xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 26 ส.ค.-1 ก.ย.2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

1.ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้อง “ทักษิณ” คดีฟื้นฟูทีพีไอ ชี้พยานหลักฐานไม่พอเอาผิด!
นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยหนีหมายจับหลายคดี และไม่มารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี คดีซื้อที่รัชดาฯ
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลัง เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจกระทรวงการคลัง

โดยศาลฎีกาฯ มีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าการที่นายทักษิณไม่ทักท้วงกรณีกระทรวงการคลังเข้าฟื้นฟูทีพีไอ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่นในการเสนอชื่อคณะกรรมการบริหารแผน 5 คนใหม่ และว่า การฟื้นฟูดังกล่าวเกิดจากความยินยอมของธนาคาร เจ้าหนี้ ลูกหนี้ สหภาพแรงงาน รวมทั้งเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับคณะผู้บริหารที่โจทก์อ้างว่าเป็นพรรคพวกของจำเลย การซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนของกิจการทีพีไอก็กำหนดให้ซื้อเพียงหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์เหล่านั้น ข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องยังไกลเกินกว่าเหตุ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 157 พิพากษายกฟ้อง

ด้านนายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผอ.สำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า จะรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบทั้งข้อเท็จจริงในสำนวนคดี และข้อกฎหมาย เพื่อให้พิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ หรือเห็นควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นในสมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนายทักษิณ เมื่อปี 2546 โดยนายทักษิณเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู ทีพีไอ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ทีพีไอมีมูลค่าหนี้สูงถึง 1.3 แสนล้านบาท โดย ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายทักษิณเมื่อปี 2553 แต่นายทักษิณได้หลบหนีคดีออกนอกประเทศ ทำให้ไม่สามารถนำตัวมายื่นฟ้องต่อศาลได้ ต่อมามีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และมีการเขียนกฎหมายใหม่ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ป.ป.ช.จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลและขอให้ศาลฯ พิจารณาคดีลับหลังจำเลย กระทั่งมีการไต่สวนพยาน และมีคำพิพากษายกฟ้องนายทักษิณ

อนึ่ง ขณะนี้ยังมีคดีของนายทักษิณเหลืออยู่ในการพิจารณาไต่สวนลับหลังจำเลยอีก 4 สำนวน ซึ่งมีทั้งที่อัยการสูงสุดและป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ได้แก่ คดีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจเครือชินคอร์ปฯ , คดีกล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร, คดีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ให้รัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มชินคอร์ป และคดีกล่าวหาดำเนินโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือหวยบนดินโดยมิชอบ

2.“บิ๊กตู่” เบรกแก้ กม.เพิ่มโทษใบขับขี่ ด้านกรมขนส่งทางบกถอย เตรียมทบทวน!
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้เสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มโทษปรับและจำคุกในความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ ได้แก่ กรณีขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ เดิมโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท, กรณีขับรถในระหว่างใบขับขี่หมดอายุ ถูกพักใช้ ถูกเพิกถอน หรือถูกยึดใบขับขี่ เดิมโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และกรณีขับรถโดยไม่แสดงใบขับขี่ เดิมโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เพิ่มเป็นปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการกำหนดโทษกฎหมายจราจรโดยไม่ฟังเสียงประชาชน และว่า การที่กรมการขนส่งทางบกเสนอแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับใบขับขี่ โดยไม่เปิดหูเปิดตารับฟังเสียงท้วงติงของสาธารณชน จะกลายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมคอร์รัปชั่นนอกศาล มีการเรียกรับผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ที่ทำผิดกฎหมาย นายศรีสุวรรณ ยังเตือนด้วยว่า หากกรมการขนส่งทางบกและคณะรัฐมนตรีไม่สั่งทบทวนเรื่องดังกล่าว สมาคมฯ จะต้องหาข้อยุติในการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

สองวันต่อมา 28 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาดับกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก โดยบอกว่า เรื่องนี้เป็นความคิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลต้องมาศึกษารายละเอียดว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย และว่า ต้องไปหาประเด็นอื่นๆ มาด้วย อย่ามองแค่ว่าเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบให้กับคนที่จะต้องพกพาใบขับขี่หรือไม่ “สำหรับผมยังไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ ก็ต้องหารือกันต่อไป ต้องมองกันในหลายๆ มุม อย่าไปขัดแย้งอะไรกัน วันนี้ผมยังไม่อนุมัติอะไรทั้งสิ้น”

