xs
xsm
sm
md
lg

ตัวตน "ขุนพลพิณ พนมไพร" น้าหว่อง มงคล อุทก ผ่านเพลงท้ายๆ แห่งชีวิต 'คิดฮอดบ้านเกิด'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“... ชีวิตเหมือนพิณกรีดสาย
เล่นไปตามลาย ไปตามสายเสียงเพลง
คนนี้ ใจนี้ มือนี้ ชีวิตเขามีแต่ดนตรีบรรเลง ...”

หลายคนคงรู้ว่า “เพลงพิณ” อีกหนึ่งบทเพลงอมตะของวง “คาราวาน” นับเป็นเพลงประจำตัวที่สื่อถึงเอกลักษณ์และตัวตนของ “น้าหว่อง-มงคล อุทก” ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะท่อนวรรคตอนที่ว่า “ชีวิตเขามีแต่ดนตรีบรรเลง” เพราะพูดได้ว่า ตลอดทั้งชีวิตของศิลปินจากถิ่นลุ่มน้ำชีคนนี้ ไม่เคยห่างหายจากดนตรีและเสียงเพลงเลย แม้จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2560 “น้าหว่อง คาราวาน” ได้เล่าย้อนชีวิตวัยเด็กในรายการ “เป็นตาฮัก” ทางเพจ News1 หวนคะนึงถึงสีสันความสุขในวันเก่าก่อนเมื่อตอนที่ยังวิ่งเล่นอยู่แถบลุ่มน้ำชี

“ผมเริ่มเล่นพิณมาตั้งแต่เด็ก และสมัยก่อน ใครจะเล่นพิณก็ต้องทำพิณขึ้นมาเอง เพราะไม่มีขาย ผมก็ทำพิณเอง หัดดีดต๊องแนงต๊องแนง จนพอเล่นได้ และเล่นมาตลอด ก่อนจะได้เข้ามาร่วมวงกับคาราวาน”

สำหรับคนที่ติดตามวงดนตรีเพื่อชีวิต “คาราวาน” ภาพจำของน้าหว่องก็คือมือพิณประจำวง เป็นดนตรีอีสานที่ขับขานเคียงคู่ดนตรีสากลอย่างกีตาร์ได้อย่างลงตัว

“เพราะอย่างนั้น เขาก็เลยเขียนเพลงพิณให้เป็นเพลงประจำตัวผม ‘... พิณคือเสียงคือสื่อ ที่ใสซื่อและยุติธรรม ...’ คือเป็นเพลงที่ให้เกียรติกับพิณซึ่งได้มาร่วมอยู่ในวงดนตรีเพื่อชีวิต”

พิณสำหรับน้าหว่อง จึงไม่ใช่เพียงเครื่องดนตรี หากแต่คือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไปไหนมาไหนก็ต้องสะพายติดหลังติดไหล่ไปด้วย เอกลักษณ์อันโดดเด่นนี้ จึงเป็นที่มาของฉายา “ขุนพลพิณ พนมไพร”

“สมัยก่อน บางคนเรียกเราว่า ‘ขุนพิณแห่งลุ่มน้ำชี’ ก็มี ซึ่งตัวผมเองก็เติบโตมาริมฝั่งลำน้ำชี แต่ต้นน้ำมันก็จะเกิดอยู่แถวๆ โน้นล่ะ แถวๆ ชัยภูมิ ก็ไหลมาเมืองร้อยเอ็ดบ้านเกิดของผม”

ชีวิตวัยเด็กแถบลุ่มน้ำชี นอกจากเสียงดนตรีจากพิณที่รักชอบ อีกหนึ่งสีสันวันเยาว์ของน้าหว่องก็คือวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรักในการฟังเพลง และตกหลุมรักในการร้องเพลงมาตั้งแต่นั้น

“ผมชอบฟังเพลงจากรายการวิทยุ ฟังแล้วก็ร้องตาม แต่กี้แต่ก่อน บ้านผม รถยนต์ไม่มี ไฟฟ้าไม่มีใช้ แต่ว่ามีวิทยุฟังแล้ว และเวลามีงานบุญงานอะไร เขาก็จะมี “บักอะโหล” หรือเครื่องกระจายเสียงประจำหมู่บ้านไว้แจ้งข้อมูลข่าวสาร แต่ก่อนที่จะประกาศบอกข่าว เขาก็จะเปิดเพลงก่อน และเพลงที่เขาชอบเปิดบ่อยมากตอนนั้น ก็คือเพลงของสุรพล สมบัติเจริญ

