xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.เลิกจ้างพนักงานสาว หลังร้องบัญชีจำนำข้าวผิดปกติ แล้วถูกแขวนตำแหน่งนาน 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ออกคำสั่งเลิกจ้างพนักงานสาววัย 28 ปี หลังออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมถูกแขวนตำแหน่งนาน 3 ปี เหตุตรวจสอบรายงานสรุปวงเงินโครงการจำนำข้าวผิดปกติ แจ้งหนี้สูงเกินยอดรวมออกใบประทวน จึงโต้แย้งและคัดค้านการแจ้งหนี้ แต่ถูกฝ่ายผู้บริหารกล่าวหาว่ามีอาการทางจิต

วันนี้ (28 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายสันติ เจริญสุข ผู้ช่วยผู้จัดการ ทำการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ออกคำสั่ง ธ.ก.ส.ที่ 11404/2561 เรื่องการเลิกจ้างพนักงาน ระบุว่า ด้วยปรากฏว่า น.ส.ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ พนักงานวิเคราะห์งานสินเชื่อ 7 กลุ่มเพื่อการบริหาร สังกัดฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ มีพฤติกรรมจงใจฝ่าฝืนข้อห้าม หรือคำสั่งของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำผิดซ้ำพฤติกรรมที่ถูกลงโทษภาคทัณฑ์และธนาคารได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โดยเขียนข้อความในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ด้วยการตำหนิ ดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา พนักงานผู้อื่นและธนาคาร และนำเอกสารข้อมูลของธนาคารที่ไม่ควรเผยแพร่ ข้อมูลที่ใช้สื่อสารภายในธนาคารโดยเฉพาะ หรือข้อมูลอื่นใดที่จะก่อให้เกิดข้อสงสัยหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธนาคาร เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีบุคคลอื่นมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ทำให้ธนาคารเสื่อมเสียชื่อเสียง

นอกจากนี้ยังพบว่า น.ส.ชญาดา มีการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ละทิ้งงานในหน้าที่ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ธนาคารพิจารณาแล้วเห็นว่า น.ส.ชญาดา มีพฤติกรรมจงใจฝ่าฝืนข้อห้าม หรือคำสั่งของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมาย และกระทำผิดพฤติกรรมที่ธนาคารได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จนก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของธนาคาร จึงเป็นเหตุสมควรที่ไม่อาจไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 มาตรา 24 (1) และข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ข้อ 20 (2) จึงให้เลิกจ้างแก่ น.ส.ชญาดา โดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยเนื่องจาก น.ส.ชญาดา ได้จงใจฝ่าฝืนข้อห้าม หรือคำสั่งของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมาย และธนาคารได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ตามระเบียบธนาคาร ฉบับที่ 34 ข้อ 5 (3) ประกอบประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานั้นต่ำของสหภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ประกาศเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2549 ข้อ 60 (4) อนึ่ง ผู้ถูกเลิกจ้างมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการธนาคารได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการธนาคาร ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันรับทราบคำสั่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2561 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ก.ค. น.ส.ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อายุ 28 ปี พนักงาน ธ.ก.ส. ได้ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป หัวข้อ “พนักงาน ธ.ก.ส.ถูกแขวนตำแหน่งนาน 3 ปี ขอถามสาเหตุจากต้นสังกัดแต่เพิกเฉย” ระบุว่า เมื่อ 3 ปีก่อน ตนได้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว และได้รับมอบหมายงานให้จัดทำบัญชีแสดงหลักฐานในคดีจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นผู้ต้องหา ต่อมาตนได้ตรวจสอบพบว่า ธ.ก.ส.สรุปวงเงินของโครงการจำนำข้าวที่แจ้งหนี้ไปยังองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไม่ถูกต้อง จึงได้โต้แย้งและคัดค้านการแจ้งหนี้ดังกล่าว แต่ฝั่งผู้บริหารมีการส่งคนไปสถานที่ซึ่งไม่อาจไม่ทราบได้ อ้างเพียงว่าไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แต่ตนยืนยันว่าไม่เคยป่วย มีการแชร์เรื่องนี้ออกไปเป็นวงกว้าง ทั้งทางเพจของสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. และหนังสือพักงานได้ถูกส่งผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งตนได้ยื่นฟ้องต่อผู้บริหารไปแล้ว ซึ่งตนยังถูกผู้บริหารข่มขู่ เรียกเข้าพบเพื่อไกล่เกลี่ยให้ถอนฟ้องหลายครั้ง เมื่อถามถึงเอกสารที่โยกย้ายทุกฝ่ายเลี่ยงที่จะไม่ตอบ ตนได้อัดคลิปร้องขอความเป็นธรรมไปแล้วแต่ทางฝั่งผู้บริหารก็ยังเพิกเฉย



