสภาพเป็นที่ลุ่ม มีสระคูคลอง น้ำท่วมขังเกือบทั่วบริเวณวัด ยังหาที่เหมาะสมให้ไม่ได้ จึงสร้างแค่เพิงสังกะสีกันแดดกันฝนให้อยู่ข้างพระเจดีย์หน้าโบสถ์ไปก่อน แล้วบอกกล่าวทั่วไปว่าใครอยากได้ก็จะยกให้ มีหลายวัดต้องการนำไปเป็นพระประธาน แต่ก็ขาดแคลนพาหนะที่จะขนไปได้ บางรายก็ติดขัดที่เส้นทางรถเข้าไม่ถึง จนรายสุดท้ายขอไปเป็นพระประธานที่วัดบ้านบึงบวรสถิตย์ ชลบุรี แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ ว่าไม่งามสมกับที่จะเป็นพระประธาน

จนในปี ๒๔๙๘ มีการเตรียมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในปี ๒๕๐๐ วัดไตรมิตรเกิดความสงสารพระพุทธรูปที่ไม่มีใครเหลียวแล จึงสร้างวิหารให้เป็นที่ประดิษฐาน แต่ขณะขนย้ายเข้าวิหารในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๙๘ เชือกที่สอดใต้องค์พระขึ้นเกี่ยวกับกว้านยก ทานน้ำหนักไม่ได้เกิดขาด ทำให้องค์พระหล่นลงกระแทกพื้นคอนกรีต ปูนที่พอกกะเทาะออก เห็นเนื้อในเป็นทองคำสุกปลั่ง จึงจัดการกะเทาะออกทั้งองค์ พบว่าไม่มีรอยบุบสลาย แต่ก็เก็บเป็นความลับไว้ จนมาเป็นข่าวเกรียวกราวในปลายปี ๒๔๙๙

จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับกันว่าพระพุทธรูปทองคำองค์นี้งดงามอย่างหาที่ติไม่ได้ พุทธลักษณะสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย และผู้ที่สร้างพระพุทธรูปทองคำขนาดนี้ได้ก็ต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคทีเดียว แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง นอกจากสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพราะเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของกรุงสุโขทัย และโปรดให้สร้างพิหารหลวงขึ้นกลางกรุงสุโขทัยเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ซึ่งหลักศิลาจารึกก็กล่าวไว้ว่า

“...กลางกรุงสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม...”

พระพุทธรูปองค์นี้หน้าตักกว้าง ๓.๑๐ เมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเกตุมาลา ๓.๙๔ เมตร ถอดออกได้เป็น ๙ ชิ้น มีความบริสุทธิ์ของเนื้อทองจากฐานขององค์พระ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เรื่อยขึ้นไปถึงพระพักตร์มีความบริสุทธิ์ของทอง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนยอดเป็นทองคำเนื้อแท้ ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ และมีน้ำหนักเฉพาะส่วนยอดนี้ ๔๕ กิโลกรัม

ใน พ.ศ.๒๕๓๓ กินเนสบุ๊คได้บันทึกไว้ว่า พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำใหญ่ที่สุดในโลก และตีราคาไว้ ๒๘.๕ ล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับราคาทองคำในปัจจุบันคงต้องเปลี่ยนตัวเลขนี้อีกมาก

ใน พ.ศ.๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำของวัดไตรมิตรนี้ มีนามทางราชการว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” เพื่อเป็นสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลสืบไป

ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดไตรมิตรวิทยารามเห็นว่าวิหารหลังเก่าของหลวงพ่อทองคำซึ่งสร้างมาแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ อยู่ในสภาพทรุดโทรมและคับแคบ ไม่สะดวกแก่การรับนักท่องเที่ยวหลายชาติหลายศาสนาที่มาชม และเป็นโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชครบ ๖๐ ปี และเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาใน พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงได้จัดโครงการสร้างมหามณฑปหลังใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร โดยมีประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมสมทบ มีงบประมาณการก่อสร้าง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งงบประมาณสนับสนุน ๒๕๐ ล้านบาท เริ่มลงมือก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๙ เป็นอาคารหินอ่อนทรงไทย ๓ ชั้น ปิดทองในส่วนที่เป็นลวดลาย และเนื่องจากมีพื้นที่ก่อสร้างแคบ จึงเป็นอาคารทรงสูง ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับศาสนสถานอื่นๆ ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ อีก ๒ ชั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนบอกเล่าความเป็นมาของย่านเยาวราช

เมื่อมีข่าวเกรียวกราวว่าพบพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตร จากนั้นก็มีข่าวว่าวัดอื่นๆพบพระพุทธรูปทองคำที่ซ่อนไว้แบบนี้อีกหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปทองโบราณที่วัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่

