xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวของไทยและเอเชีย “สุภาวดี กุญชวน” ความภูมิใจกีฬายัดห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้ว่ากีฬา “บาสเกตบอล” อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในเมืองไทย เมื่อเทียบกับกีฬาชนิดอื่นๆ แต่อย่างน้อยเราก็มีนักยัดห่วงชาวไทยและชาวเอเชียคนแรกที่ได้ไปเล่นในระดับลีกมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ‘โบว์-สุภาวดี กุญชวน’ นักบาสเกตบอลสาวดีกรีทีมชาติชาติไทย กับประสบการณ์ในเวที NAIA ที่ถือว่าดีพอจนกวาดรางวัลต่างๆ ในการแข่งขันเวทีดังกล่าว จนสร้างความภูมิใจให้แก่เจ้าตัวและประเทศไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 • ความสนใจแรกเริ่มของคุณกับบาสเกตบอล เริ่มมาจากอะไร

ถ้าให้เล่าจริงๆ มันไม่ได้เริ่มมาจากที่หนูชอบ มันเริ่มมาจากเป็นความบังเอิญที่จะต้องเล่น เพราะด้วยที่คุณพ่อ (พีระ กุญชวน : อดีตนักบาสเกตบอลทีมชาติไทย) เป็นโค้ชอยู่ที่ขอนแก่น ซึ่งช่วงนั้นเราก็เล่นเทควันโดอยู่ แล้วไม่มีความสนใจในเรื่องของบาสเกตบอลเลย แต่ด้วยลูกทีมของคุณพ่อคนหนึ่งได้ทุนการศึกษาและย้ายที่เรียนพอดี ประกอบกับขาดผู้เล่นตำแหน่งนั้นพอดีซึ่งมันจำเป็นจริงๆ คุณพ่อก็เลยมาขอร้องเราว่าเล่นให้หน่อย อาจจะด้วยว่าหนูมีรูปร่างที่สูงก็อาจจะช่วยรีบาวด์และเก็บบอลได้ ก็เลยได้มาเล่น หลังจากนั้นคุณพ่อก็ฝึกและเล่นให้มาตั้งแต่นั้น ตอนนั้นน่าจะอายุ 16 ปีได้ ถือว่าช้ามาก แล้วเราจะเล่นกีฬาหลายชนิดมาตั้งแต่เด็กแล้วไงคะ แต่จะเป็นกีฬาประเภทเดี่ยวมาตลอด ไม่เคยเล่นแบบทีมเลย ซึ่งเทควันโดเราก็เล่นมาตั้งแต่ ป.5

 • ถือว่าเป็นเรื่องยากมั้ยที่จะต้องเปลี่ยนจากกีฬาเดี่ยวมาเป็นทึม

ในตอนแรกด้วยความที่เรามีพรสวรรค์ในด้านกีฬาอยู่แล้ว ถ้าจะเล่นกีฬาชนิดไหนก็จะเป็นเร็ว แต่การอยู่ร่วมกับทีม กับกีฬาเดี่ยว ความคิดจะไม่เหมือนกัน เพราะประเภทเดี่ยวเราจะโฟกัสกับตัวเอง แต่ประเภททีมมันจะเป็นอยู่คนเดียวไม่ได้ เราจะต้องรวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งช่วงเวลานั้นเราก็มีปัญหาในการเข้าทีมเหมือนกัน เพราะว่ามีแต่คนไม่ชอบ ทั้งจากบุคลิกของเราที่ยังมีความเป็นกีฬาบุคคล เวลาที่ใครเล่นแล้วไม่ได้ดั่งใจเราก็ด่า แถมยังเป็นลูกสาวของโค้ชอีก ทำอะไรก็ได้ และเราเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองสูงอยู่แล้ว คือถ้าใครเล่นพลาด เราก็จะด่าเขาก่อนเสมอ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างงั้น แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้

