xs
xsm
sm
md
lg

เผย 5 ผลงานยอดเยี่ยม Art Camp ที่สงขลาบ้านเกิด “ป๋า” เตรียมส่ง 2 ผลงานเด่นขึ้นประมูลร่วมศิลปินแห่งชาติปลายปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนศิลปะ “ป๋าเปรม” เผยผลการเฟ้นหา 5 ศิลปินยอดเยี่ยมรุ่นใหม่ที่มีผลงานเด่นชนะการประกวดศิลปกรรม Art Camp (ศิลปะสัญจร) ประจำปี 2561 ที่จังหวัดสงขลา เพื่อรับรางวัลและโอกาสส่งผลงานเข้าประมูลร่วมกับศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยมปลายปีนี้ เพื่อหาทุนมอบให้กับรุ่นน้อง
อ.ปัญญา วิจินธนสาร มอบรางวัลให้กับ 5 ผลงานยอดเยี่ยม และถ่ายรูปหมู่ร่วมกับผู้รับรางวัลในกิจกรรม Art Camp ประจำปี 2561  ที่จังหวัดสงขลา
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินงาน กองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ “มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์”(กองทุนฯ) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนฯได้นำอดีตนิสิต-นักศึกษาที่เคยได้รับทุนจาก “ป๋า” จำนวนกว่า 200 คน ร่วมจัดกิจกรรม Art Camp ประจำปี 2561 เป็นปีที่ 18 ของการจัดกิจกรรมนี้ หลังจากเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาได้จัดที่จังหวัดน่าน

วัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสผู้ที่ได้รับทุนศึกษาศิลปะของ “ป๋า” ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกัน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้จากท้องถิ่นที่ไปเยือน พร้อมได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยจัดประกวดวาดภาพให้กับนักเรียน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมศิลปะในท้องถิ่น
ศิลปินหนุ่มสาว เด็กทุน “ป๋า” พร้อมเฟรมและสี เตรียมเดินทางออกสร้างงานที่จังหวัดสงขลา
การจัดประกวดวาดรูปให้เด็กนักเรียนสงขลา ณ หอศิลป์สงขลา
“ปีนี้ เป็นปีที่ “ป๋า” จะมีอายุครบ 99 ปี พวกเราก็คิดว่าในช่วงระยะเวลาที่สำคัญนี้ เราควรหาโอกาส ไปเยือนบ้านเกิด “ป๋า” ที่จังหวัดสงขลา เพื่อเรียนรู้ในสิ่งดีๆ ที่ “ป๋า” ได้ทำไว้ให้กับแผ่นดิน” อ.ปัญญาอธิบาย ถึงสาเหตุการจัดกิจกรรม Art Camp ปีนี้ที่สงขลา
ผลงานภาพวาดบ้านเดิม “ป๋า” ที่อยู่ใกล้สี่แยก ถนนไทรบุรี ตัดกับถนนจะนะ ของ อ.เกรียงไกร   กุลพันธ์ อาจารย์ “ลาดกระบัง”  เด็กทุน “ป๋า”
การเดินทางไปครั้งนี้ยังมีกติกาที่จูงใจ โดยจะจัดให้มีการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดจำนวน 5 ผลงาน เพื่อมอบรางวัลให้และคัดเลือก 2 ผลงาน ที่ดีที่สุดนำขึ้นประมูลร่วมกับศิลปินแห่งชาติและศิลปินท่านอื่นๆ ปลายปีนี้ เพื่อหาทุนมอบให้กับศิลปินรุ่นน้องๆ ต่อไป
ศิลปินเด็กทุน “ป๋า” ทำงานอย่างมุ่งมั่น แข่งกันสร้างผลงานด้วยความหวังว่าจะเป็นผลงานยอดเยี่ยม
การไปจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ ได้มีการสำรวจและวางแผนเพื่อที่จะนำเด็กทุน“ป๋า”ไปสร้างสรรค์ผลงานใน สถานที่ๆงดงามจำนวน 4 แห่ง

สถานที่แห่งที่ 1 “หาดสมิหลา” ที่ท่องเที่ยวริมทะเลชื่อดัง มีรูปปั้น “นางเงือก” ลือชื่อ แต่เป็นเรื่องน่าแปลกใจ “หาดสมิหลา” กลับมีคนมาน้อยกว่าที่คาด ผลงานที่ได้ก็น้อยกว่าที่คิดมีเพียง 20 ผลงาน จากผลงานรวม 350 ผลงาน ที่สำคัญไม่มีผลงานใดที่ได้รับรางวัลจากการประกวด
ที่ “หาดสมิหลา” มีศิลปินหนุ่มสาวจับกลุ่มกันสร้างผลงานอยู่ริมหาด
สถานที่แห่งที่ 2 “เกาะยอ” มีศิลปินหนุ่มสาวมาเยือนมากขึ้น ผลงานมีจำนวนมาก แต่ทุกรูปกลับเหมือนเดิม คือไม่มีผลงานใดได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานยอดเยี่ยม ทำให้ทุกคนใจหายว่ามันเกิดอะไรขึ้น?
