xs
xsm
sm
md
lg

เสวนา “การเมืองกับคนรุ่นใหม่” ผลักดันการเลือกตั้งที่โปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เสวนาวิชาการเรื่อง “การเมืองกับคนรุ่นใหม่” แนะคนรุ่นใหม่ทวงสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง ผลักดันการเลือกตั้งที่โปร่งใส ที่ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล ชั้น 13 อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้ (18 ส.ค.) เนื่องในวันครบรอบ 70 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเมืองกับคนรุ่นใหม่” ขึ้น โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายชวน ชูจันทร์ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วม

นายวราวุธ กล่าวว่า การเมืองในอนาคต หรือการสร้างสังคมไทยใหม่ ให้เกิดความเข้มแข็ง ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างนักการเมืองรุ่นใหม่ และนักการเมืองที่มีประสบการณ์ หรือนักการเมืองรุ่นเก่า เพื่อใช้แนวคิดใหม่ วิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ บวกกับประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าที่มีบทเรียนขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเพื่อสร้างอนาคตไทยที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม ประเด็นการมีบทบาททางการเมืองของคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน มีปัญหาคือถูกผู้ใหญ่บางกลุ่มจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ยอมเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่แสดงออก ดังนั้น การแก้ปัญหา คือ ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่กำหนดทิศทางของตนเอง ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เปลี่ยนหัวขบวนทั้งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้า เลขาธิการพรรค มีคนรุ่นใหม่ทำงาน ขณะที่ผู้ใหญ่ในพรรคที่มีประสบการณ์ต้องผสมผสานการทำงานร่วมกัน

“การเดินไปข้างหน้าในพรรคชาติไทยพัฒนา คนรุ่นใหม่จะเป็นคนกำหนด แต่ไม่ใช่ผู้ใหญ่ออกคำสั่ง แต่คำแนะนำของผู้ใหญ่ในพรรคถือเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนพรรคไปข้างหน้า หากพรรคมีโอกาสทำงานการเมืองจะเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกัน” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าว

นายธนาธร กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังคนรุ่นใหม่ สร้างพื้นที่ และออกมาทวงสิทธิต่อการกำหนดทิศทางและอนาคตของตนเอง รวมถึงผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพราะใน 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถึง 2 ครั้ง และเปลี่ยนรัฐบาลโดยกระบวนการไม่ปกติอีก 1 ครั้ง ฉะนั้น เยาวชนไม่มีโอกาสกำหนดอนาคตของตนเอง จนล่าสุดอนาคตของคนรุ่นใหม่ถูกกำหนดผ่านมาตรการและระเบียบของผู้มีอำนาจ ดังนั้นเพื่อให้อนาคตของคนรุ่นใหม่ เป็นของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง คนรุ่นใหม่ต้องแสดงจุดยืนให้การออกแบบอนาคตไว้ล่วงหน้า โดยคนรุ่นเก่าต้องยุติ

ด้าน น.ส.ขัตติยา กล่าวว่า กระแสเรียกร้องการเมืองของคนรุ่นใหม่มีเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ หรือนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะแสดงความเห็น และสะท้อนมุมมองต่อปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา ถือเป็นบทบาทสำคัญของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม การทำงานของคนรุ่นใหม่ต้องตั้งอยู่บนเป้าหมายเดียวกัน คือ ให้คนทุกคนมีโอกาสพื้นฐาน เข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานและมีความเท่าเทียมกัน สำหรับการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนรุ่นใหม่ ตนมองว่าหัวใจ คือ ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม ขณะที่บทบาทของพรรคการเมืองต่อการแก้ปัญหาเรื่องถูกจำกัดสิทธิหรือโอกาสทางการเมืองนั้น คิดว่าทุกพรรคต้องมีหลักการร่วมกัน คือ ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม ไม่ใช่วิธีสกปรก เช่น ยุบพรรค, แจกใบแดง หรือใช้กฎหมายกลั่นแกล้งคู่แข่งทางการเมือง รวมถึงทุกพรรคต้องร่วมกันแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลพวงของการรัฐประหาร นอกจากนั้น พรรคการเมืองต้องรักษาพื้นที่ของประชาชน ไม่สถาปนาให้ระบบเผด็จการกลับมาอีก

ด้าน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมเรียกร้องบทบาทของคนรุ่นใหม่ เพราะเชื่อในศักยภาพ มุมมองใหม่ และวิธีแก้ปัญหาเก่าด้วยวิธีใหม่ของคนรุ่นใหม่ สำหรับการเมืองอนาคตที่หลายฝ่ายมองว่าต้องเป็นของคนรุ่นใหม่ หรือรุ่นเก่านั้น ตนมองว่าในบทบาทต้องทำงานร่วมงาน ไม่อยากให้แยกกัน เพราะอาจเป็นการเพิ่มความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้นได้ สำหรับปัญหาหรืออุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางการเมือง คือความเป็นเผด็จการ ที่ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง การจำกัดสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกพรรค ดังนั้น ต้องปลดล็อกเรื่องดังกล่าว ทั้งการเลือกตั้งที่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยต้องชนะการเลือกตั้ง และการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อาทิ ประเด็นที่ให้ ส.ว. ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งได้สิทธิ์เลือกนายกฯ เป็นต้น

ในช่วงท้ายของเวทีเสวนา มีคำถามกรณีพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งมา 20 ปี นายพริษฐ์ ชี้แจงว่า ระยะ 20 ปี ตนยังไม่เคยเห็นพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งเช่นกัน แต่แม้ไม่ชนะเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ในบทบาทฝ่ายค้านมีความสำคัญต่อการถ่วงดุลระบบรัฐสภา

“พรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะเลือกตั้ง อาจเป็นเพราะนโยบายยังไม่โดนใจ แต่ผมเชื่อว่าหลังจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับ ให้เป็นพรรคยุคใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะการยืนฝ่ายประชาธิปไตยและมาเป็นรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่การตอบโจทย์ของประชาชน ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง มีหัวหน้าพรรคที่ประชาชนเลือก สุดท้ายพรรคใดจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายที่โดนใจ ขณะที่จุดยืนส่วนตัวของผม ยืนยันว่าจะไม่ยกมือให้นายกฯคนนอกเด็ดขาด” นายพริษฐ์ กล่าว













กำลังโหลดความคิดเห็น