xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาดี มณีวงศ์” จากกระจกหกด้าน ถึง “ไชโย โอป้า” ที่ฮามากๆ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด วันนี้เธอพร้อมแล้วที่จะเปิดเผยโฉมหน้าให้ทุกคนได้เห็นผ่านรายการ ไชโย โอป้า” ‘สุชาดี มณีวงศ์’ ผู้ผลิตรายการสารคดีในตำนาน คือบุคคลดังกล่าวที่เรากำลังกล่าวถึง

หากใครเปิดทีวีแล้วเคยดูรายการสารคดี ‘กระจกหกด้าน’ อาจจะคุ้นเคยกับเพลงประกอบรายการ และเสียงผู้บรรยายรายการที่มีความนุ่มนวลปนความเคร่งขรึม เจ้าของเสียงพากย์นั้นคือ ‘สุชาดี มณีวงศ์’ ผู้ผลิตรายการสารคดีวัย 73 ปี ที่ผ่านงานด้านสื่อมาอย่างสมบุกสมบัน กระทั่งมาผลิตรายการสารคดีที่ยืนหยัดอยู่คู่ทีวีไทยมาอย่างยาวนานถึง 37 ปี

ผ่านมาหลายทศวรรษกับการทำงานเบื้องหลัง วันนี้พร้อมแล้วที่จะก้าวมาสู่การทำงานเบื้องหน้า ที่เรียกได้ว่าพลิกบทบาทอาจารย์ ‘สุชาดี มณีวงศ์’ ไปอย่างสิ้นเชิง มาพบกับเรื่องราวความสนุกสนานเคล้าสาระน่ารู้ พร้อมทำความรู้จักตัวตนของผู้ผลิตรายการสารคดีวัยเก๋าในมุมที่หลายคนไม่เคยเห็นกันได้แล้วที่รายการ ‘ไชโย โอป้า’

 • คลุกคลีอยู่ในวงการด้านสื่อมา 50 ปีเศษ สู่การผลิตรายการสารคดี ‘กระจกหกด้าน’

เรียกได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมาครึ่งค่อนชีวิต จนกระทั่งมาเป็นเจ้าของรายการสารคดียอดนิยมอย่างทุกวันนี้

“ก่อนจะมาทำรายการกระจกหกด้าน ผ่านงานด้านสื่อมามากพอสมควรเลย ประมาณ 50 ปีเศษ ทำมาทุกอย่างทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นทั้งผู้สื่อข่าว ผู้จัดการฝ่ายซื้อสื่อโฆษณา จัดรายการวิทยุ เขียนคอลัมน์ ทำละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ผลิตรายการ ฯลฯ

จากที่ทำงานด้านสื่อมาหลายอย่าง ก็เริ่มอยากจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง และสังคม อาจจะดูบ้าเล็กๆ อยู่เหมือนกันเพราะคนที่จะทำอะไรให้แก่สังคมได้ต้องรวยแล้ว แต่เราไม่อยากก้มหน้าก้มตาทำแต่งานของตัวเองไปอย่างเดียว เราอยากทำอะไรก็ได้ที่ให้คนมีความรู้ความเข้าใจ และอยู่กันอย่างเป็นสุขร่มเย็นมากขึ้น สิ่งนี้มันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่น้อย”

อาจารย์สุชาดีเล่าต่อว่า สมัยก่อนนั้นรายการโทรทัศน์บ้านเรามีน้อยนัก ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทบันเทิงแทบทั้งสิ้น

“เมื่อ 37 ปีที่แล้ว รายการโทรทัศน์บ้านเรายังไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชมมากนัก และยุคนั้นเป็นยุคที่คนทำทีวีน้อยมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทบันเทิง คือ ละคร หนังไทย หนังฝรั่ง รวมทั้งดนตรี และเพลงรายการสารคดีที่พอมีอยู่บ้าง 7-8 รายการ แต่ก็เป็นของฝรั่งเอามาพากย์ไทยเกือบทั้งหมด แต่ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำรายการสารคดีสักเท่าไหร่เลย เราจึงมีความคิดว่าอยากจะทำ

