MGR Online - พบบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างไวรัลแบบเนียนๆ ผ่านแฮชแท็กสีของกระป๋อง ให้วัยรุ่นที่เป็นนิสิต นักศึกษา ประชันกันเมา ผงะดื่มมากกว่า 10 กระป๋องขึ้นไป โพสต์ภาพโจ๋งครึ่ม แถมดึงเพจดังแคปหน้าจอปักหมุด ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชัดเจน
วันนี้ (21 ก.ย.) รายงานข่าวระบุว่า ในโลกโซเชียลมีเดียได้พบพฤติกรรมที่อาจเป็นไปได้ว่า บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายหนึ่งทำการตลาดกับกลุ่มวัยรุ่นและนิสิต นักศึกษา ผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการใช้แฮชแท็กสีของกระป๋อง ที่เป็นคำเรียกของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า) 7% ผสมสารจากกัวรานา รสชาติคล้ายเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วไป
โดยพบว่าในโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ได้มีวัยรุ่นโพสต์ภาพประชันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว พร้อมติดแฮชแทกผลิตภัณฑ์ และแฮชแทกที่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องเท่ เช่น สายแข็ง, สายโหด, อ่อนแอก็แพ้ไป จำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ต่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าวมากกว่า 10 กระป๋อง และโพสต์ข้อความท้าทายประชันกันกับคณะอื่นในรั้วมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเฟซบุ๊กเพจชื่อดังบางเพจที่มีคนกดไลก์กว่า 1.4 ล้านคน ได้โพสต์ภาพไวรัลจากแฮชแท็กดังกล่าวมาแชร์และปักหมุดด้านบนสุดของเพจ โดยมีภาพเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้นเพียงอย่างเดียว พร้อมระบุข้อความในลักษณะเชิญชวนนักดื่มที่เป็นนิสิต นักศึกษา ทำนองว่า “มีใครเจ๋งกว่านี้อีกไหม คณะไหน ว่ามา” ภาพไวรัลนี้ถูกแชร์ต่อกว่า 1.8 พันครั้ง
แต่ก็มีหลายความเห็นท้วงว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เจาะกลุ่มนักศึกษาแบบเนียนๆ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า
มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร