xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ต.ต.วีรวัฒน์ เจริญศิลป์” เบื้องหลัง “กองร้อยกู้ชีพ ตชด.” ค้นหาโพรงช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้ภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิต “ทีมหมูป่า อะคาเดมี” จะผ่านไปนานนับเดือน แต่บทเรียนจากเหตุการณ์ที่นักฟุตบอลเยาวชนกลุ่มหนึ่งติดอยู่ในถ้ำนานถึง 18 วัน ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัย ยังคงมีหลายหน่วยงานต่างพยายามถอดบทเรียนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนต่างๆ นอกเหนือจากนักดำน้ำนานาชาติ และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยซีล) ที่ทยอยลำเลียงทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้อย่างปลอดภัยแล้ว ปฏิบัติการในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการช่วยเหลือตามความถนัด และไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยอื่น

หนึ่งในนั้นคือ “กองร้อยกู้ชีพ” กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ส่งกำลังสนับสนุนทีมค้นหา 13 ชีวิต ด้วยการสำรวจโพรงถ้ำบนดอย เพื่อหาทางเชื่อมต่อไปในจุดที่คาดว่าเด็กๆ จะติดอยู่ภายใน เพราะตั้งแต่ปากถ้ำมีน้ำท่วมสูงและเข้าไปด้านในอย่างยากลำบาก ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังในขณะนั้น



แม้ภารกิจจะเสร็จสิ้น แต่สารพัดเรื่องเล่าเรื่องราวจากถ้ำหลวงฯ ถือเป็นอีกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่น่าสนใจ MGR Online พาผู้อ่านมาเยือนค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อพูดคุยกับ “พ.ต.ต.วีรวัฒน์ เจริญศิลป์” ผบ.ร้อยกองร้อยกู้ชีพ ถึงเบื้องหลังภารกิจค้นหาโพรงในช่วงที่ฝนตกหนัก และเสี่ยงไม่แพ้ภายในถ้ำเลยทีเดียว

กองร้อยกู้ชีพ มีภารกิจหลักอะไรบ้าง

ภารกิจหลักอันดับแรก ถวายความปลอดภัยให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ตามคำสั่ง ทำหน้าที่ชุดสนับสนุนให้กับหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากล เรียกว่า “นเรศวร 261” ที่สมัยก่อนก็มีภารกิจในเหตุการณ์กลุ่มก็อดอาร์มีบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี หรือนักโทษพม่าแหกคุกที่เรือนจำสมุทรสาคร อยู่หน่วยเดียวกัน และยังเป็นหน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ปัจจุบันมีกำลังพลอยู่ 25 คน ซึ่งต้องผ่านการฝึกมาก่อน

ภารกิจอื่นๆ ของกองร้อยกู้ชีพตอนนี้มีเยอะไหม
สำหรับภารกิจของกองร้อยกู้ชีพนั้นมีมาก มีการสอนฝึกอบรม กู้ภัย หรือถ้ามีหน่วยงานที่อยากให้สอน อย่างตำรวจในหน่วยถ้ามีสอนเต็มหลักสูตรก็ 3 เดือน เช่น การดำน้ำแบบเบื้องต้น การดำน้ำแบบค้นหา ก็จะมาเรียน 1-2 สัปดาห์ แล้วแต่กำหนด อย่างหน่วยของผมก็จะมีหลักสูตรทางอากาศ โดดร่มลงทะเล ลงภาคพื้น เขาไปช่วยเหลือ น้ำ ฟ้า ฝั่ง ใต้ดิน พื้นที่ในป่า ถ้ามีคนเสียชีวิตก็จะไปเก็บกู้ออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นการจมน้ำ

ส่วนใหญ่จะเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีไหน
ส่วนใหญ่เมื่อมีเหตุด่วน เหตุร้าย ประชาชนทั่วไปจะโทร.ไปที่ 191 ทุกครั้ง ทางโรงพักจะประเมินสถานการณ์ว่าความยากง่ายของงานแต่ละประเภทมีแค่ไหน ถ้าเกิดว่าหน่วยงานในพื้นที่ เช่น มูลนิธิกู้ภัยทำได้ เขาก็จะเรียกมูลนิธิ แต่ถ้ามูลนิธิอาจจะทำไม่ได้ เช่น สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ก็จะเรียกกองร้อยกู้ชีพ แล้วก็เหตุการณ์สำคัญที่เป็นข่าวก็ตาม่องล่าย ที่มีครั้งหนึ่งที่ว่าประชาชนหลงเข้าไปในป่า แล้วลงมาไม่ได้


เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ได้รับมอบหมายให้ไปกู้เรือที่แม่น้ำเพชรบุรี
อย่างเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ได้รับมอบหมายให้ไปกู้เรือที่แม่น้ำเพชรบุรี ขณะนั้นกำลังปล่อยน้ำลงจากเขื่อนแก่งกระจาน น้ำเชี่ยวแรงมาก หน่วยกู้ภัยในพื้นที่ประเมินแล้วว่าอาจจะอันตราย คนเขายังไม่พร้อม เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งการผมก็ไป แล้วก็สามารถนำเครื่องยนต์เรือขึ้นมาได้ ตอนนั้นผมดูแล้วอันตราย แต่ว่าเขาสั่งมาแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่ สร้างความปลอดภัย
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ได้รับมอบหมายให้ไปกู้เรือที่แม่น้ำเพชรบุรี

ถือว่าภารกิจจับฉ่ายหรือเปล่า ทำได้สารพัด

ทำได้แบบหาไม่ได้แล้ว เดี๋ยวเราไปช่วยเอง ข้อดีคือเรามีอากาศยานอยู่ใกล้ๆ

เท่ากับว่า ถ้าเรียกหน่วยนี้ให้ไปสนับสนุนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ยากลำบากจริงๆ

เพราะว่าทางของเรามีเครื่องบินสนับสนุนอยู่ที่นี่ มีหน่วยบินตรงนี้ เวลามีเหตุที่ต้องใช้อากาศยานในการช่วยเหลือ ผมก็จะร้องขอหน่วยบินตำรวจ ถึงจะอยู่คนละส่วนกัน แต่อยู่ที่นี่ก็ประสานงานกันง่าย พอมีอากาศยานแล้ว ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ด้วยดี เช่น บางพื้นที่ไกลมาก ในทะเล การค้นหาทางเรือยากลำบาก ต้องใช้อากาศยานในการมองมาจากข้างบนลงมาข้างล่าง หรือว่าการขนย้ายผู้ป่วย เมื่อขนย้ายทางเรือไม่ได้ รถยนต์ไม่ได้ ก็ต้องทางอากาศ ที่เร็วที่สุดก็มีเฮลิคอปเตอร์ ทำให้หน้าที่เราหลากหลายและครอบคลุม ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ

มันจะดูไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยอื่นหรือ สมมติทางเรือ ก็มีกองทัพเรืออยู่แล้ว

ประสานด้วยกัน อย่างทางเรือ ส่วนหนึ่งเขาจะมีกองทัพเรือด้วย ส่วนใหญ่ถ้าในโซนบริเวณใกล้ๆ เขาก็จะมาร้องขอเราก่อน ผู้บังคับบัญชาก็จะพิจารณาว่าจะให้เราทำหรือไม่ อย่างไร ก็จะร้องขอไป ขึ้นอยู่ผู้บังคับบัญชาการสั่งการ ซึ่งเราไปได้ทั่วประเทศ เหตุการณ์สึนามิเราก็ไป หรืออย่างที่ถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผู้บังคับบัญชาก็สั่งการมาถึงทำได้ แต่ผมเตรียมการเรียบร้อยแล้ว

เท่ากับว่าเราต้องตามข่าว รู้เรื่องราวมาก่อน ถึงได้เตรียมการเรียบร้อย

รู้เรื่องมาก่อน ประเมินสถานการณ์ เตรียมอุปกรณ์ไว้ ถ้าเขาสั่งปุ๊บก็ไปได้เลย ไม่ใช่รอให้สั่งก่อนแล้วมาเตรียมทีหลัง มันก็จะล่าช้า ผมเตรียมคน อุปกรณ์ วางแผนทุกอย่างแล้ว เตรียมไว้ในใจแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชาถามมา ผมก็จะตอบไปว่าทีมผมมีคนเท่านี้ อุปกรณ์เท่านี้ ความสามารถแบบนี้ ช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าเกิดว่าตามความต้องการนี้ถึงจะสั่งการ

ที่ผ่านมาตามข่าวทุกข่าวตลอด บางข่าวถ้าเขาช่วยได้ก็จบตรงนั้น แต่ถ้าช่วยไม่ได้ หรือว่าต้องการความช่วยเหลือ ผู้บังคับบัญชาก็จะประเมินแล้วว่า หน่วยของเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ตรงนี้ผมก็เตรียมประเมินตั้งแต่แรกแล้ว เตรียมคน พร้อมอุปกรณ์แล้ว แจ้งลูกน้องไว้แล้ว ช่วงนี้ห้ามลา เราจะมาเตรียมอุปกรณ์กัน ทบทวนกัน

