บทเรียนรถฟอร์ดไม่ได้มาตรฐาน ย้อนรอย 7 ปี ผู้ใช้รถ “เฟียสต้า-โฟกัส” พบปัญหาระบบเกียร์และคลัตช์เป็นเรื่องเป็นราว พบร้องเรียนไปตามหน่วยงานไม่ได้ผล แถมท่าทีค่ายรถจากหน้ามือเป็นหลังมือ สุดท้ายจบลงที่ศาล ผู้บริโภคชนะคดี
... รายงาน
หลังต่อสู้คดีมานานกว่า 1 ปี ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส 296 ราย รวมเป็นเงิน 23 ล้านบาท
หลังกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดทั้งสองรุ่น รวม 308 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค เหตุเพราะรถทั้งสองรุ่น ชำรุดบกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา และทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอันตราย
โดยศาลกำหนดให้ฟอร์ดจ่ายค่าซ่อมและวันขาดประโยชน์จากการใช้รถแก่ผู้เสียหายแต่ละราย ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทเศษ ไปจนถึง 2 แสนบาท ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาให้เสร็จภายใน 7 วัน
ส่วนผู้เสียหาย 12 ราย ศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพรถ หรือไม่เคยนำรถยนต์เข้าซ่อมเกี่ยวกับการเปลี่ยนชิ้นส่วนระบบเกียร์และคลัตช์ จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้
แม้คดีนี้จะต่อสู้กันในศาลเพียงปีเดียว แต่การต่อสู้ระหว่างผู้เสียหาย กับค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน เกิดขึ้นยาวนานถึง 4 ปี แม้ว่าจะไปร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล
ปี 2554 ผู้ที่ซื้อรถยนต์ฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส ประสบปัญหารถยนต์ที่ได้รับจากโชว์รูมไม่ได้มาตรฐาน มากกว่า 400 ราย โดยเฉพาะระบบเกียร์และคลัตช์
รถมีอาการสั่น กระตุก กระชาก เร่งไม่ขึ้น เครื่องร้อน มีเสียงดังผิดปกติ เสื่อมสภาพ ชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ เมื่อเทียบกับรถยนต์ยี่ห้ออื่น ทั้งพวงมาลัย เบรก สายพาน หม้อน้ำ โช้ค และประตูที่ไม่สามารถปิดล็อกได้
ที่ผ่านมาผู้ใช้รถต้องเสียเวลานำรถไปเข้าศูนย์บริการฟอร์ดเพื่อซ่อมแซมรถตลอดเวลา ทั้งที่เพิ่งออกจากโชว์รูมไม่ถึง 6 เดือน กระทั่งมีผู้เสียหายหลายรายรวมตัวกันเพื่อร้องเรียนต่อมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค
แม้ฟอร์ดเลือกที่จะใช้วิธีระยะเวลารับประกันให้เป็นสูงสุด 7 ปี หรือ 1.6 แสนกิโลเมตร พร้อมแก้ไขข้อบกพร่องตามอาการผิดปกติของรถ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง ยังพบอาการผิดปกติกลับมา
หนำซ้ำยังพบว่าบริการหลังการขายในโชว์รูม และศูนย์บริการของฟอร์ดเริ่มไม่สบอารมณ์กับลูกค้ากลุ่มนี้ ดูแลลูกค้าไม่ดี ยิ่งทำให้ผู้ใช้รถเกิดความรู้สึกแย่เข้าไปอีก
กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดร้องเรียนไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สภาทนายความ และกรมการขนส่งทางบก
แต่ก็ดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง เงียบหายไปกับสายลม
31 สิงหาคม 2559 กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ประมาณ 100 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเป็นธรรม
ขณะที่ฟอร์ดพยายามไกล่เกลี่ยกับลูกค้าที่ร้องเรียน 179 ราย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดย 59 ราย ต้องการให้ฟอร์ดซื้อรถคืนในราคา 80% ของราคารถใหม่ แต่ฟอร์ดอ้างว่าไม่สมเหตุสมผล
14 มีนาคม 2560 กลุ่มผู้ประสบปัญหารถยนต์ฟอร์ดเฟียสต้า และโฟกัส ในนามกลุ่มเหยื่อรถยนต์ ยื่นหนังสือต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามความคืบหน้าจาก สคบ. ก่อนรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ฟอร์ดรับซื้อรถที่มีปัญหาคืน
ฟอร์ดกลับอ้างว่า กลุ่มลูกค้าไม่ยินยอมให้ฟอร์ดนำรถเข้ามาติดตั้งวัสดุคลัตช์ใหม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังคงเรียกร้องให้รับซื้อรถคืนในราคา 80% ของราคารถยนต์ใหม่ ทั้งที่บางคันอายุการใช้งาน 4-5 ปีแล้ว
แต่กลุ่มเหยื่อรถยนต์ยืนยันว่าฟอร์ดไม่ได้เปลี่ยนให้ทุกคัน ต้องให้ตรวจเช็กค่าความสั่นก่อน หลายรายเข้าไปเปลี่ยนแล้วก็ยังมีปัญหาอยู่ ส่วนข้อเรียกร้องรับซื้อรถคืนมีมาตั้งแต่สมัยนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เคลื่อนไหว
ในการเรียกร้องครั้งนั้น ฟอร์ดเลือกที่จะเรียกเจรจาเป็นรายบุคคล มีแกนนำบางส่วนได้รับเจรจาและซื้อรถคืน แต่ยังมีผู้เสียหายอีกกว่า 100 คน ไม่ได้ถูกเรียกไปเจรจา อีกทั้งการทำงานระหว่างฟอร์ดกับ สคบ.ไม่โปร่งใส
3 เมษายน 2560 กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ฟอร์ด นำโดย นายกอร์ปศักดิ์ นุ่มน้อย ได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มจำนวน 421 ราย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษและจิตใจรวมกว่า 24 ล้านบาท
ระหว่างนั้นศาลเปิดโอกาสให้เจรจาระหว่างผู้เสียหายกับฟอร์ด บางส่วนเจรจากันได้ บางส่วนไม่ต้องการรอคอย เลือกที่จะขายรถทิ้ง เพราะถ้าเก็บไว้ก็ต้องส่งค่างวดและจ่ายค่าซ่อมรถ ยุติดำเนินคดีและถอนฟ้องไป 113 ราย
22 พฤษภาคม 2560 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มแก่ผู้เสียหาย ซึ่งเหลืออยู่ 308 ราย ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสืบพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา
ถือเป็นการรับฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มคดีแรกๆ ของไทย ที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก จากปกติผู้เสียหายจะมีเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเล็กๆ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภค
เพราะหากศาลมีคำพิพากษาแนวทางใดก็ตามก็จะมีผลผูกพันกับผู้เสียหายอื่นในกรณีเดียวกันด้วย
คดีนี้บอบช้ำกันทั้งสองฝ่าย ผู้บริโภคนอกจากเสียเงินแล้วยังกระทบกระเทือนจิตใจ ส่วนฟอร์ดเสียหายทั้งภาพลักษณ์ของแบรนด์ ความน่าเชื่อถือ รวมทั้งยอดขายที่ดิ่งลง แม้จะมีกระบะพันธุ์แกร่งมากู้หน้าก็ตาม
เป็นบทเรียนที่แบรนด์อื่นๆ ไม่จำกัดเฉพาะค่ายรถยนต์ ควรนำมาเป็นกรณีศึกษา โดยเฉพาะการแสดงความจริงใจต่อผู้บริโภค นอกจากการพิสูจน์ความจริง ในกรณีที่สินค้าและบริการมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม