xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 22-28 ก.ค.2561

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1.ลาวสุดวิปโยค! น้ำท่วมฉับพลันจากเขื่อนแตก เสียชีวิต-สูญหายจำนวนมาก ขณะที่ไทย-นานาชาติเร่งช่วย!
สภาพน้ำท่วมเกือบมิดบ้านเรือนประชาชนในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสักของลาว หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ส่งผลให้ชาวบ้านต้องหนีน้ำขึ้นบนหลังคา ขณะที่ทีมกู้ภัยจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย
สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดอุทกภัยอย่างฉับพลันครั้งใหญ่ที่ประเทศลาว ซึ่งเป็นผลจากการที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาว แตก เนื่องจากปริมาณน้ำมากเกินกำหนด จากการที่ฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้มวลน้ำมากกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลทะลักลงแม่น้ำเซเปียน และเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสักอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่ประชาชนนับหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย โดยเหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.ของวันที่ 23 ก.ค.

ด้านนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว ต้องยกเลิกการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อลงพื้นที่เมืองสะหนามไซ ในแขวงอัตตะปือ เพื่อบริหารจัดการและบรรเทาสาธารณภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีครั้งนี้ หลังมวลน้ำปริมาณมหาศาลได้ไหลท่วมหมู่บ้านอย่างน้อย 7 แห่ง ส่งผลให้กว่า 1,300 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนจำนวนมากต้องจมอยู่ใต้น้ำ บางบ้านน้ำท่วมเกือบมิดหลังคา ชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องหนีน้ำอยู่บนหลังคา บางคนหนีน้ำอยู่ตามต้นไม้ ขณะที่อีกหลายคนหนีน้ำไม่ทัน ต้องสังเวยชีวิต

หลังเกิดเหตุเขื่อนแตก ทีมกู้ภัยจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยได้รีบเดินทางเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นและสิ่งของบรรเทาทุกข์ทั้งจากรัฐบาลไทยและภาคเอกชนต่างหลั่งไหลไปอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหลายหน่วยงานได้เปิดบัญชีรับบริจาคเพื่อช่วยพี่น้องชาวลาวเช่นกัน

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังประธานประเทศและประชาชนชาวลาวที่ประสบภัย พร้อมพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือ ประกอบด้วย น้ำดื่มพระราชทาน 10,000 ขวด, ผ้าเช็ดตัวพระราชทาน 2,000 ผืน, เครื่องกรองน้ำพระราชทาน 49 เครื่อง, อาหารและยาพระราชทานอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งกองทัพอากาศของไทยได้จัดเครื่องบิน C-130 นำสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ผู้ประสบภัยแล้ว นอกจากนี้ยังลำเลียงถุงยังชีพในนามรัฐบาลไทยอีก 5,000 ชุดไปพร้อมกันด้วย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในนามรัฐบาลไทยเพื่อช่วยผู้ประสบภัยจำนวน 5 ล้านบาท หรือประมาณ 1,300 ล้านกีบ ผ่านนายแสง สุขะทิวง เอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย รวมทั้งโทรศัพท์พูดคุยให้กำลังใจรัฐบาลและประชาชนชาวลาว ให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ขณะที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระบัญชาให้คณะสงฆ์หนตะวันออกทุกจังหวัด รวบรวมกัปปิยภัณฑ์พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคและมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาทุกจังหวัดประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้ และโปรดให้คระสงฆ์ทั่วประเทศร่วมกันแผ่เมตตาจิต เพื่อให้ประชาชนชาวลาวที่ประสบภัย ผ่านพ้นภัยพิบัติดังกล่าวโดยสวัสดิภาพ

ส่วนที่สถานกงสุลใหญ่ของลาวประจำประเทศไทย ที่ จ.ขอนแก่น ได้มีประชาชนชาวไทยจำนวนมากทยอยนำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งนายคำไพ พันธุ์ทองดี รักษาการกงสุลใหญ่ของลาว ได้กล่าวขอบคุณคนไทยทั้งประเทศที่มีน้ำใจนำสิ่งของมาบริจาค และว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดในขณะนี้คือ เสื้อผ้า, อาหารแห้ง, เต็นท์สนาม และยารักษาโรค

