ในจำนวนป่าดงพงไพรของเมืองไทยในสมัยโบราณนั้น ป่าที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดก็คือ “ดงพญาไฟ” แต่กล่าวขานกันในด้านความน่าสะพรึงกลัวที่คร่าชีวิตผู้คนไปในจำนวนมากมาย กล่าวกันว่าใครที่เข้าไปก็ยากที่จะรอดชีวิตออกมาได้ เพราะภูมิประเทศแสนทุรกันดาร แม้แต่เกวียนก็ผ่านไปไม่ได้ มีแต่ทางเดินเท้าที่บุกเข้าไปป่าทึบ ข้ามห้วยและไต่ไปตามไหล่เขาอันสูงชัน ที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์ดุร้ายและไข้ป่า ทั้งยังเพิ่มความน่ากลัวด้วยเรื่องภูตผีปีศาจ แต่ก็เป็นความจำเป็นของการเดินทางระหว่างสระบุรีกับนครราชสีมา เพราะไม่มีทางอื่นไปได้ และต้องพักแรมในการเดินทางช่วงนี้ถึง ๒ คืน ทุกเช้าที่คนเดินทางลืมตาขึ้น ความรู้สึกแรกก็คือดีใจที่ผ่านคืนอันน่าสยดสยองนั้นมาได้
คนที่จะเดินทางผ่านดงพญาไฟ แม้จะเก่งกล้าอย่างไรก็ต้องไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ และจัดเวรยามไว้ทั้งคืน คอยเฝ้าระวังสัตว์ร้าย และคอยเติมฟืนไว้ไม่ให้มอด ถ้าเผลอหลับไฟดับ ตื่นขึ้นมาคนก็จะเหลือไม่ครบจำนวนแน่ และต้องใช้ครั่งคอยโยนเข้ากองไฟด้วย เพื่อให้เกิดควันตะหลบและส่งกลิ่นไล่ภูตผีปีศาจ
ภูตผีปีศาจของดงพญาไฟที่เล่ากันนั้น มีชื่อแปลกอย่างหนึ่งก็คือ “ผีตีนเดียว” มีตีนอยู่ข้างเดียวกระโดดไปมา ฤทธิ์เดชของมันแค่แตะต้องตัวคนก็ถึงตาย จะแอบเข้ามาขณะที่คนเดินทางหลับ แต่คนที่ไม่เชื่อเรื่องภูตผีปีศาจก็คิดว่าเป็นกุศโลบายที่คนโบราณหลอกไว้ ให้ป้องกันยุงที่มีเชื้อไข้ป่าหรือมาเลเรียนั่นเอง
ในสมัยโบราณที่ข้าราชการมณฑลอีสานจะเดินทางเข้ามาเมืองหลวง ก่อนออกเดินทางจะต้องทำพิธีสู่ขวัญ มีพระสวดชะยันโตและประพรมน้ำมนต์ อวยชัยให้พรเหมือนไปสงคราม และต้องไปมาในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น เมื่อกลับมาก็ยังเข้าเมืองไม่ได้ ต้องหยุดขบวนไว้นอกเมืองก่อน และยิงปืนให้สัญญาณ คนในเมืองก็จัดพิธีรับขวัญเหมือนขาไป ทั้งยังเพิ่มพิธีขับไล่ภูตผีปีศาจที่อาจติดมาจากป่าเขาด้วย ปรากฏว่าเมื่อกลับมาทั้งคนทั้งช้างก็ผอมไปตามกัน
เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลอุดรและมณฑลอีสาน ออกจากรุงเทพฯ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๔๙ กลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ใช้เวลาเดินทาง ๓ เดือน ๔ วัน ทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดี ตอนหนึ่งว่า
“…เขาดงพญาไฟนี้ คือเทือกเขาอันเป็นเขื่อนของแผ่นดินสูง เขาเขื่อนที่กล่าวถึงนี้เป็นเขาหินปูน ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเป็นดงทึบตลอดทั้งเทือกเขา มีทางข้ามได้เพียงช่องทางเล็กๆ ทางเดินผ่านดงพญาไฟนี้เป็นช่องทางเล็กๆ สำหรับเดินข้ามไปมาระหว่างสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา มาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยปากดงพญาไฟอยู่บริเวณเชิงเขาอำเภอแก่งคอย ผ่านกลางดงไปออกจากดงที่ตำบลปากช่อง เส้นทางนี้ผ่านไปได้เพียงแต่เดินเท้า จะใช้โคและเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางเดินต้องเลียบขึ้นไปตามไหล่เขาบ้าง เดินไต่ไปตามสันเขาบ้าง เลี้ยวลดไปตามทางเดินที่เดินได้สะดวก ตั้งแต่ตำบลแก่งคอยต้องค้างคืนในดงพญาไฟ ๒ คืนจึงจะพ้นดงที่ตำบลปากช่อง แล้วก็ใช้โคและล้อเกวียนเดินทางต่อไปถึงเมืองนครราชสีมาได้”