 • ด้วยความที่เราหัดเล่นช้ากว่าคนอื่น ตอนนั้นเรามองเรื่องความแตกต่างในเรื่องทักษะด้วยมั้ย

ใช่ค่ะ ถามว่าเป็นรองมั้ย ถ้าในตอนนั้นก็เป็นรอง เพราะว่าเรายังไม่เข้าใจเกมอะไรเลย แต่หนูจะได้เรื่องสูง เพราะฉะนั้น หนูจะได้บอลอยู่ตลอดเวลา คือได้ปุ๊บโยนเลย ไม่ใช่หลายคนที่จะคว้าบอลของเราได้ ช่วงนั้นก็จะเป็นแบบนี้ เราได้บอลแล้วยิงข้างในได้ง่ายๆ เลย คือได้ปัจจัยในเรื่องสูง และร่างกายที่แข็งแรงเพราะว่าเราเล่นเทควันโดในตอนนั้นอยู่แล้ว พ่อก็จะใช้ประโยชน์จากที่เรามีมาเพิ่มทักษะในการยิง เพราะเราต้องใช้เหมือนกัน

 • ความรู้สึกที่เราเริ่มสัมผัสในการเล่นบาสเกตบอลจริงๆ มันค่อยๆ ซึมซับให้เราชอบไปเองด้วยมั้ย

ใช่ค่ะ เพราะว่าในช่วง 3 ปีแรกไม่ได้ชอบเลย แต่เราเริ่มมาชอบตอนที่ติดทีมเยาวชนทีมชาติ เพราะด้วยความที่เราอยากเป็นหมอ เราเลยหยุดเล่นบาสไป 1 ปี แต่ในระยะเวลาที่เราหยุดไป เราก็อยากเล่นบาสตลอดเวลา จะเป็นความรู้สึกที่แบบขอไปเล่นนิดหนึ่งละกัน เรารู้สึกแล้วว่าเราชอบนะ แต่ยังไม่ได้รัก จนกระทั่งเราเล่นบาสมาเรื่อยๆ จนสอบหมอไม่ติด มีความรู้สึกเฟลก็กลับมาเล่นบาสอีกรอบ คราวนี้ให้แบบเต็มที่ เริ่มซ้อมหนักขึ้น พอเริ่มเล่นดีขึ้น เรารู้สึกว่าเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบาสแล้ว มันเลยรู้สึกว่าบาสเกตบอลมันไม่ได้ให้แค่กีฬานะ มันให้ได้หลายอย่าง มันทำให้เราเข้าสังคมได้ จากที่เราเป็นคนที่ไม่ได้สนใจคนอื่น ใครจะพูดอะไรก็ไม่สนใจ กลายเป็นเราที่เริ่มสนใจคนอื่นแล้ว เริ่มแคร์ว่าการเล่นเป็นทีมนั้นเป็นยังไง คือมันสอนเราหลายอย่าง ทำให้เราเริ่มรักบาสฯ แล้ว