ขณะที่รัฐบาลไทยได้เปิดบัญชีรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลาว คือ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ชื่อบัญชี “หัวใจไทยส่งไป สปป.ลาว” เลขที่บัญชี 067-0 12886-4 โดยยอดบริจาคจนถึงเที่ยงวันที่ 28 ก.ค. มีจำนวนกว่า 25 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมบริจาคสิ่งของ เสื้อผ้า และอาหารแห้ง ได้ที่ทำเนียบรัฐบาล ทุกวันตั้งแต่ 08.30-16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยขอให้เป็นเสื้อผ้าใหม่ ส่วนอาหารแห้งต้องไม่หมดอายุ

อนึ่ง เขื่อนเซเปียน-ไซน้ำน้อย ของลาวที่แตกครั้งนี้ เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทของลาว คือ Lao Holding State Enterprise 24%, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้งของไทย 25% และบริษัทของเกาหลีใต้อีก 2 บริษัท คือ SK Engineering & Construction Company Limited 26% และ Korea Western Power Company Limited 25%

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเขื่อนแตกได้ 2 วัน บริษัทผู้ร่วมทุนของเกาหลี ได้ออกแถลงการณ์ว่า ก่อนหน้าเขื่อนจะแตกราว 24 ชั่วโมง ได้พบความเสียหายบริเวณส่วนบนของโครงสร้างเขื่อนถูกน้ำซัดออกไป เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.ของวันที่ 22 ก.ค. จึงได้เร่งแจ้งให้ทางการลาวทราบและเริ่มอพยพชาวบ้านที่อยู่ใต้เขื่อน จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 23 ก.ค.ได้มีการระบายน้ำให้ไหลออกจากเขื่อนเซน้ำน้อย 1 ใน 2 เขื่อนหลักของโครงการ เพื่อลดแรงกดดันภายในโครงสร้างเขื่อน ต่อมาช่วงเที่ยงวันเดียวกัน รัฐบาลลาวได้เตือนประชาชนว่า เขื่อนอาจเสียหายเพิ่มเติม พร้อมสั่งให้อพยพประชาชนใต้เขื่อนออกไป กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 24 ก.ค. มีรายงานว่า 7 หมู่บ้าน จาก 12 หมู่บ้านที่อยู่ใต้เขื่อน ถูกน้ำท่วม

ขณะที่นายกิจจา ศรีพัฑฒางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 1 ในผู้ร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ได้แสดงความเสียใจต่อประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมกันนี้บริษัทได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 1,300 ล้านกีบ หรือประมาณ 5 ล้านบาท

นายกิจจา กล่าวด้วยว่า จุดที่เขื่อนแตก เป็นเขื่อนดินย่อยส่วน D ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เขื่อนย่อยที่อยู่ล้อมรอบเขื่อนหลักที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมยืนยันจุดที่แตกจะไม่กระทบกับเขื่อนหลัก พร้อมเชื่อว่า จะไม่มีผลต่อกำหนดการเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเดือน ก.พ.2562 และว่า หลังจากนี้ บริษัทรับเหมาก่อสร้างจะสร้างคันโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเสริมความแข็งแรงของเขื่อนย่อย เชื่อว่าจะช่วยป้องกันปัญหาในอนาคตได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์เขื่อนแตกในลาวครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ลาวซึ่งมีเขื่อนที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่หลายแห่ง ซึ่งเขื่อนส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเกิดภัยพิบัติจากเขื่อนแตก จนส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวลาวจำนวนมากเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากันหรือไม่

2.“12 หมูป่า” บวชอุทิศส่วนกุศลให้ “จ่าแซม” แล้ว ด้านรัฐบาลเลื่อนงานเลี้ยงขอบคุณออกไปไม่มีกำหนด เหตุทีมกู้ภัยไปช่วยลาว!
บรรยากาศการบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้จ่าแซมของทีมหมูป่า
สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักเตะเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีพร้อมโค้ชรวม 13 คน โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ค.นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก พร้อมนักเตะทีมหมูป่ารวม 13 คน ได้เดินทางไปร่วมพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์และเจ้าแม่นางนอนที่หน้าถ้ำหลวง ซึ่งเป็นการแก้บน ตามที่ผู้ปกครองของทีมหมูป่าได้บนไว้กับเจ้าแม่นางนอนขอให้ลูกๆ ที่ติดอยู่ในถ้ำออกมาอย่างปลอดภัย

