“รสนา” ซัดรัฐบาลเร่งเปิดประมูล “บงกช-เอราวัณ” ด้วยระบบ “แบ่งกันผลิต” เอื้อเอกชนกินรวบแหล่งปิโตรเลียมต่ออีก 36 ปี ซ้ำยังตั้งธงให้ผู้รับสัมปทาน 2 รายเดิมได้กรรมสิทธิ์ ประมูลแค่เป็นพิธี ลั่นถามขบวนการโค่นล้มรัฐบาลเก่ามีตัวแทนกลุ่มทุนพลังงานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หรือนี่คือเป้าหมายหนึ่งของการรัฐประหาร ?
วันนี้ (25 ก.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงกรณีเปิดประมูลบงกช เอราวัณ ระบุว่า “เร่งรีบเปิดประมูลบงกช เอราวัณด้วยระบบ ‘แบ่งกันผลิต’ เพื่อกินรวบแหล่งปิโตรเลียมต่อไปอีก 36 ปี ใช่หรือไม่”
เช้าวันนี้ (25 ก.ย 2561) ได้มีโอกาสฟังทีวีรายการหนึ่งที่ผู้สนทนาในรายการหยิบยกกรณีที่ดิฉันคัดค้านการประมูลบงกช-เอราวัณ ทำนองว่า รัฐบาลนายกฯตู่ใจดียอมแก้กฎหมายเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วตามที่ดิฉัน และ คปพ.(เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน) เรียกร้อง แต่เหตุใดยังมาคัดค้านการเปิดประมูลอีก
ดิฉันขอโอกาสช่วยชี้ประเด็นตื้นลึกหนาบาง เผื่อสื่อมวลชนที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาเจาะลึกที่จะมาวิเคราะห์นำทางความคิดของสังคมอย่างถูกต้องกรณีการประมูลเพื่อครอบครองสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียม จะได้รับประโยชน์บ้าง
1) ที่กล่าวอ้างว่า นายกฯตู่ใจดียอมแก้ระบบจากสัมปทานมาเป็นแบ่งปันผลผลิตตามที่ประชาชนเรียกร้องนั้น แท้ที่จริง รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 บัญญัติว่าเมื่อได้ต่อสัมปทานให้เอกชนครบ 2 ครั้งแล้ว ที่กินเวลายาวนานถึง 42 ปี ไม่ให้ต่อสัมปทานอีก
รัฐสภาในอดีตแม้อยู่ในยุคเผด็จการเหมือนสมัยนี้ แต่ก็น่าจะมีเจตนาบัญญัติกฎหมายให้ทรัพยากรปิโตรเลียมกลับมาให้รัฐบาลบริหารเองหลังจากให้สัมปทานเอกชนไปแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ โดยเชื่อว่า ระยะเวลา 42 ปี ที่ให้สัมปทานเอกชน คนไทยจะสามารถเรียนรู้จนบริหารต่อไปได้เอง เพื่อให้ทรัพยากรปิโตรเลียมกลับมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับสั่งในปี 2470 ว่า บ่อถ่านหินที่หมดอายุสัมปทานแล้ว ไม่ให้ต่ออายุอีกเพราะต้องการสงวนไว้ให้รัฐบาลทำเอง
รัฐบาล คสช.จึงต้องแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มระบบจ้างผลิต และระบบแบ่งปันผลผลิตเข้ามา ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายตัวจริงไม่ใช่ประเทศและประชาชน แต่คือเอกชน 2 รายที่หมดสิทธิต่อสัมปทานในแหล่งเอราวัณ และบงกช หลังจากร่ำรวยจากความโชติช่วงชัชวาลด้านทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยไปแล้วกว่า 40 ปี และจะได้ประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนป้ายชื่อจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่ทำให้เอกชนทั้ง 2 รายสามารถคงกรรมสิทธิการผลิตในเอราวัณและบงกชต่อไป
2) เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาล คสช.และกระทรวงพลังงาน ตั้งธงให้ผู้รับสัมปทาน 2 รายเดิมให้ได้กรรมสิทธิ์ในแหล่งเอราวัณ และบงกช ต่อไป และเพื่อให้คุ้มค่าคุ้มราคาที่รัฐประหารมา ก็รวบรัดให้เสียทีเดียวอีก 36 ปี ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ให้รายเก่าได้เปรียบผู้เข้าประมูลรายใหม่ และธงที่ชัดเจนคือคำพูดของ รมว.พลังงาน ที่ว่า “หากการประมูลล้มเหลว ก็จะเรียกรายเก่ามาเจรจาตกลง และให้ผลิตต่อได้เลย” การประมูลครั้งนี้เลยเป็นแค่พิธีเสกเป่าตามพิธีให้ดูขึงขัง มีมาตรฐานเท่านั้น ใช่หรือไม่