สมมติพอมีเหตุเรือล่ม เอาละ ผมจะเตรียมอุปกรณ์อันไหน สมมติอุปกรณ์เสียหายบ้างก็รีบแก้ไข แล้วก็ฝึกดำน้ำอะไรบ้าง เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ตลอด ซึ่งเราเตรียมความพร้อมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แล้วแต่ว่าจะเตรียมพร้อมเรื่องไหนเรื่องทางอากาศ ทางบก หรือทางน้ำ

ในการคิด การทำงาน ผู้บังคับบัญชาให้อิสระเราบ้างไหม

ให้อิสระ เพราะเขาเชื่อในตัวเราว่าเราทำได้ เขาเชื่อมั่น เราเสนอไป เขาก็รับฟัง




มาถึงเรื่องของถ้ำหลวง พอเราทราบข่าวแล้ว เตรียมความพร้อมยังไงบ้าง

ในเบื้องต้นผมดูข่าวตลอด เราไม่เห็นในพื้นที่ ก็จินตนาการว่าลักษณะถ้ำเป็นแบบไหน มีน้ำท่วม ทางเข้าออกเป็นแบบไหน แต่ที่แน่ๆ ผมรู้ว่ามีเพื่อนที่เป็นมนุษย์กบ มูลนิธิ นักดำน้ำ ตำรวจน้ำ ไปดำน้ำกัน เขาไปกันเยอะมาก ผมก็เลยคิดนอกเหนือจากนั้นไป เพราะตามธรรมชาติ ถ้ำทุกถ้ำที่มีน้ำก็จะมีโพรงอยู่ เพราะว่าโพรงเกิดจากการกัดเซาะของน้ำจนเป็นรู แล้วไปรวมกันใต้ถ้ำไหลออกมา

ผมก็เลยสร้างสมมติฐานว่า ถ้าผู้บังคับบัญชาเขาสั่งการ ผมจะเสนอแนวทางนี้ จะโรยตัวทางปล่องเพื่อเข้าไปช่วย เรามีไอเดียในใจแล้ว ใช้วิธีการในปล่องอีกด้านหนึ่ง คู่ขนานกับเขาไป เขาดำไป เราหาโพรงข้างบนเพื่อให้เร็วขึ้น ถามว่าการดำน้ำ ผมดำน้ำได้ไหม ผมดำได้ แต่ในถ้ำงานมันเยอะอยู่แล้ว คนเขาเยอะอยู่แล้ว เลยคิดแนวทางอื่นคู่ขนานไป อาจจะมีแนวทางได้ดีกว่านี้ ปลอดภัยกว่านี้ ก็คือทางข้างบน

เหตุการณ์ผ่านไปนานหรือยัง ก่อนที่จะขึ้นไปถ้ำหลวง

เหตุการณ์ผ่านไป 2 วันเอง ทีแรกทางผู้บังคับบัญชาอาจจะมองว่า 1-2 วัน ช่วยได้เลย ปรากฏว่ายังช่วยไม่ได้ เพราะว่า 2 วันแล้ว 3 วันก็เริ่มอันตรายแล้ว เด็กก็เริ่มหิว ก็เลยสั่งการพวกเราไป ก็เสนอว่าแนวทางของกองร้อยฯ ยังไงบ้าง ผมเสนอไปว่าจะใช้การโรยตัวเข้าทางปล่อง

วันที่เดินทางไปกันกี่นาย มีมาสมทบไหม

ไปกันทั้งหมดวันนั้น 12 นาย ใช้เครื่องบินของกองบินตำรวจจากหัวหินไป สมทบภายหลังอีก 4 นาย รวม 16 นาย





พอไปถึงหน้างาน สภาพที่เราพบเห็นเป็นอย่างไร


จังหวัดเชียงราย ณ เวลานั้นมีฝนตกตลอดเวลา แล้วก็พอรู้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้ำนี้มีความลึกมาก มีโพรงลึกเข้าไปแล้วก็กว้าง น้ำก็สามารถท่วมตั้งแต่ปากถ้ำจนถึงเกือบสุดทาง สภาพภูเขาเป็นเขาที่ค่อนข้างใหญ่ ขุนน้ำนางนอนใหญ่มาก พอดีว่าที่โน่นมีของกองกำกับการ ตชด.32 จังหวัดพะเยา ทางผู้กำกับการฯ พ.ต.อ.รังสิมันต์ สงเคราะห์ธรรม ก็จะหาข้อมูลจากชาวบ้านที่เคยเดินหาของป่าแถวนั้นว่า เขาเคยเห็นโพรงที่ไหนบ้าง ก็จะให้เขาไปชี้จุด กี่จุดๆ เราก็วางแผนในการลงปล่องนั้น