วันต่อมา 29 ส.ค. นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับใบขับขี่ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว กลับมายังกระทรวงคมนาคม และส่งต่อคืนให้กับกรมการขนส่งทางบก ในฐานะเจ้าของกฎหมายนำไปแก้ไข ทบทวน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นบทลงโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีไม่พกใบขับขี่ ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนอย่างกว้างขวางว่า เป็นอัตราโทษปรับที่สูงเกินไปนั้น เบื้องต้น คงจะต้องลดอัตราโทษปรับลง แต่จะปรับลดลงเท่าไหร่ กรมจะต้องหารือกับหน่วยงานกลางที่มีส่วนร่วมในการออกและใช้กฎหมายให้รอบคอบก่อน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

3.องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก ยืนตามศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง “สุชาติ” คดีสลายพันธมิตรฯ ขณะที่เสียงข้างน้อยชี้ “สมชาย-ชัย” ต้องรับผิดชอบ!
(บน) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ล่างซ้าย) เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาในแนวระนาบใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ซึ่งผิดหลักการยิงแก๊สน้ำตา ทำให้โอกาสยิงถูกประชาชนจนได้รับอันตรายเป็นไปได้สูง (ล่างขวา) 1 ใน 471 รายที่บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมในวันนั้น
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีออกคำสั่งขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ปี 2551 จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย

สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2560 ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ด้วยมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ยกฟ้อง ต่อมา ป.ป.ช.ได้ยื่นอุทธรณ์คดี แต่อุทธรณ์เฉพาะในส่วนของ พล.ต.ท.สุชาติ เพียงคนเดียว ในฐานะอดีต ผบช.น.และ ผบ.เหตุการณ์ ไม่ได้อุทธรณ์จำเลยที่ 1-3 ส่งผลให้คดีในส่วนของจำเลยที่ 1-3 เป็นอันยุติ

ทั้งนี้ ศาลฯ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 กระทำผิดเกินกว่าเหตุหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า ในชั้นไต่สวนพยาน พบว่า ผู้ชุมนุมมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ ส่วนการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ชุมนุม ก็ยังมีข้อโต้เถียงว่าเป็นผลมาจากแก๊สน้ำตาหรือไม่ นอกจากนี้ยังได้ความว่า การสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเข้าและบ่าย เจ้าหน้าที่พยายามเจรจากับผู้ชุมนุมแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

จากการไต่สวนพยาน ศาลเห็นว่า การใช้แก๊สน้ำตาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อเล็งเห็นผลที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งนานาประเทศก็นิยมใช้กัน และไม่ปรากฎว่ามีผู้เสียชีวิต การทำของจำเลยที่ 4 ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม

ส่วนกรณีที่เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว จำเลยที่ 4 สามารถเลื่อนประชุมหรือย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่นั้น ทางการไต่สวนได้ความว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาขณะนั้นแล้ว ทางสภาไม่สามารถเลื่อนหรือย้ายสถานที่ประชุมได้ เพราะเป็นการแจ้งในระยะเวลากระชั้นชิด ขณะที่จำเลยที่ 4 เป็น ผบช.น. ไม่มีอำนาจในการเลื่อนหรือย้ายสถานที่ประชุม แต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.และคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการดำเนินการเพื่อให้ ครม.และสมาชิกสภาเข้าประชุมตามกำหนด ดังนั้นที่ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 มานั้นชอบแล้ว

ทั้งนี้ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน มีมติเสียงข้างมากพิพากษายืนตามศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในองค์คณะผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนชั้นอุทธรณ์ คือ นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาและกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต) ในศาลฎีกา โดยมีคำวินิจฉัยสรุปว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ คือ จำเลยที่ 1 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในขณะนั้น และนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาขณะนั้น เนื่องจากไม่เลื่อนการแถลงนโยบายหรือเปลี่ยนสถานที่ประชุม ทั้งที่สามารถทำได้ "การยืนยันหรือฝืนสถานการณ์ที่เล็งเห็นได้ว่า อาจเกิดความสูญเสียแก่ชีวิตร่างกายของประชาชนไม่แต่เฉพาะผู้มาชุมนุม แต่ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนในสถานการณ์เผชิญหน้าเช่นนั้น จึงไม่ควรได้รับการรับรองว่าถูกต้อง"