หลังจากนั้นจึงหันหลังให้กับงานด้านบันเทิง ตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงขั้นทำรายการโทรทัศน์นะ แต่พอได้พบปะกับเพื่อนพ้องในวงการที่รู้จักเลยได้คุยกันว่าอยากให้มีรายการสารคดีบ้าง ลองทำดูไหม โดยจะเป็นคนทำบทให้ ผลปรากฏว่าสารคดีที่ทำได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงนำไอเดียไปเสนอที่ช่อง 7 นับแต่นั้นมาก็เลยได้ผลิตรายการ กระจกหกด้าน”

“กว่าจะมาถึงวันนี้เราก็เจอกับภาวะเศรษฐกิจที่เข้ามาเป็นระลอก ก็เกือบตายเหมือนกัน มันจะมีช่วงที่ซึมเซ็ง แต่ไม่ถึงกับท้อแท้ ก็สู้ และเอาเงินที่เก็บเอาไว้ที่มีไม่มากไม่มายมาเป็นเดิมพัน เราต้องประหยัด เลยให้ลูกๆ มาช่วยทำรายการ เนื่องจากเราพยายามปลูกฝังให้ลูกๆ รักในการผลิตงานด้านสื่อ ให้เขาซึมซับการทำงานของเราอยู่แล้ว พอลูกๆ มาช่วย ฉะนั้นจึงทุ่นเงินค่าจ้างไปเยอะ เลยทำให้อยู่รอดได้เรื่อยมา กระทั่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 37”

 • ‘กระจกหกด้าน’ ส่องฝีมือคนทำ ถ่ายทอดความทรงจำไปยังคนดู

เพราะหากพูดถึงรายการ ‘กระจกหกด้าน’ แน่นอนว่าหลายคนคงจะนึกถึงอินโทรเพลงเปิดรายการ พร้อมด้วยเสียงผู้บรรยายที่เป็นเอกลักษณ์

“เพลงประกอบรายการมาจากที่เราเคยเป็นคนจัดรายการเพลงมาก่อน และเราชอบฟังเพลงหลากหลายแนวมาก คลาสสิก ป็อป ร็อก เฮฟวีเมทัล แจ๊ซ ฟังมาหมดเลย ซึ่งเพลงเปิดรายการเป็นการทำสกอร์ดนตรี เรียงเขบ็ดเขียนโน้ตใหม่โดยฝีมือของ “นุภาพ สวันตรัจฉ์”

ส่วนชื่อรายการ ‘กระจกหกด้าน’ นั้นมาจากคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ว่า “คนเราทุกวันนี้ ดีแต่ส่องกระจกด้านหน้าแต่เพียงด้านเดียว ให้เอากระจกหกด้านมาส่องเสียบ้างแล้วจะเห็นเอง” ดังนั้น รายการเลยจะแบ่งเป็น 6 หมวดหมู่ ซึ่งกำหนดเอาไว้เพื่อจะได้ง่ายต่อการทำงาน ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตและสิ่งแวดล้อม อาหารและโภชนาการ สุขภาพและวิทยาศาสตร์ บุคคลและสังคม รวมถึงปกิณกะสาระคติค่ะ”

ส่วนกรอบการทำงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น อาจารย์สุชาดีจะถือคติเรื่องความถูกต้องมาก่อนเสมอ อีกทั้งไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่บังคับคนดู เพราะการทำเช่นนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน สิ่งนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้รายการดำรงมาอย่างยาวนาน

“กรอบในการทำงานเราจะตั้งข้อแม้ไว้เยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น 1. ความถูกต้อง ต้องมีสูงสุด 2. ไม่วิพากษ์วิจารณ์ คือเรามีหน้าที่ให้ข้อมูลแล้วก็สรุปตามเนื้อหาสาระ แล้วก็จบ ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อ เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมวลชน 3. ต้องไม่บังคับคนดู ในสคริปต์ของเราจะไม่มีคำว่า “ต้องทำ” หรือ “ทำแบบนั้นสิ ทำแบบนี้สิ” แต่เราจะให้เขาไปคิดเอาเอง เราจะไม่ดูถูกคนดู เนื่องจากรายการกระจกหกด้านต้องการสะท้อนแง่มุมหลากหลาย เพื่อเป็นสาระและคติสำหรับผู้ชมให้ได้เกิดความคิดต่อเนื่องไปอย่างไม่สิ้นสุด การทำเช่นนี้คนดูก็จะนับเราเป็นพวกของเขาด้วย จึงทำให้เราอยู่มาได้”