ปล่องแต่ละปล่องมีความซับซ้อนแตกต่างกัน สภาพพื้นผิวของถ้ำก็แตกต่างกัน บางทีถ้าเกิดว่าผาที่ดูแข็งแรงจะง่ายหน่อย แต่บางที่เริ่มจะเป็นโคลน เป็นหินทับผสมดิน อันนี้พร้อมที่จะถล่มลงมาตลอด แล้วก็พอเข้าไปลึกๆ สภาพอากาศเริ่มหายใจไม่ออก นี่คืออันตราย แต่ละโพรงแคบลง บางทีทางเข้ามันอาจจะกว้าง พออีก 10 เมตรก็แคบ พออีก 5 เมตรก็กว้างอีก บางทีก็ขึ้น บางทีก็ลง มันสลับซับซ้อนมาก ไม่เท่ากันเลย เดาไม่ถูกเลย นอกจากเราจะไปหามันเอง ขุดเอง

อีกอย่างหนึ่งก็คือ จากการสอบถามคนแถวนั้นแล้ว แถวนั้นมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยมาก ทำให้สภาพภายในถ้ำทางภูมิศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าบางโพรงเขาบอกว่าถึง แต่พอผมเข้าไปกลับมีเศษหินใหญ่ๆ เหมือนถล่มลงมาทับไว้อยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ไปต่อไม่ได้ นี่คือปัญหา

แล้วสำรวจไปทั้งหมดกี่โพรง ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเชื่อมถึงถ้ำประมาณเท่าไหร่


เยอะมาก เท่าที่ผมเข้าไปโดยประมาณ 8-9 โพรง ในใจคิดว่าทุกโพรง ทุกแห่ง มีความเป็นไปได้ เราทำๆ ไป บางที่ เหลือรูเล็กนิดเดียว คนเข้าไม่ได้ก็ใช้เครื่องเจาะ เพื่อให้ต่อระยะให้ไปได้ไกลอีก พอมาถึงจุดสุดท้าย มันเหมือนหินถล่มแล้ว บางจุดก็เหมือนกับว่าไปได้แค่คนเดียว มันแคบมาก คนผอมๆ คนหนึ่งที่จะลอดเข้าไปได้ ถ้าเกิดว่าดินถล่มขึ้นมาเป็นปัญหาเลย

ประเมินไหมว่าโพรงตรงนั้นไม่น่าจะไปได้แล้ว


ประเมินครับ เพราะว่าตรงนั้นเรายังไม่รู้เลยว่ามันจะไปถึงหรือเปล่า เพราะมันใหญ่มาก เราก็ประเมินได้ว่า โอกาสมันอาจจะ 1 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ คือ 0.1 เปอร์เซ็นต์ที่จะไปเจอ แต่ชีวิตของคนก็สำคัญที่จะไปช่วย ถึงด้านในยังรอคอยความช่วยเหลือ แต่ชีวิตของคนที่ไปช่วยก็ต้องให้ปลอดภัยด้วย

เห็นว่ามี ผบ.ตร.กับรอง ผบ.ตร.ไปด้วย

มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร., พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ ไปด้วยที่จุดๆ หนึ่ง เรียกว่า ผาหมี ตอนนั้นผมแบ่งชุดออกไปทั้งหมด 4 ชุด กระจายหาพื้นที่ที่เป็นโพรง

ผาหมีตรงนั้น เป็นพื้นที่ที่นักดำน้ำชาวอังกฤษ 3 คน (จอห์น โวลันเทน, ริชาร์ด สแตนตัน และ เวิร์น อันสเวิร์ธ) ดำน้ำเจอเด็กชุดแรก เขาไปกับผม เพราะครั้งแรกที่เขามาประเมินแล้วว่าดำน้ำต่อไปไม่ได้ น้ำท่วมถึงปากถ้ำก็เลยมากับผม แล้วก็ไปเจอโพรงนี้ แล้วเราก็ให้คนของเราลงไปสำรวจ

ปรากฏว่ามันไปได้ 10 เมตรแล้ว แล้วก็ต้องเจาะเข้าไปอีก 10 เมตร อันนี้คือแคบเลย แล้วก็หินคมมาก คือว่าเวลาที่ผมลงไป ผมจะให้ลูกน้องมัดเชือกติดตัวไว้ หากเกิดถล่มลงมา ผมสามารถจะขุดช่วยเขาตามเชือกนำทางไป นำทางว่าคนคนนี้อยู่ตรงนี้ พอขุดต่อก็เป็นโพรงใหญ่อีก ก็ขุดต่ออีกเรื่อยๆ บางครั้งหินก้อนเท่ากำมือ ใช้เวลาขุด 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึงยอมหลุด

บางจุดมันแข็งมาก บางจุดถึงตันแล้ว มันรูเท่านี้ (หยิบกระดาษ A4 เปรียบเทียบ) คนเข้าไม่ได้ ก็ต้องเจาะให้มันใหญ่ขึ้น ซึ่งชั้นหินตรงนั้นแข็งแรงมาก แต่บางจุดก็เปราะบาง

ช่วงที่ยังไม่มีสัญญาณเจอน้องๆ 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ รู้สึกล้าบ้างไหม

ไม่ล้า คนทำงานอย่างพวกผม ถ้ามันยังไม่เสร็จรู้สึกมันไม่อยากจะนอน ไม่อยากทำอย่างอื่นแล้ว อยากทำตรงนี้ให้มันเสร็จ ให้มันจบให้ได้ ผมทำไปสิบกว่าวัน ผมไม่มีพักเลย ทำให้ได้อย่างเดียว ตั้งใจ นึกถึงลูกหลานเรา คนที่เรารัก หรือญาติพี่น้องเราก็อยากจะช่วยให้เร็วๆ ถ้าเกิดมันไม่ผ่าน มันรู้สึกเหมือนคาใจ ทุกงานผมต้องทำอย่างนั้น ผมต้องหวังผลให้ได้ ถึงเราเหนื่อยแล้วนะ เราทำให้ดีที่สุดก็พอแล้ว

มาถึงช่วงที่พบน้องๆ ภายในถ้ำแล้ว สำรวจโพรงมีการเปลี่ยนแผนไหม หรือเดินหน้าต่อ


พอเราทราบว่าเจอแล้วก็ทราบว่า ปัญหาอีกอย่างคือการนำออก นี่คือจุดที่ยาก เพราะผมดำน้ำมาก่อน รู้ว่าการที่จะดำน้ำออกมันไม่ง่าย นักดำน้ำในประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา อากาศ อุปกรณ์ชำรุดเสียหาย ทุกคนจะดำขึ้นเพื่อหายใจ แต่อันนี้เป็นเพดานถ้ำ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา หายใจไม่ได้ มันเหมือนมีน้ำอยู่ในท่อ อุบัติเหตุปุ๊บ มันขึ้นไม่ได้ คือน้ำท่วมไปหมดเลย ไม่มีเพดานอากาศที่จะหายใจ ความยากคือเราขึ้นไม่ได้เลย คือนักดำน้ำต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไปยาก

เพราะฉะนั้น การสำรวจโพรงยังดำเนินต่อไป อาจจะเข้าไปปุ๊บ ถ้าเจอโพรงก็อาจจะให้น้องขึ้นมาทางโพรงแทน การดำน้ำเท่าที่ทราบมาก็ดำน้ำความยาว เกือบๆ กิโลเมตร คนธรรมดาถ้าฝึกดำน้ำใหม่ๆ ดำยังไงก็ไม่ได้หนึ่งกิโลเมตรแน่นอน

เราสโคปแคบลงไหม อย่างเช่น บริเวณดอยที่ใกล้กับเนินนมสาว หรือสำรวจไปทั่ว


เราสำรวจกันไปทั่ว มันอาจจะไม่ตรงเนินนมสาว มันอาจจะอยู่เนินโน้น แต่มันซิกแซกเข้ามาหาเนินนมสาวได้ แต่ว่ายังโฟกัสที่จุดเนินนมสาวอยู่เพื่อหาความใกล้เคียง

ทราบมาว่ามีลูกทีมคนหนึ่งเจ็บป่วย

ครูจ่อย (ด.ต.วัชรพงษ์ บัณฑิต) เป็นคนที่ผอมมาก พอโพรงเล็กๆ เขาเข้าได้คนเดียว ก็เลยไปได้ไกลกว่าชาวบ้านเขา คือพอดีเราสกัดได้นิดหนึ่ง เขาก็เข้าได้เลย คนอื่นเข้าไม่ได้ เขาไปได้ไกลมาก แล้วจังหวะเราที่คลานต่ำ คลานไกลๆ เข่าก็ไปกระแทกหิน คือครูจ่อยเขาค่อนข้างตั้งใจ กับผมเวลาสั่งอะไร เขาจะไม่ปฏิเสธเลยสักอย่าง เขาจะไปโดยไม่พูดเลยสักคำเลย ไปอย่างเดียว ไม่ได้สนใจว่าเขาจะเจ็บป่วย เขาจะฝืนไปให้ได้