คำวินิจฉัยของนายชำนาญ ยังระบุอีกว่า การเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องช่วงค่ำวันที่ 6 ต.ค. 2551 ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะเชื่อว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายชัย ประธานรัฐสภา ซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศ มิได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของบ้านเมือง และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน การไม่หลีกเลี่ยงภยันตรายที่เล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นด้วยการไม่เลื่อนหรือย้ายสถานที่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นเหตุให้มีการเผชิญหน้า ปะทะกัน เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน งบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งเกิดความเกลียดชังกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของฝ่ายการเมือง คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายชัย ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาในขณะนั้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และการไม่หลีกเลี่ยงภยันตรายที่เล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นด้วยการไม่เลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และจำเลยที่ 4 ผบช.น.

4.“บิ๊กตู่” ยันคลายล็อกพรรคการเมืองหลังโปรดเกล้าฯ กม.เลือกตั้งฯ ด้าน “อภิสิทธิ์” ซัด คสช.ส่อเปลี่ยนไพรมารีโหวตเอื้อดูด ส.ส.!
(ซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ขวา) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
สถานการณ์การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ยอมรับว่า จะมีการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาเรื่องไพรมารีโหวตและการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง รวมทั้งเตรียมประชุม คสช.เพื่อหารือเรื่องคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางอย่างได้ในวันที่ 28 ส.ค.

ปรากฏว่า หลังประชุม คสช.เมื่อวันที่ 28 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์เผยว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการคลายล็อกให้พรรคการเมือง ซึ่งต้องรอให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.โปรดเกล้าฯ ลงมา จึงจะสามารถให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในบางเรื่อง เช่น การประชุม การแก้ข้อบับคับ การตั้งกรรมการบริหารพรรค การรับสมาชิก เป็นต้น พร้อมยืนยันว่า กรอบการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดิม คือ เลือกตั้งเร็วสุด จะเป็นในเดือน ก.พ.2562 “วันนี้กำลังรอกฎหมายอีกฉบับหนึ่งลงมาในเดือน ก.ย. เมื่อกฎหมายลงมา จะมีเวลาอีก 90 วัน การปลดล็อกต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้ในช่วง ก.ย.-ธ.ค. เป็นระยะเวลา 90 วัน จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกพรรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อทำคำสั่งเสร็จแล้ว ก็ค่อยๆ ว่ากันอีกที”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุม คสช.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบคลายล็อกการเมืองและประเด็นอื่นรวม 6 ข้อใหญ่ แต่สามารถแตกออกเป็นประเด็นย่อยได้ 9 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่แค่การคลายล็อกอย่างเดียว แต่มีเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ส่วนรูปแบบการทำไพรมารีโหวตนั้น จะใช้วิธีการที่ใกล้เคียงที่สุด โดยคาดว่าจะเป็นแนวทางที่ให้พรรคการเมืองตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 11 คน แล้วรับฟังความเห็นของสมาชิกพรรค ก่อนเสนอชื่อผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค แล้วจึงให้กรรมการบริหารพรรคนั้นๆ พิจารณา

นายวิษณุยังกล่าวด้วยว่า “ไม่ทราบว่าจะมีคำสั่ง ม.44 ออกมาเมื่อใด แต่จะออกภายหลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และทุกอย่างจะจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่ง ม.44 ประกาศออกมา”

นายวิษณุยืนยันด้วยว่า คำสั่ง ม.44 ที่จะออกมา คสช.ต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ พรรคเล็ก

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการทำไพรมารีโหวตที่ คสช.เตรียมแก้ไขให้นำมาใช้ตามที่นายวิษณุกล่าว โดยชี้ว่า รูปแบบที่ให้ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการทำไพรมารีโหวตได้ เนื่องจากการหยั่งเสียงแบบไพรมารีโหวตไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการที่คณะกรรมการบริหารพรรคหรือคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครไปรับฟังความเห็น ดังนั้นการที่ คสช.จะทำอะไร ควรให้ความจริงกับประชาชน ถ้าไม่อยากทำไพรมารีโหวต หรือไม่พร้อมที่จะทำ คิดว่าไม่ควรทำแล้ว ก็พูดตรงๆ จะทำให้ประชาชนไม่สับสน