 • 37 ปี บนเส้นทางการผลิตรายการสารคดี ได้อะไรมากกว่าที่คิด


เมื่อถามว่าทำไมถึงหลงรักรายการประเภทสารคดี อาจารย์สุชาดีก็ตอบขึ้นมาทันทีด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม

“สารคดีทำให้เราฉลาดขึ้น เพราะการที่เราเอาความรู้ต่างๆ เหล่านี้ให้คนอื่น เราต้องไปค้นคว้า เอามาเรียบเรียงและเอามาเขียน มันก็จะซึมซับลงไปในสมอง ยิ่งอ่านยิ่งมีความรู้ นอกจากให้ความรู้ตัวเองแล้วยังถ่ายทอดความรู้ไปให้คนอื่นได้ และในความรู้ของเรา เราสามารถเอามาประกอบอาชีพได้อีกด้วย สิ่งนี้แหละที่ทำให้หลงรักสารคดี

จากที่ทำรายการสารคดีมา 37 ปี มองว่าสารคดีควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้นะ ควรเก็บเอาไว้ในทุกรูปแบบที่ยุคสมัยนั้นจะทำได้ อย่างสารคดีเรื่องราวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ หรือสารคดีอื่นๆ ทุกวันนี้เรายังเอามาดูกันอยู่เลย ซึ่งมันเป็นประโยชน์แทบทั้งสิ้น

ส่วนตัวเราได้อะไรจากสารคดีเยอะมากเลยนะ ส่วนหนึ่งที่รายการอยู่รอดมาถึงวันนี้ได้ คิดว่าอาจจะเป็นเพราะผลกุศลที่ได้ให้ธรรมะเป็นทาน เพราะการให้ความรู้ก็เท่ากับให้ธรรมะเป็นทาน ทานของเราก็คือสารคดีนี่แหละ”

 • เห็นว่าล่าสุดบุกตลาดออนไลน์ เกิดเป็นรายการ “ไชโย โอป้า”

คุณสุชาดี มณีวงศ์ : จริงๆ เราคิดกันมา 4-5 ปี แล้วว่าจะทำรายการบนออนไลน์ แต่ว่าหลายสิ่งหลายอย่างยังไม่พร้อม และพูดกันตรงๆ ว่าภาวะเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมามันไม่ได้มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ ทำให้เราสบายอารมณ์ไม่ต้องเร่งรีบที่จะทำอะไร แต่ว่าปีนี้ต้องเริ่มแล้ว เพราะว่าดูเทรนด์แล้วว่าถ้าไม่เริ่มทำจะไม่ดีแน่ๆ

อีกทั้งการที่ตัดสินใจทำรายการบนออนไลน์เพราะ ประการที่ 1 สื่อออนไลน์ลงทุนไม่สูงนัก ถ่ายทำไม่นานก็สามารถอัปโหลดลงได้เลย ไม่เหมือนกับรายการโทรทัศน์ถ่ายทำเรื่องหนึ่งต้องใช้เวลาเตรียมงานค่อนข้างเยอะ มีทั้ง PRE-PRODUCTION (การเตรียมงานถ่าย) PRODUCTION (การถ่ายทำ) และ POST-PODDUCTION (ช่วงเก็บรายละเอียด-ตัดต่อ) บางเรื่องใช้เวลา 2-3 เดือน บางเรื่องใช้เวลาเป็นปีก็มี เราจึงคิดว่าถ้าทำรายการออนไลน์จะได้มีอะไรที่เป็นมรดกใหม่ๆ ให้เด็กๆ เขาได้ทำ ในราคาที่ไม่แพงด้วย

ประการที่ 2 เราสามารถดึงกลุ่มเป้าหมาย Generation Z หรือ Millenniums ที่เขาชอบดูอะไรจากมือถือ จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

ประการที่ 3 เราจะได้ซัปพอร์ตรายการกระจกหกด้านด้วย ซึ่งถ้ามีการกล่าวขานถึง คนก็อาจจะแวะเวียนเข้ามาดูรายการมากขึ้น ดังนั้นเลยตัดสินใจทำรายการ ไชโย โอป้า ขึ้นมา

อลงกรณ์ จุฬารัตน์ ทายาทรุ่นที่ 2 เจ้าของรายการกระจกหกด้าน และผู้ผลิตรายการ ไชโย โอป้า : เราทำรายการมา 37 ปี มีคลังเทปเป็นหมื่นตอน แต่เราไม่เคยหยิบเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เลย พอออกอากาศไปเสร็จแล้วก็หายไป มันไม่เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของคนดู และไม่เกิดประโยชน์ในแง่ของบริษัทด้วย ตรงนี้จึงมองว่าทำไมเราไม่เอาสิ่งที่เรามีอยู่มาเพิ่มมูลค่าล่ะ