“เราก็ช้อบบบ...ชอบ อย่างเพลง ‘สวยจริงนะน้อง’ ที่ร้องว่า “สวยก็จริงนะน้อง ใส่ทองกันซิมาท่วมแขน นี่หรือแฟนของสุรพล แต่ละคนช่างหน้ามนเสียจัง...” เอาเท่านี้พอล่ะ จำเนื้อไม่ค่อยได้แล้ว (หัวเราะ)

เพลงนี้ผมร้องตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.2 เลยนะ แล้วเมื่อก่อนในห้องเรียนจะมีวิชาร้องเพลง ผมก็ร้องเพลงนี้หน้าชั้นเรียน ครูให้คะแนนเต็ม 10 เลย (หัวเราะ)”
ถามว่าทำไมถึงชอบเพลงนี้ เพราะเริ่มมีความรักแล้วหรือเปล่า?
น้าหว่องตอบอย่างอารมณ์ดีที่ได้ฟังแล้วอดยิ้มไม่ได้
“ยังๆๆ ตอน ป.2 นั้นยังไม่ได้ชอบสาว พอขึ้น ป.3 ถึงเริ่มชอบสาวเป็น” (หัวเราะ)

นอกเหนือจากเรื่องเครื่องดนตรีและบทเพลงที่ชอบฟังชอบร้อง อีกหนึ่งสิ่งที่ฝังอยู่ในความทรงจำของน้าหว่องอย่างไม่ลืมเลือน ก็คือ เรื่องราวแห่งมิตรภาพในวัยเยาว์ และ “หัวหญ้า” อันแสนอร่อย

“ในกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน มีอยู่คนหนึ่งเขาชอบหมอลำ และร้องหมอลำเป็น ตัวของเขาใหญ่กว่าใครในรุ่น และเวลามีใครจะมารังแกผมนี่ เขาจะเข้ามาป้องกันและสู้แทนผมเลย ความเป็นนักสู้ในตัวเขา ทำให้พอโตไป เขาก็ไปเป็นนักมวย”

จากมิตรภาพในคืนวันอันเก่าก่อน น้าหว่องและเพื่อนคนดังกล่าวได้หวนมาพบกันอีกครั้งในวัยที่เส้นผมเป็นสีดอกเลา และได้ร่วมกันทำเพลง “คิดฮอดบ้านเกิด” ส่งความคิดถึงคะนึงหาไปยังชีวิตในวันวาน...

“ในเนื้อเพลงเพลงนี้จะมีคำสำคัญอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า “หัวหญ่า” แบบภาษาอีสาน หรือ “หัวหญ้า” แบบภาษาภาคกลาง หัวหญ้าก็คือ “หัวหญ้าคา” สามารถนำมากินได้ อยู่หลังโรงเรียนสมัยโน้นมีเยอะ พอมีชั่วโมงว่างจากการเรียน ไปละ ไปหาหัวหญ้ากิน อย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่ากินหญ้านะ (หัวเราะ)

“หัวหญ้ามันอยู่ลึกนะ ต้องมีเสียมน้อยไปขุดด้วย มันจะเป็นรากยาวลงไปในดินแล้วก็จะเป็นปล้องๆ เหมือนอ้อย รสชาติจะออกขมๆ หวานๆ
“บ่มีขนมกิน ก็กินอันนี้แหละ หวานคือกัน” ขุนพลพิณ พนมไพร เล่าไปยิ้มไป
“แล้วเพื่อนผมคนนี้ที่เล่าให้ฟัง เขาเป็นคนที่ขุดหัวหญ้าเก่งมาก ขุดแต่ละครั้งก็ได้มาเยอะ เอาใส่กระเป๋าเข้าห้องเรียนไปด้วย เวลาครูเผลอๆ ก็แอบยื่นใต้โต๊ะส่งให้เพื่อนๆ กิน เคี้ยวกันไป เพลิน แต่เวลาครูหันมามอง ก็ทำเป็นหุบปากนิ่งไว้” (ยิ้ม)

