xs
xsm
sm
md
lg

ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยจะทำไม่ได้! ฝรั่งวางรากฐาน ยุคไทยสร้างเป็นกองทัพยันทหาร!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

โปลิศกับผู้ร้ายในอดีต
กิจการตำรวจได้กำเนิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๗๗ ถึง พ.ศ.๑๙๙๒ ทรงปฏิรูประบบการปกครองขึ้นใหม่ โปรดเกล้าฯให้แบ่งเป็น ๔ เหล่า เรียกว่า “จตุสดมภ์” ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา พร้อมกันนี้ได้โปรดเกล้าฯให้มีการตำรวจเป็นครั้งแรก ขึ้นกับเวียง มีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา

ใน พ.ศ.๒๔๐๕ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการปรับตัวเปิดความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกอย่างใกล้ชิด จึงมีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ คือมีการจัดตั้งกองตำรวจแบบยุโรปขึ้น เรียกว่า “กองโปลิศ” โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ ให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน ขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีการปรับปรุงกองโปลิศ และมีการจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นใน พ.ศ.๒๔๑๙ เรียกว่า “ทหารโปลิศ” เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและสามารถปฏิบัติการทางทหารได้ โดยว่าจ้างนาย G.Schau ชาวเดนมาร์คมาเป็นผู้วางรูปแบบและเป็นผู้บังคับบัญชา มียศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพันโทพระวาสุเทพ

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๒๐ มีการเปลี่ยนชื่อกองทหารโปลิศ มาเป็น “กรมกองตระเวนหัวเมือง” จนใน พ.ศ.๒๔๔๐ จึงมีการจัดตั้ง “กรมตำรวจภูธร”ขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง โปรดเกล้าฯนาย G.Schau เป็น นายพลตรีพระยาวาสุเทพ เจ้ากรมตำรวจภูธร และได้ขยายกิจการตำรวจภูธรออกไปยังหน่วยปกครองในภูมิภาคเป็นลำดับ
ผลงานเด่นของตำรวจภูธรในช่วงนี้ก็คือ มีกบฏเงี้ยวเกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๔ บุกเข้ายึดเมืองแพร่และฆ่าเจ้าเมืองตาย จากนั้นก็เคลื่อนไปจะยึดเมืองลำปาง นายร้อยเอก แฮนส์ มาควอร์ด เย็นเซ็น ชาวเดนมาร์ควัย ๒๔ ซึ่งติดตามพระยาวาสุเทพมา ได้รับคำสั่งให้นำกำลังตำรวจภูธรจากเมืองเชียงใหม่ไปป้องกันเมืองลำปาง ขณะที่ข้าราชการทุกฝ่ายในเมืองหนีเงี้ยวกันหมด และสามารถป้องกันเมืองลำปางไว้ได้ แม้กำลังน้อยกว่าเงี้ยวมาก แต่ต่อมานายร้อยเอกเย็นเซ็นก็ถูกยิงตายขณะตามไล่ล่าเงี้ยว

ในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีมีการรวมกิจการตำรวจ ๒ กรมเป็นกรมเดียวกันเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ เรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” จนในปลายปีนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล” ยกฐานะเจ้ากรมเป็นอธิบดี

ใน พ.ศ.๒๔๖๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้รวมกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงนครบาลเป็นกระทรวงเดียวกัน เรียกว่า “กระทรวงมหาดไทย” กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลจึงโอนมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

ใน พ.ศ.๒๔๖๙ กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น “กรมตำรวจภูธร” แบ่งตำรวจออกเป็น ๒ ประเภท คือตำรวจที่จับผู้ร้าย ไต่สวนทำสำนวนฟ้องศาลโปลิศสภาโดยตรง เรียกว่า “ตำรวจนครบาล” ส่วนตำรวจที่จับกุมผู้ร้ายได้แล้วส่งให้อำเภอไต่สวนทำสำนวนส่งให้อัยการฟ้องศาลอาญาประจำจังหวัดนั้นๆ เรียกว่า “ตำรวจภูธร”

กรมตำรวจมีการเปลี่ยนชื่อเป็นครั้งล่าสุดใน พ.ศ.๒๔๗๕ จากกรมตำรวจภูธร มาเป็น “กรมตำรวจ”

เนื่องในวันที่ ๑๓ ตุลาคม เป็นวันประกาศรวมกรมพลตระเวนกับกรมตำรวจภูธรมาเป็นกรมเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมตำรวจจึงถือเอาวันที่ ๑๓ ตุลาคมเป็นวันตำรวจ และมีการประกอบพิธีอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

กรมตำรวจเข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองมากในยุคที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจใน พ.ศ.๒๔๙๔-๒๕๐๐ มีการสร้างกรมตำรวจขึ้นมาเหมือนเป็นกองทัพ มีทั้งตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้า ตำรวจรถถัง เพื่อค้ำบัลลังก์จอมพล ป.พิบูลสงคราม คานอำนาจฝ่ายทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดให้มีพิธีสวนสนามแบบทหารขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๙๔ และมีคำขวัญในยุคนั้นว่าว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจจะทำไม่ได้” จนในปี ๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ขับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ไปลี้ภัยอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ การสวนสนามจึงเลิกไป

ใน พ.ศ. จึงมีการปรับปรุงกิจการตำรวจอีกครั้งมาเป็น”กองบัญชาการตำรวจ” และเปลี่ยนตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย มาเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจ” ขึ้นกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง เหมือนที่เริ่มกิจการตำรวจในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ลีลาสวนสนามของตำรวจที่ไม่ธรรมดา
ไม่ใช่สมัยอยุธยา แต่เป็นสวนสนาม ตร.ในปี ๒๕๕๐
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์


กำลังโหลดความคิดเห็น