ศิลปินในคณะคนหนึ่งกำลังสร้างผลงานบนเกาะยอ
“สิริรัตน์ฎา น้อยวิชัย” ศิลปิน มือเยี่ยมกำลังเร่งสร้างผลงาน บนเกาะยอ
ดังนั้นทุกคนจึงมีใจจดจ่อกับ สถานที่แห่งที่ 3 ที่ “หาดเก้าเส้ง” เป็นสถานที่ที่งดงามด้วยหาดและสีสันของ “เรือกอและ” ที่เป็นวิถีชีวิตของชาวประมง ดังนั้นผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอันดับที่ 1 ใน 5 ผลงานยอดเยี่ยมจึงเกิด ณ ที่แห่งนี้ จากผลงานมีชื่อว่า “วิถีชีวิตหาดเก้าเส้ง”
กลุ่มศิลปินที่ทำงานที่ “หาดเก้าเส้ง”ได้ถ่ายรูปหมู่พร้อมผลงาน ซึ่งที่ 2 จากขาว คือ “วีรพงษ์ แสนสมพร” เจ้าของผลงานเดียวจาก “เก้าเส้ง” ที่เข้าถึง 5 ผลงานยอดเยี่ยมสุดท้าย
ผลงานสร้างสรรค์ของ“วีรพงษ์ แสนสมพร” ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานยอดเยี่ยม 1 ใน 5 ผลงานที่มีชื่อว่า “วิถีชีวิตหาดเก้าเส้ง” ขนาด 80 x 100 ซม.
ซึ่งเป็นผลงานของ “วีระพงษ์ แสนสมพร” ศิลปินอาศัยร่มเงาไม้ริมหาดสร้างสรรค์ผลงานให้เห็นความเป็นอยู่ของคนและ “เรือกอและ” ที่ถูกนำขึ้นมาเกยตื้นรอการซ่อมบนหาด บนเรือที่มีธงพริ้วปลิวไสวด้วยแรงลม ที่สะท้อนวีถีชีวิต วิถีธรรมชาติริม “หาดเก้าเส้ง”
“วีระพงษ์” รับรางวัลจาก ผศ.ไพโรจน์ วังบอน(ซ้าย) ประธานกรรมการคัดสินผลงาน
สำหรับสถานที่ต่อไป คือบ้านเกิด “ป๋า” ที่ “เมืองเก่าสงขลา” มีศิลปินหนุ่มสาวจำนวนมากมาชุมนุมที่นี่มากที่สุด ทำให้มีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานยอดเยี่ยมมีจำนวนถึง 4 ผลงาน
ศิลปินโชว์ผลงานที่สร้างสรรค์ ณ ท่าเรือย่านเมืองเก่าสงขลา ให้ชม
ลุยเมืองเก่า ลุยงานจนเสร็จ เลยนั่งโชว์ภาพที่ได้กันซักหน่อย
ผลงานที่ได้รับเลือกผลงานแรกเป็นของ “สกล มาลี” ศิลปินหนุ่มจากอีสานที่จบปริญญาตรีจาก “เพาะช่าง” ปริญญาโทจาก “ศิลปากร” ด้านศิลปะไทย เมื่อมาถึงสงขลาได้เห็นความงามหลายๆ มุมของสงขลา จึงสร้างงานสร้างชื่อผลงานว่า “เมืองเก่าสงขลา”
ผลงาน “เมืองเก่าสงขลา” ของ “สกล มาลี” ขนาด 80 x 100 ซม.