จริงๆ เรื่องของออนไลน์อย่างที่คุณแม่บอก เราคิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ตอนนี้เรามีเว็บไซต์ mirror6.com ซึ่งเราอยากให้เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมืองไทย คนไทย ประเทศไทย วัฒนธรรมประเพณีไทยทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่เราก็ทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว แต่การจะสร้างเว็บไซต์แล้วให้คนเข้ามาดูมันไม่ง่าย ตรงนี้เลยมองว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ดึงคนเข้ามาสู่ตัวเว็บไซต์ให้ได้ ดังนั้นเลยคิดกันว่าควรจะมีรายการหนึ่งรายการ จึงเกิดมาเป็นรายการ ‘ไชโย โอป้า’ ครับ

 • พลิกบทบาทจากงาน ‘เบื้องหลัง’ สู่งาน ‘เบื้องหน้า’

สุชาดี มณีวงศ์ : ตอนแรกที่จะทำรายการนี้ขึ้นมา ลูกๆ เขาก็ไม่ได้อยากให้เข้าไปยุ่งอะไรเท่าไหร่ เพียงแต่เขาจะคิดแล้วนำมาเสนอมากกว่าว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนควรปรับปรุง แต่ทุกคนลงความเห็นว่าเขาไปเซอร์เวย์มาแล้ว ผู้ชมเขาเคยได้ยินแต่เสียงของเรา เขาอยากเห็นตัวจริงของเราบ้าง ดังนั้นเขาจึงอยากให้คุณสุชาดีเข้ามาไปเป็นตัวแสดงนำให้คนรู้จัก ไม่ใช่ว่าเอาใครก็ไม่รู้มาทำ เพราะกว่าจะทำให้คนเข้าถึงคงจะนาน

อลงกรณ์ จุฬารัตน์ : รายการนี้เราอยากให้เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้คุณสุชาดีเปลี่ยนสถานภาพตัวเองจากที่เคยเล่าเรื่องด้วยเสียง มาเป็นคนเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งคุณแม่เองท่านเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่า และทุกวันท่านก็ใช้เสียงดำเนินรายการมาโดยตลอด คนจะรู้จักท่านจากเสียง เชื่อถือท่านจากเสียง แต่ถ้าวันหนึ่งเราให้คุณสุชาดี มณีวงศ์ มาเล่าอะไรที่เป็นมากกว่าเสียง ให้คนได้มาเห็นภาพต่างๆ  ล่ะ จะเป็นยังไง

แรกๆ พูดตามตรงว่าไม่แน่ใจนะครับว่าจะออกมาใช่หรือไม่ใช่ คุณแม่ท่านก็ถามว่าจะดีเหรอ คนเขาจะชอบเหรอ คนเคยฟังแต่เสียงแล้วมาเห็นหน้า เขาจะไม่ว่าอะไรเหรอ ผมก็บอกคุณแม่ไปว่าต้องลองดู 

สุชาดี มณีวงศ์ : รายการ ‘ไชโย โอป้า’ พลิกบทบาทมากๆ นะ แต่ว่าอะไรที่เป็นการทำงาน เรารู้สึกว่ามันสนุกไปหมดเลย เขาให้เล่นก็เล่น ไม่ตื่นเต้น ไม่อะไร แต่ก็ต้องบอกคอนเซ็ปของตัวเองกับทางทีมงานก่อนเหมือนกันว่า 1. เราไม่เสแสร้ง เฟกไม่เป็นนะ เช่น คนนี้ฉันไม่เคยรู้จัก แต่ให้ไปสวมกอดกันแล้วทำเหมือนว่าฉันไปรู้จักเขามาเป็น 10 ปี มันก็ไม่ใช่ ฉันไม่ทำ เพราะปกติเราถือศีล 5 จะให้มาโกหกในจอ ไม่เอานะ 2. ไม่ไปขายสินค้าที่ไม่เคยใช้นะ ถ้าสินค้านี้ไม่เคยใช้มาเป็น 10 ปี ฉันก็ไม่ขายให้นะ ถ้าทีมงานยอมรับเงื่อนไขตรงนี้ได้จะเล่นให้

