พบชาวเน็ตจำนวนมากสนับสนุน สนช. เสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ ให้นำกัญชาไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และนำไปใช้ในการรักษาได้ แต่แนะให้ควบคุมอย่างใกล้ชิด และมีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนชัดเจน
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เชิญชวนประชาชนผู้สนใจ ตอบแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งนายสมชาย แสวงการ กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ โดยที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบัน ปรากฎผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพวามเป็นจริงพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพงและอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตำรับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้
จากการสังเกตผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 500 คน ในระยะเวลาเพียง 10 ชั่วโมง พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยให้กัญชาสามารถไปใช้ประโยชน์กับวงการแพทย์และประโยชน์กับผู้ป่วยภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่อยากให้มีมาตราการในการควบคุมแยกระหว่างใช้ในการรักษา กับเสพเพื่อบันเทิง รวมทั้งระวังในการแอบนำมาใช้ในอาหารด้วย และควรชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์จากการใช้พืชชนิดนี้ กับการควบคุมและบทลงโทษให้เหมาะสมแก่ผู้ฝ่าฝืนที่ชัดเจน ไม่ให้เกิดช่องว่างของกฎหมายที่จะทำให้คนนำไปใช้ในทางที่ผิด อาทิ
"ขอให้กัญชายังเป็นพืชเสพติด คงโทษไว้เช่นเดิม แต่ให้เพิ่มการยกเว้นสำหรับหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือการแพทย์ ให้โรงงานยาสูบ เป็นผู้ดูแลด้านสถานที่ปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านการวิจัยหรือการแพทย์เท่านั้น โดยเป็นการปลูกในสถานที่ปิด มีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดระดับเดียวกับโรงงานกษาปณ์ และมีสถานที่วิจัย หรือสถานที่ผลิตยาอยู่ในสถานที่เดียวกับที่ปลูก โดยห้ามมิให้นำใบสด ใบแห้ง ซากใบกัญชาใดๆ ออกมาจากสถานที่นั้นๆ ได้ จะนำออกมาได้เพียงเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกัญชาเท่านั้น"
"ถ้าหากจะเป็นการพัฒนาการแพทย์และช่วยลดความทุกข์ของคนในชาติได้ และสามารถควบคุมได้อย่างรัดกุม ก็จะเป็นการดีที่จะสนับสนุนการทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายในการแพทย์"
"การลองนำพืช 2 สิ่งนี้มาวิจัยเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อีก คิดว่าถ้าวิจัยเป็นไปได้ด้วยดี และสามารถผ่านร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดไปได้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกหลายคน"
"ทุกอย่างมีคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาประโยชน์จากมันได้หรือไม่ เหล้าบุหรี่มีโทษร้ายแรงกับตัวเองและผู้อื่นมากกว่ากัญชา กัญชามีคุณสมบัติรักษาโรคมากมาย และมีประโยชน์มหาศาลถ้าเทียบกับโทษของมันมีเพียงน้อยนิด ทั้งนี้ควรที่จะมีการควบคุมในการใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าปล่อยของมีค่าให้ไร้ประโยชน์เลย"