นายอภิสิทธิ์ยังมองสาเหตุที่ คสช.จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำไพรมารีโหวตด้วยว่า “เพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารีจะเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขา ต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี ไปแอบตกลงว่าช่วงท้ายๆ ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไม่ได้ เพราะว่าผู้สมัคร ส.ส.ต้องผ่านไพรมารีของพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง วันนี้ปัญหาข้อกฎหมายมีข้อเดียว ซึ่งเป็นความบกพร่องของ สนช.เอง”

ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ หลังจากมีกระแสข่าวว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะลาออกไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะลาออกไปเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐนั้น ล่าสุด รัฐมนตรีทั้งสองคนก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่เป็นความจริง โดยนายอุตตม กล่าวว่า ไม่ได้มีแผนที่จะลาออกในเวลาอันใกล้นี้ แต่เรื่องความสนใจที่จะทำงานให้บ้านเมืองนั้น มี แต่รูปแบบไหน ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่นายสนธิรัตน์ ยืนยันว่า จะทำงานต่อไป ส่วนในอนาคตจะเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้น แต่ยอมรับว่า มีการชักชวนให้ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจอะไร

5.กัมพูชารวบตัว “ไอ้โก้” มือฆ่าไฮโซเชอร์รี่แล้ว ก่อนส่งให้ไทย สารภาพบันดาลโทสะถูกด่าพ่อแม่ ยันไม่เกี่ยวเรื่องเงิน!
นายอัศยา ชัยภา หรือโก้ ผู้ต้องหาฆ่า น.ส.ธิติมา ตั้งวิบูลย์พาณิชย์ หรือเชอร์รี่
ความคืบหน้ากรณี น.ส.ธิติมา ตั้งวิบูลย์พาณิชย์ หรือเชอร์รี่ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ วัย 39 ปี ถูกตีด้วยไม้เบสบอลเสียชีวิต ภายในโรงแรมหรู ย่านลาดพร้าว ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับนายอัศยา ชัยภา หรือโก้ อายุ 33 ปี ลูกน้องคนสนิทของ น.ส.ธิติมา ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ล่าสุด ผู้ต้องหาถูกจับกุมแล้วพร้อมน้องชาย

โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ออกมาเผยว่า ทางการกัมพูชาสามารถควบคุมตัวนายอัศยา หรือโก้ ได้แล้ว โดยควบคุมตัวได้พร้อมกับนายอนุวัฒน์ ชัยภา น้องชาย ที่ถูกออกหมายจับฐานให้การช่วยเหลือผู้กระทำผิดหลบหนี โดยจับได้ที่บริเวณหมู่บ้านชาวประมง ในพื้นที่กำปงสะปือ เมืองกำปงโสม ประเทศกัมพูชา

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ เผยด้วยว่า การจับกุมผู้ต้องหาครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากทราบว่า ผู้ต้องหาได้หลบหนีออกไปประเทศกัมพูชา จึงได้สั่งการให้ชุดจับกุมประสานความร่วมมือกับทางการกัมพูชา ก่อนร่วมกันสืบสวน กระทั่งทราบแหล่งกบดานของผู้ต้องหา ทางการกัมพูชาจึงได้เข้าควบคุมตัว ก่อนนำตัวทั้ง 2 คน ส่งมอบให้ไทย ซึ่งจากการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ นายอัศยา ให้การรับสารภาพว่า ตอนอยู่ในห้องคอนโดฯ ที่เกิดเหตุ ได้มีปากเสียงกับผู้ตาย เถียงกันบานปลายถึงขั้นผู้ตายบันดาลโทสะด่าทอลามถึงบุพการีและลูกสาวของตน ที่ติดจากภรรยาเก่า จึงทำให้เกิดความคับแค้นใจ เนื่องจากผู้ตายเป็นคนอารมณ์ร้ายและรุนแรง มักด่าทอตนเป็นประจำถ้าไม่พอใจ นายอัศยายังอ้างด้วยว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตายเคยพูดจาอาฆาตขู่ฆ่า หากยังไม่เลิกยุ่งกับภรรยาเก่า จึงรู้สึกโมโหและหันไปเห็นไม้เบสบอล จึงคว้ามาฟาดใส่จนผู้ตายนอนแน่นิ่ง จากนั้นได้ขอให้น้องชายช่วยพาหนีข้ามชายแดน เพราะน้องชายเคยทำงานในบ่อนเขมรมาก่อน เมื่อปี 2553-2554 โดยระหว่างที่หลบหนี ก็เอาบัตรเครดิตของผู้ตายไปรูดซื้อของใช้