 • แล้วในแง่ของฐานะนักกีฬา แสดงว่าก็ต้องผ่านการท้อถอยมาด้วยสิ

ถามว่ามีมั้ย ตอบเลยว่ามี น่าจะเป็นช่วงตอนติดยู 18 แล้วรู้สึกว่าตัวเองท้อถอยมาก คือเหมือนคนอื่นเขาเก่งหมดเลย แล้วเราเป็นคนที่คิดว่าไม่เก่งคนเดียว แล้วติดมาก็ไม่ได้เล่น เพราะด้วยเหมือนว่าเราเป็นคนใหม่เข้ามา เหมือนเขาให้มาเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งเรายังเป็นเด็กไง เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เราก็คิดแต่ว่าทำไมถึงไม่ใช้เรา เราก็รู้สึกว่าเราก็เล่นดีนะ เริ่มรู้สึกท้อ เริ่มไม่อยากเล่นแล้ว แต่มันเหมือนว่ามันเป็นทาง แล้วรู้สึกว่าเราชอบบาสเกตบอลไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำให้ดีขึ้นและดีขึ้นไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เราทำดี ยังไงเราก็ต้องชนะ คือเหมือนกับว่าทางนี้เราจะต้องสำเร็จ แล้วยิ่งตอนที่เราไปอยู่อเมริกา ถ้าเรายังมีความเชื่อแบบนี้อยู่ ยังไงเราก็ไม่มีวันแพ้ ยังไงเราก็จะอยู่ ณ จุดนั้น สรุปคือมีแค่เรื่องท้อแค่เรื่องเดียว ประมาณว่าเหมือนมีคนพูดกรอกหูตลอดเวลาว่ามาวิจารณ์เรา ช่วงนั้นก็มีเหมือนกัน แล้วเราก็ดันไปได้ยินซึ่งมันก็ทำให้เราท้อถอยว่าทำไมถึงต้องพูดแบบนั้น แทนที่ว่าอยู่ด้วยกัน ทำไมไม่พูดกันดีๆ ก็เลยรู้สึกว่าท้อ ส่วนเรื่องการซ้อม เราไม่เคยบ่นเลย อาจจะมีบ่นแบบเป็นเรื่องปกติบ้าง แต่เราจะเป็นคนบ่นแล้วทำ เพราะว่าสุดท้ายมันก็จะกลับมาที่เราอยู่ดี

 • ตอนที่ที่ถูกชักชวนให้ไปเล่นที่อเมริกา ตอนนั้นได้รับการติดต่อยังไงครับ

หลังจากที่เรียนมหาวิทยาลัยที่เมืองไทยได้ 2 ปีกว่าๆ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องบังเอิญอีกแล้ว เริ่มมาจากเป็นช่วงซีเกมส์ 2013 แล้วปีนั้นก็มีการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย มันเป็นเกมที่จัดโดย FIBA แล้วมาจัดที่ไทย เหมือนกับว่ามีเกมแข่งขันก่อนจะไปซีเกมส์ มันจะเป็นทัวร์นาเมนต์เล็กๆ และเจอทีมต่างๆ จำได้ว่าวันนั้นเราเจอฟิลิปปินส์ แต่เราก็ยังไม่ได้เล่น เพราะว่าเป็นช่วงปีแรกๆ ที่เราเพิ่งขึ้นมาติดทีมชาติ แล้วพอจบควอเตอร์ที่ 2 เราตามอยู่ 20 แต้ม แล้วเหมือนโค้ชเหมือนตัดสินใจแล้วว่าเป็นการซ้อมแล้วกัน ก็เลยให้รุ่นเด็กลงไป แล้วให้มีรุ่นพี่ในทีมประคองไว้ แล้วอีกด้านหนึ่งมันเหมือนวันที่เราปลดปล่อย เล่นดีมาก

แล้วบังเอิญว่าโค้ชที่มาจากอเมริกา เผอิญได้มาดูเกมนี้พอดี เขาเลยมาติดต่อเราหลังจบเกม บอกว่าได้มาดูที่เราเล่น สนใจที่จะไปเล่นที่อเมริกามั้ย หนูก็สนใจ แต่ทางเขาบอกว่าต้องมาซ้อมกับเขานะ 4-5 เดือน เพื่อมาดูภาพรวมว่าเป็นยังไง ก่อนที่เขาจะส่งไปที่อเมริกา คือหลังจากจบรายการซีเกมส์ เราก็ไปซ้อมกับเขาเลย เพื่อให้เขาเห็นว่ายังมีจุดไหนที่ขาดเพิ่มเติมมั้ย พอเวลาผ่านไป เขาประเมินว่าไปได้ ก็มีการส่งข้อมูลไปในหลายๆ มหาวิทยาลัย จนในที่สุด Saint Thomas University อยุู่ที่ไมอามี ตอบกลับมาว่ามาเรียนได้เลย เซ็นสัญญาก่อนจะบินไป พอทุกอย่างเรียบร้อย เราดร็อปเรียนและซ้อมและบินไปเลย