“สกล” ได้เล่าถึงสิ่งที่ตนเองมองเห็นในสงขลาด้วยฝีแปรงและสีเหลือง บอกเล่าความเป็นอยู่ บ้านเรือนในเมืองเก่าสงขลาที่เขาประทับใจอยู่กันประตูไม้บานเฟี้ยม ที่มีดาษดื่นทั่วไปหมด บอกเล่าถึงเรือหาปลาขนาดใหญ่ ที่จอดซ่อนตัวอยู่ในมุมต่างๆ ของทะเลสาบที่เงียบสงบ ช่างเป็นภาพที่น่าประทับใจของผู้มาเยือนอย่าง “สกล” เป็นอย่างยิ่ง
“สกล” รับรางวัลผลงานยอดเยี่ยมจาก อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ (ซ้าย)
เมื่อผลงานที่เข้ารอบจากเมืองเก่าสงขลาผ่านชิ้นที่ 1 ผ่านไปแล้วก็ขอนำให้ไปพบกับผลงานชิ้นที่ 2 ที่เป็นผลงานของ “พณิช ผู้ปรารถนา” อาจารย์หนุ่มเด็กทุน “ป๋า” อาจารย์สอนศิลปะจาก วิทยาลัยช่างศิลป์ ได้สร้างผลงานชื่อ “ท่าเรือบ้านนครนอก”
“พณิช ผู้ปรารถนา” ถ่ายรูปคู่กับผลงานที่ชื่อ “ท่าเรือบ้านนครนอก”
รูปผลงานของ “พณิช”
“อ.พณิช”ได้อาศัยซอยที่ไม่ใหญ่นักจากถนนนครนอก นำไปสู่ “ท่าน้ำศักดิ์สิทธิพิทักษ์” ของทะเลสาบสงขลา ให้ไปพบกับเรือหาปลาลำใหญ่ที่มีสีสันสวยงาม จอดเทียบท่าอยู่ ที่ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้แบบตรงไปตรงมา เห็นอย่างไรวาดอย่างนั้นจากของที่มีตัวตนจริงๆ ที่มีอยู่ตรงหน้า
“พณิช” รับรางวัลจาก อ.วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา (ซ้าย)
ผลงานต่อมา ที่เป็นผลงานชิ้นที่ 4 เป็นของ “วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ” ที่ได้อาศัยโต๊ะหลังร้านกาแฟ “Café Der See” เป็นที่วางเฟรม วิวที่ได้จากที่นั่งตรงนั้นที่มองตรงไปด้านหน้าจะเห็นทะเลสาบและเรือเดินสมุทรที่จอดลอยลำได้ผลงานชื่อ “เรือ”
“วีระพงษ์” (ขวา) รับรางวัลผลงานยอดเยี่ยมจาก คุณไพฑูรย์ วิโรจน์โภคา (ซ้าย) ที่ปรึกษากองทุน
“เรือ” ของ “วีรพงษ์” มีเสน่ห์เสมอ เนื่องจากศิลปินคนนี้เป็นคนชอบเรือ ชอบทะเล จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้ออกมางดงามมาก จนเจ้าของร้านกาแฟอดทนไม่ไหวได้แอบเดินมากระซิบขอซื้อ ขณะที่ “วีรพงษ์”สร้างสรรค์ผลงานใกล้เสร็จ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณภาพของผลงานได้อย่างชัดเจน
ผลงานชื่อ “เรือ”ของ”วีระพงษ์”
สำหรับผลงานที่ 4 ที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ผลงานยอดเยี่ยม และเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่ได้รับเลือกเป็นผลงานของ “อ.พรรษา พุทธรักษา” จาก ม.ศิลปากรชื่อ “บ้านสงครามโลก”
อ.ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินงานกองทุนฯมอบรางวัลให้กับ  อ.พรรษา พุทธรักษา
ผลงานชิ้นนี้ เมื่อเห็นชื่อก็เหมือนได้ยินเสียงระเบิดที่มาพร้อมกัน และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ ผลงานชิ้นนี้ ศิลปินเจตนาที่จะเขียนบอกเล่าประวัติความเป็นไปของตึกเก่า 3 ชั้นหลังนี้ที่อยู่บนถนนนครนอก ว่าเคยผ่านศึกสงครามระดับโลกในสงความโลกครั้งที่ 2 มาแล้วอย่างโชกโชน ที่สงครามเข้าขั้นแตกหัก ระหว่างสัมพันธมิตรกับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองตึกหลังนี้ใช้เป็นศูนย์บัญชาการ ทำให้ตึกหลังนี้ต้องถูกทิ้งระเบิดอย่างรุนแรง ไม่ปราณีถึง 3 ครั้ง 3 ครา กระจุยกระจายเหลือตึกไว้ให้เห็นอยู่เพียงซีกเดียว เช่นทุกวันนี้
ผลงานชื่อ “บ้านสงครามโลก” ของ อ.พรรษาที่ได้รับรางวัล


กำลังโหลดความคิดเห็น