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมคุกคามสยาม จนประเทศรอบด้านถูกยึดครองไปหมด ทรงพระราชดำริว่า ควรจะมีราชธานีสำรองไว้อีกแห่งที่ข้าศึกทางทะเลเดินทางขึ้นไปลำบาก ทรงเล็งไปที่เมืองนครราชสีมา และโปรดเกล้าฯให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จขึ้นไปสำรวจ เมื่อเสด็จกลับมาได้กราบทูลว่า ดงพญาไฟนั้นเป็นป่าดงที่เย็น ไม่ควรเรียกว่าดงพญาไฟให้ผู้คนครั่นคร้าม ควรจะเรียกว่าดงพญาเย็นมากกว่า แต่ผู้คนก็ยังเรียกว่าดงพญาไฟดังเดิม
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริให้สร้างทางรถไฟจากสระบุรี ผ่านดงพญาไฟไปมณฑลนครราชสีมา คนงานที่ส่วนใหญ่เป็นคนจีนโดนฤทธิ์ “ผีตีนเดียว” ตายเป็นใบไม้ร่วง แม้แต่นายช่างชาวเดนมาร์ค มร.เค แอล ราเบ็ค ที่คุมการสร้างทางก็เป็นมาเลเรียตาย จนไม่มีใครกล้ารับงานต่อ คนงานก็ต่างหวาดกลัว คิดกันแต่เรื่องภูตผีปีศาจ การสร้างทางรถไฟผ่านดงพญาไฟจึงใกล้หมดหวัง
ความทราบถึงสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเสด็จไปที่แคมป์สร้างทางด้วยพระองค์เอง เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจ ทรงทำพิธีบวงสรวงขอทางต่อเจ้าป่าเจ้าเขา เปิดทางให้ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง จุดที่ทำพิธีนี้ต่อมาคือสถานีผาเสด็จ ทรงดำรัสไต่ถามคนงานก็ทรงทราบว่า คนงานจีนนั้นถ้าไม่ตายก็เลิกไปหมดแล้ว เพราะสู้ไข้ป่าไม่ไหว คนงานรุ่นใหม่ล้วนแต่เป็นคนอีสานที่ทรหดบึกบึนและคุ้นเคยกับภูมิประเทศมากกว่า ดงพญาไฟจึงกลายเป็นดงพญาเย็นเมื่อทางรถไฟผ่านไปได้สำเร็จ ผีตีนเดียวกระโดดหนีไปจนป่าราบ
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจราชการโดยเฮลิคอปเตอร์ เห็นว่าป่าของดงพญาเย็นถูกบุกรุก เหลืออยู่หย่อมหนึ่งบริเวณเขาใหญ่ ซึ่งก็เคยถูกบุกรุกตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก มาแล้ว แต่เหตุที่เป็นหมู่บ้านอยู่กลางป่า จึงกลายเป็นที่ส้องสุมของโจรผู้ร้ายหนีคดี ทางการจึงยุบตำบลเขาใหญ่และอพยพราษฎรลงมา แต่โดยรอบก็ยังคงถูกบุกรุกอยู่ทุกวัน จึงสั่งให้กระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงมหาดไทยสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ และตั้งขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทยได้ในปี ๒๕๐๕ มีเนื้อที่ ๑,๓๕๕,๓๙๖.๙๖ ไร่ หรือ ๒,๑๖๘ ตร.กม.ป่าที่ถูกถางเพื่อทำไร่นั้นปัจจุบันก็ยังมีร่องรอยให้เห็น คือทุ่งหญ้าบนเขาใหญ่นั่นเอง
ทุกวันนี้ ทั้ง ดงพญาไฟ ดงพญาเย็น และ ผีตีนเดียว จึงเหลือเป็นเพียงตำนานเล่าขานให้คนรุ่นใหม่รับรู้เท่านั้น