 • พอได้ไปถึงที่นั่นแล้ว ภาพฝันที่หวังไว้กับภาพจริงที่เจอ มันต่างกันยังไง

มันต่างกันเยอะมาก อย่างที่เรารู้กันนะคะ วัฒนธรรมของเขาก็ไม่เหมือนเรา คนที่นั่นและความคิดก็ไม่เหมือนกับเรา อีกทั้งภาษา การเรียน โค้ช ก็ไม่เหมือนเลย ภาพแรกที่เราคิดไว้ มันจะต้องดีมากแน่ๆ เลย แต่เราเตรียมพร้อมเรื่องการซ้อมแล้วว่ามันจะต้องหนักแน่ๆ แต่พอไปถึงจริง เรารู้สึกว่ามันยากกว่าที่เราคิดไว้เยอะ กลายเป็นว่าจากที่เราคิดไว้ว่ามันน่าจะอยู่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่กลายเป็นว่ามันทะลุ 100 ไปเลย การเรียนก็มีความแตกต่าง แถมการซ้อม โค้ชก็ด่า ซึ่งเราไม่เคยโดนใครด่าเลยนอกจากพ่อ แถมเพื่อนร่วมทีมก็คิดว่าเราไม่เก่งหรอก แถมมาจากเอเชีย ก็จะโดนเลยว่าไม่แข็งแรง อ่อนแอ แต่ไม่มีการเหยียดผิวนะคะ จะเป็นแค่ว่าสรีระของเรากับเขามันต่างกัน เขาอาจจะมองอย่างงั้นก่อน แต่พอเราเริ่มซ้อมไปกับเขา จากที่ทุกคนไม่ชอบเขาก็เริ่มยอมรับเรา เพราะเหมือนเราฝึกและพิสูจน์เยอะ คือทางเขาจะเป็นแบบนี้ค่ะ ในช่วงแรกสุด เขาจะมองเราไม่ดีก่อน จนต่อเมื่อเราพิสูจน์ว่าเราไม่ใช่อย่างที่เขาพูด เขาจะให้ความเคารพเรา ก็เป็นเวลา 2 เดือนได้ ในช่วงอาทิตย์จะเป็นช่วงลองทีม เป็นช่วงพิสูจน์ว่าเราเป็นยังไง อันนี้เราได้ความเชื่อถือชัดเจนแล้ว แล้วพอมันมีเรื่องอื่นๆ เข้ามา มันก็ดร็อปลงไปอีก แต่เราก็กลับมาได้อีก

 • แน่นอนว่าพอได้มาอยู่ในความแตกต่าง ความท้อก็กลับมาอีกครั้ง

คือด้วยความที่เราอยู่เมืองไทยเนอะ เราเล่นทีมชาติแล้วเราคิดว่าเราเก่งแล้ว แต่พอไปที่นั่น เราเห็นว่ามีคนเก่งกว่าเราอีก ทำให้ความมั่นใจเราหายไป อย่างเวลาที่เราเล่นกับเพื่อน เราก็คิดว่าทำไมเรากลับทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เมืองไทยเราเล่นได้ มันก็เลยทำให้เราท้อ แล้วเราก็ร้องไห้หนักมากเลยในช่วงนั้น ทั้งโดนด่า ทั้งเล่นไม่เป็นตัวของตัวเอง จะคุยกับเพื่อนก็ไม่ได้ เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้ภาษา มันเลยไม่มีพื้นที่ระบาย ก็เลยร้องไห้ เลยโทร.ปรึกษาแม่ว่าอยากกลับบ้านแล้ว ขอลาออกจากทีม แต่ในที่สุดก็ได้โค้ชเดวิดที่มาเจอเราที่เมืองไทย เขาโทร.มาอธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเป็นแบบนี้ มันทำให้เราฉุกคิดว่ามันก็ไม่ได้มีกี่คนนะที่มาได้ถึงขนาดนี้ ทุกอย่างมันไม่ใช่เรื่องง่าย แม่จะพูดคำนี้ตลอด เราต้องพยายามทำให้เต็มที่ก่อน ก่อนหน้านี้เราซ้อมมาหนักขนาดไหน กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้

