xs
xsm
sm
md
lg

“บีอีซี-เทโร” เปลี่ยนชื่อ 2 คลื่นวิทยุ ปิดตำนานแบรนด์ “เวอร์จิ้น” ในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก bectero.com
บีอีซี-เทโร เรดิโอ เปลี่ยนชื่อคลื่นใหม่ สลัดคราบ “เวอร์จิ้น” ทิ้ง หลังเป็นพันธมิตรกับ “เวอร์จิ้นกรุ๊ป” สัญชาติอังกฤษ ออนแอร์ยาวนานถึง 15 ปี

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัท บีอีซี-เทโร เรดิโอ จำกัด ได้ปรับโฉมคลื่นวิทยุในเครือ โดยมีการเปลี่ยนชื่อ 2 คลื่น ได้แก่ “95.5 เวอร์จิ้น ฮิตซ์” (Virgin Hitz) เปลี่ยนชื่อเป็น “ฮิตซ์ 955” (HITZ 955) และ “เวอร์จิ้น สตาร์ เอฟเอ็ม” (Virgin Star FM) เปลี่ยนชื่อเป็น “สตาร์ เอฟเอ็ม” (STAR FM) นับเป็นการปิดตำนานแบรนด์วิทยุเวอร์จิ้นในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังเป็นพันธมิตรกับเวอร์จิ้นกรุ๊ป แบรนด์ธุรกิจสัญชาติอังกฤษ ออนแอร์มายาวนานถึง 15 ปี



ปัจจุบันบีอีซี-เทโร เรดิโอ มีคลื่นวิทยุอยู่ในมือ 2 คลื่น ได้แก่ เอฟเอ็ม 95.5 เมกะเฮิรตซ์ ของกรมประชาสัมพันธ์ เดิมสัมปทานเป็นคลื่นภาษาอังกฤษ โดยมีข่าวต้นชั่วโมงเป็นภาคภาษาอังกฤษ, เอฟเอ็ม 105.5 เมกะเฮิรตซ์ ของไทยทีวีสีช่อง 3 อสมท และวิทยุออนไลน์ 4 แห่ง รวมทั้งโมบายล์แอปพลิเคชัน บีอีซี-เทโร เรดิโอ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2544 บริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ทำความตกลงเบื้องต้นกับกลุ่มเวอร์จิ้น เรดิโอ เอเชีย ประเทศสิงคโปร์ หลังนโยบายบริษัทแม่ในอังกฤษต้องการขยายการลงทุนด้านธุรกิจรายการวิทยุในภูมิภาคเอเชีย กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2545 คณะกรรมการบริษัท บีอีซี เวิลด์ฯ อนุมัติเข้าร่วมลงทุนจัดตั้ง บริษัท เวอร์จิ้นบีอีซี-เทโร เรดิโอ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเงินลงทุน 25.48 ล้านบาท โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้น บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ 60% เวอร์จิ้น เรดิโอ เอเชีย 40%

ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 บริษัท เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) เปิดตัวคลื่นวิทยุ “95.5 เวอร์จิ้น ฮิตซ์” และ “เวอร์จิ้น ซอฟท์ เอฟเอ็ม 89” อย่างเป็นทางการ นอกเหนือจากคลื่น อีซี่ เอฟเอ็ม 105.5 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นเจ้าของ โดยนำกลยุทธ์การตลาดคลื่นวิทยุจากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้ฟังวิทยุในไทย ทำให้มีเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่ง กระทั่งปี 2548 เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร สูญเสียคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 89 ไปอยู่ในมือค่ายเอไทม์มีเดีย จึงได้ร่วมมือกับ สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค ในเครืออาร์เอส ฟื้นคลื่นเวอร์จิ้นซอฟท์อีกครั้งผ่านคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 90

กระทั่งปี 2549 สกาย-ไฮ ไม่ต่อสัญญาคลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 90 โดยขอกลับไปทำเอง ทำให้เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโรย้ายคลื่นเวอร์จิ้นซอฟท์ไปอยู่ที่คลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 103 ต่อมาในช่วงกลางปีได้ย้ายสตูดิโอใหม่ จากอาคารเอ็มโพเรียมทาวเวอร์ มาอยู่ที่อาคารมาลีนนท์ ชั้น 23 โดยใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท แต่ในปลายปี 2551 เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร สูญเสียคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 103 ไปอยู่ในมือสกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค พร้อมกับการลาออกของนายเชษฐ์ มังคโลดม กรรมการผู้จัดการ เนื่องจากมีปัญหาภายในกับบริษัทแม่ บีอีซี-เทโร

8 กุมภาพันธ์ 2554 บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ประกาศเข้าถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ (ประเทศไทย) และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บีอีซี-เทโร เรดิโอ จำกัด พร้อมปรับบทบาทของ เวอร์จิ้น เรดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล จากผู้ถือหุ้นเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากกฎหมายกิจการวิทยุฉบับใหม่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้องเป็นคนไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 แต่ทางเวอร์จิ้น เรดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังบริหารคลื่นวิทยุทั้ง 2 คลื่นต่อไป รวมทั้งยังได้ค่าไลเซนส์ฟรี ทั้งโลโก้ และค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ต่อไปอีกด้วย

ในปี 2555 บีอีซี-เทโร เรดิโอ เปิดตัววิทยุออนไลน์ 3 แห่ง ได้แก่ ร็อก ออน เรดิโอ เน้นเปิดเพลงร็อก, แรด เรดิโอ เน้นเปิดเพลงแดนซ์ และ โทฟู ป็อป เรดิโอ เน้นเปิดเพลงจีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น ต่อมาปี 2557 ได้คลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 98 ผลิตรายการวิทยุ “เวอร์จิ้น สตาร์” (Virgin Star) เน้นเปิดเพลงแนวฟังสบาย กระทั่งเดือนกันยายน 2558 เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ “เวอร์จิ้น กรุ๊ป” เดินทางมาเยือนประเทศไทยครั้งแรก หลังปักธงแบรนด์เวอร์จิ้นในไทยมากว่า 13 ปี อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 บีอีซี-เทโร เรดิโอ คืนคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 98 แล้วนำแบรนด์เวอร์จิ้นสตาร์มาออกอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมกับวิทยุออนไลน์ 3 แห่งก่อนหน้านี้
ภาพจาก becteroradio.com - เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งเวอร์จิ้นกรุ๊ป มาเยือนคลื่นวิทยุเวอร์จิ้นทั้ง 2 คลื่น เมื่อเดือนกันยายน 2558


กำลังโหลดความคิดเห็น