แรกๆ ก็อิดออดไม่ยอมเลยล่ะ คือเราเคยอยู่เบื้องหลังไม่เปิดเผยตัวตน เก็บตัวอยู่ 70 กว่าปี เป็นคนไม่ชอบออกสังคม ทำให้การไปไหนมาไหนค่อนข้างจะสบายๆ  ปกติเราจะเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูงมากอยู่เหมือนกัน แต่วันนี้เราพร้อมที่จะเปิดเผยตัวตนให้คนทั่วไปได้เห็นแล้ว การตอบรับก็ออกมาดีมากค่ะ คนอาจจะไม่เคยเห็นมุมนี้ของเรามาก่อน ซึ่งเรื่องตลกเป็นหนึ่งสิ่งที่คนดูเขาชอบ กลายเป็นว่าสิ่งนี้ดีไปเลย ก็ไม่คิดว่าคนเขาอยากจะเห็นเรามากขนาดนี้ มาขอถ่ายรูปบ้าง เซลฟีบ้าง ทักทายเราเรียกเราว่า ‘โอป้า’ บ้าง ชีวิตมีความส่วนตัวน้อยลง แต่ก็สนุกดี (ยิ้ม)

อลงกรณ์ จุฬารัตน์ : จริงๆ คุณแม่ทำได้ครับ แต่ท่านไม่ค่อยอยากจะทำเท่าไหร่ แล้วท่านก็ไม่รู้ว่าจะทำออกไปยังไง คือคุณแม่เขาจะมีความอาร์ตอยู่ในตัวอยู่แล้วนะครับ เขาจะทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะได้ดี เขาผ่านมาหมดแล้ว ทั้งงานเบื้องหลังเกี่ยวกับละคร ภาพยนตร์อะไรต่างๆ ทำได้หมด เพียงแต่ว่าวันหนึ่งที่ต้องมาอยู่หน้าจอจะต้องมีคนคอยกำกับตลอด จากที่แต่ก่อนเป็นคนกำกับคนอื่น ท่านก็เลยยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะออกมาเป็นยังไง และที่สำคัญคือจะค่อนข้างห่วงด้วยว่าภาพที่ออกมาจะเป็นยังไง เพราะโลกออนไลน์พฤติกรรมคนรับชมไม่เหมือนกับในทีวี ซึ่งจะเครียดไปก็ไม่ได้ เราต้องมีความสนุกสนานบ้าง เพื่อให้ต้องจริตของคนดูในออนไลน์ แต่บทบาทนั้นของคุณแม่ มันจะทำให้ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ต่างๆ ที่เคยมีมาหรือเปล่า จะทำให้คนดูงงหรือเปล่า แต่ผลปรากฏว่าพอออนแอร์ออกไป EP. แรก กลับไม่เป็นเช่นนั้นเลยครับ

 • จริงๆ แล้ว ‘โอป้า’ เป็นคนตลก?

สุชาดี มณีวงศ์ : จริงๆ เนื้อแท้ตัวตนของเราแล้วเป็นคนที่ไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ (หัวเราะ) จะเป็นคนชอบพูดตลก คะนอง แหย่เล่นจนบางทีคนอื่นเขาโกรธเพราะเราแหย่มากเกินไป คือเราเป็นคนตลก แต่ที่คนมองว่าเราดุเพราะว่าการทำงานต้องมีหัวโขน เราต้องมีหัวโขนสองหัว หัวหนึ่งเป็นตัวของตัวเองที่เป็นตัวตลก อีกหัวหนึ่งเป็นยักษ์ที่จะต้องถือไม้เรียวคอยกำกับ เพราะเรามีลูกน้องผู้ชายเยอะ ลูกน้อง 40 กว่าคน เป็นผู้ชายเกือบ 30 คน ถ้ามัวนุ่มนิ่ม ตุ๋มติ๋ม ไม่เด็ดขาด ก็อาจจะทำให้ปกครองเขาไม่ได้

การถ่ายทำรายการนี้ เราก็บอกเขาว่าฉันจะเอาชีวิตของฉันออกมานะ เราจะเป็นตัวของตัวเองด้วย มันเลยทำให้เราหยิบหัวโขนตัวตลกมาใส่ เอามุมตลกที่อยู่ในใต้สามัญสำนึกออกมาใช้