อีกทั้งโค้ชก็พูดให้คิด อธิบายเรื่องสังคมว่าทำไมเขาถึงว่าเรา เขาอยากให้เราได้ดีนะ เขาอยากให้เราสู้ แต่บ้านเราพอพูดให้โมโห เราจะหงอยแล้วไม่ทำ คือมันคนละแบบกัน ซึ่งเราคิดว่าถ้าเราโมโห เราต้องอยากทำให้มันดีขึ้นสิ เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็น ก็เลยขอกลับไปทีมเพื่อพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ซึ่งถือว่าหนักมาก จากปกติซ้อม 2 ชั่วโมง เราก็ต้องมาขอโค้ชซ้อมอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ขาดจุดไหนเน้นจุดนั้น คือเขาก็ไม่ได้มาบังคับเราให้มาซ้อมตัวต่อตัวนะ เราจะต้องไปขอเขา ประมาณว่าขอให้เขาซ้อมให้เราหน่อย เราอยากเก่งขึ้น มันไม่ใช่แบบว่าเด็กไม่เก่ง โค้ชบังคับให้มาซ้อม ต้องมา ไม่ใช่ คือที่นั่นเราซ้อมเฉลี่ยวันละ 5-6 ชั่วโมง คือหลังจากฤดูกาลเริ่มขึ้นก็กินเวลาเป็น 5 เดือน

 • ความแตกต่างของบาสเกตบอลของที่นั่นกับเมืองไทย เป็นอย่างไรครับ

ถือว่าแตกต่างเยอะมาก อย่างเรื่องการเดินทาง เขาจะมีการเตรียมไว้ให้หมด เรื่องการพักผ่อน การกิน เขาจะมีตารางให้เลยว่าใน 1 วันจะต้องทำอะไรบ้าง ลงมาดูการแข่งขันว่าคู่ต่อสู้ทำอะไรยังไงบ้าง แล้วเราจะต้องเล่นยังไง เสร็จกินข้าวกี่โมง นอนกี่โมง ใครเล่นโทรศัพท์เกิน ยึดเครื่อง หรือเรื่องสนาม การฝึกซ้อม ที่นั่นจะมีความพร้อมกว่าบ้านเราเยอะมาก มีคนมาดูเต็มสนามเกือบทุกเกม ถามว่าทำไมมันถึงมีผลกระทบต่อการเล่น ลองคิดดูเล่นๆ นะคะว่าใครจะอยากเล่น ถ้าไม่มีคนดู เราว่ามันเหมือนการแสดง แต่ที่เราไปเจอมา การแข่งขันมันเหมือนศักดิ์ศรี เขามาดูลูกหลานตัวเอง โรงเรียนตัวเอง มันทำให้นักกีฬามีความอยากและแรงกระตุ้นของนักกีฬาให้อยากเล่น อยากโชว์ อยากไปต่อ

