ในยุคที่ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนยังคลุมเครือ การปกป้องตัวเองด้วยอุปกรณ์อย่างเสื้อเกราะกันกระสุน ก็เป็นสิ่งจำเป็นแต่ปัญหาสำคัญ คือ เสื้อเกราะชั้นดี ยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อีกทั้งมีราคาที่สูงมาก การสั่งซื้อจึงทำได้ไม่มากนัก จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยเหตุผลนี้เอง
รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงใช้ความรู้ความสามารถผสมกับความถนัด ทำการคิดค้นและออกแบบเสื้อเกราะจามจุรี โดยมี อัฐวุฒิ ผลาสินธุ์ นิสิตปริญญาโทในที่ปรึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกหนึ่งแรงคิดสำคัญมาร่วมทีมวิจัยในครั้งนี้
รศ.ดร.เสกศักดิ์ บอกว่า โจทย์สำคัญของการพัฒนาเกราะกันกระสุนจามจุรี กำหนดให้เป็นเสื้อเกราะที่สามารถป้องกันกระสุนได้ตรงตามมาตรฐาน น้ำหนักเบา สามารถผลิตใช้ขึ้นเองได้ในประเทศ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเสื้อเกราะกันกระสุนจากต่างประเทศ
เสื้อเกราะกันกระสุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีหลายชั้น โดยชั้นแรกสุดที่อยู่ด้านหน้าจะทำจากวัสดุแข็ง เช่น โลหะหรือเซรามิก เพื่อใช้หยุดหัวกระสุน และชั้นด้านในหลายๆ ชั้น จะทำจากวัสดุที่มีความเหนียวความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถดูดซับพลังงานจลน์จากคลื่นกระแทก (Shock wave) ที่ส่งต่อจากหัวกระสุน จึงทำให้ผู้สวมใส่ไม่ได้รับอันตราย แต่วัสดุที่ใช้อยู่ทั่วไปในเกราะกันกระสุนสมัยใหม่จะมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนในการผลิตเกราะกันกระสุนมีราคาสูงตามไปด้วยตรงนี้ทำให้อาจารย์ต้องคิดหาวัตถุดิบที่มีราคาถูก
“เรามาเริ่มคิดว่ามีวัสดุอะไรบ้างที่มีสมบัติเหมาะสมและมีราคาถูก ที่สามารถใช้แทนวัสดุทั่วไปที่ใช้อยู่ ก็เลยนึกถึงฟิล์ม X-ray ที่เคยมีข่าวว่ามีการใช้กันเพื่อป้องกันกระสุนหรือสะเก็ดระเบิดในช่วงเวลามีการประท้วงทางการเมือง จึงได้ไปนำเอาฟิล์ม X-ray ที่ทิ้งแล้วของโรงพยาบาลต่างๆ มาทำการทดสอบและวิจัย ซึ่งก็พบว่าฟิล์ม X-ray สามารถนำมาใช้ทำเป็นวัสดุดูดซับพลังงานจลน์จากคลื่นกระแทกในสื้อเกราะกันกระสุนได้ และฟิล์ม X-ray ที่ทิ้งแล้วก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จึงช่วยลดต้นทุนของเกราะกันกระสุนได้อย่างมาก”
ความยากง่ายในการทำอยู่ที่การเลือกใช้วัสดุต่างชนิดกันมาประกอบรวมเข้าด้วยกัน ต้องนำข้อดีของวัสดุแต่ละชนิดมาผสมกัน อีกปัจจัยที่มีความสำคัญคือต้องเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายภายในประเทศ มีราคาไม่แพง และในงานวิจัยเรื่องเกราะกันกระสุนชนิดนี้ ก็ไม่ได้มุ่งศึกษาแต่เฉพาะสมบัติของวัสดุที่นำมาประกอบกันเป็นแผ่นเกราะเพียงอย่างเดียว แต่ยังศึกษาถึงลำดับการจัดวางวัสดุและจำนวนชั้นของวัสดุภายในแผ่นเกราะกันกระสุนด้วย เพื่อให้ได้แผ่นเกราะกันกระสุนที่มีเบา มีน้ำหนักน้อย มีความหนาไม่มาก และสามารถใช้กันกระสุนได้ตามมาตรฐานสากล
จุดเด่นของเสื้อเกราะจามจุรี คือสามารถกันกระสุนขนาด 9 mm. FMJ, กระสุน .45 ACP FMJ และ .357 Mag JSP ได้ตามมาตรฐาน NIJ0101.04 Level 2 จากประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำหนักเสื้อเกราะ (รวมแผ่นเกราะ 1 แผ่น) มีน้ำหนักเพียง 3.5 kg ต้นทุนการผลิต ตัวละไม่เกิน 6,000 บาท
รศ.ดร.เสกศักดิ์ ยังบอกอีกว่า เสื้อเกราะจามจุรีตัวนี้ ได้ทำการจดสิทธิบัตรคุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในอนาคตจะนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยเกราะกันกระสุนชนิดนี้ไปทำการพัฒนาต่อยอดให้มีขีดความสามารถในการป้องกันได้ในระดับที่สูงขึ้น เช่น ในระดับ 3A ถึง 3 ต่อไป โดยยังคงต้องมีน้ำหนักที่ไม่มากเกินไป และมีราคาถูกด้วยเช่นกันและเกราะกันกระสุนในรุ่นปัจจุบันนี้ ถ้ามีผู้สนใจ ก็จะผลิตจำหน่ายให้ได้เช่นกัน