3) แม้มีการออกกฎหมายเพิ่มระบบจ้างผลิต และระบบแบ่งปันผลผลิต แต่กระทรวงพลังงานได้เล่นกลออกหลักเกณฑ์กำหนดปริมาณสำรองก๊าซและน้ำมัน จนทำให้ไม่สามารถใช้ระบบจ้างผลิตได้เลยตลอดกาล ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตก็ใช้ได้แค่เอราวัณและบงกชเท่านั้น พื้นที่อื่นในอ่าวไทยและบนบกต้องใช้แต่ระบบสัมปทานเท่านั้น ดังนั้น ข้ออ้างว่าได้เปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเพียง 2 แหล่งนี้ ย่อมชัดเจนว่า เป็นเพียงกลอุบายเพื่อหลบข้อจำกัดของกฎหมาย เพื่อบันดาลประโยชน์ให้ผู้รับสัมปทาน 2 รายเดิมให้สามารถเข้าประมูลและได้สิทธิผลิตต่อไป ใช่หรือไม่
4) การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งใหม่ ในหนังสือเชิญชวนผู้เข้าประมูลระบุให้สิทธิผู้ประมูลเป็นเวลา 36 ปี แบ่งเป็นสำรวจ 3+3 ปี + ผลิต 20 ปี + ต่ออายุผลิต 10 ปี
การที่กระทรวงพลังงานกำหนดปริมาณก๊าซว่าผู้ประมูลต้องผลิตก๊าซให้ได้ตั้งแต่ปีแรก โดยแหล่งเอราวัณกำหนดไว้ 800 ล้าน ลบฟ./วัน และ บงกช 700 ล้าน ลบฟ./วันต่อเนื่อง 10 ปี แสดงว่ามีข้อมูลอยู่แล้วว่า มีหลุมก๊าซที่ไม่ต้องสำรวจแต่พร้อมผลิตอยู่แล้ว
รัฐบาล คสช.หากทำเพื่อประโยชน์ประเทศ ควรแบ่งแยกหลุมก๊าซที่พร้อมผลิต ออกมาจากพื้นที่ที่ต้องสำรวจ ส่วนที่พร้อมผลิตรัฐบาลควรจ้างผลิต เพราะหลังหมดอายุสัมปทาน อุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ ที่ยังใช้การได้ และหลุมก๊าซที่พร้อมผลิตจะตกเป็นของประเทศ หากจ้างผลิต ประเทศจะได้ก๊าซเป็นของกรรมสิทธิของประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากขายราคาถูกให้กับกฟผ.เพื่อผลิตไฟ ค่าไฟที่ขายประชาชนย่อมลดราคาลง แต่ถ้าขายตามราคาตลาดในปัจจุบัน รายได้ทั้งหมดย่อมเข้าเป็นงบประมาณแผ่นดิน การทำเองในพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงย่อมได้มากกว่าไปแบ่งกับคนอื่น
แต่การให้กรรมสิทธิเอกชนแบบเหมาเข่งแบบนี้ และยังเพิ่มเวลาสำรวจให้อีก 6 ปี เป็นเพียงการประเคนผลประโยชน์ด้านระยะเวลาในการผลิตปิโตรเลียมให้เอกชนอย่างเต็มพิกัดเท่านั้นเอง ใช่หรือไม่
5) ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงทางพลังงานนั้น ในความเป็นจริง น่าจะเป็นความมั่นคงของเอกชนที่จะได้ก๊าซในอ่าวไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแบบราคาถูกๆ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วงมากกว่าใช่หรือไม่ ส่วนประชาชนคนไทยยังต้องใช้ก๊าซผลิตจากทรัพยากรในประเทศในราคาลอยตัวตามกลไกตลาดโลก + ค่าขนส่ง + ค่าโสหุ้ย ที่มีการผูกขาดแบบแอบแฝงใช่หรือไม่
ที่ยกเหตุผลว่าถ้าไม่รีบเปิดประมูลยกกรรมสิทธิให้เอกชน จะทำให้ประชาชนต้องใช้ไฟและก๊าซราคาแพงนั้นล้วนเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น เพราะรัฐบาล คสช.ของนายกฯตู่คนดีได้ยกเลิกเพดานควบคุมราคาก๊าซหุงต้มที่ครัวเรือนใช้ และออกหลักเกณฑ์ให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซหุงต้มตามราคาตลาดโลกเสมือนเราไม่มีทรัพยากรก๊าซในประเทศเลย ต้องนำเข้าก๊าซหุงต้ม 100% จากซาอุดีอาระเบีย ทั้งที่ก๊าซหุงต้ม 80% ได้จากก๊าซอ่าวไทย มีการนำเข้าก๊าซหุงต้มไม่ถึง 20% แต่ประชาชนต้องจ่ายค่าก๊าซหุงต้มในราคาตลาดโลกทั้ง 100% แสดงว่า ก๊าซหุงต้มที่ผลิตได้ในประเทศจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทยไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนไทยเลย ใช่หรือไม่
แล้วทำไมต้องรีบ ถ้าไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน !!??
6) ก๊าซที่รัฐได้จากระบบแบ่งปันผลผลิต เนื่องจากไม่มีบริษัทพลังงานที่เป็นของรัฐ 100% เพื่อมาบริหารจัดการก๊าซส่วนแบ่งของเราเอง ทำให้ต้องฝากให้เอกชนช่วยขายก๊าซ และยังต้องขายในราคาถูกด้วย คงคล้ายกับกรณีรัฐสภาที่มีข่าวเรื่องขายดิน (ที่ได้จากการสร้างรัสภาใหม่) ให้เอกชนตัวกลางในราคาคิวละ 20 กว่าบาท เมื่อเอกชนขายต่อให้ธนาคารกรุงไทยราคากลายเป็นคิวละเกือบ 200 บาท หากเปรียบเทียบกับกรณีฝากเอกชนขายก๊าซนี้ ย่อมเห็นชัดเจนว่าผู้ได้ประโยชน์คือเอกชน ส่วนรัฐบาลกับประชาชน ก็คงเหมือนรัฐสภากับธนาคารกรุงไทย ฝ่ายหนึ่งขายถูก แต่อีกฝ่ายต้องซื้อแพง
7) รัฐบาลกำหนดไว้ว่าราคาก๊าซที่ผู้ประมูลได้ จะต้องขายในราคาไม่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันที่ซื้อขายกัน แต่ไม่สูงเกินไป อ้างว่า เพื่อไม่ให้ราคาก๊าซที่ขายประชาชนมีราคาแพง จึงเป็นเพียงคำลวง ใช่หรือไม่ เพราะเมื่อรัฐบาลไม่มีอำนาจจัดการบริหารก๊าซส่วนของรัฐเอง ก็ต้องขายราคาถูก แต่เวลาบริษัทพวกนี้ขายก๊าซให้ประชาชน รัฐบาลก็กำหนดให้บริษัทเหล่านี้สามารถขายประชาชนได้ในราคาตลาดโลก กลายเป็นว่าก๊าซส่วนที่เป็นกรรมสิทธิของประเทศต้องขายถูกๆให้เอกชน ส่วนประชาชนยังไงก็ต้องซื้อก๊าซหุงต้มราคาแพงตามราคาตลาดโลก ลักษณะเช่นนี้ต่างอะไรจากระบบสัมปทาน!?!
ดังที่ครั้งหนึ่ง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีต รมว.พลังงาน เคยตอบดิฉัน เมื่อถูกถามว่าเหตุใดประชาชนคนไทยต้องใช้ก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก ในเมื่อก๊าซหุงต้มกว่า 80% มาจากก๊าซในอ่าวไทย ท่านตอบในทำนองว่า
“จะไปอ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยเป็นของเราได้อย่างไร ก็เราให้สัมปทานเขาไปแล้ว เอาเป็นว่าผมจะเปิดเสรีให้นำเข้าก๊าซหุงต้มเข้ามา”
ทั้งที่รัฐบาลเปลี่ยนระบบจากสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แต่รัฐบาลก็ยังสละสิทธิ์ที่จะบริหารก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของตนเองให้เอกชนบริหาร แล้ววิธีการนี้แตกต่างจากระบบสัมปทานยุคโบราณตรงไหน???
ดิฉันคิดว่า ผลประโยชน์ของทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่สมควรจะต้องรีบร้อนประเคนให้เอกชนภายใต้รัฐบาลทหารที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ฟังเสียงประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมเช่นนี้ ในเมื่อนายกฯตู่ประกาศสนใจเล่นการเมือง ก็ควรปล่อยให้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งในต้นปีหน้ามาจัดการ จะเหมาะสมกว่า มิเช่นนั้น สังคมย่อมมีคำถามว่าการประเคนผลประโยชน์ให้เอกชนกันแบบเหมาเข่งเช่นนี้ มีใครได้เงินทอนจากการใช้อำนาจประเคนผลประโยชน์เช่นนี้หรือไม่ และที่ต้องรีบร้อนทำให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จแบบนี้ สังคมยิ่งมีคำถามว่า ที่ต้องรีบเพื่อหาเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่
ประชาชนบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยมานานแล้วว่า ขบวนการโค่นล้มรัฐบาลเก่าที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีตัวแทนแกนนำของกลุ่มทุนพลังงานเข้าไปมีบทบาทสำคัญทั้งบนเวทีและหลังม่านด้วย หรือนี่คือเป้าหมายหนึ่งของการรัฐประหาร ซึ่งท่านต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า ลึกๆ แล้วท่านกำลังรับใช้ใคร? ระหว่างความมั่งคั่ง มั่นคงของประชาชน หรือของกลุ่มทุนพลังงานกันแน่???
รสนา โตสิตระกูล
25 ก.ย 2561