ส่วนพิธีบรรพชาและอุปสมบทของโค้ชเอกและทีมหมูป่านั้น มีขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 ก.ค. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ น.ต.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม อดีตหน่วยซีล ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่า

โดยก่อนหน้า 2 วัน (22 ก.ค.) ด.ช.อดุลย์ สามออน หรือน้องอดุลย์ 1 ใน 13 ทีมหมูป่า ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ไม่สามารถบวชได้ จึงได้เข้าพิธีตามศาสนาคริสต์ ที่คริสจักรพระคุณแห่งแม่สาย เพื่อขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ และได้รับการช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัย โดยมีโค้ชเอกและเพื่อนๆ ในทีมหมูป่าอีก 11 คนไปร่วมพิธีด้วย ก่อนร่วมกันอธิษฐานขอพรพระเจ้าเผื่อแผ่ไปยังครอบครัวของ จ่าแซม ด้วย

ทั้งนี้ พิธีบรรพชาและอุปสมบทของโค้ชเอกและนักเตะทีมหมูป่าอีก 11 คน เริ่มด้วย วันที่ 24 ก.ค.ที่วัดพระธาตุดอยเวา ช่วงเช้า มีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนช่วงเย็น เป็นพิธีปลงผมและพิธีบายศรีสู่ขวัญนาค จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ค.เป็นพิธีบรรพชาหรือบวชเณรให้นาค 11 คน และอุปสมบทหรือบวชเป็นพระภิกษุให้กับโค้ชเอก ที่วัดพระธาตุดอยตุง โดยมีพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอแม่สาย และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยโค้ชเอกได้รับฉายาว่า “พระวิสารโทภิกขุ” ซึ่งแปลว่า “ผู้เปรื่องปราชญ์แกล้วกล้า”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเสร็จสิ้นพิธีบวช พระเอกพลและสามเณรได้ออกมาถ่ายรูปร่วมกับคณะสงฆ์ พ่อแม่ญาติพี่น้อง และทีมปฏิบัติการที่ช่วยเหลือออกจากถ้ำหลวง โดย 1 ในนั้นมี พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือหมอภาคย์ ที่อยู่เป็นเพื่อนทีมหมูป่าในถ้ำหลวงนับสิบวันระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือ ร่วมถ่ายรูปด้วย ซึ่งทันทีที่ถ่ายรูปเสร็จ หมอภาคย์ ได้ก้มกราบพระเอกพล 3 ครั้ง

ทั้งนี้ พระเอกพลและสามเณรได้จำวัดที่วัดพระธาตุดอยตุง 1 คืน ก่อนย้ายไปจำวัดที่วัดพระธาตุดอยเวาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.เพื่อปฏิบัติธรรมจนถึงวันที่ 3 ส.ค. โดยสามเณรจะลาสิกขาในวันที่ 4 ส.ค. ส่วนพระเอกพลจะบวช 1 พรรษา

ด้านสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงรายได้เปิด “กองทุนหมูป่า” ขึ้น เพื่อจัดหารายได้สำหรับเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ทีมหมูป่าต่อไป

ส่วนความคืบหน้าการจัดงานเลี้ยงขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนั้น เมื่อวันที่ 24 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยว่า งานดังกล่าวใช้ชื่อว่า “รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน United As One” โดยจะมีขึ้นที่พระลานพระราชวังดุสิต ในวันที่ 1 ส.ค.เวลา 18.00-21.00 น. แต่ล่าสุด 28 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้เลื่อนการจัดงานเลี้ยงขอบคุณดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากแขกรับเชิญส่วนใหญ่ ทั้งหน่วยกู้ภัย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน อยู่ระหว่างไปปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเขื่อนแตกที่ประเทศลาว

3.ศาลฯ ออกหมายจับ “ทักษิณ” ใบที่ 5 คดีทุจริตหวยบนดิน ด้านดีเอสไอนำตัว “โอ๊ค” กับพวกให้อัยการสั่งฟ้อง คดีฟอกเงินแบงก์กรุงไทย!
(ขวา) นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยหนีหมายจับหลายคดี และนักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ (ซ้าย) นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาครั้งแรกคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 47 คน เป็นจำเลย ในคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หวยบนดิน)

แต่เนื่องจากนายทักษิณ จำเลยที่ 1 ไม่เดินทางมาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยหลบหนี ศาลจึงให้ออกหมายจับ หากไม่สามารถจับกุมจำเลยได้ภายใน 3 เดือน ศาลสามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ที่ให้อำนาจไว้ โดยศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 พ.ย. 61 เวลา 14.00 น.

