... รายงาน
จากที่ละครเรื่องเมีย 2018 มีกระแสที่ถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับงานวันพ่อ หนึ่งในตัวละครคือเด็กวัยกำลังน่ารักได้เตรียมร้อยมาลัยดอกไม้ไว้กราบพ่อ แต่พ่อไม่มา สร้างความหดหู่ให้แก่ผู้ชม และเกิดคำถามตามมา และขณะนี้ก็ใกล้เทศกาลวันแม่เข้ามาทุกที สิ่งที่เป็นคำถามไม่ต่างจากแฟนๆ ละครก็คือ กิจกรรมวันแม่ตามโรงเรียนต่างๆ สมควรมีหรือไม่? แล้วเด็กที่พ่อแม่มีธุระ หรือแยกทางกัน ไม่มีแม่ไป หรือพ่อไป ควรตอบคำถามเพื่อนๆ อย่างไร หรือจะกลายเป็นปมด้อยตามมาหรือไม่?
นอกจากจะเจอข้อถกเถียงตามโซเชียลฯ วันนี้เราจะขอยกกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์พันทิป ที่เคยพบเจอประสบการณ์วันแม่ที่ต้องจดจำไปอีกนาน โดยตั้งกระทู้ว่า “วันแม่ นี่ยกเลิกให้เด็กพาแม่ไปกราบที่โรงเรียนเถอะครับ ..คือผมไปถ่ายรูปให้ภรรยากับลูก ก็ดีครับ มีความสุขกันดี แต่ผมสังเกตเด็กหลายคนไม่มีแม่ ยืนดูเพื่อนตาละห้อย บางคนได้กราบครูแทน มันทำให้ฉุกคิดว่าเด็กแต่ละคนต้นทุนไม่เท่ากัน คนที่ไม่มีแม่ต้องมาดูเพื่อนได้กราบแม่ จะรู้สึกอย่างไร ขนาดผมเป็นผู้ชายเห็นเด็กๆ แล้วน้ำตาซึม คิดถึงตอนเด็กที่ครูให้เขียนเรียงความแล้วออกมาอ่านความรู้สึกเกี่ยวกับแม่ แทนที่จะพาแม่มากราบ หรือกิจกรรมอื่นๆ (วาดรูป เล่นละคร ฯลฯ) แบบนั้นจะส่งเสริมความรู้สึกดีกว่ากันไหมครับ กลับมานี่นอนไม่หลับเลย ภาพเด็กเหล่านั้นติดตามาก ขอใช้พื้นที่นี้แสดงความคิดเห็นนะครับ"
แต่ก็มีความคิดเห็นที่เป็นข้อโต้แย้งว่า “มีทุกปีกระทู้แบบนี้ เอาจริงๆ ไม่ต้องไปคิดแทนเด็กๆ หรอก เด็กบางคนแม่ไม่ว่างมาก็กราบครูแทน (แม่ผมเองก็ไม่เคยว่างมา มาบ้างไม่มาบ้าง กราบครูไม่เห็นจะแปลก ดีอีกไม่ต้องเรียนด้วย เด็กบางคนแม่ไม่มีมา พี่ป้าน้าอาก็มาให้แทนได้ เด็กมันไม่คิดอะไรหรอก ไม่ต้องไปคิดเยอะแทนเด็กๆ เพราะเด็กไม่มีแม่มันไม่ได้ไม่มีแม่แค่วันแม่ มันไม่มีทุกวัน เวลาจะช่วยให้เด็กเข้มแข็งเอง หัดมองในแง่ดีของกิจกรรมบ้าง ทำให้เด็กรู้สึกว่าแม่มีบุญคุณขนาดไหน ต้องรักแม่มากๆ ทุกวันนี้เด็กมันแทบจะไม่เห็นหัวพ่อแม่กันอยู่แล้ว ไม่ใช่เอาความคิดตัวเองมันตัดสินแทนเด็ก เด็กไม่มีแม่ 3-4 คน ทำให้เด็กอีกเป็นร้อยๆ ไม่ต้องมีกิจกรรมที่แสดงออกอะไรถึงความรักแม่ แล้วทุกวันนี้คิดว่าเด็กมันกล้าบอกรักแม่-กอดแม่กันไหม 15-16 ก็เลิกแล้ว อายๆ”
ทั้งนี้ วันแม่แห่งชาติ จัดในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ถือตามวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ โดยเริ่มใช้วันดังกล่าวเป็นวันแม่แห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2519 ก่อนหน้านั้นเคยใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน และ 4 ตุลาคม สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่ คือ ดอกมะลิ มีสีขาว ส่งกลิ่นหอมได้ไกลและได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยตีความเปรียบกับความรักบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่เสื่อมคลายไป ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับการประดับธงชาติตามบ้านเรือน คุ้นเคยกับกิจกรรมจากภาครัฐและเอกชน และกิจกรรมภายในครอบครัวที่ลูกๆ จะนำพวงมาลัยหรือดอกมะลิไปกราบขอพรแม่ และยังถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รำลึกถึงพระคุณของแม่ ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน เรียกได้ว่าคนไทยทุกคนคุ้นเคยกับวันแม่แห่งชาติเป็นอย่างดี
การสอนเรื่องวันแม่สำคัญอย่างไร บ้านและโรงเรียนเป็นสถาบันสำคัญ ทำหน้าที่ถ่ายทอดบทเรียนที่ดีงามให้แก่สมาชิกในสังคม โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมประเพณีที่ใช้เป็นเครื่องพัฒนาจิตใจของสมาชิก เนื่องจากวัฒนธรรมมีแก่นแท้อยู่ที่คุณธรรม ดังนั้น การจัดบทเรียนเรื่องวันแม่ มีจุดมุ่งหมายของการยกย่องคุณความดีของผู้ให้กำเนิด และฝึกแนวทางการปฏิบัติตนต่อผู้มีพระคุณให้แก่เด็ก กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องวันแม่ สามารถส่งเสริมให้เด็กเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยได้ คือ ความมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตใจที่ดีงาม ด้านความกตัญญูกตเวทีต่อแม่ผู้ให้กำเนิด เมื่อเด็กยังเยาว์เป็นเวลาที่เหมาะที่การปลูกฝังคุณธรรมที่ดีดังคำกล่าวว่า “ไม้อ่อนดัดได้ดั่งใจ” การอบรมสั่งสอนนอกจากทางวาจาแล้ว การปฏิบัติต่อกันในชีวิตจะมีความหมายมาก และการมีขนบธรรมเนียมประเพณีในชุมชนจะเป็นกุศโลบายที่จะทำให้เกิดการโน้มน้าวกลุ่มชนให้ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน
ส่วนการสอนเรื่องวันแม่มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร เด็กได้รู้จักว่าแม่เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ที่รักเลี้ยงดูเรามา โดยธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตโดยเฉพาะคนและสัตว์ที่เลี้ยงลูกจะมีแม่เป็นผู้อุ้มท้องให้กำเนิดและดูแล จิตของเด็กได้ตระหนักรู้ถึงบุญคุณของแม่ผู้ให้กำเนิด การกล่อมจิตใจเด็กเป็นดั่งการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ต้องอาศัยปัจจัยที่ดีในการเจริญเติบโต ที่กล่าวว่าเมล็ดพันธุ์จะงอกงามในดินและน้ำที่ชุ่มชื่น เด็กก็เช่นกันจะต้องอาศัยการอบรมสั่งสอนด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมเด็กได้ปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมที่ควรปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยที่ตนอยู่ เด็กได้รู้เรื่องวันสำคัญของไทยอีกวันหนึ่งคือ วันแม่แห่งชาติ