xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จโตห่วงแผ่นดิน จุดเทียนเข้าบ้านสมเด็จเจ้าพระยากลางวันแสกๆ! เทศน์งานศพดับโศก ฮาตึงกันทั้งงาน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สมเด็จพระพุฒาจารย์  (โต)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ขณะชนมายุเพียง ๑๕ ปี ๗ เดือน ๙ วัน และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการ มีอำนาจมาก จึงมีคนบางกลุ่มมีความห่วงใยยุวกษัตริย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงจุดเทียนเล่มใหญ่เข้าไปในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่ปากคลองสาน ในเวลากลางวันแสกๆ พร้อมกับมีคัมภีร์หนีบรักแร้ ตาลปัตรทำหางเสือ เดินรอบบ้าน สมเด็จเจ้าพระยาจึงอาราธนาขึ้นบนหอนั่ง แล้วว่า

“โยมไม่สู้มืดนักดอกเจ้าคุณ และโยมนี้มีใจแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาแน่นอนมั่นคงเสมอ โยมทำนุแผ่นดินโดยเที่ยงธรรม และตั้งใจประคับประคองสนองพระเดชพระคุณโดยตรง โดยสุจริต คิดถึงชาติและศาสนาพระมหากษัตริย์เป็นที่ตั้งอยู่เป็นนิจ ขอเจ้าคุณอย่าปริวิตกให้ยิ่งกว่าเหตุไป นิมนต์กลับได้”

ต่อมาหม่อมเล็กคนโปรดของสมเด็จเจ้าพระยาถึงอนิจกรรมลง สมเด็จเจ้าพระยารักหม่อมคนนี้มากถึงกับโสกาไม่ยอมห่าง จึงให้ทนายไปอาราธนาสมเด็จโตมาเทศน์ดับโศกให้ท่านฟัง ทนายไปอาราธนาว่า พณหัวเจ้าท่านให้มาอาราธนาพระเดชพระคุณไปแสดงธรรมแก้โศกให้พณท่าน ในวันนี้เพลแล้ว ขอรับกระผม
สมเด็จโตรับว่า

“จ๊ะ เรื่องเทศน์แก้โศกนั้นฉันยินดีเทศน์นักจ๊ะ ฉันจะไปจ๊ะ”

เมื่อสมเด็จโตไปถึง สมเด็จเจ้าพระยาก็ออกมารับ ปฏิสัณฐานแล้วจุดเทียน สมเด็จโตก็ขึ้นธรรมมาสน์ ให้ศีลให้พร จากนั้นก็เริ่มด้วยบทแหล่กัณฑ์ชูชก และชมว่าที่สมเด็จเจ้าพระยาผูกขึ้นใหม่นั้นขบขันคมสัน เพราะแหล่นอกแบบ ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาและข้าทาสบริวารยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ พอท่านแหล่ขอทาน แหล่ทวงทอง แหล่พานาง คราวนี้ถึงกับหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง พอท่านเทศน์ไปถึงแหล่จบก็เหนื่อยไปตามกัน เสียดายที่หนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เล่มนี้ ไม่ได้กล่าวถึงข้อความและเนื้อหาที่ทำให้ขบขันกัน แต่มีประโยคหนึ่งบอกว่า “ถึงกับเยี่ยวรดเยี่ยวราดก็มีบ้าง” สมเด็จเจ้าพระยาที่กำลังโศกก็หายโศกและบอกว่าสนุกดี รุ่งขึ้นทั้งบ้านก็ยังพูดถึงแต่เรื่องชูชกที่สมเด็จโตเทศน์

ครั้นล่วงมาอีกปีหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาจัดการปลงศพหม่อมเล็ก จึงใช้ให้ทนายไปอาราธนาสมเด็จโตมาเทศนาอริยสัจหน้าศพ ทนายก็ไปกราบเรียนสมเด็จที่วัดว่า

“พณท่านให้มาอาราธนาพระเดชพระคุณไปแสดงพระธรรมหน้าศพพรุ่งนี้ เพลแล้วขอรับ”

สมเด็จโตก็ถามว่าจะให้ฉันไปเทศน์เรื่องอะไรจ๋า ทนายลืมคำว่าอริยสัจ ๔ ไพล่ไปเรียนท่านว่า

“ให้เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตร ขอรับกระผม”

สมเด็จโตยิ้ม รู้ว่าเขาพูดผิด แต่ท่านก็รับว่า

“เรื่อง ๑๒ นักษัตรนั้นฉันเทศน์ดีนักจ๊ะ”

เมื่อถึงวันกำหนด สมเด็จโตขึ้นธรรมมาสน์ ให้ศีลเจริญพรเสร็จ ท่านก็ขึ้นด้วยคำบาลี แล้วแปลว่า