ส่วนการทำงานทางทีมงานจะมีสคริปต์มาให้เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยพูดตามสคริปต์เลย เราท่องไม่ได้ แต่เนื้อหาก็จะใกล้เคียง เราทำงานกับคนรุ่นใหม่เราจะต้องพบกันคนละครึ่งทาง เธอต้องยอมฉันบ้าง ฉันต้องยอมเธอบ้าง อะไรทำนองนี้ค่ะ

พูดตามตรงการทำรายการแบบเปิดหน้าเหนื่อยนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาจะออกรายการแต่ละทีเราจะต้องไปย้อมผม เพราะถ้าผมขาวครึ่งหนึ่งก็จะไม่สวย ต้องไปซื้อคอนซีลเลอร์มาปิดรอยแผลเป็น เสื้อผ้าก็ต้องไปค้นหาในตู้ที่ไม่ค่อยได้ใส่มาใส่ เราต้องทำตัวสวยงามตลอด จะไปกระเซอะกระเซิงก็ไม่ได้ ทุกอย่างออกเงินเองทั้งนั้นเลย เขายังไม่มีค่าตัวให้ (หัวเราะ)

 • ไชโย โอป้า เน้นความสนุกสนาน คลุกเคล้าไปด้วยสาระ

อลงกรณ์ จุฬารัตน์ : ‘ไชโย โอป้า’ ชื่อนี้ทีมงานเขาคิดขึ้นมาก่อนครับ เพราะเรามองว่าจะให้คนเรียกคุณสุชาดีว่ายังไงดี ถ้าให้เรียก ยาย ก็แก่เกินไป งั้นเอาคำว่า ป้า ดีกว่า ยังอยู่ในระดับกลางๆ แถมยังคล้ายกับภาษาเกาหลีว่า โอปป้า ด้วย แต่นี่เป็น “โอป้า” นอกจากสรรพนามแล้วเราก็ยังอยากให้คำนี้มีความหมายหลายนัย ส่วนคำว่า “ไชโย” มาจากที่คุณสุชาดีมองว่ามันต้องมีคำบางคำที่เพิ่มเข้ามา ใช้ “โอป้า” อย่างเดียวไม่พอ “โชโย” มีทั้ง ช. ช้าง ทั้ง ย. ยักษ์ มันยิ่งใหญ่ คุณแม่ก็ถือเคล็ดจากที่ครูบาอาจารย์สอนมา พอรวมกันแล้วก็ถือว่าโอเคเลยครับ

ส่วนการนำเสนอเนื้อหาหรือคอนเทนต์ เราจะทำขึ้นมาใหม่เลยครับ เรานำเรื่องสัพเพเหระทั่วๆ ไปที่คนสนใจและเอาภาพลักษณ์เดิมที่คุณสุชาดีมีอยู่แล้วใส่ลงไป เราจะไม่พยายามไปเปลี่ยนให้ท่านทำอะไรต่างๆ ที่ไม่ใช่ตัวเอง เช่น ไม่ไปขายของ ไม่ไปทำอะไรต่างๆ ที่ไม่มีแก่นสาร เรายังอยากคงตรงนี้ไว้อยู่

ต้องเรียนให้ทราบว่ารายการเพิ่งจะออกอากาศมา 9-10 ตอน เราใหม่มากๆ ในโลกของออนไลน์ ในโลกของโซเชียลมีเดีย เป็นช่วงที่เราต้องลอง ต้องดูว่า Topic แบบไหนที่คนดูเขาดูแล้วคิดว่าเป็นประโยชน์ เขาอยากจะส่งต่อ

ยกตัวอย่างเช่น EP.6 ตอน ไหว้ล่ะจ้าาาาา ที่เราทำเรื่องการไหว้ ตอนนั้นเราเอา ‘อาไท กลมกิ๊ก’ มาเล่นกับ ‘โอป้า’ พอถ่ายทำเสร็จ เรามานั่งคุยกันว่าตอนนี้มันน่าจะจืดชืด เพราะเป็นเรื่องของการไหว้ การกราบธรรมดาเฉยๆ คนน่าจะรู้กันอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีอะไร แต่ผลปรากฏว่ากลับกลายเป็นไวรัลส่งต่อกันจนน่าตกใจ ซึ่งมีหลายที่ที่ครูเอาไปใช้สอนเด็กๆ ด้วย

จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจที่จะจับคนดังนะครับ แต่ที่เราเอาคนที่เป็นที่รู้จักในสังคมเข้ามาเป็นตัวดึงความรู้ต่างๆ นั้น เพราะว่าคาแรกเตอร์ของแขกรับเชิญท่านนั้นๆ ตรงตามคอนเทนต์ของเรา ดังนั้นจึงจะมีแขกรับเชิญหลากหลายไปตามบท ยกตัวอย่างเช่น EP.2 ที่ คุณโซเฟีย ลา มาเป็นแขกรับเชิญ ตอน “ภาษาไทยวันละ (หลาย) คำ” เพราะเป็นอะไรที่ไปด้วยกันได้ เราอยากให้เห็นมุมมองว่าที่คุณโซเฟียพูดไม่ชัด จริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ คุณโซเฟียเขาเป็นคนต่างชาติ พูดได้ขนาดนี้ถือว่าดีแล้ว เจ้าของภาษาต่างหากที่ควรพูดให้ดีและให้ความสำคัญตรงนี้มากกว่า รายการก็จะมีเกร็ดอะไรต่างๆ ตรงนี้ที่โอป้าจะสอดแทรกให้เสมอ

หรือแม้กระทั่งเรื่องความเชื่อ EP.9 ตอน “ความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ” ที่เชิญ ซินแสเป็นหนึ่ง มาเป็นแขกรับเชิญ เราจะสอนให้รู้ทริกหรือเคล็ดลับอะไรต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ แต่โอป้าจะไม่เคยบอกเลยว่าจะต้องเชื่อ หรือโอป้าเชื่อหรือไม่เชื่อ อะไรทำนองนี้ครับ

โดยส่วนใหญ่คอนเซ็ปต์รายการ หลักๆ แล้วเราจะหยิบ Topic ที่คนดูเขาชอบมาลองเทสต์ดู แต่ในขณะเดียวกันในความชอบของเขามันก็เป็นสิ่งที่ตรงกับเราด้วย ไม่ใช่ว่าเขาชอบแต่เรื่องแบบนี้เราไม่ถนัด เราก็ไม่ทำเหมือนกันในแต่ละตอนเราก็จะมีสิ่งที่เราโน้ตเอาไว้ อันไหนที่เราคิดว่าดีแล้ว หรือบางอย่างที่ควรจะต้องปรับปรุง ซึ่งทุกตอนคุณสุชาดีจะดูก่อนออกอากาศก่อนแล้วจะคอยบอกว่าอันนี้ไม่เอา อันนี้อย่า อันนี้ไม่ควร ก่อนจะออกมาบนออนไลน์เสมอครับ ผลตอบรับที่ผ่านมาดีนะครับ คือในแต่ละตอนมันมีอะไรให้เราศึกษา ให้เราได้เรียนรู้อยู่พอสมควร

สุชาดี มณีวงศ์ : แต่ละ EP.เราก็จะเอาที่เป็นประโยชน์ที่เคยทำมาแล้วในกระจกหกด้านใส่เข้าไปด้วย อย่างเรื่องการไหว้ สมัยเด็กๆ ครูก็สอนการไหว้ต่างๆ นะ แต่พอเราหยิบมาทำ เด็กมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษา มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ ซึ่งเรายังมีอีกเยอะที่เป็นเกร็ดความรู้ อย่างมีเรื่องที่เตรียมเอาไว้ว่าจะทำ คือ เรื่องหม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ หม่อมเจ้า ท่านผู้หญิง คุณหญิง คุณชาย เรื่องนี้เด็กรุ่นใหม่น้อยคนที่จะรู้ หรือบางคนเรายังเรียกเขาผิดๆ อยู่ อะไรทำนองนี้ เลยคิดว่าจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สอดแทรกความตลกและเคาะเรื่องความรู้แทรกเข้าไปสักนิดหนึ่งน่าจะดี

 • อนาคตก้าวต่อไปของรายการบนออนไลน์ และบนจอแก้ว

อลงกรณ์ จุฬารัตน์ : ตอนนี้รายการ ‘ไชโย โอป้า’ กับรายการ ‘กระจกหกด้าน’ ยังคงเอื้อกันไปกันมาอยู่ครับ เรายังใช้ทีมของกระจกหกด้านอยู่ แต่ต่อไปถ้ามันเป็นไปในทิศทางที่ดี เราก็อาจจะตั้งทีมทำอะไรต่อไปให้มันหลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบันในเพจ ‘ไชโย โอป้า’ เรามีคนติดตามเกือบ 50,000 คน ภายในเวลา 3 เดือน โดยที่เราไม่ได้ซื้อโฆษณาใดๆ ผมมองว่ามีอะไรหลายๆ อย่างที่สะท้อนเข้ามาเหมือนกันว่ามันโอเคนะ