"สมควรร่างกฏหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาและอนุพันธ์ในวงจำกัด และควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด รวมถึงร่างบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน ละเมิด"
"ให้สารเสพติดต่างๆ ที่คุณสมบัติในการรักษาโรคได้ ใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น แต่การใช้สารเสพติต เพื่อเสพ เพื่อขาย ยังคงมีโทษ และอยากให้เพิ่มโทษ และเด็ดขาดกว่านี้"
"ในปัจจุบัน มีหลายประเทศที่นำกัญชา และพืชกระท่อมมาปรับใช้ในหลากหลายรูปแบบ ประเทศไทยมัวรอช้าไม่ได้เพราะจะทำให้เสียเปรียบด้านการวิจัย และอื่นๆ แก่ชาติที่เขาไม่มีพืชประเภทนี้ด้วยซ้ำ อยากเห็นประเทศไทยเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนบ้าง"
"การนำสารสกัดบางตัวจากยาเสพติดมาใช้ประโยขน์ในผู้ป่วยเป็นอีกหนึ่งความหวัง อาจจะไม่ถึงกับทำให้หาย แต่สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา ทำให้ผู้ป่วยไม่ละทิ้งการรักษา แต่ต้องมีการให้ความรู้ประชาชนด้วย เพราะคนไทยชอบมีความเชื่อผิดๆ อาจนำไปสู่การใช้แบบผิดๆ ได้"
"เห็นด้วยให้เปิดโอกาส พื้ชที่เป็นกลุ่มยาเสพติด และนำมาใช้ประโยชน์ แต่ไม่แนะนำให้เปิดเสรีในการปลูก การปลูกต้องได้รับการขึ้นทะเบียน และควบคุม และต้องเป็นไร่กัญชาแบบปิดเท่านั้น และควรเริ่มจากกลุ่มยารักษาโรค ไม่ใช่เครื่องดื่ม หรือการนำมาแปรรูป เพราะคนไทย ระดับการศึกษา แล้วภูมิคุ้มกัน ในการรักตัวเอง ไม่เท่ากับ แคนาดา หรือประเทศอื่น ๆ ที่มีการเปิดเสรีแบบนั้นได้"
"บทกำหนดโทษ การแยกประเภทยาเสพติดควรทบทวนใหม่ การซื้อขายยาที่รักษาโรคบางชนิดที่มีฤทธิ์เสพติดต้องเข้มงวดกว่านี้เพราะวัยรุ่นเข้าถึงยาพวกนี้ได้ง่ายมากในปัจจุบัน"
"เห็นด้วยที่จะนำไปใช้ในทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ แต่ต้องมีการควบคุม กำกับ ว่าผู้ที่นำสารเสพติดพวกนี้ไปใช้จะเก็บรักษาอย่างดี และระวังการเบิกของ ไปแอบจำหน่าย หรือ ค้า หรือเสพ เพราะอาจจะมีคนที่ไม่ดี หาช่องโหว่ตรงนี้ ในการครอบครอง สารเสพติดก็เป็นได้ ดังนั้นผู้วิจัย ต้องเซ็นต์ชื่อ รับทราบในการดูแล และคบวมคุมกำกับ ระหว่างการทำวิจัย จนเสร็จสิ้น และขอเสนอให้มีการปรับโทษ ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดทุกประเภท ผู้เสพ ผู้ค้า ให้มีการจำคุกมากขึ้น ปรับ ยึดทรัพย์ เพื่อทุกคนจะได้ตระหนักถึงโทษ และจะได้ไม่ทำผิด เพราะสารเสพติดทำให้ทุกคนเสียสติ หลอน ก่ออันตรายได้ทั้งตัวเอง และผู้อื่นรอบตัว"
"สิ่งที่สามารถนำมาทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้มีการศึกษาและพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก แต่ต้องมีการควบคุมป้องกันคนที่คิดนำไปใช้ในทางที่ผิดอย่างรัดกุม"
"เห็นด้วยกับการนำสารเสพติดให้โทษไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ควรมีการจำกัดปริมาณการนำไปใช้ การทดลอง ทดสอบต่างๆ และควรกำหนดขอบเขตของการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น รวมทั้งควรมีการปรับเปลี่ยนบทลงโทษหากมีการนำไปใช้ผิดประเภท"
"ถ้าใช้ในทางการแพทย์และรักษาบรรเทาในโรคนั้นๆถือว่าดีครับ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการของโรคนั้นๆได้ และควรออกกฏหมายให้ชัดเจนใครจะใช้ได้ต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์ มีใบรับรองจาก รพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชน ที่มีความน่าเชื่อถือได้ ไม่ใช่จ่ายแบบมั่วซั่ว"
อ่านความเห็นเพิ่มเติม คลิกที่นี่