สำหรับหมายจับนายทักษิณให้มาฟังการพิจารณาคดีครั้งนี้ นับเป็นใบที่ 5 แล้ว โดย 4 ใบก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย, คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์, คดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิตเอื้อธุรกิจชินคอร์ป และคดีฟื้นฟูกิจการทีพีไอ

วันเดียวกัน (25 ก.ค.) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำตัวนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ, นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร เเละนายวันชัย หงษ์เหิน สามีของนางกาญจนาภา ผู้ต้องหาที่ 1-3 ส่งให้อัยการคดีพิเศษพร้อมสำนวนคดีเเละความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินจากการทุจริตอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้แก่เครือกฤษดามหานคร เนื่องจากพบว่ามีการจ่ายเช็คจำนวน 26 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท ให้กลุ่มของผู้ต้องหา

ด้านพนักงานอัยการคดีพิเศษได้รับมอบตัวผู้ต้องหาและสำนวนไว้ ก่อนอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน เนื่องจากผู้ต้องหาเข้ามารายงานตัวเอง พร้อมนัดผู้ต้องหาทั้งสามมาฟังคำสั่งคดีในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวน ก่อนที่จะมีคำสั่งต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว นายพานทองแท้กับพวกได้เดินทางกลับทันที ไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด

4.สลด! หนุ่มใหญ่โดดตึกศาลอาญาดับ หลังศาลยกฟ้องคดีลูกชายถูกแทงเสียชีวิต ด้านภรรยาลั่น พร้อมตายตาม ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม!
นายศุภชัย ทัฬหสุนทร กระโดดอาคารศาลอาญาฆ่าตัวตาย หลังรับไม่ได้ที่ศาลยกฟ้องจำเลยคดีแทงลูกชายตนเองเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ได้เกิดเหตุช็อกความรู้สึกผู้คน เมื่อมีชายกระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เสียชีวิต ทราบชื่อคือ นายศุภชัย ทัฬหสุนทร อายุ 52 ปี จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ นายศุภชัยพร้อมด้วยภรรยาได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลในคดีที่นายธนิต ทัฬหสุนทร ลูกชายถูกแทงเสียชีวิตเมื่อช่วงสงกรานต์ปี 2559 เมื่อศาลยกฟ้องนายณัฐพงศ์ เงินคีรี จำเลยในคดีนี้ นายศุภชัยเกิดความเสียใจ จึงตัดสินใจกระโดดอาคารศาลฆ่าตัวตาย

ด้านนางสุพรรณี (สงวนนามสกุล) ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า ตนเดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีของลูกสาว ซึ่งอยู่ห้องพิจารณาคดีเดียวกัน หลังศาลตัดสินยกฟ้องคดีที่นายศุภชัยและภรรยาเป็นโจทก์ ปรากฏว่า ทั้งสองคนร้องไห้เสียใจอย่างหนัก ก่อนจะพากันวิ่งออกจากห้องพิจารณาคดี และพยายามเปิดกระจกหน้าต่างช่วงทางเดินของอาคารชั้น 8 เพื่อกระโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่ลูกสาวตนเห็นท่าไม่ดี จึงรีบวิ่งไปฉุดรั้งตัวสามีภรรยาดังกล่าว แต่สามารถคว้าตัวภรรยาได้คนเดียว และมีเจ้าหน้าที่ศาลมาช่วยคุมตัวไว้ ส่วนสามีได้ปีนออกไปนอกระเบียงและกระโดดลงไปเสียชีวิตแล้ว

วันต่อมา 24 ก.ค. นางเรวดี ทัฬหสุนทร ภรรยานายศุภชัย เผยระหว่างเข้ารับศพสามีที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจว่า หลังสิ้นคำพิพากษา คิดว่าสามีขอตัวไปห้องน้ำ ไม่คิดว่าจะคิดสั้น ซึ่งตอนนั้นตนคิดจะกระโดดตึกฆ่าตัวตายเหมือนกัน แต่มีคนมาดึงไว้ทัน พร้อมวอนขอความเป็นธรรมกับผู้มีอำนาจ เนื่องจากครอบครัวต้องสูญเสียทั้งสามีและบุตร นายเรวดียังลั่นวาจาด้วยว่า “หากถึงที่สุดแล้ว ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดิฉันก็มีสิทธิที่จะคิดสั้น แม้ว่าคนอื่นจะมองว่าตัวเองเป็นคนโง่ก็ตาม”

นางเรวดียังเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ครอบครัวหาหลักฐานในคดีที่ลูกชายถูกแทงตายอยู่ฝ่ายเดียว ทำให้สามีต้องลาออกจากงานประจำ เพื่อติดตามคดีและหาหลักฐาน จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ สามีนางเรวดีก่อนออกจากงาน ประกอบอาชีพเป็นวิศวกร

ขณะที่น้องสาวของนางเรวดีขยายประเด็นเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมว่า เคยขอภาพกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุจากเจ้าหน้าที่การเคหะดินแดง เพื่อไปประกอบคดีฆ่าหลานชาย แต่ทางการเคหะฯ ไม่ให้ โดยอ้างว่ากล้องเสีย ขณะที่ตำรวจผู้ทำคดีก็ดูเหมือนทำคดีไม่เต็มที่ ปล่อยให้นั่งรอเป็นชั่วโมง แล้วถามหาแต่หลักฐานจากทางฝั่งตนเหมือนให้หาหลักฐานมาเอง แทนที่จะร่วมกันช่วยหา พวกตนเป็นแค่ชาวนายากไร้ พูดอะไรไป ก็กลัวจะหาว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานอีก

ด้านนายสามารถ แจ่มจรัส เพื่อนสนิทของนายธนิต หรือเต้ ลูกชายนายศุภชัยและนางเรวดีที่ถูกแทงเสียชีวิตยืนยันว่า ตนคบกับเต้มาตั้งแต่เรียนปี 1 ที่อุเทนถวาย วันเกิดเหตุไม่ได้อยู่กับเต้ แต่เต้ออกไปกับเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้สนิทกัน พร้อมคาดว่า เพื่อนที่ชวนเต้ออกไปด้วย ต้องการล่อเต้ออกไป โดยวันนั้นเต้ออกไปคนเดียว และโดนอีกกลุ่มที่รออยู่ทำร้ายจนเสียชีวิต โดยจากข้อมูลที่ทราบคาดว่า อีกฝั่งคือเด็กสถาบันคู่ปรับ และว่า คุณพ่อของเต้พยายามหาหลักฐาน แต่พยานหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์กลับไม่ยอมช่วยเหลือ “อาจเป็นเพราะคู่กรณีเป็นคนมีอิทธิพลในพื้นที่ที่เกิดเหตุ เป็นเจ้าของธุรกิจปล่อยเงินกู้และรู้จักกับตำรวจพื้นที่เป็นพิเศษ เพราะหลังจากเกิดเรื่อง แม้คู่กรณีถูกจับกุมตัว แต่ก็ถูกปล่อยตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน คุณพ่อเต้เชื่อมาตลอดว่า หลักฐานที่มีอยู่ในมือจะสามารถมัดตัวคู่กรณีได้ แต่กลับไม่เป็นแบบที่คาด”

ขณะที่ น.ส.วัชรีพร จันทร์จักร์ อดีตแฟนสาวของเต้ ก็เชื่อเช่นกันว่า แฟนถูกล่อลวงออกไปเพื่อทำร้าย เพราะเพื่อนที่ไปด้วยกันวันเกิดเหตุ ไม่มีใครเป็นพยานช่วยเหลือสักคนเดียว ถ้าไปด้วยกัน ถ้าเป็นเพื่อนกัน อย่างน้อยก็น่าจะช่วยบ้าง “เพื่อนอีกคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มที่พาเต้ออกไป ก็เห็นว่าเขาโพสต์เฟซบุ๊กว่ารู้สึกขอโทษ และสำนึกในบาปที่ทำไป”

ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น สำนวนคดีที่นายธนิตถูกแทงเสียชีวิตมีความบกพร่องตรงไหน จุดใด แล้วให้กลับมาชี้แจง

ขณะที่ พล.ต.ท.ชาญเทพ เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสำนวนว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ และตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบว่า จะแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่ และว่า สำนวนคดีนี้มี 2 สำนวน ผู้ต้องหา 2 คน รายแรกคือ นายณัฐพงษ์ เงินคีรี ผู้ต้องหาปฏิเสธ และศาลชั้นต้นยกฟ้อง ส่วนอีกรายเป็นเยาวชน ให้การรับสารภาพว่าชกต่อยผู้ตาย แต่ก็เหมือนภาคเสธ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น

ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงรายละเอียดคำพิพากษาที่ศาลยกฟ้องคดีที่นายณัฐพงศ์ เป็นจำเลยคดีแทงนายธนิต ลูกชายนายศุภชัยเสียชีวิตว่า ประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์และให้การไว้ในชั้นสอบสวน ไม่สามารถมาเบิกความในชั้นศาลได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างรักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาล ส่วนพยานหลักฐานอื่นน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิดที่เห็นเหตุการณ์แค่ปากทางเข้าซอยที่เกิดเหตุ ไม่สามารถบันทึกภาพบริเวณจุดเกิดเหตุได้ เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงพิพากษายกฟ้องจำเลย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่า สามารถนำสำนวนที่เยาวชนให้การรับสารภาพมาเป็นพยานหลักฐานในการอุทธรณ์คดีหลักที่นายณัฐพงศ์เป็นจำเลยคดีแทงนายธนิตเสียชีวิตได้หรือไม่ ซึ่งนายโกศลวัฒน์กล่าวว่า เป็นดุลพินิจที่อัยการสำนักงานคดีศาลสูงจะพิจารณา แต่ต้องดูว่ารับสารภาพในฐานอะไร ซึ่งตัวเยาวชนไม่ยืนยันว่าเห็นนายณัฐพงศ์แทงนายธนิต โดยรับว่า ร่วมทำร้ายในเหตุชุลมุน เป็นผู้ร่วมชกนายธนิต แต่ไม่ได้แทง และไม่รู้ว่าใครแทงนายธนิต

5.สังคมสงสาร “ครูวิภา” ถูกยึดทรัพย์จากค้ำประกันลูกศิษย์เบี้ยวหนี้ กยศ. ด้าน กยศ.ชะลอบังคับคดี เตรียมไล่บี้ 17 ลูกศิษย์!
(บน) น.ส.วิภา บานเย็น หรือครูวิภา ผู้ค้ำประกันให้ลูกศิษย์หลายคนได้กู้หนี้ กยศ. เพื่อเรียน แต่ลูกศิษย์บางส่วนไม่ใช้หนี้ ส่งผลให้ครูถูกยึดทรัพย์ (ล่าง) เพจดังนำรายชื่อลูกศิษย์ครูวิภาที่เบี้ยวหนี้ กยศ.มาลง เพื่อเตือนให้รีบใช้หนี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องร้อนเกี่ยวกับหนี้ กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ น.ส.วิภา บานเย็น หรือครูวิภา อายุ 47 ปี ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร เป็นผู้ค้ำประกันให้นักเรียนกู้เงิน กยศ.60 คนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ปรากฏว่า มีนักเรียนไม่ชำระหนี้ กยศ. ส่งผลให้ครูวิภาในฐานะผู้คำประกันต้องรับกรรม ชำระหนี้ให้นักเรียนแทน โดยหลังจากชำระหนี้ให้นักเรียนไปแล้ว 3 คน 3 คดี พอคดีที่ 4 ถูกกรมบังคับคดียึดบ้านและที่ดิน เตรียมขายทอดตลาดในเดือน ส.ค.นี้ ครูวิภาจึงออกมาเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น กระทั่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เด็กที่เบี้ยวหนี้ ทำให้ครูเดือดร้อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางช่วยเหลือครูวิภา

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ.เผยว่า กยศ.ได้ตรวจสอบคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาเป็นผู้ค้ำประกันแล้วพบว่า มี 60 ราย โดยแบ่งเป็น ผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย, ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย และถูกฟ้องดำเนินคดี 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง มีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งหลังการฟ้อง มีการสืบทรัพย์ แต่ กยศ.ไม่พบทรัพย์ของผู้กู้ทั้ง 4 ราย แต่พบทรัพย์ของครูวิภา จึงยึดทรัพย์ของครูวิภาทั้ง 4 คดี เนื่องจากครูวิภาไม่มีเงินชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือครูวิภา กยศ.ได้ประสานให้กรมบังคับชะลอการยึดทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือครูวิภาแล้ว และหากครูวิภาต้องการไล่เบี้ยคืนจากลูกศิษย์ กยศ.พร้อมจัดหาทนายเพื่อฟ้องร้องให้ ซึ่งครูวิภาไม่ต้องการฟ้องร้องลูกศิษย์แต่อย่างใด ส่วนอีก 17 คดีที่เหลือนั้น นายชัยณรงค์กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 ราย คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท หากรวมดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท โดยหลังจากนี้ กยศ.จะเร่งติดตามสืบทรัพย์อีก 17 ราย ผ่านสำนักงานประกันสังคมและกรมสรรพากร ว่าบุคคลเหล่านี้ทำงานอยู่ที่ไหน ซึ่งขณะนี้ กยศ.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้กู้ได้