“ชวดหนู ฉลูวัว ขาลเสือ เถาะกระต่าย มะโรงงูใหญ่ มะเส็งงูเล็ก มะเมียม้า มะแมแพะ วอกลิง ระกาไก่ จอหมา กุนหมู นี่แหละเป็นชื่อของปี ๑๒ เป็นสัตว์ ๑๒ ชนิด โลกบัญญัติให้จำง่าย กำหนดง่าย ถ้าไม่เอาสัตว์ทั้ง ๑๒ ชนิดมาขนานปี ก็จะไม่รู้ว่าปีมีกี่รอบ”

สมเด็จเจ้าพระยาหันไปดูทนายผู้นิมนต์ ขึงตาค้อนไปค้อนมา ทำท่าจะเฆี่ยนทนายผู้นิมนต์ผิดคำสั่ง สมเด็จโตรู้ในกิริยาของสมเด็จเจ้าพระยา ท่านจึงย้อนเกร็ดกล่าวทับ ๑๒ สัตว์ ให้เป็นอริยสัจธรรมขึ้นว่า

“ผู้นิมนต์เขาดีมีความฉลาด สามารถจะทราบประโยชน์แห่งการฟังธรรม เขาจึงขยายธรรมออกให้กว้างขวาง เขาจึงนิมนต์รูปให้สำแดง ๑๒ นักษัตร ซึ่งเป็นต้นทางพระอริยสัจ พระอริยสัจนี้สุขุมลึกซึ้งมาก ยากที่จะรู้แก่ผู้ฟังเผินๆ ถ้าจะฟังให้รู้ให้เข้าใจจริงๆแล้ว ต้องรู้นามปีที่ตนเกิดให้แน่ใจก่อนว่า ตนเกิดปีชวด ถึงปีชวด และปีชวดอีก เป็น ๓ ชวด ๓ หนู รวมเป็นอายุที่ตนเกิดมานั้นคิดรวมได้ ๒๕ ปี เป็นวัยที่ ๑ เรียกว่าปฐมวัย ในปฐมวัยต้นชั้นนี้ กำลังแข็งแรง ใจก็กล้าหาญ ความทะยานก็มาก ความอยากก็กล้า ถ้าเป็นลูกผู้ดีมีเงิน มีหน้าที่ประกอบกิจการงาน มีที่พึ่งพักอิงสถานที่อาศัย ถ้าเป็นลูกพลคนไพร่ไร้ทรัพย์ กับไม่มีที่พึ่งพาอาศัยสนับสนุนจุนต้ำ ซ้ำเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ด้อยอ่อนในการเรียนการรู้ คราวนี้ก็ทำหน้าเศร้าสลดเสียใจ แค้นตัวเองบ้าง แค้นใจบิดามารดา หาว่าตั้งฐานะไว้ไม่ดี จึงพาเขาลำบาก ตกทุกข์ได้ยาก ต้องเป็นหนี้เป็นข้า อายุเป็นยี่สิบห้าแล้วยังหาชิ้นดีอะไรไม่ได้ คราวนี้ ชาติทุกข์ในพระอริยสัจเกิดปรากฏแก่ผู้ได้ทุกข์ เพราะชาติความเกิดคราวนี้ ยังมีอีกคนหนึ่งเกิดขึ้นในปีฉลู แล้วถึงฉลูอีก แล้วถึงฉลูอีก รวม ๕ รอบ นับไปดูจึงรู้ว่า ๖๐ ปี จึงรู้สึกว่าตัวแก่ ตกในปูนชรา ตาก็มัว หัวก็มึน หูก็ตึง เส้นเอ็นก็ขัด ท้องไส้ก็ฝืด ผะอืดผะอม ทีนี้รู้ตงิดตงิดว่าเราแก่ เราชราอายุถึงเท่านี้ๆ เป็นส่วนเข้าใจว่า ชราทุกข์ถึงเราเข้าแล้ว จะกำหนดได้ก็เพราะรู้จักชื่อปีเกิด ถ้าไม่รู้ชื่อปีเกิด ก็ไม่รู้ว่าตัวแก่เท่านั้นเอง เพราะใจเป็นอัพยากฤตจิต ไม้รู้แก่ ไม่รู้เกิด จะรู้ได้ก็ต้องตน กำหนดหมายไว้จึงรู้ การที่จะกำหนดหมายเล่า ก็ต้องอาศัยจำปีเกิด เดือนเกิด วันเกิด ของตนก่อน จึงจะกำหนดทุกข์ให้เข้าเป็นลำดับปีไป เหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ๑๒ นักษัตร เป็นต้นทางของอริยสัจ ถ้าไม่เดินต้นทางก่อน ก็จะเป็นผู้หลงทาง ไปไม่ถูกที่หมายเท่านั้น”

แล้วท่านจึงสำแดงพระอริยธรรม ๔ สัจโดยละเอียด จบลงด้วยใจของสมเด็จเจ้าพระยาก็ผ่องแผ้ว ไม่โกรธทนายผู้นิมนต์พลาด ทำให้ทนายรอดตัวไป ไม่ถูกด่าถูกเฆี่ยน จบกันไป


กำลังโหลดความคิดเห็น