ตอนที่ว่าเขาป่วยเขาก็นอน ก็สังเกตว่าเขาเป็นอะไรแปลกๆ เซื่องซึม ก็ถามเขาว่าจะกลับไหม เขาก็ไม่กลับ ผมต้องบังคับให้เขาไปรักษาก่อน ที่โรงพยาบาลแม่สาย เรียกเฮลิคอปเตอร์มารับขึ้นไป กระทั่งอาการเขาดีขึ้นแล้ว เขาตั้งใจ คือบางทีเขาทำงาน ถ้าผมไม่สั่งหยุดเขาจะไปเรื่อยๆ 6-7 ชั่วโมงเขาก็จะไปของเขาเลย ต้องสั่งหยุด บอกว่าครูจ่อยหยุดก่อน กลับมาก่อน มากินข้าวก่อน


แล้วลูกทีมที่เหลือ 14-15 คน แต่ละคนสภาพเป็นยังไง ปฏิบัติงานในนั้นลำบากไหม


ลำบาก ส่วนใหญ่คนทำงานเกือบทุกคน เช่น สมมติว่าความยาวถ้ำ 50 เมตร ทุกๆ 10 เมตร ผมจะมีคน 1 คน เขาอยู่ข้างในสุด ครูจ่อยอยู่ข้างในสุด พูดไม่ได้ยิน ผมไม่รู้ว่าครูจ่อยเป็นยังไงบ้าง ต้องพูดต่อๆ กันมา หรือใช้วิทยุสื่อสารพูดต่อๆ กันมา แต่ว่าในถ้ำสัญญาณมันอับหมดเลย ใครเป็นอะไรปุ๊บ อย่างครูจ่อยถึงได้รู้ ช่วยกันต่อๆ กันได้ ถ้าเกิดว่าทิ้งคนเดียวก็อันตราย วิทยุสื่อสารถ้าอยู่ข้างในโพรงสัก 10 เมตรก็ไม่ได้ยินแล้ว ต้องใช้ต่อๆ เป็นระยะ ถ้าเกิดต้องการอุปกรณ์เพิ่มก็จะส่งต่อกันมา

ช่วงที่ลำเลียงนำเด็กออกมา ด้านบนเราก็ยังทำต่อไหม หยุดภารกิจตอนไหน


หยุดจริงๆ คือตอนที่น้องออกครบทุกคน เขากลับมาแล้ว ภารกิจนี้ผมก็เริ่มเบาแล้ว เริ่มเก็บอุปกรณ์ เริ่มถอนขึ้นมา รู้ว่าปลอดภัยแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่หน่วยเราที่ไปช่วย หรือแม้จะเป็นใครก็ตาม จุดประสงค์เดียวกันคือช่วยพวกเขา ชุดแรกลำเลียงออกไปแล้ว เราก็ยังคงทำงานกันต่อ กระทั่งลำเลียงวันสุดท้าย

ถามถึงการสูญเสียจ่าแซม (น.ต.สมาน กุนัน) ถึงจะอยู่คนละหน่วย ตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้าง


ความรู้สึกแรก ก็ต้องแสดงความเสียใจต่อครอบครัวเขาด้วย ถือเป็นผู้ที่เสียสละที่ยิ่งใหญ่ การเสียสละชีวิตตนเองเพื่อให้ผู้อื่นอยู่รอด ถือว่าเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จ่าแซมก็จะถูกเป็นที่จดจำตลอดไป ความจริงก็คือเขาไม่ได้อยู่มนุษย์กบ เขาออกจากราชการแล้ว แต่เขาก็ยังเต็มใจที่จะมาช่วย

แต่ละคนที่เข้ามาช่วยเป็นอย่างไรบ้าง


ทุกๆ คนที่ผมรู้จัก แม้ว่าเขาไม่สามารถอาจจะช่วยได้ด้วยความสามารถของเขา แต่เขาก็ช่วยเรื่องอื่น เช่น ข้าวสารอาหารแห้ง หรือว่าชุดซักผ้า กลุ่มของผมจะรวมตัวกันที่ ตชด.327 (กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 327 อ.แม่จัน จ.เชียงราย) เขาก็จะมีชุดซักผ้ามารับผ้าตลอดทุกวัน ซักให้อย่างดี

คือเสื้อผ้าผม สภาพมอมแมมมาก เขาจะซักแล้วก็รีดหอมมาก พับมาให้เรียบร้อย จริงๆ ต้องขอบคุณเขามาก ซักให้อย่างดีมาก เพราะว่าบางทีผมกลับมาสามสี่ทุ่มก็คงไม่มีเวลามาซักผ้า กลับมาถึงปุ๊บก็ต้องวางแผน เตรียมอุปกรณ์ใหม่อีก บางทีผมก็นอนค้างในป่าเลย 2-3 คืน ทำงานยาวเลยยังไม่กลับ ใส่เสื้อตัวเก่าๆ นั่นแหละ กลับมาอีกทีคือเน่ากว่าเดิมอีก