นายอัศยายังเผยเส้นทางหลบหนีด้วยว่า "ผมได้ข้ามพรมแดนทางช่องทางธรรมชาติ เข้าเสียมเรียบมาที่พนมเปญ เพื่อชื้อนาฬิกาแบรนเนม กระเป๋าหรู เพื่อเป็นทรัพย์สินติดตัวไว้ เผื่อใช้ยามจำเป็น และไปอยู่ที่กัมปงโสม ก่อนต่อมามีคนรู้จักซึ่งเป็นพรรคพวกน้องชาย ได้พาไปอยู่บ้านที่หมู่บ้านประมงดังกล่าว กระทั่งมาโดนอายัดบัตรเครดิต ทำให้ตอนถูกจับเหลือเงินติดตัวแค่ 400 บาท พร้อมกับทรัพย์สินที่ซื้อมาแล้วก่อนหน้านี้"

นายอัศยายังยืนยันด้วยว่า น้องชายไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยหลังเกิดเหตุ ได้บอกน้องชายว่า จะชวนไปเที่ยว โดยที่น้องชายไม่รู้ว่าตนเพิ่งไปทำอะไรมา ก่อนจะโทรคุยกับทางบ่อนที่ฝั่งกัมพูชา ให้พาข้ามไปโดยผ่าน ตม.ตามปกติ ซึ่งน้องเพิ่งมารู้ทีหลังว่าตนเพิ่งฆ่าคนตายมา

ส่วนมูลเหตุที่ก่อเหตุครั้งนี้ นายอัศยากล่าวว่า เกิดจากเรื่องรถยนต์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นรถที่ตนซื้อ เพื่อจะเอาไปให้พ่อกับแม่ใช้ เนื่องจากพ่อกับแม่ยังใช้รถจักรยานยนต์อยู่ แต่ผู้ตายก็ยังคงระแวงตน กลัวว่าจะเอาไปให้ภรรยาเก่าใช้ รวมถึงกลัวเรื่องผู้หญิงอื่นด้วย ซึ่งในวันเกิดเหตุ ตนจะเอารถคันดังกล่าวไปให้พ่อกับแม่ ทำให้ผู้ตายไม่พอใจและมีปากเสียงกัน ก่อนก่อเหตุดังกล่าว และว่า หลังก่อเหตุ ตนคิดจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่นึกถึงลูกและพ่อแม่ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ถ้าตายไป คงไม่จบ

จากนั้นตั้งใจจะไปหาพ่อกับแม่เพื่อกราบเท้าแล้วจะมอบตัว แต่ระหว่างทางก็คิดอะไรเยอะ จึงไปหาน้องชาย ก่อนพากันหลบหนีไปดังกล่าว ยอมรับและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยัน เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินแต่อย่างใด

ขณะที่นายอำนวย วิชัยโชติ พ่อของ น.ส.ธิติมา หรือเชอร์รี่ เผยว่า เตรียมทำบุญให้ลูก และจะบอกลูกว่า จับคนร้ายได้แล้ว ซึ่งอยากไปถามผู้ต้องหาด้วยว่า ทำไมทำกับลูกสาวตนขนาดนี้ เชื่อว่า เป็นการหวังทรัพย์สิน ซึ่งมันเกินที่จะให้อภัย ก็อยากให้รับโทษประหารให้สาสม

ด้านนายปฐมพัฒน์ พี่ชาย น.ส.ธิติมา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ทางครอบครัวดีใจมากที่จับตัวคนร้าย ที่ก่อเหตุในครั้งนี้ได้ ดวงวิญญาณของน้องเชอร์รี่ได้สงบสุข ขอขอบคุณนายตำรวจทั้งที่ประเทศกัมพูชา และไทย ที่ติดตามจนจับกุมได้ ขอให้ทางราชการตำรวจลงโทษขั้นสูงสุด อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

ล่าสุด 1 ก.ย. ตำรวจ สน.โชคชัย ได้นำตัวนายอัศยาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ก่อนนำตัวไปขอศาลฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัว เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ด้านศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีญาตินายอัศยามายื่นขอประกันตัวแต่อย่างใด หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร


กำลังโหลดความคิดเห็น