 • แน่นอนว่าแรงกระตุ้นในการที่เราจะเล่นก็ต้องเพิ่มพูนและหนักหน่วงด้วย

ถือว่ามันอาจจะไม่หนักสำหรับบางคน แต่สำหรับเราในตอนนั้นในฐานะคนเอเชียที่เล่นทีมชาติและไปเล่นที่นั่นครั้งแรกมันหนักมาก เพราะว่านอกจากจะแบกความเป็นตัวตนเราด้วยแล้ว ซึ่งเราแบกของเราเอง คือเราเป็นเอเชียคนเดียวด้วย เพราะฉะนั้น เราก็อยากที่จะทำให้มันดีที่สุด เพื่อให้เขารู้สึกว่านี่คือคนเอเชียนะ แล้วตอนนั้นอยากเล่นให้ถึงอาชีพเลย อยากให้ถึง WNBA อยากทำทุกอย่างให้ไปถึงจุดๆ นั้น ถามว่าหนักมั้ย หนัก (เน้นเสียง) ด้วยความที่เขาไม่รู้จักความว่ายอมแพ้ สู้ขาดใจทุกครั้ง ถึงขนาดที่ซ้อมกันจนไม่กลัวเจ็บเลย เต็มที่ทุกครั้ง และมีอารมณ์ร่วมกับการแข่งขันสูงกว่า เอาง่ายๆ ค่ะ แค่เราเล่นบาสฯ กับฝรั่งแบบเล่นๆ เขาไม่เคยเล่นแบบออมมือเลย เขาจะจริงจังทุกครั้ง สมมติยิงแข่งกันเล่นๆ เขาจะตั้งใจยิงทุกลูกเลย

 • ทราบมาว่าตอนที่ไปเล่นก็ได้รางวัลส่วนตัวด้วย อะไรคือปัจจัยที่เราคิดว่าเราได้รางวัลมาครับ

ความพยายาม แล้วก็เรามีวินัยขนาดไหนกับการรับผิดชอบตัวเอง เราแบ่งเวลาขนาดไหนทั้งการเรียนและการเล่น เราสู้มั้ย สิ่งที่เราได้มาคือสิ่งที่เราทำ ปัจจัยคือการกระทำว่าเราได้มากแค่ไหน เช่นเดียวกัน องค์ประกอบรอบข้างก็มีส่วนที่ทำให้เราได้รางวัลมาด้วย ปัจจัยที่เราถอย คือ พ่อ แม่ โค้ช ที่ให้กำลังใจ เพื่อนสนิทที่อยู่ที่นั่น ว่าต้องทำยังไง นั่นแหละค่ะ หลักๆ สองอย่างเลย อีกทั้งมีแรง momentum ของเกมด้วย และเพื่อนและคนในทีมสำคัญที่สุด แม้ว่าโค้ชจะไม่ได้เล่น แต่เขาบอกเราได้ว่าเราต้องทำอะไร แล้วเราก็เป็นผู้เล่น นี่คือสำคัญที่สุด

 • ในช่วงเวลา 2 ปีจากตรงนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเราอีกครั้ง

ทั้งความคิดที่มีการเปลี่ยนว่าเราต้องทำตัวยังไง ต้องแสดงให้เขาเห็นว่ามันเป็นยังไง เริ่มจากตัวเรา ทักษะการเล่นบาสเกตบอล ทักษะทางภาษา และการสร้างเป้าหมายให้กับตนเอง ในระหว่างทางนั้นเราจะต้องอะไรบ้างซึ่งมันก็ใหญ่พอสมควร แล้วหนูเชื่อว่ามันจะการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ถ้าเราได้ไปเล่นในลีกอาชีพจริงๆ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังคิดภาพไม่ออกเลยว่าเราจะได้ไปเจอกับอะไร คิดว่าเป็นเรื่องท้าทายนะ เราอยากไปอยู่ตรงนั้นเพื่อเรียนรู้มัน

 • ในฐานะที่เราเป็นผู้เล่นเอง เมื่อมามองในวงการบาสฯ บ้านเราในปัจจุบัน เรามองยังไง

บ้านเรายังมีข้อบกพร่องในหลายเรื่อง อย่างเรื่องความสามารถของผู้เล่น แต่เรามีวัฒนธรรมที่แตกต่างซึ่งมันทำให้ความคิดไม่เหมือนกัน ในมุมมองของเรานะ ถ้าเกิดความคิดไม่เปลี่ยนมันจะไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ เช่น ความเป็นนักกีฬา อย่างเช่นนักกีฬาที่เราไปเจอมาที่อเมริกัน เขาจะคิดเสมอว่าเขามาเล่น อยากเล่น เพราะเขาคิดว่ามาทำงาน เขามีความรับผิดชอบสูงมาก แต่นักกีฬาไทยก็ยังมีความเป็นมือสมัครเล่น พาร์ตไทม์ อาจจะเป็นเพราะว่า บาสเกตบอลในบ้านเรายังไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยมนัก เลยทำให้แรงจูงใจในการเล่นยังไม่มี ซึ่งคนที่คิดว่าเล่นเพื่อชาติมันก็มีนะคะ แต่ว่ามันยังไม่สามารถที่จะมาเลี้ยงปากท้องเขาได้