พระพุทธรูปองค์นี้หน้าตักกว้าง ๑ เมตรเศษ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเก่า สันนิษฐานว่าพระเจ้าตากสินอัญเชิญมาจากเมืองเหนือในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จพระสุริเยนทรามาตย์ ราชินีในรัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างโบสถ์ใหม่ และทรงเห็นว่าพระประธานองค์เดิมไม่ใหญ่พอจึงทรงสร้างพระประธานองค์ใหม่ แล้วทรงแปลงพระอุโบสถเก่าเป็นพระวิหาร ต่อมาพระวิหารหลังนี้ก็ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง มีผู้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กๆไป เหลือแต่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ถูกทอดทิ้งไว้จนมีต้นไม้เลื้อยขึ้นปกคลุม

ต่อมาพระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาส ได้ทำความสะอาดวิหารร้าง จนในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ขณะทำความสะอาดพระประธานองค์เก่า ปูนที่พระอุระก็กะเทาะออก เห็นเนื้อในเป็นทองสีสุกงาม จึงโจษขานกันทั่วไป

ที่ฐานมีอักษรโบราณจารึกไว้ ซึ่งนายฉ่ำ ทองคำวรรณ บรรณารักษ์โท กรมศิลปากรถอดความได้ว่า

“พระพุทธศาสนายุกาลล่วงได้ ๑๙๖๓ ตรงกับปีเถาะ เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ สมเด็จท้าวพระยาศรียศราช...(ชำรุดอ่านไม่ได้)...มีพระประสาทะศรัทธาทรงบำเพ็ญพระราชทานแบ่งพระราชกุศล ๒ สถาน คือพระราชทานถวายเป็นภัตตาหารแด่พระนนทปัญญาเถระเจ้าส่วนหนึ่ง พระราชทานถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธรูปทองโบราณองค์นี้ส่วนหนึ่ง ในพระราชพัสดุคือที่ดิน เริ่มแต่สระน้ำไปจนถึงดงหวายรวมเนื้อที่ ๖ ไร่ ...(ชำรุดอ่านไม่ได้)...ส่วนพระราชโอรสธิดาและพระชายาพร้อมด้วยพระราชทรัพย์สมบัติทั้งมวล ขอถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธรูปทองโบราณองค์นี้ ตราบจนสิ้นพระประยูรวงศ์แห่งพระราชโอรสธิดาและพระชายา เมื่อสิ้นพระประยูรวงศ์นี้แล้ว ท่านผู้ใดเลื่อมใสศรัทธาจะบูรณะพระพุทธรูปทองโบราณองค์นี้ได้ก็เชิญเถิด”

ต่อมามีการสร้างศาลาตรีมุข เป็นอาคารคอนกรีต ๓ มุข มีประตูเหล็กเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองโบราณ และอัญเชิญมาไว้เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ แต่ปัจจุบันเพื่อความปลอดภัยได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารหลังใหญ่

เมื่อมีการพบพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตร จึงมีผู้รบเร้าให้วัดมหรรณพารามสำรวจดู “หลวงพ่อพระร่วง” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อร่วง” พระพุทธรูปในพระวิหารซึ่งอัญเชิญมาจากวัดโคกสิงคาราม เมืองศรีสัชนาลัย ในรัชกาลที่ ๓ รุ่นราวคราวเดียวกับพระทองคำวัดไตรมิตร ทางวัดมหรรณ์ฯก็ใจถึง ลอกทองและรักตรงพระอุระด้านขวาออกกว้างประมาณ ๑ ศอกเพื่อดูเนื้อใน ก็ปรากฏว่าเป็นสีทองเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาพิสูจน์ก็พบว่ามีเนื้อทอง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ มีรอยต่อ ๙ แห่งถูกยึดไว้ด้วยหมุดให้ติดกัน เหมือนพระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตรเช่นกัน

พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๑ วา ๓ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในวิหารตลอดมาจนปัจจุบัน
ต่อมาในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๐๐ หนังสือพิมพ์ลงข่าวกันเกรียวกราวอีกว่า พบพระพุทธรูปทองคำ ๒ องค์ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉาบปูนปิดทับไว้เหมือนกัน องค์หนึ่งมีสีทองอร่ามใส อีกองค์หนึ่งมีสีค่อนข้างไปทางนาก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยตอนปลายกรุงสุโขทัยรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก

ยังมีอีกหลายวัดที่พบพระพุทธรูปทองคำแบบนี้ ทั้งเปิดเผยและไม่ยอมเปิดเผย เชื่อกันว่ายังมีพระพุทธรูปทองคำถูกซุกซ่อนอยู่ในรูปแบบนี้อีกโดยยังไม่มีใครรู้ความลับ
วิหารใหม่พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
พระพุทธรูปทองโบราณวัดหงส์รัตนาราม
หลวงพ่อร่วง วัดมหรรณพ์
พระพุทธรูปในพระอุโบสถวัดพนัญเชิง จากซ้ายคือพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาก


กำลังโหลดความคิดเห็น