ภารกิจนับตั้งแต่วันแรก ปฏิบัติงานในแต่ละรอบยังไง

พอขึ้นไปถึงจุดที่ทำงานแล้ว สมมติผมมี 10 คน ทำงานสัก 7 คนอยู่ตามไลน์ต่างๆ อีกคนก็เป็นคนเจาะ อีก 2 คนก็พักกินข้าวกันไป เวลาพักผมจะหมุนอยู่ในตัวอยู่แล้ว ทำให้การขุดเจาะต่อเนื่องไม่ขาดตอน สับเปลี่ยนกำลังหน้างานได้เลย ช่วงกลางคืนพักผ่อน เช้ามาก็เริ่มใหม่ ต้องออมกำลัง คนเราส่วนใหญ่ทำงานได้ 8-10 ชั่วโมง แต่เอาเข้าจริงข้างในโพรงก็มืด ไม่รู้ว่าข้างนอกจะกี่โมงกี่ยาม แต่เราต้องให้กำลังพลพักผ่อนตามเวลา เช้ามาก็เริ่มใหม่ เพื่อให้เขาสดชื่น

จากเหตุการณ์ถ้ำหลวงจะนำเรื่องการกู้ภัยครั้งนี้ไปถอดบทเรียนอย่างไร

ก็จะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการฝึกก่อน เช่น การดำน้ำ การกู้ภัยเกี่ยวกับป่า ภูเขา การใช้เชือก การใช้รอกในการกู้ภัยและอุปกรณ์ต่างๆ เหตุการณ์ในลักษณะนี้ในเมืองไทยยังไม่เคยเจอ ในต่างประเทศมีคล้ายกัน ในถ้ำเหมือนกัน เป็นนักดำน้ำติดในถ้ำ แต่ว่าเสียชีวิต ในประเทศไทยยังไม่เคยมี มีแต่ฝรั่งหลงป่าที่ตาม่องลาย ใช้เฮลิคอปเตอร์ช่วยเหลือ

จะเน้นเรื่องของการดำน้ำ

การดำน้ำ คิดเล่นๆ สมมติถ้าผมเป็นนักดำน้ำ กรณีที่เป็นแบบในถ้ำ เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เจอเพดาน ต้องทำยังไง ต้องมีอากาศสำรองไหม อะไร ยังไง ถังอากาศสำรอง อุปกรณ์ชำรุดหรือเปล่า และอุปกรณ์ก็ต้องทันสมัยมากขึ้น ปกตินักดำน้ำ ถ้าดำน้ำในกรณีค้นหาช่วยเหลือ ถ้าน้ำขุ่นแบบในถ้ำ คือมันมืดมองอะไรไม่เห็น ทัศนวิสัยเป็นศูนย์แน่นอน แว่นหรือมาสก์ (หน้ากาก) ที่ไว้ใส่ดำน้ำ มันเอาไว้แค่มองตัววัดอากาศว่าเหลือเท่าไหร่แค่นั้น คือถ้ามืดปุ๊บ มองอะไรไม่เห็น ก็ใช้ไฟฉายส่องเหลือกี่บาร์ๆ แล้วก็ดูเข็มทิศบ้าง เผื่อหลงทิศ
ถ้าน้ำทะเลที่นี่ (ชะอำ) มองได้แค่ไม่เกิน 5 เมตร เกินกว่านี้ก็ไม่เห็นแล้ว ถ้าทะเลอันดามัน โอเค น้ำใส แต่ถ้าเกิดแถวๆ นี้ไม่ใช่ แต่ถ้าแม่น้ำ ป่า ภูเขา จะไม่เห็นเลย เวลามีเหตุกู้ภัย เหตุจมน้ำต่างๆ นักดำน้ำทำได้แค่คลำ มองไม่เห็นเลย

อย่างตอนไปกู้เรือเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ในแม่น้ำเพชรบุรี ผมก็คลำอย่างเดียว คือมืดเลย ดำเลย ไม่เห็นเลย ประมาณ 6 เมตร น้ำเชี่ยวมาก เขากำลังปล่อยน้ำอยู่ ร่องนั้นแหละที่ผมไปดำมา ความลึกไม่เท่าไหร่ แต่น้ำเชี่ยวด้วย

ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบถ้ำหลวงในอนาคต มีคำแนะนำอะไรบ้างไหม

พอเกิดเหตุแบบถ้ำหลวงขึ้น ประชาชนเริ่มตื่นตระหนก ไม่กล้าเข้าไปในถ้ำลึกๆ แล้ว แต่เหตุแบบนี้นานๆ จะเกิดขึ้นน้อยมาก ถ้าเหตุจากภัยธรรมชาติ ความรุนแรงมันมากขึ้นทุกปี ซึ่งมีเวลาที่จะบอกได้ เช่น ช่วงนี้รู้เลยว่าจะเกิดมรสุม พายุเข้าที่ภูเก็ต ทำให้ประชาชนรู้ว่า ช่วงนี้อย่าไปเที่ยวนะ คงต้องเตรียมความพร้อมไปตลอดช่วงหน้าน้ำเกือบๆ ปลายปี