ทั้งนี้ การที่ครูวิภาต้องมาแบกรับภาระหนี้แทนลูกศิษย์ที่เบี้ยวหนี้ กยศ. ส่งผลให้กระแสสังคมเห็นใจครูเป็นอย่างมาก และพยายามหาทางให้ลูกศิษย์ครูที่เบี้ยวหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีงานทำกันแล้ว รีบมาชำระหนี้ กยศ. เพื่อที่ครูวิภาจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนมากไปกว่านี้ โดยสังคมออนไลน์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างเด่นชัดที่สุด ก็คือ เพจเฟซบุ๊ก "อยากดังเดี๋ยวจัดให้ return" ได้นำรายชื่อของที่เคยให้ครูวิภาค้ำประกันเพื่อกู้หนี้ กยศ. แต่ไม่ชำระหนี้คืน มาขึ้นเพจ พร้อมนำภาพมาให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยว่า คนกลุ่มดังกล่าว ต่างมีชีวิตที่กินหรูอยู่สบาย ซึ่งหลังจากเพจดังกล่าวได้ออกมาแฉ ส่งผลให้ผู้กู้บางคนเริ่มติดต่อมายังครูวิภาเพื่อชำระหนี้ กยศ.แล้ว

ด้านครูวิภา เผยว่า ตนค้ำประกันให้นักเรียน ม.4 จำนวน 60 คนที่กู้ กยศ.เมื่อปี 2541 เหตุที่ค้ำให้ เพราะคิดว่าเด็กกลุ่มนี้ลำบาก อยู่กับตายาย เพราะพ่อแม่ไปทำงานอีกจังหวัด เมื่อเด็กกลุ่มนี้ขึ้น ม.5 ในปี 2542 ตนก็ยังคงค้ำประกันให้อยู่ พอเด็กขึ้น ม.6 ครอบครัวของเด็กค้ำประกันให้เอง หลังเด็กจบ ม.6 ก็แยกย้ายกันไป กระทั่งปี 2551 ตนได้รับหมายศาลให้ไปไกล่เกลี่ยที่ศาล ตนจึงไปตามเด็กที่บ้าน เด็กบอกไม่มีเงินก้อนไปปิดบัญชี ศาลจึงให้ผ่อนชำระเดือนละ 600 บาท เป็นเวลา 10 ปี หลังจากนั้นก็ไม่ได้ข่าวอะไรอีก จู่ๆ ในปี 2561 ศาลก็สั่งให้ยึดทรัพย์โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าหรือแจ้งเตือนใดๆ จู่ๆ ก็มายึดที่ดินพร้อมบ้าน และที่ดินเปล่าอีกแปลง

ครูวิภา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ได้จ่ายหนี้แทนลูกศิษย์แล้ว 4 ราย เป็นเงิน 92,000 บาท และหลังจากมีข่าวออกไป มีลูกศิษย์ติดต่อเข้ามา 2 ราย โทรศัพท์มาขอโทษที่ทำให้เดือดร้อน และบอกว่า จะไปปิดหนี้ กยศ.ที่เหลืออยู่ และจะผ่อนชำระหนี้ที่ครูจ่ายแทนไปให้เดือนละ 5,000 บาท แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่า จะทำอย่างที่พูด เพราะเป็นแค่คุยโทรศัพท์ ไม่มีหลักฐานยืนยัน ครูวิภากล่าวด้วยว่า “แม้ กยศ.จะชะลอการบังคับคดีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าคดีจะสิ้นสุด เพราะถ้าสืบทรัพย์ของเด็กมาไม่ได้ ก็จะวนมาที่ตัวเองอยู่ดี”


กำลังโหลดความคิดเห็น