แต่อย่างอเมริกา การที่เขาได้การศึกษาฟรี เขาก็รู้สึกแล้วว่าเขาให้ความรู้เรานะ เขาเลยรู้สึกว่าเขามาทำงานให้สถานศึกษา และที่เรียนก็จะให้ความรู้กลับไปหาเขา อย่างงี้เป็นต้น วัฒนธรรมเราถูกสอนให้มีชนชั้น เพราะฉะนั้น รุ่นน้องต้องฟังรุ่นพี่ก่อน แต่รุ่นพี่กลับไม่มาฟังรุ่นน้อง มันเลยทำให้มีความรู้สึกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำ แต่ที่นั่นในทีมทุกคนมีความเท่ากันหมด มีอะไรไม่ชอบให้เคลียร์กันในสนามกันเลยแล้วจบไป หรือเรื่องการจัดการ ที่อเมริกา เขาจะมีการวางแผนระยะยาว ใครควรจะทำอะไร เรามีข้อเสียอะไร มันต่างจากที่เมืองไทยมาก และทำให้เราคิดว่ามันควรจะเปลี่ยนแปลง

 • จากประสบการณ์ที่เราได้ไปเล่นที่อเมริกามา คิดว่ายังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อที่จะให้ทีมชาติไทยไปอีกขั้น

อย่างเดียวเลย เป้าหมายของทีมชาติคืออะไร ประมาณว่าในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ จะต้องได้ลำดับที่เท่าไหร่ในเป้าหมายนั้น เขาจะต้องทำยังไง ผู้ฝึกสอนจะต้องทำยังไงบ้าง เขาจะต้องจัดการระยะยาวว่าผู้เล่นจะเอามาจากไหน แล้วผู้เล่นที่อยู่กับเขาอีก 4 ปีจะต้องให้อะไรกับเขาบ้าง หนูคิดว่ามันจะต้องมีการสร้างเป้าหมายให้ตัวเองก่อนว่าเขาจะทำอะไร เสร็จแล้ว ในระยะทางที่เขาจัดการตรงนั้น เราต้องทำอะไรบ้าง สมมติว่าโค้ชคนนี้คุมชุดนี้ เป้าหมายจะต้องโยนไปแล้วว่าจะได้ลำดับอะไร คุณไปคิดมาเลยว่าจะต้องเตรียมจัดการยังไงบ้าง อาจจะซ้อมหนัก เป็นต้น ประมาณนั้น

 • ความคาดหวังของโบต่อการเล่นบาสเกตบอลในอนาคตครับ

ตอนนี้เราได้เล่นอาชีพที่มาเลเซียแล้ว และเล่นให้กับทีมชาติไทยค่ะ คือพยายามที่จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่จะเล่นไหว และเล่นให้ได้เป้าหมายที่ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ คือทำให้เต็มที่ อย่างกีฬามันไม่มีการหมดอายุนะ ฝรั่งมักจะพูดอยู่เสมอว่าคุณยังไม่แก่เลย แต่ความคิดของคุณจะทำให้มันดูแก่ คือถ้าทำร่างกายให้มันเหมือนเดิมทุกวัน มันก็ยังเล่นอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะพอหรือยัง ถ้าเราคิดว่าเรายังสู้ได้ ใจเราก็ยังเล่นได้ อย่างบางคนมีลูก 2 คนแล้ว เขาก็ยังกลับมาเล่นได้เลย
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี



กำลังโหลดความคิดเห็น