“ฝนหลวง” เป็นโครงหนึ่งในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีปณิธานจะบรรเทาปัญหาในการเกษตรที่เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์ จากฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังผลิดอกออกผล หากขาดน้ำก็จะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตอย่างมาก ซึ่งจะเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะค้นหาวิธีทำให้เกิดฝนนอกเหนือที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีมาผนวกกับขบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ฝนตกตามต้องการ และพระราชทานโครงการ “ฝนหลวง”ให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปศึกษาเพื่อดำเนินการให้เกิดผลเมื่อปี ๒๔๙๙ ต่อมา ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำโครงการฝนหลวงจัดตั้งโครงการ “ค้นคว้าพัฒนาฝนเทียม” โดยมี ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นหัวหน้าโครงการ
ขั้นตอนการทำฝนหลวงตามแนวพระราชดำริ คือ
๑. ก่อกวน มีจุดประสงค์ ๒ ประการ คือ
- สร้างเมฆให้เกิดขึ้นในแนวระดับ
- ทำให้เมฆที่เกิดขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มเมฆ
การก่อกวนกระทำได้โดยใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นเบื้องบน เกิดเป็นกลุ่มเมฆในแนวตั้ง จากนั้นใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนเข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อให้เมฆรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน
๒. เลี้ยงให้อ้วน เป็นการทำให้เมฆรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีความหนาแน่นมากขึ้น และให้เคลื่อนที่ได้ช้าลง โดยให้สารเคมีชนิดต่างๆแก่กลุ่มเมฆดังกล่าว วิธีการคือ ใช้สารเคมีสูตรร้อนด้านหลังของก้อนเมฆ (ต้นลม) และใช้สารเคมีที่มีค่า Critical relative humidity ต่ำ กับสารเคมีสูตรเย็น โดยให้แนวบินปฏิบัติการโปรยสารเคมีเยื้องกับแนวบินข้างบน เรียกการบินลักษณะนี้ว่า Sandwich
๓. โจมตี เป็นขั้นตอนสุดท้าย มีจุดประสงค์ ๒ ประการ คือ
- เพิ่มปริมาณฝน โดยการสร้างผลึกน้ำแข็งที่ระดับบนสุดของกลุ่มเมฆ (ยอดเมฆ) ทำให้กลุ่มเมฆเหล่านั้นมีพลังเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนสถานะเกิดเม็ดน้ำออกมา
- เพื่อให้เกิดกระจายการเกิดฝน เป็นการเร่งและบังคับให้เกิดเม็ดฝนตกกระจายครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย
มีการทดลองทำฝนหลวงในหลายพื้นที่ จนราษฎรรู้จักฝนหลวงกันกว้างขวาง ต่อมาในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๕ จึงเป็นการสาธิตทำฝนหลวงครั้งสำคัญให้ทูตานุทูตชมที่แก่งการจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯมาควบคุมการสาธิตครั้งนี้ด้วยพระองค์เอง
ในเช้าวันนั้นท้องฟ้าโปร่งใส ไม่ปรากฏกลุ่มเมฆให้เห็นเลย อากาศค่อนข้างอบอ้าว ทุกคนที่รอดูต่างวิตก แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึง ทรงเข้าควบคุมข่ายวิทยุ และรับสั่งพระราชทานคำแนะนำแก่หน่วยบินด้วยพระองค์เอง อากาศจึงเริ่มเปลี่ยนแปลง มีเมฆมารวมตัวกัน และกระแสลมแรงขึ้น ในที่สุดเวลาสำคัญก็มาถึง มีการโปรยสารเคมีจากเครื่องบินเป็นขั้นตอนสุดท้าย ขณะที่แดดออกอยู่นั้นฝนก็โปรยลงมาสู่อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เมื่อกระทบกับแสงอาทิตย์ใกล้เที่ยง ก็เกิดเป็นสายรุ้งขึ้น เป็นที่ประทับตาประทับใจของผู้ที่รอชมไปตามกัน
ความสำเร็จในการสาธิตครั้งนี้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น เพราะเป็นการทำฝนเทียมในสภาพอากาศที่ปลอดโปร่งไร้เมฆ อุณหภูมิสูง และความชื้นต่ำ ซึ่งการเกิดฝนโดยธรรมชาติย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งยังเป็นการทำฝนเทียมต่อหน้าชาวต่างประเทศที่เป็นทูต จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง แต่ก็ทรงควบคุมขั้นตอนปฏิบัติการต่างๆจนสำเร็จอย่างงดงาม เป็นที่ชื่นชมของบรรดาทูตานุทูตทั้งหลาย
โครงการฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่รู้จักของพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างดี เรียกกันว่า “ฝนหลวงพระราชทาน” จนในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ นายอานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมสิทธิบัตรฝนหลวง ซึ่งออกโดยสำนักสิทธิบัตรของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป จำนวน ๑๐ ประเทศ กับสิทธิบัตรฝนหลวงซึ่งออกโดยสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง ซึ่งคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจัดทำขึ้น โดยรวบรวมการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวง ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ ถึง ๒๕๕๐
สิทธิบัตรฝนหลวงที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ขอพระราชทานทูนเกล้าทูลกระหม่อมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการขอสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ และได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวงในพระปรมาภิไธยต่อสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป ในชื่อเรื่อง “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” ซึ่งสำนักสิทธิบัตรยุโรปได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรนี้แล้ว
โดยสิทธิบัตรดังกล่าวมีผลคุ้มครองครอบคลุมประเทศต่างๆในกลุ่มสหภาพยุโรปจำนวน ๓๐ ประเทศ แต่มี ๑๐ ประเทศที่ออกเป็นสิทธิบัตรแยกแต่ละประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐไซปรัส ราชอาณาจักรเดนมาร์ค สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐเฮลเลนิก ราชรัฐโมนาโก ประเทศโรมาเนีย สาธารณรัฐตุรกี สาธารณรัฐแอลบาเนีย สาธารณรัฐลิทัวเนีย และประเทศมาซิโดเนีย สำหรับสิทธิบัตรที่ออกโดยสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้รับการขยายความคุ้มครองมาจากสิทธิบัตรของสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปเช่นกัน
การสาธิตฝนหลวงที่แก่งกระจาน ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวง และเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งใจประวัติศาสตร์ ฉะนั้นในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓ คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และกำหนดให้วันที่ ๑๙ ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด