xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ชาวนาใช้ยาห้าแสน “เพนิซิลลิน” ฉีดลงนาข้าว เตือนอันตรายทั้งคนและสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการเกษตร อึ้ง พบชาวนาใช้วิธีพิสดาร ไปซื้อยาห้าแสน “เพนิซิลลิน” รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากร้านขายยามาบด ผสมน้ำฉีด รักษาโรคใบไหม้ เตือนยาอันตราย ส่งผลกับคนและสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่ชาวนารายหนึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ้างว่า ถ้าข้าวเป็นโรคใบไหม้ให้ไปร้านขายยา (ที่ใช้กับคน) ซื้อยาเพนิซิลลิน 500,000 I.U. มาบดแล้วผสมน้ำฉีด ในอัตรา 4 เม็ดต่อไร่ และอ้างว่า สามารถช่วยหยุดการลุกลามของโรคใบไหม้ได้แน่นอน พอของส่งถึงค่อยเอาไปฉีดซ้ำ โดย 1 ฤดูกาล ใช้ฉีดได้ 1 ครั้ง นั้น

นายรณชัย ช่างศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จังหวัดขอนแก่น กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความเตือนไปยังเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ว่า ในกรณีที่มีชาวนาอินทรีย์รายหนึ่งได้โพสต์แนะนำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะที่รักษาผู้ป่วย ชื่อ เพนิซิลลิน 500,000 I.U. มาละลายน้ำฉีดพ่นกำจัดโรคใบไหม้ในข้าว และทราบว่า มีชาวนาหลงเชื่อและทำตาม รวมทั้งได้โพสต์ต่อเนื่องไปนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายอย่างมาก

เนื่องจากสารปฏิชีวนะชนิดนี้เป็นเชื้อราที่ทางการแพทย์นำมาใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ถือเป็นยาอันตรายและให้ใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น การนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นอาจเกิดอันตราย ทั้งต่อการดื้อสารปฏิชีวนะ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ แม้แต่ศาสตร์เกษตรอินทรีย์ การใช้สารปฏิชีวนะก็เป็นหนึ่งในข้อห้ามหลักใหญ่และขัดต่อหลักการเกษตรอินทรีย์ด้วย ทั้งนี้ โรคใบไหม้ในข้าวเกิดจากเชื้อราสาเหตุ คือ Pyricularia oryzae ซึ่งไม่สามารถควบคุมโดยเพนิซิลลินได้

การจัดการโรคไหม้ และอื่นๆ สามารถศึกษาได้ในองค์ความรู้เรื่องข้าว ที่เว็บไซต์ “องค์ความรู้เรื่องข้าว” www.ricethailand.go.th/rkb



สำหรับยาเพนิซิลลิน (Penicillin) คือ ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ชาวบ้านเรียกว่า “ยาห้าแสน” ใช้รักษาอาการติดเชื้อที่มีระดับรุนแรงจากต่ำไปจนถึงระดับกลาง เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อของผิวหนัง การติดเชื้ออื่นๆ องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เป็นยาจำเป็นของระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของชุมชน ส่วนคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ยาเพนิซิลลิน สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรเลือกหรือหาซื้อยาเพนิซิลลินมารับประทานเอง และควรได้รับการคัดกรองและรับยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น