น.ส.ชญาดาอ้างว่า พบความผิดปกติในรายงานสรุปวงเงินโครงการจำนำข้าวที่ ธ.ก.ส. แจ้งหนี้ไปยัง อ.ต.ก. และ อคส. โดยวงเงินการแจ้งหนี้สูงเกินยอดรวมของการออกใบประทวน เฉพาะตัวเลขที่สุ่มตรวจ 1 เดือน พบความผิดปกติมากถึง 150 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะหากข้อมูลถูกต้อง ตัวเลขจะต้องสัมพันธ์กัน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใด นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงทั่วไปเพียง 1 วัน ธนาคารมีหนังสืออีกฉบับลงวันที่ 19 ก.พ. 59 ระบุ ขอส่งตัว น.ส.ชญาดา จากฝ่ายนโยบายรัฐไปอยู่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ซึ่ง น.ส.ชญาดามองว่าการสั่งย้ายตำแหน่งทั้งที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่ไม่ปกติและไม่เป็นธรรม ส่วนการที่ธนาคารถูกพาดพิงว่ากล่าวหา น.ส.ชญาดา ว่ามีอาการป่วยทางจิต ธนาคารชี้แจงว่าไม่เคยกล่าวอ้างลักษณะนั้น เพราะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมยืนยันว่าการส่ง น.ส.ชญาดาไปตรวจอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นความประสงค์ของ น.ส.ชญาดา ขณะที่ น.ส.ชญาดาอ้างว่าที่ต้องขอให้ส่งตัวไปตรวจเนื่องจากต้องการพิสูจน์ว่าไม่ได้มีอาการทางจิต เนื่องจากทางองค์กรมีความพยายามแนะนำให้เข้าโครงการสุขภาพของธนาคารต่อเนื่องหลายครั้ง รวมถึงเคยมีเอกสารเชิญเกษียณอายุก่อนกำหนดส่งมาให้ในลักษณะเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลโดยอ้างเรื่องปัญหาสุขภาพ ทั้งที่ขณะนั้นยังมีอายุงานไม่ถึงตามหลักเกณฑ์

ต่อมา ธ.ก.ส.ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ธนาคารมีหลักเกณฑ์ตรวจสอบอย่างรอบคอบ โดยการดำเนินการแต่ละปี บัญชีงบการเงินทั้งหมดจะต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งที่ผ่านมา สตง.ไม่เคยมีข้อสังเกตใดๆ ขณะที่ความผิดปกติที่ น.ส.ชญาดา อ้างว่าพบในการทำสรุปวงเงินโครงการจำนำข้าว ธนาคารยืนยันว่าเป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งเมื่อพบความผิดพลาดก็ได้สั่งการแก้ไขปรับปรุงตามขั้นตอนแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทุจริตภายในองค์กร ส่วนกรณีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง น.ส.ชญาดา นั้น ธ.ก.ส. ยืนยันว่า มีการตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3 ชุด คือ 18 ก.พ. 2559 ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั่วไป 4 พ.ค. 2560 ตรวจสอบวินัย น.ส.ชญาดาเรื่องการขาดงาน-การมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และ 28 ก.พ. 2561 ตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดปกติในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งแต่ละชุดทำงานในประเด็นที่แตกต่างกัน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงตรวจสอบความผิดของ น.ส.ชญาดา

กระทั่งวันที่ 6 ส.ค. ธ.ก.ส.สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ น.ส.ชญาดา 1 ปี จากพฤติกรรมการเขียนข้อความไม่เหมาะสม โดยตำหนิดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา พนักงานผู้อื่นและธนาคาร และนำเอกสารข้อมูลของธนาคารที่ไม่ควรเผยแพร่ ไปนำเสนอในสังคมออนไลน์ ทำให้บุคคลอื่นแสดงความเห็นในลักษณะทำให้ธนาคารเสื่อมเสียชื่อเสียง อ้างว่า พฤติกรรมของ น.ส.ชาญดา คือ การทำผิดวินัยตามข้อบังคับของธนาคาร ฐานต้องรักษาความลับของธนาคาร ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง แบบแผน วิธีปฏิบัติของธนาคาร และต้องสุภาพเรียบร้อย เชื่อฟัง ไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ก่อนที่จะมีหนังสือให้เลิกจ้างพนักงานแก่ น.ส.ชญาดา ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น