ทุกวันนี้เรายังอยู่ในขั้นตอนลองทำอยู่ เรายังบอกไม่ได้ว่าอยากจะมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มไหน แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราได้มาจากการรีเสิร์ชโดยที่ไม่ได้วางแผนใดๆ ปรากฏว่ากลุ่มคนดูของเราอยู่ที่อายุประมาณ 25-40 ปี ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากนะครับ เพราะคนในวัยนี้เขาจะไม่ดูอะไรแบบนี้ง่ายๆ เขาไม่ได้สนใจกับเรื่องที่เป็นไวรัล หรือไม่ได้ติดตามดูเป็นประจำ ต่อไปเราอาจจะลองทำอะไรบางอย่างที่เข้าถึงกลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่นด้วยก็ได้ครับ เพราะผมมองว่าโอป้าสามารถเข้าไปอยู่ในใจคนได้หลากหลายวัยนะครับ แต่ตอนนี้เราอยากลองดูหลายๆ ทาง และหาทิศทางที่แน่ชัดก่อน ถ้าเริ่มจับทิศทางได้ ส่วนนั้นยังอยู่ในปรัชญาในการทำงานของเราและคนดูได้รับประโยชน์ เราก็จะเดินไปในเส้นทางตรงนั้นครับ

ในอนาคตต่อไปอาจจะได้เห็นคุณสุชาดีไปคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้นำทางความคิดหลายๆ คน เพราะตรงนี้เป็นสิ่งที่เรามองว่าถ้าให้โอป้าไปคุยกับบางคนน่าจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ดีเหมือนกัน ที่สำคัญผมว่ามันน่าเชื่อถือด้วยครับ

ส่วนรายการสารคดี ‘กระจกหกด้าน’ ตอนนี้ออกอากาศทุกวันพุธ พฤหัสบดี และตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไปจะเปลี่ยนเป็นวันพฤหัสบดี-ศุกร์ เวลา 17.00-17.15 น. นอกจากนี้ เรายังมีรายการสารคดี “ร้อยเรื่องเมืองไทย” ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศ 5 นาที เวลา 07.52-07.57 น. ทางช่อง 7HD ครับ เรายังไม่คิดจะย้ายไปไหนตราบใดที่ทางช่องยังมองว่ารายการแบบนี้ยังมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคมอยู่ อีกอย่างทางช่องก็เมตตาและช่วยเหลือเราหลายเรื่องมาก และในอนาคตเราอาจจะมีรายการใหม่เกิดขึ้นบนจอทีวีอีกก็เป็นได้ครับ

ยกตัวอย่างสารคดี 3 เรื่องที่คนไทยควรรู้ และควรค่าแก่การจดจำแบบฉบับ ‘สุชาดี มณีวงศ์’

1. เรื่อง บูรพมหากษัตริย์ เราทำเรื่องบูรพมหากษัตริย์เยอะมาก โดยเฉพาะมหาราชแต่ละพระองค์ ถ้าไม่มีพระองค์ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็คงไม่มีพวกเราเหล่านี้ที่ยืนอยู่บนแผ่นดินไทยอย่างมีเอกราชอธิปไตยอย่างทุกวันนี้

2. เรื่อง ศาสนา เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต้องไปด้วยกัน เราก็หยิบจับมาทำเป็นเรื่องสนุกๆ อย่างตอนที่เราทำรายการ “กระจกหกด้านบานใหม่” ก็จะมีชุด “เส้นทางสู่...อมราวดี” ที่ไปถ่ายทำพระฝรั่งในประเทศอังกฤษ ฯลฯ เป็นต้น

3. เรื่อง ทวยเทพ เพราะพระพุทธเจ้าสรรเสริญนะว่าการที่เราบูชาเทวดาก็เป็นกุศลเช่นกัน ซึ่งเราจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระตรีมูรติ พระพิฆเนศวร พระพรหม ฯลฯ เป็นต้น


เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น