เป็นธรรมดา ... เมื่อถึงวัยหนึ่ง แต่ละคนย่อมจะมีความคิดถึงเรื่องราวเก่าๆ และเรื่องราวของน้าหว่องก็ได้รับการบอกเล่าไว้แล้วส่วนหนึ่งผ่านบทเพลง “คิดฮอดบ้านเกิด” ขณะที่ชีวิตล่าสุด ณ ปลายปี พ.ศ.2560 น้าหว่องก็ยังคงเดินทางอยู่บนวิถีของศิลปินโดยมีพิณและศาสตร์ศิลป์ในการวาดภาพ หล่อเลี้ยงชีวิต

“ก็ยังเล่นดนตรีอยู่ งานก็มีบ้างไม่มีบ้าง เล่นกับน้าแป๊ะ น้าตุ้ม น้าตุ๊ และอีกหลายๆ คน เพลงก็ยังเขียนอยู่เหมือนเดิม ไม่มีเงินเข้าห้องอัด ก็ไม่รีบอัด ขณะเดียวกัน ผมก็รับวาดรูปขายด้วย ขายเสื้อยืด ก็พอขายได้เรื่อยๆ ทั้งแขนสั้นแขนยาว พวงกุญแจก็มี เพราะผมเรียนศิลปะมา ก็ชอบออกแบบสร้างสรรค์ไปเรื่อย หรืออย่างซีดีเพลง ผมก็ขายทางเฟซบุ๊ก”

“เรื่องงาน บางทีก็ไปถามพี่หงา (สุรชัย จันทิมาธร) ว่ามีงานไหม บางทีก็ไปกับแก รับค่าตัวเหมือนพวกเด็กๆ ก็ได้ คือผมของาน แต่ผมไม่ขอเงิน และจริงๆ สิ่งหนึ่งซึ่งผมต้องขอบคุณมากๆ ก็คือเวลาไปไหน ก็มีคนหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผมโดยตลอด ตั้งแต่ผมป่วย ผมมาเอเอสทีวี ไม่รู้อะไรต่อมิอะไร ยัดใส่กระเป๋าให้ผมเต็มไปหมด หรืออย่างงานที่อยุธยา ผมไปกับพี่หงา พอผมขึ้นร้องเพลง ก็มาแล้ว คนดูเอาเงินมาให้หน้าเวที ร้อยสองร้อยหรือห้าร้อยหรือพันบาท ได้เยอะกว่าค่าตัว” (หัวเราะ)

“แต่ถ้าจะถามว่าลำบากหรือเปล่า?” น้าหว่องเว้นวรรคเล็กน้อย ก่อนพูดต่อ
“มันมีแต่ดีขึ้นนะครับ ชีวิต จริงๆ เราเคยลำบากมามากกว่านี้นะ ตอนนี้ก็ไม่ถือว่าลำบาก พอมีอยู่มีกิน มันมีเท่าไหน ก็ใช้เท่านั้น”

...และนี่ก็คือสีสันแห่งความสุขบางส่วนเสี้ยวของชีวิต และมุมมองความคิดของศิลปินรุ่นใหญ่ ที่ฉายานาม “ขุนพลพิณ พนมไพร” จะจารึกอยู่ในใจของใครต่อไปอีกนานแสนนาน...

เมื่อขุนพลพิณฯ
นินทา “หงา คาราวาน”

“ตอนอยู่วงคาราวาน เพลงไหนดุๆ เหี้ยมๆ โหดๆ นี่ชอบให้ผมร้อง แต่เพลงไหนหวานๆ พี่หงาเอาไปร้อง (ยิ้ม) ภาพของผมที่ออกมา จึงดูเป็นตาย้านนนน..เป็นตาย่าน (น่ากลั๊วววว.. น่ากลัว) ใครก็ไม่กล้าคุยด้วย (หัวเราะ) อย่างเพลง ‘คนตีเหล็ก’ ผมถามว่า พี่หงาทำไมไม่ร้องเอง พี่หงาก็บอกว่า ร้องไปเหอะ เดี๋ยวมันก็ดัง เพลงนี้ ... ก็ดังแหละเนาะ เพราะมันตีเหล็ก” (หัวเราะ) 


เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : facebook Mongkol Utog


กำลังโหลดความคิดเห็น