จากเหตุการณ์ถ้ำหลวง จะนำเรื่องการกู้ภัยครั้งนี้ไปถอดบทเรียนอย่างไร


ก็จะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการฝึกก่อน เช่น การดำน้ำ การกู้ภัยเกี่ยวกับป่า ภูเขา การใช้เชือก การใช้รอกในการกู้ภัยและอุปกรณ์ต่างๆ เหตุการณ์ในลักษณะนี้ในเมืองไทยยังไม่เคยเจอ ในต่างประเทศมีคล้ายกัน ในถ้ำเหมือนกัน เป็นนักดำน้ำติดในถ้ำ แต่ว่าเสียชีวิต ในประเทศไทยยังไม่เคยมี มีแต่ฝรั่งหลงป่าที่ตาม่องลาย ใช้เฮลิคอปเตอร์ช่วยเหลือ

จะเน้นเรื่องของการดำน้ำ

การดำน้ำ คิดเล่นๆ สมมติถ้าผมเป็นนักดำน้ำ กรณีที่เป็นแบบในถ้ำ เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เจอเพดาน ต้องทำยังไง ต้องมีอากาศสำรองไหม อะไร ยังไง ถังอากาศสำรอง อุปกรณ์ชำรุดหรือเปล่า และอุปกรณ์ก็ต้องทันสมัยมากขึ้น

ปกตินักดำน้ำ ถ้าดำน้ำในกรณีค้นหาช่วยเหลือ ถ้าน้ำขุ่นแบบในถ้ำ คือมันมืดมองอะไรไม่เห็น ทัศนวิสัยเป็นศูนย์แน่นอน แว่นหรือมาสก์ (หน้ากาก) ที่ไว้ใส่ดำน้ำ มันเอาไว้แค่มองตัววัดอากาศ ว่าเหลือเท่าไหร่แค่นั้น คือถ้ามืดปุ๊บ มองอะไรไม่เห็น ก็ใช้ไฟฉายส่องเหลือกี่บาร์ๆ แล้วก็ดูเข็มทิศบ้าง เผื่อหลงทิศ

ถ้าน้ำทะเลที่นี่ (ชะอำ) มองได้แค่ไม่เกิน 5 เมตร เกินกว่านี้ก็ไม่เห็นแล้ว ถ้าทะเลอันดามัน โอเค น้ำใส แต่ถ้าเกิดแถวๆ นี้ ไม่ใช่ แต่ถ้าแม่น้ำ ป่า ภูเขา จะไม่เห็นเลย เวลามีเหตุกู้ภัย เหตุจมน้ำต่างๆ นักดำน้ำทำได้แค่คลำ มองไม่เห็นเลย อย่างตอนไปกู้เรือเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ในแม่น้ำเพชรบุรี ผมก็คลำอย่างเดียว คือมืดเลย ดำเลย ไม่เห็นเลย ประมาณ 6 เมตร น้ำเชี่ยวมาก เขากำลังปล่อยน้ำอยู่ ร่องนั้นแหละที่ผมไปดำมา ความลึกไม่เท่าไหร่ แต่น้ำเชี่ยวด้วย



ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบถ้ำหลวงในอนาคต มีคำแนะนำอะไรบ้างไหม

พอเกิดเหตุแบบถ้ำหลวงขึ้น ประชาชนเริ่มตื่นตระหนก ไม่กล้าเข้าไปในถ้ำลึกๆ แล้ว แต่เหตุแบบนี้นานๆ จะเกิดขึ้นน้อยมาก ถ้าเหตุจากภัยธรรมชาติ ความรุนแรงมันมากขึ้นทุกปี ซึ่งมีเวลาที่จะบอกได้ เช่น ช่วงนี้รู้เลยว่าจะเกิดมรสุม พายุเข้าที่ภูเก็ต ทำให้ประชาชนรู้ว่า ช่วงนี้อย่าไปเที่ยวนะ คงต้องเตรียมความพร้อมไปตลอดช่วงหน้าน้ำเกือบๆ ปลายปี




เรื่อง : กิตตินันท์ นาคทอง
ภาพ : นุสรา อินทร์น้อย
ภาพในการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเยาวชนนักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี พร้อมผู้ฝึกสอน รวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย : ร.ต.ท.อนุชา แสนต๊ะ กก.ตชด.32


กำลังโหลดความคิดเห็น